พอแล้วดี The Creator ปิดม่านเทรนนิ่ง 9 รุ่น เปิดก้าวใหม่ในรูปแบบกิจกรรมบูทแคมป์
เมื่อโครงการ พอแล้วดี The Creator ที่นำศาสตร์พระราชามาสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่ไปกับแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้เดินทางมาถึงรุ่นที่ 9 ก็ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อทำให้การสานต่อพอแล้วดีมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการจัด Training ไปเป็น Bootcamp ส่งไม้ต่อให้ครีเอเตอร์สู่เมนทอร์ที่ผูกพันด้วยจิตใจ
"เมื่อเห็นเลข 9 จะนำพาให้นึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และยังหมายถึงก้าวต่อไป เป็นตัวเลขที่ตอกย้ำทั้งในสิ่งที่เป็นจุดยืนและเป็นเป้าหมายของโครงการที่เราจะต้องก้าวไปด้วยกัน แต่วันนี้ ถึงเวลาที่พี่ๆ จะได้ส่งงานต่อ ไม่มีอะไรที่จะดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนไม่ได้แปลว่า ที่ผ่านมาไม่ดี ฉะนั้น การตัดสินใจจัดฝึกอบรมรุ่นที่ 9 เป็นรุ่นสุดท้าย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำโครงการอีกแล้ว พี่และเทรนเนอร์ทุกคนยังคงยึดในคำมั่นสัญญาที่ว่า "จดจำตลอดกาล ทำตามตลอดไป" เพราะเรายังคงทำหน้าที่เป็นผู้สานต่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9" ดร. ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการโครงการพอแล้วดี The Creator หรือที่ทุกคนเรียกกันว่า พี่หนุ่ย บอกเล่าในงานปิดโครงการรุ่นที่ 9 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา
ต้องยอมรับว่า เทรนเนอร์แต่ละคนมีหน้าที่ความรับผิดชอบในชีวิตที่แตกต่างกันไป ทำให้มีเวลาจำกัด และบางคนก็ไม่สามารถมาร่วมโครงการในรุ่นหลังๆ ได้ จึงต้องมีการปรับรูปแบบการเรียนจาก Training มาเป็น Bootcamp ซึ่งจะทำให้ลดระยะเวลาเรียนจากเดิม 28 วัน เหลือเพียง 15 วัน หรือจาก 9 อาทิตย์ เหลือแค่ 3 อาทิตย์
การจัด Bootcamp แต่ละรุ่น จะรับเพียง 15-20 แบรนด์เท่านั้น เป้าหมายเราไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ แต่อยู่ที่คุณภาพของคน เพราะพอแล้วดีไม่ใช่โครงการพัฒนาธุรกิจ แต่พัฒนาคนให้มีวิธีคิดและทำธุรกิจแบบพอเพียง บนหลัก 3 ห่วง รู้จักตน มีเหตุมีผล การสร้างภูมิคุ้มกัน และ 2 เหตุผล คือ ความรู้ และคุณธรรม
พี่หนุ่ย ย้ำว่า แม้ระยะเวลาจะสั้นลง แต่เรียนกันอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพราะแทนที่จะเรียนเสร็จในแต่ละวันแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน แต่ Bootcamp จะทำให้เราต้องมากินมานอนอยู่ด้วยกัน ใกล้ชิดกันมากขึ้น มีความเพียรกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราพัฒนาได้มากขึ้น เราจึงเรียกรูปแบบนี้ว่า 'น้อยแต่มาก'
ขณะที่เทรนเนอร์ก็จะเปลี่ยนบทบาทไปเป็นเมนทอร์ (Mentor) ซึ่งเทรนเนอร์จะเป็นการดูแลระยะสั้น (Short-term active) พอสอนเสร็จก็ไป แต่ในความเป็นเมนทอร์ จะมีความผูกพันทางด้านจิตใจ ฉะนั้น เค้าจะไม่ทิ้งแต่ดูแลน้องๆ ไปตลอด ส่วนครีเอเตอร์ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ยังคงอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มเข้ามาเราเรียกว่า Peer Mentor โดยเราจะคัดเลือกครีเอเตอร์รุ่นพี่ๆ จำนวนหนึ่งมาทำหน้าที่ช่วยเมนทอร์ ฉะนั้น กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นใน Bootcamp ก็คือ Train the Trainers
รูปแบบใหม่เรียนอย่างไร
วีคแรก จะเป็น Bootcamp-1 ที่เป็นการเรียนรู้จักตน ซึ่งจะมีตั้งแต่การรู้จักพอ (SEP) รู้จักตน (Ikigai) รู้จักโลก (Impact) และรู้จักแบรนด์ โดยจะเริ่ม 1-5 ก.ค. 2568 จากนั้น ช่วง 13-17 ก.ค. 2568 จะเป็น Bootcamp-2 ซึ่งจะเรียนเรื่องการมีเหตุมีผล จะมีตั้งแต่ BMC (Brand Management Canvas) เน้นการทำกลยุทธ์การตลาดให้มากขึ้น คนที่เรียนจบไปแล้วต้องเข้าใจและทำเป็น วางกลยุทธ์การตลาดอย่างมีสติ รวมถึงการเรียนเรื่องความเข้าใจลูกค้าและสังคม (Persona)
เดือนสิงหาคม จะเป็น Bootcamp-3 ว่าด้วยเรื่องการมีภูมิคุ้มกัน มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การสร้างทักษะใหม่ๆ เพื่อจะทำให้แต่ละแบรนด์รู้ว่า จะทำอะไรต่อไปได้
Bootcamp สุดท้ายจะเป็นโครงการ พอแล้วดี Episode 9.1 เพื่ออยากให้เลข 9 เป็นการย้ำเตือนทุกคนว่า ต้องมีการพัฒนา ต้องมีการก้าวต่อไป โดยมีกิจกรรมที่เรียกว่า พอแล้วดี EXperience ซึ่งเป็นการเอาพอแล้วดีสัญจร พอแล้วดีมาร์เก็ต Chef Table ในพื้นที่ และ learning trip มามัดรวมให้เป็นเรื่องเดียวกัน
พี่หนุ่ย บอกว่า ภายใต้ พอแล้วดี EXperience เป็นการส่งมอบความรับผิดชอบให้น้องๆ ครีเอเตอร์ในแต่ละภูมิภาคเป็นคนทำกิจกรรม ซึ่งในแต่ละภาคจะมีการเลือกว่าครีเอเตอร์คนไหนจะเป็นลีดเดอร์ และมีครีเอเตอร์คนใครบ้างที่จะมาเข้าร่วม และจะทำอะไรบ้าง โดยพอแล้วดี EXperience จะจัดให้ครบทั้ง 4 ภาค แล้วมาจบทริปที่กรุงเทพฯ โดยแต่ละครั้งจะใช้เวลา 3 วัน ซึ่งจะเริ่มครั้งแรกที่จันทบุรี ในเดือนมิถุนายน 2568 ตามมาด้วย ระนอง อุดรธานี และลำพูน
ยกระดับเป็นหลักสูตรปริญญา
นอกจากเปลี่ยนรูปแบบโครงการแล้ว พอแล้วดี The Creator ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขานวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างพอเพียง โดยนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมารวมกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
พี่หนุ่ย บอกว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้ติดตามการดำเนินโครงการ พอแล้วดี The Creator มาหลายรุ่น และสนใจจะนำไปพัฒนาเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี ซึ่งถือเป็นอีกก้าวใหม่ที่สำคัญ เมื่อมหาวิทยาลัยชั้นนำมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำมาตลอด 9 ปี และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างคนที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้องลึกซึ้ง
หลักสูตรนี้จะเป็นการสอนในระบบออนไลน์ และเปิดรับสมัครตลอดปี ใครพร้อมเมื่อไหร่ก็มาสมัครเรียนได้ โดยคนที่ผ่านโครงการพอแล้วดีก็จะเรียนแค่ 2 เทอมเท่านั้น
พี่หนุ่ย ยังบอกอีกว่า โครงการทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นมาก็เพราะคำๆ เดียวคือ ศาสตร์พระราชา เราไม่สนใจว่า "พอแล้วดี" จะต้องเป็นแบรนด์ที่ทุกคนต้องจดจำ แบรนด์พอแล้วดีเป็นเพียงเครื่องมือในการที่จะสร้างศาสตร์พระราชา ซึ่งหมายถึง ศาสตร์แห่งการพัฒนา ศาสตร์แห่งความประพฤติ และศาสตร์แห่งการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่แค่ศาสตร์ที่คนไทยเคารพและยึดไปเป็นแนวทางการปฏิบัติ แต่พวกเราจะทำให้เป็นศาสตร์ระดับโลกที่ทุกคนให้คุณค่า โดยเริ่มจากวงเล็ก แล้วขยายผลออกไปเรื่อยๆ
สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจทั้ง 19 รายที่เข้าร่วมโครงการพอแล้วดี รุ่นที่ 9 ได้แก่ ดิ อัตลักษณ์ เอเจนซี่ด้านการสื่อสารแบรนด์, ปังสยาม พ.ศ. 2515 ผู้ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่, Wabi Sabi ผู้ผลิตโฮมเมดเบเกอรี่, มากมิตร คิทเช่น บริการร้านอาหารและแคเทอริ่งด้วยระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน, Intuit Leader พัฒนาคนขององค์กรโดยใช้หลักพุทธศาสนา, เออ-ดี ออร์กาไนเซอร์, สัปปายะ คลินิกแพทย์แผนไทย, Jinta ไอศตรีมโฮมเมดจากผักผลไม้ไทย, สาธุ งานคราฟท์จากวัสดุธรรมชาติ, ศรีธนรักษ์ ผลิตและจำหน่ายอิฐ ราชบุรี, Chocoholic สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากโกโก้ไทย, ปฐมสุข กลุ่มเกษตรกรแบบฟื้นฟู, ANGO โคมไฟแฮนด์เมดคราฟท์จากวัสดุธรรมชาติ, Rice Hub เครือข่ายนักวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทย, The Pride Clinic ศูนย์กายภาพบำบัดและคลินิกเฉพาะทางโรคโรคสมองและระบบประสาท, Marketing I Can ทีปรึกษาด้านการตลาด, Bananaland@Phuho ท่องเที่ยวชุมชนภูหอ, Touring Center ธุรกิจนำเที่ยวเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง, และ Sapience ที่ปรึกษาการสร้างกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาด้วยศาสตร์ biominicry เพื่อหาคำตอบที่สร้างสรรค์และยั่งยืน