HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
มองพลังของคนตัวเล็ก ฝ่าวิกฤตโลกบนวิถีพอเพียงตามศาสตร์พระราชา
by L. Patt
29 มี.ค. 2566, 13:48
  853 views

ในขณะผู้คนต้องใช้ชีวิตที่ยากลำบากขึ้นจากผลกระทบทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังพลิกโฉมโลกทุกมิติ และการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งนับวันมีแต่จะร้อนและเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ มีคนหลากหลายอาชีพกำลังมุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยความเชื่อมั่นว่า นี่ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด ที่จะทำให้คนอยู่ดี มีสุข นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

อาจารย์ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือที่เรียกขานกันว่า อาจารย์ยักษ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ยังคงทุ่มเททำงานกับทุกภาคส่วนอย่างไม่ย่อท้อ แม้อายุอานามจะปาเข้าไป 69 ปีแล้วก็ตาม ด้วยความมุ่งหวังที่จะเห็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติผุดขึ้นในทุกๆ หมู่บ้านทั่วประเทศ ส่งไม้ต่อให้กับลูกหลานเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นพลังเปลี่ยนโลกในอนาคต

กว่าสองทศวรรษที่ อ.ยักษ์ ฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมจากการปลูกมันสำปะหลังและอ้อย เพื่อสร้างระบบนิเวศตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทุกวันนี้ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง (มหาลัยคอกหมู) บนพื้นที่ 55 ไร่ กลายเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ทั้งการเข้าไปศึกษาดูงาน ฝึกอบรม สัมมนา เวิร์คช็อป รวมไปถึงโรงเรียนสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 10 ขวบไปจนถึงระดับปริญญาตรี

นอกจากนี้ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องยังมีการจัดงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดินต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 16 แล้ว โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด "ยุทธการสร้างโลกให้เย็น" ถือเป็นงานใหญ่ที่เหล่าบรรดากูรู ผู้นำเครือข่าย และปราชญ์ชาวบ้านสายกสิกรรมธรรมชาติ มารวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ผ่านวงสนทนา มีกิจกรรมและฐานเรียนรู้ต่างๆ มากมาย หลายคนนำเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าพืชนานาชนิดมาแจกฟรี ตลอดจนการออกบูธผลิตภัณฑ์อินทรีย์จากศูนย์เครือข่ายทั่วประเทศ

อ.ยักษ์ ย้ำว่า องค์การสหประชาชาติออกมาเตือนแล้วว่า มนุษย์จะอยู่บนโลกนี้ยากขึ้นทุกวันๆ เพราะอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น ถึงขั้นเรียกว่า “code red for humanity” ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงใน 2-3 ทศวรรษข้างหน้า หากไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วมหนัก และที่น่ากลัวก็คือ น้ำทะเลหนุนจนทำให้หลายพื้นที่ที่ไม่เคยถูกน้ำท่วมก็ท่วม และจะต้องมีการอพยพคนครั้งใหญ่เนื่องจากเมืองจะจมอยู่ใต้ทะเล

อะไรคือทางรอด

อ.ยักษ์ แนะว่า รัฐบาลต้องจับมือกับเกษตรกรผู้ผลิตอาหารรายเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร หรือประมงชายฝั่ง เพราะผลิตโดยไม่ทำลายธรรมชาติ/ระบบนิเวศ ไม่ทำลายโลก ดังนั้น ภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้เกษตรกรรายเล็กอยู่รอดให้ได้ ต้องเร่งปลูกต้นไม้ให้มากขึ้นอีกเป็นสิบเท่า โดยส่งเสริมให้ประชาชนเพาะกล้าปลูกป่าเอง และผลักดันให้เกิดการพัฒนาในรูปแบบศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ

ขณะนี้ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง กำลังพยายามขยายแนวร่วมกับทุกภาคส่วน เปรียบเสมือนมือแต่ละข้างที่มี 5 นิ้ว โดย ภาครัฐเปรียบเป็น นิ้วหัวแม่มือ ควรมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริม อย่าไปทำโครงการเอง และหวังให้รัฐบาลชุดใหม่มองเห็นคุณค่าของเกษตรกรรายเล็กๆ ร่วมมือกับเกษตรกร ไม่ใช่ไปสั่งให้เค้าทำตาม แต่ต้องคบเป็นเพื่อนแล้วร่วมมือกัน

นิ้วชี้ หมายถึง ผู้ชี้นำสังคม เช่น ปราชญ์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะอยู่ในวัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือชุมชนที่เป็นคนปฏิบัติจริง เห็นผลจริง

นิ้วกลาง หมายถึง ภาคประชาชน จะต้องหันมาสนใจ เรียนรู้ และลงมือทำ ซึ่งที่ผ่านมา ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องทำงานกับภาคประชาชนเป็นหลัก และมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ล่าสุด ศูนย์ฯ  ได้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ชื่อ บริษัท 9 Unity (หมายถึง เอกภาพของคนจงรักภักดีต่อปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9) และพัฒนาแอปพลิเคชั่น "9unity" เพื่อเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงสมาชิกเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติและภาคีไว้ด้วยกันให้เป็นเอกภาพผ่านการรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ ความถนัดเฉพาะทาง เรื่องราว สาระดีๆ และผลผลิต ผลิตภัณฑ์มากมายของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ เพื่อการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เรียนรู้ แจก แบ่งปัน ช่วยเหลือ ซื้อ-ขาย อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยเปิดให้เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติใน 57 จังหวัดลงทะเบียนเป็นต้นแบบกลุ่มแรกก่อนที่จะขยายการใช้งานให้มากขึ้นต่อไป

ส่วนนิ้วนาง หมายถึง ภาคเอกชน ซึ่งศูนย์ฯ จะดึงเอกชนมาเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพราะมีพลังในการขับเคลื่อนได้มาก ขณะที่ นิ้วก้อย จะเป็นภาคประชาสังคมและสื่อ ซึ่งมีมูลนิธิและสมาคมเพื่อสังคมเป็นจำนวนหลายร้อยองค์กรที่สามารถสนับสนุนแนวทางกสิกรรมธรรมชาติได้

ห้องเรียนใหม่ บ่มเพาะคนรุ่นใหม่

อ.ยักษ์ ยอมรับว่า การถ่ายทอดแนวคิดกสิกรรมธรรมชาติไปสู่คนรุ่นใหม่เป็นเรื่องที่ผมคิดมากที่สุด แต่การฝังแนวทางไว้ในระบบที่ดีที่สุดจะต้องเป็นระบบที่เราควบคุมได้ ฉะนั้น มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จึงไปขอใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนประจำขึ้น โดยเราเป็นคนกำหนดสเปคทั้งหมด 100% ซึ่งกระทรวงฯ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานของกระทรวง ที่นี่จึงเป็นห้องเรียนใหม่ เป็นห้องเรียนธรรมชาติที่ครูและนักเรียนปฏิบัติได้จริง

ปีนี้ครบ 10 ปี ของการก่อตั้งโรงเรียน โดยรับเด็กตั้งแต่ประถม 4 ขึ้นไป มากินนอนที่นี่ และยังมีแคมปัสอีก 6 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาค ส่วนระดับปริญญาตรี ก็มีความร่วมมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ เปิดหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม (เอสอี) สาขาเศรษฐกิจพอเพียง รวมไปถึงการศึกษานอกระบบด้วย โดยยึดหลักการเชื่อมโยงบ้าน-วัด-โรงเรียน หรือ 'บวร' ซึ่งการเรียนรู้ทั้งหมดนี้เรียกรวมกันว่า โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย (ตามความหมายในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก)

Caption

ต้น - ศุภกิจ จันทรไทยพฤกษ์ อายุ 18 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่า ตัดสินใจมาเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่นี่ หลังจากจบ ม.3 ที่อำเภอตะกั่วป่า เพราะได้คำแนะนำจากพ่อที่ผันจากอาชีพทัวร์มาทำการเกษตรในช่วงโควิด-19 และเป็นสมาชิกในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติด้วย เมื่อจบแล้วก็ตั้งใจจะกลับไปตะกั่วป่าเพื่อทำโครงการโคกหนองนา บนที่ดิน 16 ไร่ของพ่อแม่ และดำเนินวิถีชีวิตตามทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง โดยเริ่มจากหลักพื้นฐาน 4 พอ คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น

Eco Village: หมู่บ้านแห่งความพอเพียง

อาสาชาวนามหานคร

นับตั้งแต่ วรเกียรติ สุจิวโรดม นักธุรกิจส่งออกเคมีภัณฑ์ ได้ซื้อที่ดินแปลงใหญ่ 133 ไร่ อ.หนองจอก กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2560 เพื่อพัฒนาโครงการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้วิสาหกิจเพื่อสังคม ชื่อ บริษัท อาสาชาวนามหานคร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่คืนกำไร 100% อีก 100 ไร่ ใกล้ๆ กัน จะพัฒนาให้เป็นชุมชนนิเวศวิถี (Eco Village) เพื่อเป็นชุมชนสำหรับคนที่ต้องการใช้ชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

อธิปัตย์ กมลเพ็ชร เจ้าของบริษัทโฆษณา และผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชั่น รามเกียรติ์จากจิตรกรรมรอบพระระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ตอนรามาวตาร เป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าไปร่วมเป็นอาสาสมัครให้กับอาสาชาวนามหานคร ทั้งงานด้านการออกแบบ การทำกิจกรรม รวมไปถึงเป็นวิทยากรฝึกอบรมด้วย

อธิปัตย์ เล่าว่า ปัจจุบันอาสาชาวนามหานครบนพื้นที่ 133  ไร่ กลายเป็นเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความมั่นคงทางอาหารในสังคม โดยมีการจัดอบรมอาสาชาวนามหานคร รุ่นที่ 3 หลักสูตร พัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ในหัวข้อ "The Great Reset" กับการออกแบบชีวิตเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข วันที่ 6-10 เมษายน 2566 ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอาสาชาวนามหานคร หนองจอก

อ.ยักษ์  และ อ.โจน จันได

ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เชิงลึกกับ อ.ยักษ์ อ.ปัญญา ปุลิเวคินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ และทีมวิทยากรของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอาสาชาวนามหานคร 4 คืน 5 วัน (รับจำนวนจำกัด 60 คน) คนละ 4,500 บาท โดยเนื้อหาในคอร์ส นอกจากเรื่องวิกฤตของโลกปัจจุบัน การพึ่งพาตนเองภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักกสิกรรมธรรมชาติแล้ว ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เรื่องดิน: การปรับปรุงดินอย่างยั่งยืน น้ำ:ระบบบำบัดน้ำจากน้ำหนองเป็นน้ำกิน ป่า: การสร้างปัจจัยสี่ขึ้นในพื้นที่ด้วยป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และคน: การพัฒนาตนเอง การสร้างชุมชนพึ่งพาตนเอง (Eco Village)

นอกจากนี้ อ.โจน จันได จะมาอบรมการเก็บเมล็ดพันธุ์ ในวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2566 ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่า ปัญหาของเมล็ดพันธุ์เข้าขั้นวิกฤตอย่างไร จากนั้น เรียนรู้การเพาะต้นกล้า การปลูก การเก็บเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิด

โจน บอกว่า คนทุกคนเกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์ คนเมืองอาจจะไม่ชอบปลูก หรือไม่มีที่ปลูก แต่คนเมืองก็จะมีบทบาทสำคัญในการเก็บเมล็ดพันธุ์ หากมีความเข้าใจเรื่องเมล็ดพันธุ์ ก็จะได้เลือกกิน เลือกใช้ เลือกสนับสนุนการเก็บเมล็ดพันธุ์ ไม่ใช่เลือกกินอาหารเพียงไม่กี่ชนิดตามเดิม ฉะนั้น คนกินจึงจำเป็นต้องมาเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

สำหรับโซน Eco Village อธิปัตย์ บอกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงและออกแบบพื้นที่ชุมชนให้สอดคล้องกับเกษตรธรรมชาติและเพื่อการอยู่อาศัย โดยจะมีการจัดสรรที่ดินจำนวน 124 แปลง แปลงละ 1.1 ล้านบาท ขณะนี้มีผู้จองแล้ว 30 แปลง และคาดว่าจะสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า เรียกได้ว่า เป็นชุมชนของคนที่มีแนวคิดคล้ายๆ กันในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาอยู่ร่วมกัน เชื่อมโยงกับโครงการชาวนามหานคร ที่มีบ้าน วัด และโรงเรียน 

ฉะนั้น ทุกคนที่จะมาอยู่ที่นี่จะต้องผ่านการอบรม 4P ก่อนเพื่อให้มี mindset เดียวกัน และมาร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ เหมือนการลงแขก มีครัวกลาง กองบุญกลาง และจะมีการพัฒนาตลาดสีเขียวที่หนองจอก เพื่อนำรายได้มาหมุนเวียนในกองบุญของ Eco Village

อธิปัตย์ เล่าอีกว่า ผมกับภรรยาปลูกผักกินเองมาหลายสิบปีแล้ว แต่โควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เห็นชัดว่า คนไม่มีความมั่นคงในชีวิต ไม่มีความมั่นคงทางอาหาร ขณะที่เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติสอนให้คนพึ่งพาตัวเองได้ มีการแบ่งปันและช่วยเหลือกัน ถ้าเราเชื่อว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือ ทางรอดและความผาสุขของชีวิต เราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ได้

 

 

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS