HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
เจ้าชายขายน้ำหอม
by วรวุฒิ พยุงวงษ์
21 ส.ค. 2565, 21:42
  975 views

เก็บความหอมฤดูร้อนตำหนักไฮโกรฟเฮาส์ ในขวดหรู

วันดีคืนดี เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักรก็ทรงลุกขึ้นมาเก็บบรรยากาศฤดูร้อนที่ไฮโกรฟ เฮาส์ (Highgrove House) มาบรรจุลงขวดน้ำหอมด้วยความช่วยเหลือของ Penhaligon บริษัทผู้ผลิตน้ำหอมชั้นสูงของอังกฤษและวางจำหน่ายในราคาขวดละ 180 เหรียญสหรัฐ!

Highgrove House [ตำหนักไฮโกรฟ เฮาส์] PHOTO courtesy of highgrovegardens.com

ตำหนักไฮโกรฟ เฮาส์ เขตพระราชฐานส่วนพระองค์ของเจ้าชายแห่งเวลส์กับดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ คามิลลา โรสแมรี แชนด ปาร์เกอร์ โบวล์ส์ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเท็ทบิวรีในเขตกลูเชสเตอร์เชียร์ เป็นอาคารทรงจอร์เจียนสร้างขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 เคยอยู่ในกรรมสิทธิ์ของหลายตระกูลจนกระทั่งท้ายสุด ดัชเชลแห่งคอร์นวอลล์ได้ทำการซื้อต่อมาจากมอริซ แม็คมิลแลน ซึ่งนอกจากจะเป็นเวทีให้พระสวามีได้แสดงความสามารถทางการบูรณะแต่งเติมด้วยการใช้สถาปัตยกรรมแบบนีโอ-คลาสสิกแล้ว ก็ยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดความรัก ความชื่นชอบต่องานจัดสวนขององค์รัชทายาทแห่งอังกฤษโดยมีที่ปรึกษาเป็นทีมนักจัดสวนชื่อดังอย่างโรสแมรี เรเรย์ และนักธรรมชาติวิทยามิเรียม ร็อธส์ไชลด์ เพื่อนำบรรดาเทคนิคการทำสวนเกษตรอินทรีย์มาใช้ ให้สวนรอบตัวอาคารกลายเป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืนสำหรับเหล่านกนานาชนิด รวมถึงสัตว์ป่าบางสายพันธุ์แบบที่ทรงเคยใช้เวลาหลายทศวรรษไปกับการปฏิรูปสวนในเขตแซนดริงแฮมของสมเด็จพระราชินีให้อยู่ภายใต้ “กระบวนการเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ” มาแล้ว

น้องสาว (เจ้าฟ้าหญิงแอนน์) กับตัวข้าพเจ้าเองนั้น ก็ลงมือเองเหมือนกัน เราช่วยกันทำแปลงปลูกพืชผักสวนครัวไว้ทางด้านหลัง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงเคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซี เรดิโอถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อศาสตร์พืชกรรมสวน เราสองคนสนุกมากกับการได้ลองปลูกมะเขือเทศ กับพืชผักชนิดอื่นๆ ได้ผลบ้าง ล้มเหลวบ้าง

สวนของตำหนักเปิดให้เข้าชม ได้กลุ่มละไม่เกิน 8 คน  บัตรมีจำหน่าบบนเวบ highgrovegardens.com

การลงมือทำสวนด้วยพระองค์เองนั้น ยังได้รับความช่วยเหลือภาคสนามจากหัวหน้าอุทยานประจำพระตำหนักขององค์สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธ

มร.นัทบีมเก่งเหลือเชื่อ เขาช่วยเราได้มาก ให้ข้าพเจ้ากับน้องสาวได้มีสวนเล็กๆ อย่างที่ต้องการ พระองค์ทรงทบทวนถึงเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ในระหว่างทรงให้สัมภาษณ์ครั้งนั้น ไม่มีอะไรสนุกไปกว่าการได้กินสิ่งที่เราปลูกขึ้นมาเองกับมือ ถูกมั้ย? และนี่เป็นอีกเหตุผล ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีความสำคัญมากในการหาวิธี หรือหนทางต่างๆ ที่จะกระตุ้น และปลูกฝังเด็กๆ ให้รู้จักปลูกพืช ปลูกผักต่างๆ ทั้งที่บ้านของตนเอง และที่โรงเรียน

ตลอดเวลาสี่ทศวรรษในการพัฒนาสวนโดยรอบไฮโกรฟ เฮาส์ให้ตรงตามงานออกแบบเพื่อ สร้างความรื่นรมย์ต่อสายตา นำพาความต้องการให้นั่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เพราะหนึ่งในความสุขของข้าพเจ้าคือการได้เห็นความเพลิดเพลิน เบิกบานที่สวนแห่งนี้สามารถมอบให้แก่ผู้มาเยือน และทุกคนก็ดูเหมือนจะได้ค้นพบพื้นที่บางส่วนที่มีความพิเศษ หรือที่ตนรู้สึกชื่นชอบเป็นการเฉพาะและด้วยคำกล่าวนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่มกุฎราชกุมารพระชนมายุ 73 พรรษาจะต่อยอดความรักในงานพืชสวน กับความปรารถนาจะแบ่งปันความสุขของการได้อยู่ท่ามกลางแมกไม้ และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติให้แก่ผู้คนทั้งหลาย ซึ่งยังไม่มีโอกาสไปเที่ยวชมสวนที่เปิดให้สาธารณชน บุคคลทั่วไปเข้าชมตั้งแต่ปี 1996 นั้น ได้สัมผัสเสน่ห์ของไฮโกรฟ เฮาส์ผ่านผลงานการร่วมสรรค์สร้างกับ Penhaligon

Weeping Silver Lime [วีปปิง ซิลเวอร์ ไลม์] หัวใจสำคัญของการออกแบบกลิ่น

"Highgrove Bouquet เป็นน้ำหอมกลิ่นใหม่ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจ และเป็นผลจากการทำงานร่วมกับเจ้าฟ้าชายแห่งเวลส์ เพื่อถ่ายทอดกลิ่นหอมในบรรยากาศของสวนไฮโกรฟ เฮาส์ระหว่างฤดูร้อน คือถ้อยแถลงจากสำนักงานจัดการสวนในเขตพระราชฐาน “นี่เป็นช่วงเวลาที่ต้นวีปปิง ซิลเวอร์ ไลม์ มะนาวสายพันธุ์หนึ่งได้ผลิดอกออกกลิ่นฟุ้งกระจายไปทั่ว ทำให้สวนไฮโกรฟ เฮาส์แห่งนี้อบอวลไปด้วยความหอมสดชื่นของมวลดอกไม้”

จูลี พลูเช็ต นักออกแบบแนวกลิ่นกับทีมผู้ปรุงสูตรน้ำหอมของเธอ ยังต้องสานต่อแนวทางพระราชดำริเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืนด้วยการใช้วิทยาการเฮดสเปซ (headspace technology หรือ “การเก็บโมเลกุลกลิ่นในภาวะสุญญากาศ” เป็นเทคนิคสำหรับสังเคราะห์หัวน้ำหอมโดยใช้โดมแก้วครอบลงไปรอบดอกไม้เพื่อก่อภาวะสุญญากาศเก็บกักไอกลิ่นจากวัตถุดิบธรรมชาติ จากนั้น ก็จะทำการวิเคราะห์สารประกอบ หรือโมเลกุลกลิ่นในรูปแบบกาซที่อวลอยู่ในครอบแก้วนั้นก่อนส่งไปห้องแล็บ โมเลกุลกลิ่นซึ่งถูกวิเคราะห์ได้นั้น จะถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อสังเคราะห์หัวน้ำหอมให้ได้กลิ่นตามแบบที่ต้องการ) ถ่ายทอดกลิ่นหลักของบรรยากาศฤดูร้อนในสวนแห่งนี้อันได้จากวีปปิง ซิลเวอร์ ไลม์ (หรือ Tilia Petiolaris ส่วนสาเหตุที่เรียกว่า weeping silver lime นั้นก็เพราะใบรูปหัวใจของมะนาวยืนต้นสายพันธุ์นี้ มีหน้าใบสีเข้ม และใต้ใบสีขาวเงิน) เจ้าของดอกสีเหลืองที่ส่งกลิ่นหอมระหว่างฤดูร้อนดึงดูดหมู่ผึ้งให้เข้ามาทำการผสมเกสรดอกไม้ต่างๆ ภายในสวน (อันถือเป็นกระบวนการเพื่อความยั่งยืนสำหรับระบบพหุชีวิตอีกรูปแบบ) ด้วยวิธีนี้ จึงทำให้ไม่มีการปลิดดอก หรือสูญเสียดอกไม้เลยสักดอกในการสกัดหัวน้ำหอม

กลิ่นหอมสดชื่นเหมือนใบไม้เขียว (green note) จากดอกวีปปิง ซิลเวอร์ ไลม์ ซึ่งรับบทหัวใจสำคัญของโครงสร้างเนื้อกลิ่น ยังได้รับการเติมความครบครันทางบุคลิกด้วยการใช้หัวน้ำหอมต่างตระกูล ต่างแนวกลิ่น เพื่อมอบความสมบูรณ์แบบเชิงมิติ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นดอกไม้กลีบขาวจากซ่อนชู้ ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นหวานชื่นของดอกไม้กลางไอแดดฤดูร้อน ในขณะที่ดอกส้มมิโมซาสีเหลืองสกาวให้ความอ่อนโยน ละเมียดละไมดุจละอองแป้งโดยมีกลิ่นลาเวนเดอร์กับเจราเนียมร่วมกันจุดประกายความสดชื่น ปลอดโปร่งเสมือนกำลังได้อยู่ท่ามกลางแมกไม้เขียวขจี และไม้ซีดาร์กับออร์ริส (ไอริสสายพันธุ์ฟลอเรนทีน) เป็นฐานโครงสร้างแนวกลิ่นมัสค์ที่จะช่วยตรึงเนื้อกลิ่นให้กลมกลืนกับผิวกาย

ในขณะที่ขวดบรรจุยังคงใช้รูปทรงมาตรฐานงานออกแบบขวดน้ำหอมสัญลักษณ์ Penhaligon กระนั้น ก็สามารถสื่อถึงแรงบันดาลใจจากสวนแห่งราชวงศ์ด้วยงานประดับริบบินเขียวผูกโบว์อิสริยาภรณ์ รองรับนโยบายเพื่อความยั่งยืนจากการใช้น้ำหมึกออร์แกนิกปราศจากน้ำมันแร่สำหรับตีพิมพ์ เช่นเดียวกับกล่องบรรจุทำจากกระดาษชานอ้อยผ่านกระบวนการรีไซเคิล และสามารถนำไปรีไซเคิลใหม่ได้ 100% พร้อมกันนั้น ยังใช้แผ่นใสซึ่งสามารถย่อยสลายเองตามกระบวนการธรรมชาติ (biodegradable film wrap) แทนกระดาษแก้วเซลโลเฟนเพื่อลดการใช้พลาสติก

เหนืออื่นใด เงินรายได้ 10% จากราคาจำหน่าย Highgrove Bouquet จะถูกมอบเข้ามูลนิธิ The Prince's Foundation ในพระราชูปถัมภ์เพื่อพัฒนาโปรแกรมการศึกษา เผยแพร่องค์ความรู้ และดำเนินกระบวนการฝึกอบรมทักษะความชำนาญในสาขาวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานฝีมือ และศิลปะตามธรรมเนียมดั้งเดิม, งานออกแบบ และสถาปัตยกรรม, วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม รวมถึงพืชกรรมสวน และธุรกิจการบริการ

PHOTO COURTESY OF HIGHGROVE BOUQUET

ABOUT THE AUTHOR
วรวุฒิ พยุงวงษ์

วรวุฒิ พยุงวงษ์

At boundary of athletics and beauty, I write and play

ALL POSTS