How to เลือกกระทงแบบไหน เป็นภัยกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
กระทงรักษ์โลกมีอยู่จริง เลือกลอยแบบไหนให้รักษ์น้ำ รักษ์โลก ตอบโจทย์วันลอยกระทง ปี 2567
วันลอยกระทงปีนี้ตรงกับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เลิกงานไปเที่ยวงานวัด เที่ยวงานวันลอยกระทง หลายคนยังชั่งใจว่าจะลอยกระทงแบบไหนดีที่ไม่เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 กรุงเทพมหานคร เก็บกระทงได้ 639,828 ใบ เพิ่มขึ้น 11.74% จากปี 2565 แบ่งเป็นกระทงธรรมชาติ 618,951 ใบ และกระทงโฟม 20,877 ใบ จึงแนะนำให้ประชาชนร่วมกันใช้กระทงที่มีขนาดเล็ก และลอยกระทงร่วมกัน เช่น ลอยเป็นคู่ ลอยเป็นครอบครัว หรือลอยเป็นกลุ่มคณะ นอกจากนี้ การลอยในสถานที่ปิดที่หน่วยงานจัดเตรียมไว้ จะง่ายต่อการเก็บกระทงหลังจากการจัดงาน
กระทงโฟม กระทงกระดาษ
ถึงแม้ “กระทงโฟม” และ “กระทงกระดาษ” จะช่วยให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บกระทงไปทิ้งได้ง่าย เพราะเป็นวัสดุที่คงทน ไม่หลุดลุ่ยง่าย แต่หากกระทงทั้ง 2 ชนิดนี้หลุดลอดไปในแหล่งน้ำ ก็สามารถเป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำได้เช่นกัน เนื่องจากกระทงกระดาษใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 5 เดือน และในกระดาษมีการเคลือบหรือพ่นสี หรืออาจปนเปื้อนสารเคมี
ขณะที่กระทงโฟมใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 500-1,000 ปี หรืออาจเรียกได้ว่าอยู่ไปตลอดกาล ซึ่งหากสัตว์น้ำเผลอกินเข้าไป ก็อาจทำให้พวกมันตายได้ เนื่องจากไม่ใช่วัสดุรีไซเคิล ทำให้ต้องจัดการขยะกระทงโฟมด้วยการฝังกลบ ทำให้เปลืองเนื้อที่หลุมฝังกลบ หรือไม่ก็ต้องนำไปเผาทิ้ง ซึ่งจะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นอันตรายต่อโลก
กระทงธรรมชาติ
กระทงใบตอง กระทงดอกบัว ที่เป็นกระทงที่มีมาแต่ดั้งเดิมนั้น ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 14 วัน ในปัจจุบันยังคงทำมาจากธรรมชาติเกือบ 100% แต่บางร้านก็เลือกใช้ ลูกแม็ก หรือตะปู เข้ามาช่วยให้กระทงติดแน่น ไม่หลุด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและเจ้าหน้าที่เก็บกระทงได้ ควรเปลี่ยนกลับมาใช้ไม้กลัด จะดีกับทุกฝ่ายมากกว่า
กระทงน้ำแข็ง
ไอเดียบรรเจิดที่เกิดขึ้นมาในช่วงหลังๆ คือ “กระทงน้ำแข็ง” ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างมาก โดยเป็นการใช้น้ำแช่แข็งเป็นฐาน และตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง ตามแต่ขนาด แม้จะมีคนใช้กระทงน้ำแข็งจำนวนมาก แต่ด้วยขนาดของกระทงที่ไม่ใหญ่มาก ก็ไม่ทำให้อุณหภูมิของน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เมื่อเทียบกับกระทงชนิดอื่นๆ แม้อาจจะลำบากในการขนย้ายเพราะละลายได้ง่าย แต่ก็คุ้มค่ากับการทำเพื่อโลก
กระทงขนมปัง
ไม่แนะนำให้ลอย “กระทงขนมปัง” ในแหล่งน้ำปิด เนื่องจากเป็นสารอินทรีย์ เมื่อลงน้ำแล้วเปื่อยยุ่ย หากปลากินขนมปังเหล่านี้ไม่หมด ตกลงไปในแหล่งน้ำ เป็นสารจุลินทรีย์ในน้ำ ก็ทำให้น้ำเน่าเสีย จะสิ่งมีชีวิตในน้ำก็จะตายในที่สุด
ลอยกระทงยุคดิจิทัล
ทางเลือกสายกรีนที่อยากสืบสานประเพณีไทยและอยากร่วมรักษ์โลกไปพร้อมๆ กัน สามารถเลือกลอยกระทงออนไลน์ ลอยกระทงดิจิทัล ที่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยลดขยะกระทงเป็นศูนย์ก็สนุกได้ไม่แพ้กัน
ลอยกระทงดิจิทัล 2024
- Skywalk สี่แยกปทุมวัน เขตปทุมวัน สแกน QR Code และเลือกกระทงของตนเองผ่านโทรศัพท์
- ลอยกระทงดิจิทัล คลองโอ่งอ่าง ใช้ Project Mapping สวยงาม ไม่สร้างขยะ
- ลอยกระทงดิจิทัล ลานคนเมือง AEON Digital Loy Krathong – Symphony of River
- ลอยกระทงดิจิทัล รางน้ำ Rangnam Loy Krathong Digital
- ลอยกระทงดิจิทัล True Digital Park
ไม่ว่าจะลอยกระทงด้วยกระทงประเภทใด ย้ำอีกครั้งว่าไม่ควรลอยในแหล่งน้ำเปิด เช่น ทะเล หรือแม่น้ำ นอกบริเวณจัดงาน เพราะจะทำให้ตามจัดเก็บกระทงได้ยาก เกิดขยะตกค้าง ถ้ามีจำนวนมากไป ทำให้เกิดการเน่าเปื่อย ส่งกลิ่นเหม็น เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และสภาพแวดล้อม ทีนี้จากเทศกาลที่ตั้งใจให้ขอขมาพระแม่คงคา ก็อาจจะเป็นเทศกาลที่เราปล่อยขยะและสร้างภาระให้กับโลก