ทำความรู้จัก Johnnie Walker Blue Label กับ “ยวน กันน์”
วิสกี้ในขวดสวยงามหรูหราและมีราคาสูงไม่ได้มีดีแค่ของเหลวรสชาติดีที่อยู่ในขวดเท่านั้น วิสกี้โดยเฉพาะที่มาจากประเทศที่ผลิตเป็นล่ำเป็นสันมาเป็นเวลายาวนานอย่างสกอตแลนด์ยังบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตของผู้คน เมื่อไม่นานมานี้ เว็บไซต์ของเราได้มีโอกาสสนทนากับ ยวน กันน์ (Ewan Gunn) แบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลกของดิอาจิโอที่ดำรงตำแหน่งมานานกว่าสิบปีและดูแลกลุ่มผลิตภัณฑ์พรีเมียมอย่าง Johnnie Walker Blue Label ที่นักดื่มหลายคนกำลังสนใจ
ยวนอยู่ในวงการสก็อตช์วิสกี้มานานถึง 24 ปี หลังจากเรียนจบด้านภาษาจากมหาวิทยาลัย ก็ผันตัวมาทำงานกับบริษัทวิสกี้เล็ก ๆ ที่ทำให้เขาได้ทดลองทำงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขาย การตลาด และประชาสัมพันธ์ จากการที่ยวนหลงใหลในสก็อตช์วิสกี้ เขาจึงมีความสุขมากที่ได้แบ่งปันความรู้ ส่วนผสมและเรื่องราวที่พิเศษเกี่ยวกับสก็อตช์วิสกี้ และประเทศสกอตแลนด์ให้ผู้คนได้รับรู้ โดยปัจจุบันได้มาร่วมงานกับดิอาจิโอเป็นเวลา 12 ปีแล้ว
“Johnnie Walker เป็นแบรนด์ที่อยู่มายาวนานกว่า 200 ปี ตั้งแต่ปีค.ศ. 1820 ส่วน Johnnie Walker Blue Label เข้ามาร่วมพอร์ตโฟลิโอในปีค.ศ. 1992 และวางจำหน่ายในกว่า 180 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย” ยวนเริ่มบทสนทนาด้วยข้อมูลแบ็คกราวนด์ “Johnnie Walker Blue Label นั้นมีความพิเศษตั้งแต่การคัดสรรส่วนผสมที่ประณีต โดยในถังบ่มจำนวน 10,000 ถัง มีเพียง 1 ถังเท่านั้นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนจนสามารถนำมาบรรจุลงในขวด Johnnie Walker Blue Label ได้ ซึ่งในสกอตแลนด์มีถังบ่มสก็อตช์วิสกี้รวมถึง 11 ล้านถังเพื่อคัดสรรนำมาผลิตสก็อตช์วิสกี้
“ส่วนน้ำที่นำมาผลิตสก็อตช์วิสกี้มาจากหลายลุ่มแม่น้ำจากทั้งสี่มุมเมืองของสกอตแลนด์ เป็นอีกหนึ่งความลงตัวของรสชาติสก็อตช์วิสกี้ของ Johnnie Walker Blue Label โดยส่วนผสมที่มาจากสเปย์ไซด์จะมีกลิ่นผลไม้ จากไฮแลนด์จะมีความหอมหวาน ส่วนเวสต์แลนด์มีจะกลิ่นควัน อีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้สก็อตช์วิสกี้มีความพิเศษ คือไม่ใช่แค่น้ำที่นำมาผลิตเป็นสก็อตช์วิสกี้ต้องมีคุณภาพเท่านั้น แต่รสชาติและกลิ่นต้องมีความยอดเยี่ยม ลึกล้ำและซับซ้อน รวมถึงมีรสชาติหนักและเบาผสมผสานอย่างสมดุลกัน มีความลงตัวอย่างหาใครเทียบได้ยาก นอกเหนือจากนี้ ยังมีเรื่องราวเบื้องหลังที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมา ดังนั้นกว่าจะมาเป็นสก็อตช์วิสกี้ที่สมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ใช่อยู่แค่ตัวสก็อตช์วิสกี้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่างรวมกันด้วย
“อีกสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ของ Johnnie Walker Blue Label นอกจากกลิ่นแล้วคือ texture ที่มีความนุ่มละมุนลิ้นมาก ๆ แตกต่างจากสก็อตช์วิสกี้ตัวอื่น ๆ โดยในแก้วเดียวกันรสชาติที่สัมผัสจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ” ใช่แล้ว วิสกี้ดื่มกับน้ำได้ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด โดยมากคอวิสกี้จะนิยมดื่มแบบนีท หรือวิสกี้เปล่า ๆ ไม่ผสมอะไรเลย แต่ถ้าอยากได้กลิ่น รส และสัมผัสที่ร้อยเรียงกันเป็นชั้น ๆ อย่างน่าอัศจรรย์ในวิสกี้ ยวนแนะนำว่าให้หยดน้ำเย็นลงในแก้ววิสกี้ แล้วค่อย ๆ จิบ
“ให้ลองวางแก้วน้ำเย็นไว้ข้าง ๆ แก้วสก็อตช์วิสกี้ เริ่มจากการใช้น้ำเย็นดื่มล้างปาก ไม่ให้มีรสชาติอื่น ๆ ค้างในปาก แล้วจึงค่อยดื่มสก็อตช์วิสกี้ตามเพื่อเพิ่มความสดชื่น และการสัมผัสรสชาติที่นุ่มนวลมากยิ่งขึ้น หรือบางคนเลือกที่จะหยดน้ำ 3-4 หยด ลงไปในแก้วสก็อตช์วิสกี้ เพื่อจะให้แอลกอฮอล์มีความเข้มข้นลดลง ทั้งยังช่วยดึงกลิ่นผลไม้ และมอบรสชาติใหม่ ๆ ออกมา Johnnie Walker Blue Label เป็นวิสกี้ที่ผมชอบมาก เพราะในแก้วเดียวมีความซับซ้อนที่น่าค้นหามาก ๆ ดื่มได้ไม่เบื่อเลยครับ”
นอกจากนี้วิสกี้ยังสามารถนำไปดื่มพร้อมกับอาหารหลากหลายเมนูได้อีกด้วย เคล็ดลับคือ สามารถจับคู่เครื่องดื่มกับอาหารอย่างเหมาะสม เช่น อาหารรสชาติเผ็ด ก็ทานคู่กับสก็อตช์วิสกี้ที่มีกลิ่นควัน ส่วนอาหารรสชาติหวานหรือขนมหวาน ทานกับสก็อตช์วิสกี้ที่มีกลิ่นวานิลา โดยรสนิยมการดื่มของผู้คนมีพัฒนาการ โดยช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมามีความนิยมวิสกี้ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น Johnnie Walker Blue Label สามารถเข้าได้กับอาหารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอาหารรสชาติหนักๆ อย่างเช่น สเต็ก บาร์บีคิว หรือรสชาติอาหารเบา ๆ ที่มีรสตรงข้ามกันอย่าง แซลมอน หรือแม้แต่ขนมหวานอย่างช็อกโกแลต
ยวนที่เป็นชาวสกอตและทำงานคลุกคลีกในแวดวงมานานยังเล่าให้ฟังด้วยว่า สก็อตช์วิสกี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและอาชีพของคนในสกอตแลนด์ เนื่องจากสกอตแลนด์เป็นอันดับหนึ่งของโลกในแง่ของสก็อตช์วิสกี้ แน่นอนว่าสก็อตช์วิสกี้ ฝังแน่นอยู่ในวัฒนธรรมของชาวสกอตแลนด์ที่มีประชากรอยู่ราว ๆ ห้าล้านคนเท่านั้น บางหมู่บ้านที่มีคนอยู่ 50-100 คนก็ยังมีโรงกลั่นกัน โดยมีโรงกลั่นในสกอตแลนด์ทั้งหมดประมาณ 145 โรงกลั่น ขนาดเล็กใหญ่คละกันไป เรื่องขนาดของโรงกลั่นและการจ้างงานนั้น ยังขึ้นกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวบาเลย์เพราะเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสก็อตช์วิสกี้ ตลอดจนคู่ค้าในด้านอื่น ๆ อย่างคนผลิต ทำขวด หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่มีหน้าที่ในการผสมสก็อตช์วิสกี้ ถือได้ว่าโรงกลั่นสก็อตช์วิสกี้ ครอบคลุมการจ้างงานในหลากหลายทักษะ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยการทำโรงกลั่น สก็อตช์วิสกี้ถือเป็นหนึ่งในอาชีพหลักที่เป็นอัตลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของสกอตแลนด์
ก่อนจะจากกัน ยวนยังพูดถึงเทรนด์การสะสมวิสกี้หายาก ซึ่งสำหรับนักสะสม Johnnie Walker Blue Label ก็มีหลากหลายรุ่นที่อยากจะแนะนำ เช่น รุ่น Ghost and Rare ซึ่งเป็นรุ่นพิเศษที่หายากมากๆ เพราะเรานำส่วนผสมมาจากโรงกลั่นที่ปิดตัวลงไปแล้ว โดยมีบางที่ปิดไปแล้วถึง 30-40 ปี อย่าง Johnnie Walker Blue Label Ghost and Rare Port Dundas ก็เป็นรุ่นแนะนำที่นักสะสมควรมีไว้ครอบครอง ความพิเศษคือเราไม่สามารถหารสชาติแบบนั้นได้อีกแล้ว เพราะเป็นการนำเอาสก็อตช์วิสกี้จากถังไม้โอ๊คของโรงกลั่นที่ปิดตัวไปแล้วมาผลิต ทำให้ความรู้สึกตอนที่กำลังดื่มด่ำมันล้ำค่ามากๆ เป็นความรู้สึกที่มีได้แค่ครั้งเดียว
นอกจานี้ยังมี Johnnie Walker Blue Label อีกรุ่นหนึ่งคือ Johnnie Walker Blue Label Ghost and Rare Port Ellen ซึ่งเป็นการนำเอาสก็อตช์วิสกี้จากถังไม้โอ๊คของโรงกลั่นที่ปิดตัวไปตั้งแต่ปี 1980 หรือประมาณ 40 ปี มาทำเป็นสก็อตช์วิสกี้ ถือเป็นอีกหนึ่งคอลเลคชั่นที่ทรงคุณค่ามากและมีรสชาติที่ยอดเยี่ยม