HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ปิเอร การ์แด็ง: จักรพรรดิแฟชันกับอาณานิคมธุรกิจนอกพรมแดน 1/2
by วรวุฒิ พยุงวงษ์
1 ม.ค. 2564, 12:06
  1,533 views

เส้นทางการงานและความสำเร็จของ ปิเอร การ์แด็ง (Pierre Cardin) จากแฟชั่นสู่อวกาศและปลากระป๋อง

       “แค่แฟชัน มันไม่พอคือคำกล่าวของปิเอร การ์แด็ง ผู้ได้รับผลกำไรมหาศาลจาก 840 ใบอนุญาตประกอบการค้าหลากประเภทในกว่า 125 ประเทศ ชื่อของนักออกแบบแฟชันผู้โด่งดังระดับตำนานโลกปรากฏบนผลิตภัณฑ์อันหลากหลายที่หาได้จำกัดขอบเขตอยู่เพียงสินค้าแฟชัน เครื่องประดับ หรือเครื่องสำอาง หากยังครอบคลุมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ไม่เพียงชุดนักบินอวกาศ หากยังมีกระทั่งช็อคโกแล็ต และถั่วขบเคี้ยว

P Cardin at NASA

        ครั้งหนึ่งในปี 1990 เขาเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารโว้กว่าหลายคนแสยะยิ้ม เบะปากใส่ผม และก็บอกว่า อีกหน่อยคงมีปลากระป๋องยี่ห้อ Pierre Cardin อ้าว แล้วทำไมจะไม่ได้ล่ะ? ทั้งหมดนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสรรค์นี่นา

       ถึงแม้ดาวดวงสุดท้ายจากยุคทองของแฟชันชั้นสูงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะดับร่วง กระนั้น ชื่อของเขายังจารึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์แฟชันโลก ในฐานะนักออกแบบแฟชันชาวยุโรปคนแรกที่ตั้งหลักปักฐานธุรกิจในญี่ปุ่นเมื่อปี 1956 และเป็นคนแรกซึ่งได้เปิดบูติกแฟชันของตนในจีนเมื่อปี 1981 นอกจากนั้น เขายังเคยกล่าวไว้ในครั้งที่นีล อาร์มสตรองเหยียบเท้าลงบนดวงจันทร์ว่าเขาเองก็อยากไปเปิดบูติกบนนั้นด้วยเช่นกัน

ปี 2500 ปิเอร การแด็ง ไปญี่ปุ่นครั้งแรก 

        หนึ่งในผู้บุกเบิกกระแสแฟชันแนวล้ำยุคหรือ “อาวังต์-การด์” (avant-garde ที่ถูกแผลงเป็นภาษาไทยว่า “อวกาศ” เนื่องจากงานออกแบบให้อารมณ์ของมนุษย์ยุคอวกาศ) ซึ่งอาศัยรูปทรงเรขาคณิตแนวอนาคตนิยมร่วมกับสีสันฉูดฉาดสะดุดตาจากบรรดาวัสดุสิ่งทอต่างประเภทที่ถูกนำมาใช้ร่วมกันอย่างลงตัว

        ปิเอโตร กอสตานเต การ์แด็งหรือ “ปิเอร การแด็ง” เกิดในบ้านพักตากอากาศของครอบครัวที่ซาน แอนเดรีย ดา บาร์บาราใกล้กับเมืองเวนิซ ประเทศอิตาลีเมื่อปี 1922 สี่ปีต่อมา ครอบครัวผู้ค้าไวน์อันมั่งคั่งของเขาได้ย้ายกลับมาสู่ฝรั่งเศสถิ่นกำเนิดของตน ที่ซึ่งการแด็งเติบโตอยู่ท่ามกลางบรรยากาศเมืองอุตสาหกรรมแซงต์ เอเตียนในเขตลัวร์ทางตอนใต้ของประเทศ ถึงแม้เจตนารมณ์ของผู้บิดาปรารถนาให้บุตรชายคนนี้ได้เป็นสถาปนิกผู้มีผลงานโดดเด่นในอนาคต

Ready-to-wear จาก Pierre Cardin วางตลาดครั้งแรกที่ห้าง Printemps ในกรุงปารีส ในปี 2512

       ทว่าในวัยเพียงแปดขวบ เด็กชายก็แสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ และความชื่นชอบด้านการออกแบบแฟชันด้วยการทำเสื้อผ้าตุ๊กตาให้กับเด็กๆ ในละแวกบ้าน และเพื่อทำตามความฝัน ในปี 1936 การแด็งเข้าฝึกงานที่ร้านตัดเย็บสูทบุรุษ Manby's ในเมืองวิชีของฝรั่งเศสจนถึงปลายสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ Manby's นี่เอง เขาได้เรียนรู้ถึงศิลปะการตัดเย็บชุดสูท ซึ่งปรากฏให้เห็นตลอดทุกคอลเลคชันของเขาในภายหลัง

       ก่อนสงครามโลกจบสิ้น การแด็งลาออกจาก Manby's เพื่อมาเข้าทำงานที่หน่วยกาชาดฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เขาต้องเดินทางเข้าสู่กรุงปารีสตอนปลายปี 1944 กับวัย 17 ปี ณ ใจกลางมหานครแฟชันโลก เด็กหนุ่มตอบสนองความต้องการของผู้เป็นพ่อด้วยการเรียนสถาปัตย์ควบคู่ไปกับการทำงานที่ห้องเสื้อ “ปาแก็ง” (Paquin) เพื่อทำตามความฝันของตนไปพร้อมกัน

        ระหว่างทำงานให้ปาแก็ง เขาได้พบกับผู้ทรงภูมิปัญญาแห่งฝรั่งเศสหลายคนเช่นเดียวกับบุคคลชั้นนำในวงสังคมชั้นสูง ความสัมพันธ์กับบุคคลเหล่านี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ปิเอร การ์แดงมีงานออกแบบ ตัดเย็บเครื่องแต่งกายสำหรับใช้ในงานแสดงบนเวที ไม่ว่าจะเป็นบัลเลต์ หรือโอเปรา รวมถึงเครื่องแต่งกายสำหรับเข้าฉากภาพยนตร์ ผลงานอันโดดเด่นเป็นที่เล่าขานนั้นก็คงเป็นภาพยนตร์ “โฉมงามกับเจ้าชายอสูร” (Beauty and the Beast)

       ปี 1946 ฌอง ค็อคโตผู้กำกับปลาบปลื้มในตัวเด็กใหม่ไฟแรงคนนี้อย่างยิ่งจนถึงขนาดแนะนำเขาให้กับคริสเตียน ดิออร์ ซึ่งความถนัดในการตัดเย็บชุดสูทบุรุษทำให้การแด็งได้มีส่วนร่วมกับความสำเร็จระดับปรากฏการณ์โลกของชุด “บาร์สูท” หรือ “สูท-กระโปรงสำหรับสวมไปบาร์” อันประกอบไปด้วยแจ็คเก็ตบ่าตรง ไหล่ทำมุมกับวงแขน เอวคอดกิ่ว ชายเสื้อบานกว้างขนานกับวงกระโปรงผายความยาวเหนือข้อเท้า หนึ่งในผลงานระดับตำนานจากคอลเลคชันนิวลุคปีค.ศ. 1947 ของดิออร์

งานของปิเอร การแด็ง เมื่อครั้งทำงานอยู่กับห้องเสื้อ ดิออร์

        หลังฝึกปรือจนก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งหัวหน้าผู้ดูแลแผนกตัดเย็บชุดสูท ในที่สุด ปิเอร การแด็งก็ลาจาก House of Dior ไปเมื่อปี 1949 และด้วยความช่วยเหลือจากมาร์เซล เอสคอฟฟิเอร เขาก็ได้เปิดห้องเสื้อของตนขึ้นเมื่อปี 1950 โดยที่ยุคแรก เขารับงานออกแบบ ตัดเย็บเครื่องแต่งกายสำหรับงานลีลาศอยู่ในร้านซึ่งเป็นห้องใต้หลังคาเพื่อหาเงินต่อทุนสำหรับผลิตชุดสูทภายใต้ชื่อแบรนด์ของตนเอง โดยมีลูกค้าประจำรายหนึ่ง ผู้ทำให้ผลงานชุดสูทของเขาได้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้รับความชื่นชอบ เป็นที่กล่าวขวัญถึง แม้กระทั่งคริสเตียน ดิออร์ยังเอ่ยชม จนเป็นที่ร่ำลือกันว่าเขาคือนักออกแบบชุดสูทบุรุษมือดีที่สุดแห่งปารีสในยุคนั้น

        ความสำเร็จนำพาเขาไปสู่การซื้อแมนชันหกชั้นสไตล์ศตวรรษที่สิบแปดทั้งอาคารบนถนนริช ปองซ์ในย่านแฟชันฟอบูรก์ แซงตอโนเร อย่างไรก็ตาม ภายใต้เงื่อนไขบางประการ การแด็งจะต้องดำเนินธุรกิจร้านตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษดังเดิมโดยใช้ชั้นล่างของตัวอาคารเป็นที่ทำการ กระนั้น ด้วยใจจริงที่ค่อนข้างเบื่อหน่ายกับงานออกแบบเครื่องแต่งกายชายแนวอนุรักษ์นิยม สุดท้ายเมื่อปีค.ศ. 1954 การแด็งก็แบ่งเขตพื้นที่ในอาคารหลังงามสง่าแห่งนี้ออกเป็นสองบูติกคือ Adam กับ Eve และนี่คือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการทำงานตามวิสัยทัศน์แบบฉบับของตนเอง

Pierre Cardin early works        จากนั้น สามปีให้หลัง งานออกแบบเสื้อผ้าแนวล้ำยุคหรืออาวังต์ การด์แบบเต็มคอลเลคชันภายใต้ชื่อ Pierre Cardin ก็ได้ถูกนำออกแสดงเป็นครั้งแรกบนแค็ตวอล์กกลางมหานครปารีส ผลงานกว่า 120 สไตล์ประสบความสำเร็จในทันที และความสำเร็จที่ต่อเนื่องได้นำเขาเข้าสู่ทำเนียบรายชื่อของห้องเสื้อแฟชันชั้นสูงภายใต้ข้อกำหนดของสมาพันธ์ห้องเสื้อชั้นสูงแห่งฝรั่งเศส (Chambre Syndicale de la Haute Couture)

        อาจกล่าวได้ว่าสไตล์งานออกแบบอันโดดเด่น เป็นที่จดจำได้ทันทีของการแด็ง ถือกำเนิดขึ้นจากเบ้าหลอมอิทธิพลที่เขาได้รับในระยะแรกของชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนสถาปัตย์ตามความต้องการของผู้พ่ออันอำนวยให้เขาสามารถคำนวณโครงสร้างรูปทรงเสื้อผ้าได้อย่างล้ำสมัย, การตัดเย็บที่เน้นความคมชัดของเหลี่ยมมุม กับสัดส่วนเข้ารูปผู้สวมใส่ ซึ่งได้จากการทำงานกับ Manby’s และคริสเตียน ดิออร์ รวมถึงลูกเล่นในการใช้สีจากครั้งที่เคยร่วมงานกับปาแก็ง และเอลซา สเกียปาเรลลิ อันครอบคลุมถึงประเด็นของการเลือกวัสดุสิ่งทอสำหรับใช้ในการตัดเย็บให้ได้ผลลัพธ์ตามภาพร่างแบบ ถึงขนาดที่ว่า ถ้าในท้องตลาดไม่มี “เราก็สร้างใหม่เองได้”       แฟชันโชว์งานออกแบบเสื้อผ้าแนวอนาคตนิยม ให้ความรู้สึกของ “ยุคอวกาศ” สร้างความตระการตาอย่างประจวบเหมาะกับที่ Star Trek ได้ออกฉายทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก การใช้สีที่ฉูดฉาดสะดุดตาในงานตัดเย็บเน้นเหลี่ยมมุมคมชัดกับเส้นโค้ง หรือวงกลม ก่อลีลาขัดแย้งสุดขั้วของเขา ทำให้เหล่านางแบบบนรันเวย์หาได้ต่างอะไรจากองค์กรพิทักษ์จักรวาลเสียจนได้รับคำวิจารณ์ว่าหลายคอลเลคชันของเขา “ไม่อินังขังขอบใดๆ กับรูปร่างที่แท้จริงของผู้หญิง”

        อย่างไรเสีย ผลงานเหล่านี้กลับชนะใจบรรดานักแสดงหญิงชื่อดังแห่งยุค ไม่ว่าจะเป็นลอเรน บาคาล, ราเควล เวลช์ และเฌออานน์ มอโร กระทั่งทวิกกี้ นางแบบแฟชันแห่งเกาะอังกฤษ ยังนิยมสวมมินิเดรสที่การแด็งออกแบบจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเธอตลอดทศวรรษที่ 1960 เช่นเดียวกับวงสี่เต่าทอง (The Beatles) ในช่วงต้น ก็นิยมสวมชุดสูทไร้ปกอันโด่งดังของการแด็งเวลาถ่ายภาพโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นบทพิสูจน์มุมมองของเขาในงานออกแบบที่ว่า “เสื้อผ้าที่ผมชื่นชอบคือเสื้อผ้าซึ่งผมออกแบบให้แก่ชีวิตที่ยังไม่ปรากฏในปัจจุบัน...มันเป็นผลงานสำหรับอนาคต” ได้เป็นอย่างดี

PHOTO COURTESY OF https://pierrecardin.com

MAIN PHOTO -shutterstock

อ่านต่อ (คลิก) เส้นทางของ ปิเอร การ์แด็ง จากผู้ทรงอิทธิพลแฟชั่น 60's และ 70's สู่เจ้าพ่อ merchandise

ABOUT THE AUTHOR
วรวุฒิ พยุงวงษ์

วรวุฒิ พยุงวงษ์

At boundary of athletics and beauty, I write and play

ALL POSTS