รวมพลังคนรักช้าง พลิกเศษเหล็กสู่งานศิลป์ เติมชีวิตช้างไทย
Thai Koon for Thai Elephants – ศิลปะจากเศษเหล็กเหลือใช้เพื่อระดมทุนสนับสนุนช้างไทย
ภาคธุรกิจ ศิลปินและนักออกแบบ ตลอดจนนักอนุรักษ์ ร่วมกันจัดแคมเปญเพื่อระดมทุนหารายได้ช่วยช้างไทย รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการจำหน่ายผลงานศิลปะจะนำไปสมทบเพื่อช่วยเหลือช้างในมูลนิธิดูแลรักษาช้างไทยซึ่งกำลังประสบปัญหาการสูญเสียที่อยู่อาศัย พื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลง และการใช้งานช้างเลี้ยงอย่างไม่เหมาะสม
กลุ่มบริษัท ไทยคูณสตีล เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ร่วมมือกับกลุ่มศิลปินและนักออกแบบจาก PiN Metal Art นำโดยคุณปิ่น ศรุตา เกียรติภาคภูมิ จัดโครงการ “Thai Koon For Thai Elephants” ออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะทำจากเศษเหล็กเหลือใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อช่วยคืนชีวิตและเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุที่ถูกทิ้ง หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นคือ โคมไฟ “Elephant Hope” ซึ่งได้เปิดตัวต้นแบบไปเมื่อต้นเดือนเมษายนในงาน Style Bangkok Fair 2025 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 เมษายน 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะผลิตเพียง 133 ชิ้น
คุณสงวน สกุลวรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ไทยคูณสตีล เล่าถึงที่มาของโครงการ Thai Koon for Thai Elephants ว่าเมื่อ 15 ปีก่อน พี่สาวของเขาได้ช่วยไถ่ชีวิตช้างพิการและได้รับบาดเจ็บเนื่องจากถูกใช้งานและเหยียบกับระเบิด โดยตั้งชื่อว่า ‘พังไทยคูณ’ ซึ่งจุดประกายให้บริษัทฯ สนับสนุนโครงการอนุรักษ์ช้างไทยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภายใต้ มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม (Elephant Nature Park) ตั้งอยู่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
“ช้างมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศ เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองและผูกพันกับสังคมไทยมายาวนาน เราจึงต้องอนุรักษ์และช่วยเหลือช้างไทย และหวังว่าพวกเราทุกคนจะช่วยดูแล ให้การสนับสนุนช้างไทยเช่นกัน”
คุณศรุตา กล่าวถึงแนวความคิดในการเลือกใช้เศษหลักจากอุตสาหกรรมเป็นวัสดุหลักในการออกแบบสร้างสรรค์โคมไฟ “Elephant Hope” ว่าเธอต้องการชุบชีวิตใหม่ให้กับ “เศษเหล็ก” ที่คนมองว่าเป็น “ขยะอุตสาหกรรม” แต่แท้จริงแล้วเป็นวัสดุที่มีค่า สามารถนำมารีไซเคิล และสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานศิลปะที่งดงามและใช้งานได้ด้วย
โคมไฟมีรูปร่างเป็นหน้าช้าง 3 ด้าน โดยการเชื่อมชิ้นเศษวัสดุชิ้นเล็ก ๆ เข้าด้วยกันด้วยมือซึ่งต้องอาศัยความประณีตและการใส่ใจในรายละเอียด ตลอดจนเทคนิคในการผลิตเพื่อสร้างสรรค์ให้ชิ้นงานมีความสวยงามและใช้งานได้
เธอหลงใหลการสร้างชิ้นงานศิลปะจากเศษเหล็กเหลือใช้ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนได้โดยไม่ต้องนำวัสดุใหม่มาใช้ โดยเริ่มทดลองนำเศษเหล็กจากโรงงานของพ่อเธอมาผสมผสานไอเดียและการออกแบบที่ทันสมัยตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างผลงานให้มีความโดดเด่น
“ปิ่นรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกับคนที่มีแนวคิดเดียวกัน คนรักษ์สิ่งแวดล้อม คนรักช้าง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราไม่เพียงแต่สร้างสรรค์งานศิลปะ โคมไฟ แต่ยังช่วยทำให้ความเป็นอยู่ของช้างดีขึ้น และทำให้โลกเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น”
เธอยังได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่าครั้งหนึ่งเคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างที่จังหวัดลำปางและมีโอกาสได้ใกล้ชิดและเรียนรู้ชีวิตของช้าง
“ปิ่นจำได้ว่าได้วาดรูปบนกระดาษขี้ช้าง และได้เรียนรู้เกี่ยวกับช้างเยอะมาก และพบว่าช้างก็มีจิตวิญญาณเหมือนมนุษย์เรา”
คุณอลงกต ชูแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมแสดงความชื่นชมต่อภาคธุรกิจและศิลปินที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการจัดกิจกรรมเช่นนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน”
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโคมไฟ “Elephant Hope” ติดต่อที่ Line Official @thaikoon
#Thaikoon #ElephantHope #คนรักช้าง #ศิลปะจากเศษวัสดุ #มูลนิธิดูแลรักษาช้างไทย