RECO Collective ติดปีกดีไซเนอร์รุ่นใหม่ พลิกความท้าทายสู่โมเดลธุรกิจรีไซเคิลที่เป็นจริง
เกือบ 4 เดือน ที่อบรมบ่มเพาะ 6 ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ภายใต้โครงการ RECO Collective 2025 เราก็ได้เห็นผลงานสร้างสรรค์จากหลากหลายวัสดุซึ่งทำมาจากการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET หรือที่เรียกว่า rPET แบบ 100% ทั้งแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน พร้อมให้สายกรีนได้ช้อปกันได้แล้ววันนี้ กับคอลเลกชั่นดีไซน์สุดว้าว และเป็นมิตรต่อโลกด้วย
ปีนี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส เชิญ SMEs 6 แบรนด์ เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ tISI, Endless Holiday, KH Editions, Mobella, Anew.Craft และ Daybreak ซึ่งแตกต่างจากปีที่ผ่านมา เพราะล้วนเป็นแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และเป็นที่รู้จักในตลาดดีอยู่แล้ว โดย RECO Collective เป็นพื้นที่ทดลองให้แบรนด์เหล่านี้ได้เรียนรู้และจุดพลังการเปลี่ยนแปลงจนสามารถขยายธุรกิจไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากเส้นใยโพลิเอสเตอร์ที่มีต้นทางคือ rPET นั่นเอง
เรามาดูกันว่าแต่ละแบรนด์มีแนวคิดและแรงบันดาลใจกับคอลเลกชั่นรีไซเคิลกันอย่างไรบ้าง
ฤดีมาศ สกุลพงศ์ไพศาล สาวนักการตลาดที่หลงใหลงานแฟชั่นดีไซน์ กับ กานต์ วิสราญกุล นักโฆษณา สร้างแบรนด์ Endless Holiday มาร่วม 10 ปีแล้ว แต่ครั้งนี้ถือเป็นคอลเลกชั่นแรกที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล
ฤดีมาศ เล่าว่า การเข้าร่วมโครงการ RECO Collective ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการออกแบบงานแฟชั่น และการเลือกใช้วัสดุรีไซเคิล ซึ่งคอลเลกชั่น “Very Endless Holiday” ออกมาเพื่อต้อนรับซัมเมอร์ ด้วยการผสมผสานผ้ารีไซเคิลเข้ากับลาย Secret Garden ที่เป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ โดดเด่นด้วยเฉดสีใหม่และออกแบบโครงร่างเสื้อผ้า (Silhouette) ในสไตล์ที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื้อผ้าจะเป็นไนลอนแต่ออกแบบให้มีความเป็นเฟมินีนกึ่งสปอร์ตที่สวมใส่ได้ทุกวัน
นิชฌาน โคตะวัน นักออกแบบผลิตภัณฑ์ เจ้าของแบรนด์ anew.craft ก็สร้างความน่าสนใจได้อย่างมาก จาก The “Cellular Form” collection ที่ผสานงานฝีมือไม้สักแบบดั้งเดิมเข้ากับการดีไซน์สมัยใหม่ โดยใช้เทคนิคการเผาไม้แบบ Shou Sugi Ban (เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการรักษาเนื้อไม้) มาสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ซึ่งนิชฌาม เลือกใช้โพลีเอสเตอร์และไม้อย่างละ 50% และสามารถผสมผสานความแตกต่างของส่วนประกอบทั้งสองชนิดได้อย่างกลมกลืน ทำให้คอลเลกชั่นนี้บาลานซ์ความแข็งแกร่งเข้ากับความเบาสบาย ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของความประณีตในการออกแบบ
กฤษณวรรธญ์ ชนชนะ ผู้ผลิตรองเท้าไล์สไตล์ Daybreak เล่าว่า คอลเลกชั่น Daybreak Naturewear ออกแบบให้เป็น Outdoor Lifestyle สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จึงเลือกใช้วัสดุจากเส้นใยกัญชงเป็นส่วนประกอบหลักของรองเท้า เพราะมีความแข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา และเป็นส่วนที่มาจากลำต้น ซึ่งปกติแล้วเกษตรกรจะทิ้งไปเป็นขยะ นอกจากนี้ ยังใช้เส้นใยกัญชงมาเป็นส่วนผสมของพื้นรองเท้าเพื่อให้มีน้ำหนักเบาด้วย นอกจากนี้ Daybreak เตรียมออกคอลเลกชั่นเสื้อผ้าเอ้าท์ดอร์ ที่ใช้วัสดุรีไซเคิลจาก rPET ด้วย เพื่อให้เข้าคอลเลกชั่นรองเท้า Daybreak Naturewear
กฤษณวรรธญ์ บอกว่า RECO Collective ทำให้เรารู้ต้นทางของวัตถุดิบที่นำมาใช้ และสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ชัดเจน เพราะทุกวันนี้ ลูกค้าต้องการรู้ที่มาที่ไปของวัสดุส่วนต่างๆ ด้วย
tISI (ธิซายด์) เป็นอีกแบรนด์ที่สร้างเอกลักษณ์ของตัวเองด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นของผ้าทอพื้นเมืองภาคเหนือ และการย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ มาดีไซน์ให้มีความร่วมสมัย และใช้งานได้จริง
สำหรับ RECO Collective ธันยพร กิจจาเสถียรพันธุ์ ได้ถ่ายทอดแฟชั่นรักษ์โลกผ่านคอลเลกชั่น tISI VANCANS ซึ่งหมายถึง Vacation ที่ได้แรงบันดาลใจจากความเรียบง่ายของการเดินทาง โดยออกแบบให้เสื้อผ้ามีความเบาสบาย ดูแลรักษาง่าย และปรับใช้ได้ทั้งการทำงานและการพักผ่อน พร้อมสไตล์ที่คงความโดดเด่นเหนือกาลเวลา และเป็นตัวเลือกสำหรับทุกการเดินทาง
กฤษดา หนูเล็ก ผู้ผลิตและส่งออกเฟอร์นิเจอร์ แบรนด์ MOBELLA นำเสนอคอลเลกชั่นภายใต้แนวคิด Zero หรือ ศูนย์ ที่ไม่ได้หมายถึงความว่างเปล่า แต่สะท้อนถึงการจัดการกับของเหลือทิ้ง (Waste) ที่เกิดจากการผลิตชุดเฟอร์นิเจอร์ โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า และให้เกิดคุณค่าสูงสุด ซึ่งคอลเลกชั่น Zero ทำให้เห็นว่า เราสามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานที่สวยงามและเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกัน
ขณะที่ KH Editions สตีทแฟชั่นแบรนด์ ออกคอลเลกชั่น Siam Island ด้วยการผสมผสานงานหัตถกรรมและอุตสาหกรรม เข้ากับ ศิลปะ-แฟชั่น โดยถ่ายทอดสีสันและบรรยากาศของทะเลไทย ออกมาในรูปแบบของเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่สะท้อนถึงศิลปะไทยในทุก ๆ ชิ้นงาน
นภัต ตันสุวรรณ และ ปาณิสรา มณีรัตน์ สองดีไซเนอร์รุ่นใหม่ บอกว่า การเข้าร่วม RECO Collective นับเป็นความท้าทายอย่างมาก และทำให้เรารู้ว่า งานศิลปะและแฟชั่นแนวสตรีทกับความยั่งยืนไปด้วยกันได้อย่างไร นอกจากการใช้ผ้าจาก rPET แล้ว เชือกที่นำมาใช้ในการออกแบบก็เป็นของเหลือทิ้งทั้งสิ้น
อาราธนา โลเฮีย ชาร์มา รองประธานบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส เน้นย้ำว่า "โครงการ RECO Collective ไม่ได้เป็นเพียงเวทีแสดงผลงานเท่านั้น แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการลงมือทำ โดยการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับพลังของการรีไซเคิลและการเปลี่ยนแปลง เรากำลังทำให้ความทะเยอทะยานนี้กลายเป็นความจริง ภารกิจของเราคือการส่งเสริมให้ SMEs ในท้องถิ่นสามารถนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ ช่วยให้พวกเขาขยายธุรกิจได้ ขณะเดียวกันก็ผนวกความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์การเติบโตของตนเอง"
ขณะที่ นวีนสุดา กระบวนรัตน์ รองประธานฝ่ายความรับผิบชอบต่อสังคม อินโดรามา เวนเจอร์ส บอกว่า ในการดำเนินโครงการ RECO Collective 2026 เรายังคงมองหาพันธมิตรเพิ่มขึ้น และต้องการขยายแพลตฟอร์มไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ยานยนต์ การแพทย์ และด้านการศึกษา เป็นต้น
ใครสนใจคอลเลกชั่นทั้ง 6 แบรนด์ นี้ก็เข้าไปส่องผลงาน หรือสั่งซื้อได้ทาง IG และ Line