HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
เหลือไว้เพียงสมญา “ราชาแห่งผ้าพลีท” Issey Miyake
by วรวุฒิ พยุงวงษ์
10 ส.ค. 2565, 11:36
  1,029 views

เคยทำงานร่วมกับแบรนด์ Issey Miyake มานานตั้งแต่ Beaute Prestige International ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของชิเซโด้สากลได้เข้ามาเปิดแผนกในประเทศไทยโดยเริ่มวางจำหน่ายน้ำหอม L’Eau d’Issey เป็นกลิ่นแรกในช่วงทศวรรษ 1990 และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้เขียนได้ทำความรู้จักกับนักออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายคนนี้ในอีกแง่มุม นั่นก็คือนักสร้างสรรค์น้ำหอมผู้อาศัยแรงบันดาลใจจากธาตุธรรมชาติมาออกแบบกลิ่นหอมในตระกูล Ozonic อันหมายถึงกลิ่นสมมุติประเภทกลิ่นของน้ำ กลิ่นของไฟ และอื่นๆ อีกมากมาย (ปัจจุบันได้กลายเป็นน้ำหอมตระกูล Aquatic หรือกลิ่น “น้ำ” ไปเรียบร้อยเนื่องจากกระแสความนิยมทางการตลาด) ไม่ว่าจะอย่างไร น้ำหอมจากอิซเซ มิยาเกะก็เต็มไปด้วยลูกเล่นนวัตกรรมอันทรงเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ต่างอะไรจากบรรดาเสื้อผ้าที่เขาออกแบบ บนจุดบรรจบระหว่างวิทยาการล้ำสมัยกับศิลปะญี่ปุ่นขนานแท้ (โดยเฉพาะโอริกามิ หรือศิลปะการพับกระดาษ) ได้กลายเป็นอาณาจักรให้แก่เขา เจ้าของสมญา “ราชาแห่งผ้าพลีท”

Paris Fashion Week 2016: ความกิโมโนของแบรนด์ Issey Miyake  ส่วนชุดพลีทด้านข้างมีทั้งแบบ Delphos ของมาริโน ฟอร์ทูนี กับชุดทิ้งผ้าพลิ้วแบบวิยงเนต์

เรื่องราวตลอด 84 ปีก่อนมะเร็งตับจะคร่าชีวิตของเขาไปเมื่อวันเสาร์ที่ 5 สิงหาคมตามคำประกาศของฝ่ายข่าว และสื่อสัมพันธ์ประจำสตูดิโอออกแบบมิยาเกะ (Miyake Design Studio) เมื่อวันอังคารที่ 9 ในเดือนเดียวกันของปี 2022 นั้น ช่างเต็มไปด้วยปมประเด็นอันน่าสนใจไม่ต่างอะไรจากเทพนิยายยุคใหม่

งานดีไซน์บาติก ของ Issey Miyake ปี 1984

7 ปีหลังจากคาสุนารุ มิยาเกะได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1938 ฮิโรชิมาเมืองเกิดของเขาก็ถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู และมารดาของเขาก็เสียชีวิตลงในอีกสามปีต่อมาด้วยผลภัยจากกัมตภาพรังสี นั่นเป็นเรื่องที่รู้กันดีว่าเขาไม่ปรารถนาจะพูดถึง หรือให้สัมภาษณ์ ในตอนนั้นก็เพราะผมไม่อยากได้รับฉายาอันชวนเห็นว่าผมเป็นนักออกแบบผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์  อย่างไรก็ตาม ในภาวะปัจจุบัน ผมคิดว่านี่กลายเป็นประเด็นที่ต้องพูดถึง และตรึกตรอง ถ้าเราต้องการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไปจากโลกนี้

เช่นเดียวกับมุมมองความต้องการที่เปลี่ยนไปของเขา ก่อนนั้น มิยาเกะอยากเป็นนักเต้น หรือไม่ก็นักกีฬา ทว่าหลังจากได้อ่านนิตยสารแฟชันหลายๆ เล่มของพี่สาว ความปรารถนาใหม่ได้พาเขาออกเดินทางไปรอบโลก จากมหาวิทยาลัยศิลปะทามะแห่งกรุงโตเกียวไปสู่โรงเรียนออกแบบเสื้อผ้าในมหานครปารีส กับการฝึกงานในห้องเสื้อของกีย์ ลาโรช และอูแบรต์ เดอ จิวองชี จนถึงปี 1970 ที่เขาเปิดสตูดิโอออกแบบมิยาเกะขึ้นในกรุงนิวยอร์ก และได้กลับมาสู่โตเกียวบนแผ่นดินเกิด

“ตอนผมกลับมาญี่ปุ่น และเริ่มต้นทำงานของตัวเอง ผมต้องเผชิญหน้ากับความนิยมชมชอบที่ชาวญี่ปุ่นมีต่อสินค้าต่างชาติ และความคิดตายตัวเกี่ยวกับเสื้อผ้าแฟชันจนกลายเป็นสูตรสำเร็จทางการแต่งกายที่ผมต้องการเปลี่ยนแปลง”

Flying Saucer" dress by Issey Miyake 1994 โชว์การบล็อกสี เอกลักษณ์อีกอย่างของแบรนด์

ถึงแม้จะมีแนวคิดสวนกระแสแฟชันโดยอาศัยศิลปะแห่งโลกตะวันออกเป็นพื้นฐานการออกแบบ มิยาเกะก็ไม่เคยปฏิเสธว่า ความรู้เบื้องต้นทางการตัดเย็บแบบตะวันตกคือการปูทางสู่ความสำเร็จในปัจจุบันของตน “ผมกับพี่น้องเติบโตขึ้นในวัฒนธรรมที่มีภาพยนตร์ฮอลลีวูดกับกระแสป๊อปอาร์ต รวมถึงเสียงเพลงของวงสี่เต่าทอง (The Beatles) เป็นเบ้าหลอม” แต่เมื่อได้ไปใช้ชีวิตอยู่กับโลกตะวันตกอย่างแท้จริงทั้งในยุโรป และอเมริกา เมื่อกลับมาญี่ปุ่น ก็เหมือนกับเขาได้ค้นพบแง่มุมสุนทรียศิลป์แห่งแผ่นดินแม่ในมุมมองใหม่ ขนบการตัดเย็บเครื่องแต่งกายของชาวญี่ปุ่นช่างไม่ต่างอะไรจากธรรมเนียมการวัดตัวตัดของห้องเสื้อชั้นสูงฝรั่งเศส อิซเซ มิยาเกะถ่ายทอดแก่นแท้แห่งกิโมโนออกมาสู่เสื้อผ้าซึ่งปราศจากรูปทรง ไร้พันธนาการรัดเรือนร่าง เพื่อสร้างความรู้สึกสวมสบาย ให้อิสระแก่การเคลื่อนไหว นี่คือประติมากรรมเพื่อการสวมใส่จริงในชีวิตประจำวัน

เทคนิคผ้าพลีทของมาริโน ฟอร์ทูนิ ร่วมกับงานตัดเย็บชุดผ้าพลีทของมาดามเกรส์ ถูกเขานำมาพลิกแพลงดัดแปลงใหม่ผ่านการพัฒนาเทคนิคนวัตกรรมอัดผ้าพลีทโดยใช้วิธีพับผ้าจับจีบแล้วสอดเข้าไปอยู่ระหว่างแผ่นกระดาษก่อนผ่านกระบวนการอัดด้วยความร้อนจนได้ผ้าพลีทอยู่ทรงปราศจากรอยยับสำหรับใช้ในการตัดเย็บเสื้อผ้าตามมุมมองของเขาที่ว่า สำหรับผม เสื้อผ้าหาใช่พันธนาการรัดรึง หรือสกัดกั้นอิสระเสรีแห่งร่างกาย...เสื้อผ้าควรมอบอิสระทางการเคลื่อนไหวให้แก่ผู้สวมใส่

ในขณะเดียวกับที่เสื้อผ้าซึ่งได้รับการตัดเย็บโดยปราศจากตะเข็บ และปล่อยผ้าทิ้งชายให้กรุยกรายไปตามการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่ อันมีต้นแบบมาจากผลงานของมาเดอเลน วิยงเนต์ ได้พาเขาไปสู่การพัฒนาเครื่องทอผ้าพิเศษสำหรับใช้สรรค์สร้าง A-POC หรือ A Piece of Clothing เพื่อให้ได้ผ้าผืนเดียวสำหรับการตัดเสื้อผ้าทั้งชุดโดยปราศจากการสูญเปล่า อีกทั้งยังอำนวยต่อการพลิกแพลง ดัดแปลงวิธีสวมใส่ให้แก่ผู้เป็นเจ้าของโดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์ส่วนตัว ผลงานหลายชิ้นในกลุ่มนี้ได้รับการนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลก

คอลเลคชัน "จังหวะพลีท" The Rhythm Pleats เมื่อปี 1990 อาศัยงานงานอัดพลีทความร้อนกับผ้าทอ
ใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์เป็นหลัก

ถึงแม้ในทศวรรษ 1980 เขาจะได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักออกแบบผู้มีความริเริ่มอย่างที่สุดของโลกผ่านการใช้วัสดุต่างๆ นอกเหนือจากเสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกไปจนถึงโลหะ ตลอดจนวัสดุทำงานศิลปะญี่ปุ่น อันรวมถึงกระดาษ อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในคลื่นปฏิวัติแห่งวงการแฟชัน อันทำให้แฟชันญี่ปุ่นได้ประกาศศักดาต่อชาวโลกร่วมกับโยจิ ยามาโมโต และเรอิ คาวาคูโบะด้วยการเป็น “ดีไซเนอร์” สัญชาติญี่ปุ่นกลุ่มแรกที่ได้จัดแสดงคอลเลคชันในกรุงปารีสเขาก็พูดเสมอว่าตนหาใช่นักออกแบบแฟชัน เพราะคำว่าแฟชันหมายถึงสิ่งซึ่งเป็นที่นิยมในแต่ละยุคสมัย ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งนั้นย่อมเสื่อมความนิยม ผมไม่ต้องการสร้างผลงานให้เป็นที่นิยมเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ผมทำเสื้อผ้าที่สามารถสวมใส่ได้ทุกยุค สำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่คนมีเงิน เสื้อผ้าของผมก็เหมือนเสื้อยืด กางเกงยีนส์ ใช้ง่าย ซักง่าย ไม่อยากรีดก็ไม่ต้องรีด

อาณาจักรแห่งความเรียบง่ายของอิซเซ มิยาเกะขยายตัวไปพร้อมกับความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จากเสื้อผ้าสู่น้ำหอมในฐานะบทเติมเต็มการแต่งกายประจำวัน และอื่นๆ อีกมากมาย เขายอมรับว่าทุกอย่างนั้นมีแรงผลักดันมาจากความปรารถนาแรงกล้าที่ทำให้มุ่งมั่นสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ อันนำมาซึ่งความงดงาม และความสุข ส่วนหนึ่งนั้นก็เพื่อลบล้างภาพที่สามารถปรากฏขึ้นในใจอย่างแจ่มชัดเมื่อเขา หลับตาลง และเห็นสิ่งต่างๆ ซึ่งไม่มีชีวิตของใครควรจะประสบได้อย่างแจ่มชัด แสงสีแดงสว่างเจิดจ้าตามมาด้วยควันดำมืดคละคลุ้งไปทั่วระหว่างที่ผู้คนพากันวิ่งเตลิดไปทุกทิศทาง พยายามหนีเอาชีวิตรอด...ผมจำทั้งหมดนั้นได้จนขึ้นใจ

ABOUT THE AUTHOR
วรวุฒิ พยุงวงษ์

วรวุฒิ พยุงวงษ์

At boundary of athletics and beauty, I write and play

ALL POSTS