HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
DIOR ในมุมมองของสตาร์ก: หรือความหรูหราจะคืนสู่สามัญ
by วรวุฒิ พยุงวงษ์
19 ส.ค. 2565, 11:57
  908 views

 

ไม่น่าเชื่อว่าเก้าอี้ในฝันของประดิษฐกรนักสร้างสรรค์ผู้โด่งดังจากงานออกแบบอันเรียบง่ายไร้รายละเอียดปลีกย่อยกลับเป็นเก้าอี้พนักวงรี หนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความหรูหราประจำห้องเสื้อชั้นสูงของ Christian Dior

“เช่นเดียวกับบางคนซึ่งใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการแสวงหาเดรสดำตัวสั้นอันเหมาะสมกับตัวเองอย่างที่สุด ผมก็ฝันถึงเก้าอี้ที่เรียบง่าย ให้ความสมบูรณ์แบบมาตลอดโดยไม่รู้ตัวว่าต้นแบบแห่งความหมดจดเพียบพร้อมนั้นอยู่ในความทรงจำของผมอย่างแจ่มชัด ทุกแง่มุมของเก้าอี้พนักวงรีหรือ Medallion Chair จากสมัยพระเจ้าลูอิสที่ 16 ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในมรดก และสัญลักษณ์ประจำห้องเสื้อ Dior ในปัจจุบัน ได้พาผมให้กลับมาหางานออกแบบเก้าอี้สไตล์นี้อีกครั้ง” ฟิลิปป์ สตาร์กกล่าว

PHOTO COURTESY OF DIOR.COM

เก้าอี้พนักวงรีสไตล์ลูอิสที่ 16 (Louis XVI) จากปลายศตวรรษที่ 18 มีความเกี่ยวพันกับคริสเตียน ดิออร์อย่างแน่นแฟ้น โดยเริ่มจากตอนที่เขาทำการเปิดกิจการห้องเสื้อพร้อมนำเสนอผลงานการออกแบบเสื้อผ้าแฟชันคอลเลคชันแรกของตนเมื่อปี 1947 วิกเตอร์ กรองด์ปิเอร ศิลปินนักออกแบบตกแต่งภายใน หนึ่งในเพื่อนสนิทของเขาได้ช่วยเลือกเก้าอี้สไตล์นี้มาใช้รับรองแขกเหรื่อ ซึ่งจะมาเป็นประจักษ์พยานความสำเร็จชั่วข้ามคืนภายในซาลอนห้องต่างๆ ของอาคารเลขที่ 30 ถนนมงแตญ

เก้าอี้หวายตัวนี้ เคยใช้ประกอบแฟชันโชว์ในปี 1947

 

 

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1947 บรรดาผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมาบนถนนมงแตญต่างต้องมนต์สะกดของกลิ่นหอมตลบอบอวล ซึ่งฟุ้งออกมาจากห้องเสื้อ Dior ตามบัญชาของนักออกแบบแฟชันที่ให้ทำการฉีดสเปรย์น้ำหอม Miss Dior ในทุกห้องซาลอน ส่วนบุคคลซึ่งได้รับเกียรติให้เข้าไปภายในตัวอาคารแห่งนั้น ต่างก็ต้องยิ้มปลาบปลื้มให้กับเก้าอี้พนักวงรีสไตล์ลูอิส 16 ซึ่งทวีความหรูหราด้วยงานประดับโบว์ฟงตาญตรงหัวพนัก (fontange bow ซึ่งเชื่อกันว่าถูกขนานนามตามดัชเชสแห่งฟงตาญ พระสนมคนโปรดในพระเจ้าลูอิสที่ 14 แห่งฝรั่งเศส สืบเนื่องจากในวันหนึ่ง ขณะขี่ม้าตามเสด็จประพาสล่าสัตว์ ลมกรรโชกหมวกประดับจนหลุดหลาย เพื่อไม่ให้ผมยุ่งรุงรังจนขัดเคืองพระทัยองค์สุริยกษัตริย์ มาร์ควิสเจ้าเสน่ห์จึงดึงริบบินชายชุดเส้นหนึ่งออกมาใช้รวบผมมัดปมอย่างลวกๆ กระนั้น ปรากฏว่าโบว์ปล่อยชายสองแฉกกลับกลายเป็นต้นแบบความนิยมให้แก่สุภาพสตรีทั้งราชสำนัก) ของเก้าอี้ที่พวกตนจะได้นั่งชมการแสดงคอลเลคชันอย่างโก้หรู “ภูมิฐาน เรียบง่าย และคลาสสิกสมกับเป็นปารีเซียงขนานแท้” เป็นข้อความส่วนหนึ่งในบันทึกความทรงจำของนักออกแบบแฟชันระดับตำนาน “พนักเก้าอี้รูปทรงวงรีเหล่านั้น ยังได้รับการตกแต่งอย่างงามสง่า ทั้งในรุ่นพนักเก้าอี้สานหวายลายขัด กับพนักเสริมเบาะหุ้มผ้าตวล เดอ ฌูย์ (toile de jouy: ผ้าทอลายจิตรกรรมสีเดี่ยวบนพื้นขาว)”

PHOTO COURTESY OF DIOR.COM

เพื่อรำลึกถึงเก้าอี้พนักวงรีอันมีความบทบาท และความสำคัญอย่างยิ่งตลอดประวัติความเป็นมาของห้องเสื้อชั้นสูงแห่งถนนมงแตญ เมื่อปี 2021 Maison Dior ได้สร้างปรากฏการณ์อันชวนตื่นตาตื่นใจด้วยการเชิญ 17 ศิลปิน และนักออกแบบผู้มีชื่อเสียงโด่งดังระดับสากลมาร่วมกันถ่ายทอดมุมมองของแต่ละคนอันมีต่อหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำแบรนด์ผ่านงานรังสรรค์เก้าอี้พนักวงรีขึ้นตามแบบฉบับของพวกเขา สำหรับปีนี้ ภายใต้การดูแลของกอร์เดอเลีย เดอ กาสเตแญน (Cordelia de Castellane) ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แผนกเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องเรือน Maison Dior การจัดนิทรรศการในสัปดาห์งานออกแบบมิลาน Salone del Mobile 2022 ฟิลิปป์ สตาร์ก นักออกแบบ และสถาปนิกอุตสาหกรรมสัญชาติฝรั่งเศสได้รับเชิญให้มาร่วมงานรังสรรค์เก้าอี้อันเป็นมรดก และแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจไม่สิ้นสุดนี้แต่เพียงผู้เดียว

นี่เป็นครั้งแรกซึ่งนักสร้างสรรค์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักจากวิสัยทัศน์ล้ำสมัยทางการออกแบบอันเรียบง่าย ได้ใช้ไหวพริบในการพลิกแพลงทักษะ ความชำนาญแขนงต่างๆ ของตนมาสานต่อธรรมเนียมแห่งความเป็นเลิศให้แก่ห้องเสื้อแฟชันระดับตำนาน และผลลัพธ์อันถือกำเนิดขึ้นก็คือเก้าอี้พนักวงรีนามว่า Miss Dior ซึ่งถูกนำไปจัดแสดงในพระราชวังซิตเตอริโอ (Palazzo Citterio) ตลอดสัปดาห์งานออกแบบมิลาน


กว่าหลายปีที่ผ่านไปกับการทำงานของฟิลิปป์ สตาร์ก ดาวเด่นแห่งวงการนักออกแบบฝรั่งเศสสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้ผลงานแต่ละชิ้นของเขาเป็นที่รู้จัก และจดจำจากลูกเล่นลดทอนโครงสร้าง ขจัดรายละเอียดส่วนเกิน (ซึ่งเขากล่าวว่าต้องอาศัย “ความเฉียบขาด แม่นยำ และโหดร้ายทารุณ”) ดังจะเห็นได้จากเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่งต่างๆ ตั้งแต่โคมไฟ โซฟา โต๊ะ ไปจนถึงเครื่องสุขภัณฑ์ สไตล์งานออกแบบ “น้อยในรายละเอียด มากในอายุการใช้งาน” ทำให้ประดิษฐกรรมทั้งหมดของเขาคงความงดงามโดดเด่นเป็นที่ต้องการอยู่เหนือกระแสความนิยมของยุคสมัย และเมื่อมาถึงโครงการเก้าอี้พนักวงรีหรือ Medallion chair สไตล์ลูอิสที่ 16 อันเป็นที่รักของคริสเตียน ดิออร์ ซึ่งรายเรียงเป็นระเบียบตระการตาอยู่ภายในห้องซาลอนของอาคารสำนักงานใหญ่ Christian Dior บนถนนมงแตญ, ในห้องจัดแสดงแฟชันคอลเลคชันต่างๆ ตลอดจนที่พำนักของนักออกแบบผู้ล่วงลับ ไม่ว่าจะในกรุงปารีส หรือในบ้านพักชนบทมิลลี-ลา-ฟอเร็ต สายตาอันเฉียบแหลม และความรู้หลากสาขาของสตาร์ก ถูกหลอมรวมเข้ากับพลังขับเคลื่อนจาก “ความรักในความเรียบง่าย” เพื่อก่อกำเนิด Miss Dior เจ้าของมิติทรงอันงามสง่า บ่งบอกถึงความเป็นผู้หญิง กระนั้นกลับเผยแก่นสาร และหน้าที่ของเก้าอี้อย่างแท้จริงโดยใช้อลูมิเนียมล้วนเพียงอย่างเดียวเป็นวัตถุดิบทางการผลิตสืบเนื่องจากคุณสมบัติประเด็นต่างๆ ทั้งในแง่ของน้ำหนักเบาพิเศษ,  ความแข็งแรงทนทานที่ช่วยยืดอายุการใช้งาน และรูปลักษณ์อันมอบความรู้สึกสูงส่ง ล้ำค่า สามารถช่วยให้เขาตอบโจทย์การสรรค์สร้างเก้าอี้ที่มีความสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะคงความภูมิฐานอยู่เป็นนิรันดร์

ผลงาน “ผลิตในอิตาลี” อันถือกำเนิดจากการร่วมงานระหว่าง Maison Dior กับแบรนด์ Philippe Starck เพื่อสะท้อนความปรารถนาของนักออกแบบสร้างสรรค์ชาวฝรั่งเศส ที่จะแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ “เก้าอี้” คอลเลคชันนี้ ประกอบไปด้วยงานออกแบบสามรุ่น คือเก้าอี้พนักปราศจากเท้าแขน, เก้าอี้พนักเท้าแขนคู่ และเก้าอี้พนักเท้าแขนข้างเดียว แต่ละตัวอาศัยอลูมิเนียมขัดผิวสองลักษณะคือเนื้อซาติน กับเนื้อเงาวาว ซึ่งล้วนให้สัมผัสเรียบเนียน ดึงดูดสายตาด้วยกระบวนการชุบสีกรรมวิธีสื่อนำไฟฟ้าถึงสามเฉดอันได้แก่รุ่นสีทองแดงอมชมพู, สีโครเมียมรมดำ และสีทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับรุ่นเท้าแขนเดี่ยว อันคล้ายถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้นั่งได้อิงกายทอดหุ่ยด้วยท่วงท่าแบบมาร์เลน ไดทริช เจ้าของวลีอันโด่งดังในวงการแฟชัน และภาพยนตรว่า “ไม่มีดิออร์ ก็ไม่ต้องมีไดทริช!” (เป็นถ้อยประกาศยืนกรานของเธอว่า เครื่องแต่งกายทุกชุดสำหรับสวมใส่เข้าฉากภาพยนตร์เรื่อง Stage Fright ของอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อกภายใต้การลงทุนของค่าย Warner เพื่อนำออกฉายในปี 1950 ต้องเป็นผลงานการตัดเย็บจากห้องเสื้อ Christian Dior เท่านั้น) ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เขาออกแบบเก้าอี้สไตล์นี้ “อย่าลืมว่าเราอยู่ในคริสเตียน ดิออร์” สตาร์กกล่าวกลั้วหัวเราะ “เราอยู่ในโลกของแฟชันชั้นสูง”

เก้าอี้พนักวงรี ซึ่งสามารถวางทับซ้อนกัน อำนวยความสะดวก และประหยัดพื้นที่จัดเก็บ ประทับตราโลโก้ Dior ทางด้านหลังทั้งสามแบบ สามสี สองสัมผัส ล้วนเป็นความสมบูรณ์แบบในตัวเพื่อยืนยันคำพูดติดปากของฟิลิปป์ สตาร์กที่ว่า “ภารกิจสู่ความสมบูรณ์แบบถูกขับเคลื่อนด้วยพลังปรารถนาที่จะสร้างสรรค์เก้าอี้ซึ่งมีอายุการใช้งานยาวนาน คงความนิยมในทุกยุคสมัย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นนิรันดร์” ขาเก้าอี้ทรงสอบเรียวกับพนักวงรีที่นักออกแบบแฟชันผู้ล่วงลับนิยมหุ้มเบาะรองด้วยผ้าทอลายจิตรกรรมสีเดี่ยว “ตวล เดอ ฌูย์” สุดหรูหรา กลับเป็นเก้าอี้ในอุดมคติของสตาร์ก นักออกแบบสาย “เรียบ” ผู้นำลูกเล่นลดทอนรายละเอียดมาใช้รังสรรค์ขึ้นเป็นประดิษฐกรรมเก้าอี้หล่อแบบจากโลหะแผ่นเดียวเพื่อเป็น “ไอคอนของไอคอนของไอคอน” ตามปากคำของเขา

ณ พระราชวังซิตเตริโอ อาคารเก่าแก่จากศตวรรษที่ 18 ใจกลางนครมิลาน ห้องจัดนิทรรศการอาศัยลูกเล่นเอกรงค์ร่วมกับความขัดแย้งระหว่างแสงกับเงาเป็นเวทีรองรับทุกองค์ประกอบทางการออกแบบของดาวเด่นแต่ละเฉดสี แต่ละรูปแบบ และเนื้อสัมผัสรวมทั้งหมดยี่สิบสี่ตัวอยู่ท่ามกลางเสียงเพลงคลอบรรยากาศ ผลงานเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับ Dior เป็นการเฉพาะจาก Soundwalk Collective ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยสตีเฟน คราสเนียนสกิในกรุงนิวยอร์กเมื่อปี 2000 และซิโมน เมอร์ลิ (ผู้เข้าร่วมงานเมื่อปี 2008) โดยอาศัยชิ้นงานของเอริก ซาติ นักแต่งเพลง และเรียบเรียงเสียงประสานชาวฝรั่งเศสเป็นต้นแบบในการรังสรรค์เฉกเช่นเก้าอี้พนักวงรีสไตล์ลูอิส 16 เป็นจุดเริ่มต้นของ Miss Dior

“บอกได้เลยว่าการร่วมงานทั้งหมดจนมาถึงการจัดนิทรรศการครั้งนี้เป็นเรื่องปรกติ ธรรมดามากสำหรับผม” สตาร์กสรุป “ด้วยเก้าอี้ Miss Dior เรื่องราวที่ผมเก็บเกี่ยวจากอดีต และเก็บสะสมไว้ในความทรงจำได้กลายมาเป็นดาวเด่นบนเวที พวกเราทุกคนล้วนนำต้นแบบผลงานทางประวัติศาสตร์ที่ฝังตัวอยู่ในความทรงจำมารังสรรค์ใหม่กันทั้งนั้น”

ชมนิทรรศการได้ทาง Dior by Starck (คลิก)

PHOTO COURTESY OF DIOR.COM, Christian Dior

MAIN PHOTO BY  by Till Janz /COURTESY OF DIOR BY STARCK

ABOUT THE AUTHOR
วรวุฒิ พยุงวงษ์

วรวุฒิ พยุงวงษ์

At boundary of athletics and beauty, I write and play

ALL POSTS