HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
รู้จักภาวะ  "อะเฟเซีย" (Aphasia) ที่ทำให้นักแสดงรุ่นใหญ่  "บรูซ วิลลิส" ต้องยุติอาชีพนักแสดงที่รัก
by HappBKK
1 เม.ย. 2565, 18:21
  1,041 views

        ช็อกอีกครั้ง เมื่อครอบครัวของ "บรูซ วิลลิส" นักแสดงรุ่นใหญ่ของฮอลลีวู้ด ผู้สร้างตำนานตายยาก "Die Hard" จากบทบาท "จอห์น แมกเคน" ออกมาประกาศผ่านสื่อโซเชียลว่าเขาจำต้องอำลาวงการแสดง เนื่องจากกำลังเผชิญกับภาวะอะเฟเซีย (Aphasia) ซึ่งจะส่งผลต่อกลไกการรับรู้  ทำให้นักแสดงรุ่นเก๋าคนนี้ต้องยุติบทบาทอาชีพนักแสดงที่เขารักอย่างกระทันหัน

        อะเฟเซีย (Aphasia) เป็นภาวะทางสมองที่ส่งผลต่อความสามารถในการสื่อสารของผู้ป่วย ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของความบกพร่องทางสมองในคนอเมริกันคือโรคหลอดเลือดสมอง โดยผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 25 ถึง 40% จะประสบปัญหาภาวะอะเฟเซีย หรือสาเหตุอาจมาจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ เนื้องอกในสมอง หรือกระบวนการเสื่อมของสมอง

Bruce Willis 

        ในกรณีของบรูซ วิลลิส ครอบครัวของเขาบอกว่าได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนดีแล้วว่าถึงแก่เวลาที่บรูซจะก้าวออกจากอาชีพนักแสดงที่เขารัก "นี่เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับครอบครัวของเราเป็นอย่างมาก เรารู้สึกซาบซึ้งกับความรักและกำลังใจที่ทุกคนส่งมาให้ รวมทั้งแรงสนับสนุนของพวกคุณที่ดีเสมอมา เรากำลังจะก้าวผ่านสิ่งนี้ไปด้วยกันทั้งครอบครัว และเราอยากให้แฟนๆ ได้รับรู้และเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์นี้ เพราะพวกคุณมีความหมายสำหรับบรูซ และพ่อก็มีความหมายกับพวกคุณเช่นเดียวกัน อย่างที่บรูซเคยพูดเสมอว่า "จงใช้ชีวิตให้คุ้มซะ" และตอนนี้เรากำลังวางแผนจะร่วมกันทำเช่นนั้นให้กับเขาในอนาคต" ทั้งนี้ข้อความดังกล่าวเป็นแถลงการณ์ในนามครอบครัวของเขา

        ในแต่ละปี เกือบ 180,000 คนในสหรัฐอเมริกา มีภาวะอะเฟเซีย (Aphasia) ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคนขึ้นปี และอายุเฉลี่ยของผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่ที่ 70 ปี เพราะผู้ที่มีอายุเกิน 60-65 ปี มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองและมีความผิดปกติทางสมองได้ แต่ทุกคนรวมทั้งเด็กเล็กสามารถประสบภาวะอะเฟเซียได้
 

1. โรคอะเฟเซีย Aphasia คืออะไร

“อะเฟเซีย” ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะผิดปกติด้านทางการสื่อสาร ซึ่งอาจจะเสียความสามารถในการพูด หรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด หรือมีความผิดปกติทั้ง 2 อย่าง 

มีความลำบากในการจำคำพูด ทำให้ไม่สามารถเข้าใจคำพูด และการตอบสนองอาจผิดพลาดความผิดปกติของไวยากรณ์ในภาษาทำให้การเรียงลำดับและการจัดรูปประโยคผิดได้ หรือพูดคำที่ไม่มีความหมายเลย มีความผิดปกติในการใช้ภาษา ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน พูดลำบาก พูดได้ช้า พูดเป็นประโยคสั้น ๆ เป็นภาษาโทรเลข 

2. อาการของโรค 

พญ.ปิยะนุช รักพาณิชย์ บอกว่าภาวะอะเฟเซียแบ่งได้ง่ายๆเป็น 2 ประเภท คือ 

ประเภทที่ 1 พูดได้ปกติหรือพูดคล่อง  แต่ไม่เข้าใจในคำพูดของผู้อื่น คือบกพร่องที่การรับรู้ความเข้าใจ 

 ประเภทที่ 2 คือ บกพร่องด้านการพูด คือ เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสาร แต่ไม่สามารถพูดออกมาได้ตามปกติ เช่น เช่นนึกคำไม่ออก   ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการได้ทั้ง 2 ประเภท 

3. ความรุนแรงของอะเฟเซีย

มีหลายระดับ ถ้าเป็นน้อยอาจจะแค่นึกคำบางคำไม่ออก  แต่ถ้ามีอาการมากก็ไม่สามารถสื่อสารได้เลยเพราะไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูดรวมถึงไม่สามารถพูดโต้ตอบได้ หรือมีความลำบากในการเคลื่อนไหวอวัยวะในการพูด ปาก ลิ้น ขากรรไกร

4. กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคอะเฟเซีย

อะเฟเซียเป็นอาการที่เกิดเนื่องมาจากสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้ภาษาได้รับความเสียหาย เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตกในบริเวณของสมองที่ใช้ควบคุมการสื่อสารในการพูดซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด  นอกจากนี้อาจมาจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนที่สมอง การติดเชื้อในสมอง เนื้องอกในสมอง มีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น

5. จะรู้ได้อย่างไรว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้

เนื่องจากโรคอะเฟเซียมีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของสมอง  ดังนั้นถ้ามีอาการผิดปกติของสมองโดยเฉพาะเส้นเลือดตีบหรือแตก ก็มีโอกาสเป็นได้สูง รวมถึงอาการในข้อที่ 4 หรือไปพบแพทย์เพื่อทดสอบอาการ หรือให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เช่น การทำ CT Scan , การทำMRI เพื่อหาความผิดปกติของสมอง  กล้ามเนื้อ ไขมัน เป็นต้น

6. วิธีสังเกตอาการ 

ถ้ามีความผิดปกติเกี่ยวกับการสื่อสารกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสาร หรือผิดปกติด้านการพูด เช่น การนึกคำพูด การใช้คำพูด การเขียนหรือการอ่าน ให้รีบปรึกษาแพทย์

7.วิธีรักษา

7.1 ต้องรักษาที่สาเหตุที่ทำให้เกิดอะเฟเซีย ตามข้อ 4 

7.2 สำหรับการรักษาอาการผู้ที่เป็นภาวะอะเฟเซียแล้ว  จะมีการฟื้นฟูทางด้านการพูดและสื่อสาร โดยนักอรรถบำบัด หรือนักแก้ไขการพูด

8. รักษาหายขาดหรือไม่
ผู้ป่วยจะไม่สามารถฟื้นทักษะการพูดและภาษาได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม พวกเขาอาจเรียนรู้วิธีใหม่ในการสื่อสาร การฟื้นฟู หมายถึงการสร้างหรือเรียนรู้ทักษะการสื่อสารใหม่ๆ 

9. สามารถป้องกันได้อย่างไร

อะเฟเซียเป็นเรื่องของภาวะบกพร่องทางสมอง  ดังั้นวิธีป้องกันคือการดูแลสุขภาพสมองให้ดี โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่จะสร้างความเสียหายแก่สมองของเรา เช่น พฤติกรรมหรือโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง หรือสมองเสื่อม ที่มาจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  , ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ,ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

อ้างอิง

สัมภาษณ์ พญ.ปิยะนุช รักพาณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู และผู้อำนวยการ สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก (Arun Health Garden) 

ข้อมูลจากศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย

 

ABOUT THE AUTHOR
HappBKK

HappBKK

Live Every Day

ALL POSTS