HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
“แค่แฟชัน มันไม่พอ”  ปิเอร การ์แด็ง จากจักรพรรดิแฟชันสู่เจ้าพ่อ merchandise 2/2
by วรวุฒิ พยุงวงษ์
1 ม.ค. 2564, 13:08
  1,510 views

Pierre Cardin ผู้แปะป้ายยี่ห้อไว้บนตัวเสื้อคนแรกของวงการ สู่การขาย merchandise แบบไม่สิ้นสุด

       ระหว่างรอยต่อทศวรรษ 1950-60 คือช่วงเวลาแห่งการขยายอาณาจักรแฟชันของปิเอร การแด็งโดยอาศัยวิสัยทัศน์เชิงธุรกิจควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นปี 1959 ที่เขาวางจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปสตรีคอลเลคชันแรกพร้อมแปะป้ายยี่ห้อไว้บนตัวเสื้อ หรือกระโปรงอย่างที่ไม่เคยมีดีไซเนอร์คนไหนในวงการทำกันมาก่อน หรือการเปิดแผนกเสื้อผ้าสำเร็จรูปบุรุษเมื่อปี 1960 โดยอิงมาตรฐานการตัดเย็บของห้องเสื้อชั้นสูง ทั้งในส่วนของวัสดุ และโครงสร้างแพ็ทเทิร์น กลางทศวรรษ 1960 บรรดาชุดทูนิคไร้ทรง ซึ่งอาศัยงานออกแบบเส้นตรง เล่นเหลี่ยมมุม ร่วมกับการใช้วัสดุไวนิล หมวกทรงกลมแบบหมวกกันน็อค และแว่นกันแดดขอบหนาเหมือนแว่นสวมว่ายน้ำ คือจุดเด่นในการก้าวเข้าสู่รูปแบบของเสื้อผ้ายุคอวกาศ” (Space Age look) เป็นการสร้างปรากฏการณ์อย่างแท้จริงไม่ต่างอะไรจากการเปิดศักราชนิวลุค (New Look) ของคริสเตียน ดิออร์ในทศวรรษก่อน

      

        ผลงานแฟชันเครื่องแต่งกายที่เขาออกแบบให้ทั้งผู้ชาย และผู้หญิงล้วนเต็มไปด้วยจินตนาการโดดเด่นจากการใช้รูปทรงเรขาคณิตร่วมกับสีสันสดสว่างบาดตา กระนั้น เขาก็รู้ดีว่าลูกค้าบางรายของตนหาได้สวมงานออกแบบแนวอาวังต์การด์มากเท่าใด เขาจึงทำการออกแบบไลน์เสื้อผ้าที่มีกลิ่นอายอนุรักษ์นิยมเบาๆ เพื่อไว้เป็นชุดประจำวันสำหรับวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าด้วยเช่นกัน และเมื่อเขาได้รับอนุญาตให้สามารถวางจำหน่ายสินค้าภายใต้ชื่อยี่ห้อของตนนอกกรุงปารีสได้เมื่อปี 1961 แฟชันเสื้อผ้าสำเร็จรูปตัดเย็บกึ่งเข้ารูปของเขา ก็กลายเป็นที่นิยมทั่วยุโรป นั่นเองเป็นแรงผลักดันให้เขาตัดสินใจขยายพรมแดนการตลาดสู่สหรัฐอเมริกา

       ความผันผวนทางเศรษฐกิจขนานไปกับบริบทสังคม และการถือกำเนิดของวัฒนธรรมป๊อป ส่งผลให้เสื้อผ้าชั้นสูงเริ่มเสื่อมความนิยม ความต้องการเสื้อผ้าสำเร็จรูปซึ่งสวมใส่ได้ง่ายกว่าในราคาย่อมเยากว่าได้เข้ามาแทนที่ ปิเอร การแด็งหาได้มีมุมมองล้ำหน้าอยู่แค่งานออกแบบ ทว่ายังต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจ ศิลปะกับการพาณิชย์นำไปสู่งานสร้างสรรค์รูปทรงใหม่ มีการยืดความยาวชายเสื้อ และกระโปรง แต่งเติมงานเดินคู่ขลิบริม ขายความกว้างแขนเสื้อออกไปจนเป็นทรงปีกค้างคาว ตลอดจนลูกเล่นกระโปรงผ่า ทั้งผ่าข้าง ผ่าหน้า และผ่าหลัง

       ปี 1966 ปิเอร การแด็งเดินทางสู่สหรัฐอเมริกาเพื่อร่วมงานแสดงแบบเสื้อแฟชันสตรีของตนให้ประจักษ์แก่ลูกค้าต่างพรมแดน และทันทีที่ถึงสนามบินนิวยอร์ก เขาก็เห็นบรรดาสีสันสดใสของรถยนต์สารพันในลานจอด “สีสันเหล่านั้นยืนยันถึงสัญชาตญาณของผมที่ว่า สรรพสีสดใสคือสิ่งสำคัญสุดในโลกปัจจุบัน” เขากล่าว และงานออกแบบที่เขานำไปจัดแสดงครั้งนั้นก็ประสบความสำเร็จในพริบตา นำมาซึ่งการเปิดบูติกวางจำหน่ายเสื้อผ้าที่ชนะใจลูกค้าอเมริกันขึ้นในนิวยอร์กเป็นแห่งแรก

       การเติบโตทางธุรกิจของการแด็งขยายขอบเขตอย่างไม่หยุดยั้ง ในขณะที่นักออกแบบแฟชันชั้นสูงของฝรั่งเศสอาจแตกแขนงไลน์สินค้าไปเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อผ้าบุรุษ และเสื้อผ้าเด็ก กับเครื่องประดับต่างๆ อย่างหมวก เข็มขัด กระเป๋า รองเท้า ทว่าปิเอร การแด็งก้าวรุดหน้าไปไกลกว่า อาณานิคมธุรกิจของเขาทะยานสู่การเป็นผู้ได้รับสัญญาว่าจ้างออกแบบตัดเย็นเครื่องแบบพนักงานประจำสายการบินปากีสถานระหว่างปี 1966 ถึง 1971 เช่นเดียวกับทำการผลิตชุดนักบินอวกาศให้นาซาเมื่อปี 1970

       จากอเมริกา ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของยุโรป อาณานิคมแฟชันของการแด็งยังครอบคลุมไปถึงตะวันออกไกล ที่ญี่ปุ่น แฟชันของเขาได้รับความนิยมอย่างสูง ตัวเขาเองเดินทางไปยังดินแดนอาทิตย์อุทัยหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงในบางครั้งก็เป็นไปตามคำเชิญจากรัฐบาลญี่ปุ่นเอง คลื่นแห่งความสำเร็จกำลังถาโถมเข้าหาเขาลูกแล้วลูกเล่า และในปี 1971 นั้นเองที่เขาเบนเข็มมาสู่งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ผลงานที่วางจำหน่ายเกือบทุกคอลเลคชันในร้านเฟอร์นิเจอร์ Pierre Cardin ล้วนอาศัยแรงบันดาลใจจากงานออกแบบแฟชันเสื้อผ้าเพื่อเติมเต็มบูรณาการให้แก่สินค้าของแบรนด์ได้อย่างครบครัน

       

        อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการต่อยอดแฟชันสู่น้ำหอม และเครื่องสำอางอันเสมือนขั้นตอนสุดท้ายของการแต่งกายก่อนออกจากบ้าน สำหรับปิเอร การแด็งแล้ว เท่านั้นคงยังไม่พอ เพราะไม่เพียงเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน หลังปี 1988 บรนด์ของเขาได้ขยายขอบเขตไปสู่การผลิตสินค้าหลากประเภท มีกระทั่งรถยนต์ และเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวจนขนาดถึงมีคำกล่าวว่า “ในบางบ้าน เราสามารถเห็นชื่อยี่ห้อ Pierre Cardin ได้ตั้งแต่โรงรถไปจนถึงในห้องครัว (อาหาร และเครื่องครัว) ห้องรับแขก (เฟอร์นิเจอร์) ห้องน้ำ (ผ้าเช็ดตัว) ตู้เสื้อผ้า ห้องนอน (เครื่องนอนต่างๆ) โต๊ะเครื่องแป้ง และกระทั่งในตู้เย็น (ช็อคโกแล็ตบาร์)!”

       แต่ทำไมจะหยุดอยู่แค่ภายในบ้านเมื่อธุรกิจเติบขยายได้มากกว่านั้น จากชุดจัมพ์สูทคว้านหน้าท้อง และเนินอกของทีมนักกีฬาเยอรมันในโอลิมปิกเกมเมื่อปี 1972 ก็มาสู่การซื้อธุรกิจร้านอาหาร Maxim’s ในปี 1981 พร้อมประสบความสำเร็จกับสามปีของการขยายสาขาครอบคลุมไปถึงนิวยอร์ก, ลอนดอน และกรุงปักกิ่ง ก่อนก็ได้ครอบครองธุรกิจโรงแรมทั้งหมดของ Maxim’s ด้วยเช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นนักออกแบบแฟชันคนแรกที่หันมาลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์โรงแรม และประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงก่อนยุคของเวอร์ซาเช, ปราดา, วาเลนติโน หรือบุลการีในปัจจุบันนี้เสียด้วยซ้ำ

       ด้วยความรัก ความชื่นชอบที่มีต่อรูปทรงเรขาคณิต นอกจากจะทำให้เขาตัดสินใจซื้อปาเลส์ บูยส์ (บ้านทรงฟองอากาศ) ซึ่งอยู่ใกล้เมืองคานส์เมื่อปี 1991 พร้อมขยับขยายพื้นที่เส้นโค้งทรงกลมสมชื่อตัวอาคารออกไปอีกกว่า 1,200 ตร.เมตรรองรับสิบห้องนอน ตกแต่งโดยกลุ่มศิลปินร่วมสมัย เช่นเดียวกับหนึ่งห้องนั่งเล่นเจ้าของทัศนียภาพรอบทิศทางแบบพาโนรามาแล้ว ระหว่างปี 2001 เขายังซื้อตัวอาคารเก่าแก่ ทรุดโทรมของปราสาทแห่งหนึ่งในเมืองลาคอสต์ของฝรั่งเศส ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พำนักของมาร์ควิส เดอ ซาเดเพื่อชุบชีวิตใหม่ให้แก่โบราณสถานแห่งนี้ อันถือเป็นการสร้างงานให้แก่ชาวบ้านท้องถิ่นแถบนั้นไปด้วยเช่นกัน

       ก่อนการแด็งเสียชีวิตลงเมื่อไม่กี่วันก่อนด้วยวัย 98 ปิเอร์ การแด็งยังกระฉับกระเฉง และเฉียบคมในการตัดสินใจ และดำเนินธุรกิจ เขาเป็นนักออกแบบแฟชันชั้นสูงคนแรกที่ผลักดันชื่อของห้องเสื้อให้ไปสู่การเป็นชื่อแบรนด์สินค้าสากลในธุรกิจหลากสาขา เพราะเขาเชื่อว่าแฟชันหาได้หมายถึงเรื่องของการแต่งกายเพียงเท่านั้น ทว่าแฟชันยังเป็นเรื่องของแนวทางความนิยมในการดำเนินชีวิตตามยุคสมัย ทุกอย่างในชีวิตล้วนเป็นแฟชัน เพราะทุกวันคือรันเวย์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรืออาหารก็ตาม

PHOTO COURTESY OF https://pierrecardin.com
MAIN PHOTO - Shutterstock

(คลิก)  ปิเอร การ์แด็ง: จักรพรรดิแฟชันกับอาณานิคมธุรกิจนอกพรมแดน 

ABOUT THE AUTHOR
วรวุฒิ พยุงวงษ์

วรวุฒิ พยุงวงษ์

At boundary of athletics and beauty, I write and play

ALL POSTS