สวทช. มุ่งวิจัยพันธุ์ข้าวรับมือโลกร้อนและลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เดี๋ยวนี้ เราเห็นกันชัดแล้วว่า การทำนาทำสวนได้รับผลกระทบจาก ภาวะโลกร้อน อย่างมาก เจอความเสี่ยงกับภัยพิบัติจากสภาพอากาศแปรปรวนสุดขีด ซึ่งนับวันจะยิ่งถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำท่วมฉับพลัน ภัยแล้ง หรือุณหภูมิที่ร้อนขึ้น แบบที่หลายคนบอกว่าไม่เคบพบเคยเห็นมาก่อน เมื่อยังจัดการกับปัญหาโลกร้อนไม่ได้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง "ข้าว" จึงต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้รับมือกับภาวะโลกร้อน โลกรวน ได้ดียิ่งขึ้น
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ซึ่งนอกจากเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ให้สูงขึ้น ยังมุ่งเน้นการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ๆ และการปรับปรุงสายพันธุ์เดิมให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน
ดร.มีชัย เซี่ยงหลิว นักวิจัย ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) บอกว่า ข้าวพันธุ์ใหม่ต้องมีคุณสมบัติทนสภาพแวดล้อม ทั้งน้ำท่วมหนัก ภัยแล้ง ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช มีผลผลิตสูง และมีคุณค่าทางโภชาการที่ดี นอกจากนี้ นักวิจัยต้องปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ลดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดก๊าซเรือนกระจกด้วย โดยให้สามารถตอบสนองได้ดีกับการปลูกแบบเปียกสลับแห้ง เมื่อเราปล่อยน้ำให้แห้งข้าวต้องแตกกอได้ดี และใช้ไนโตรเจนที่ใส่เข้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กระตุ้นเกษตรกรปรับตัวผ่านแปลงนาสาธิต
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 60 ล้านไร่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยราว 4.6 ล้านครัวเรือน ซึ่งยังทำนาแบบเดิมๆ ดังนั้น สวทช. จึงร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพันธุ์ข้าว ริเริ่มการจัดงาน National Rice Field Day 2024 ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2567 ณ แปลงนาฝึกงานนิสิตคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เพื่อแสดงองค์ความรู้ด้านข้าวของประเทศไทย และศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับข้าว รวมทั้งนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยนำเสนอข้าว 102 สายพันธุ์ ที่ปรับปรุงพัฒนาโดย สวทช. และกรมวิทยาศาสตร์ข้าว, กรมการข้าว, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, และมหาวิทยาลัยทักษิณ ทั้งที่ปลูกในเชิงพาณิชย์ พันธุ์ที่อยู่ในขั้นตอนการวิจัย และการทดลองปลูกในแปลงนาเกษตรกร
ดร.มีชัย เล่าว่า แปลงนาสาธิตจะแบ่งออกเป็น 4 ล็อก ได้แก่ กลุ่มข้าวหอมพื้นนิ่ม ข้าวขาว ข้าวเหนียว และข้าวสรรพสี หรือข้าวโภชนาการ ซึ่งการจัดงานให้เข้าชมแปลงนาจะทำให้เกษตรได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นถึงคุณลักษณะของข้าวแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ ปรับตัว เปลี่ยนแปลงวิธีการปลูก และพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตสูงขึ้น และต้านทานผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้ดี
พันธุ์ข้าวทนโลกร้อน
ตอนนี้มีข้าวหลายพันธุ์ที่สามารถรับมือกับโลกร้อนได้ ตัวอย่าง ข้าวหอมสยาม 2 ในกลุ่มข้าวนาน้ำฝน โดยปรับปรุงบนพื้นฐานข้าวดอกมะลิ 105 สามารถทนต่อน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ให้ผลผลิตเฉลี่ย 625 กก./ไร่ สูงกว่าข้าวหอมดอกมะลิ 105 ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 450 กก./ไร่ และยังคงคุณภาพหุงต้มพรีเมียม รสชาตินุ่ม อร่อย และหอม ทั้งนี้ สวทช. ได้นำเมล็ดพันธุ์ไปให้เกษตรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ทดลองปลูกในฤดูการผลิตปีนี้ ซึ่งผลออกมาเป็นที่พอใจ ทำให้เกษตรกรมีแผนจะขยายปริมาณการปลูกข้าวสายพันธุ์นี้ในฤดูกาลหน้า โดยอยู่ระหว่างการยื่นขอขึ้นทะเบียนรับรองกับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับพันธุ์ข้าวนิ่มที่มีความหอมใกล้เคียงข้าวหอมดอกมะลิ
ข้าวหอมพื้นนุ่มพันธุ์ปิ่นเกษตร+5 และ +6 ไม่เพียงแต่ทนน้ำท่วมฉับพลัน ยังทนร้อนได้ดีด้วย และต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีผลผลิต 900 กก./ไร่
ในกลุ่มข้าวเหนียวก็มีหลายพันธุ์ เช่น หอมนาคา, น่าน 59,EL-20 (อยู่ในขั้นตอนการวิจัยและทดลอง) ที่ปรับปรุงจากพันธุ์ข้าว กข 6, กข 45 ที่สามารถแตกกอได้ในน้ำลึก 80 ซม.- 1 เมตร
ส่วนกลุ่มข้าวเฉดสี อาทิ ไรซ์เบอร์รี่ 6+ เป็นพันธุ์ปรับปรุงล่าสุดที่ทนทานต่อน้ำท่วมฉับพลัน โรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ เพลี้ยกระโดสีน้ำตาล ความเป็นพิษของธาตุเหล็ก และอุณหภูมิสูง อีกทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด M9997 พันธุ์ข้าวใหม่ที่เกิดจากการใช้วิธีฉายรังสีกลายพันธุ์ของข้าวเจ้าหอมนิล สามารถทนร้อนได้ถึงประมาณ 44-45 องศาเซลเซียส ขณะที่ข้าวสรรพสี ที่มีทั้งหมด 5 สี ที่สามารถนำใบข้าวไปผลิตเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
นอกจากนี้ ข้าว กข111 หรือเจ้าพระยา72 ที่ถือเป็นไฮไลต์ของกรมการข้าว ให้ผลผลิตสูงถึง 1-1.5 ตันต่อไร่ พันธุ์ข้าว BIOTEC-1 ของ สวทช. ซึ่งนำไปทดลองปลูกในแปลงเกษตรกรที่พิจิตร ให้ผลผลิต 800-1100 กก./ไร่
ปลูกยังไงให้ได้ผลผลิตดี
นอกจากการเลือกพันธุ์ข้าวแล้ว วิธีการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ซึ่ง สวทช. กำลังจัดทำคู่มือการปลูกข้าวสำหรับสายพันธุ์ที่ สวทช. ได้คิดค้นวิจัย และนำไปให้เกษตรกรทดลองปลูก เช่น หอมสยาม 1 และ 2, EL-05 (BIOTEC-1) BIOTEC-2 และไรซ์เบอร์รี่
นักวิจัย กสทช. บอกว่า เป็นคู่มือเพื่อให้เกษตรรู้วิธีทำแต่ละโมเดลได้ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ เช่น ถ้าทำนาหว่านต้องใส่ปุ๋ยขั้นต่ำอย่างไร ใส่แค่ไหน ใส่เมื่อไหร่ เพราะระยะเวลาใส่ปุ๋ยจะมีผลอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของข้าว ฉะนั้น เกษตรกรต้องใส่ให้ถูกต้องตามระยะเวลาของข้าว
สำหรับข้าวนาหว่าน พอได้อายุ 35 วัน ต้องใส่ปุ๋ยครั้งแรก และครั้งสุดท้ายต้องใส่เมื่อข้าวมีอายุ 55-60 วัน การใส่ปุ๋ยได้ถูกต้องตามระยะเวลาจะมีผลต่อกระบวนการสร้างช่อดอกและสร้างเมล็ดต่อรวงได้เป็นอย่างมาก