แฟชั่น...ความยั่งยืนที่สวมใส่ได้
แฟชั่นถูกมองว่าเป็นตัวการสร้างปัญหาและเป็นปฏิปักษ์กับความยั่งยืนในอันดับต้นๆ ของโลกรองจากการคมนาคมและภาคการผลิต ทว่า GQ Group กำลังโชว์ให้เห็นว่า แฟชั่นสามารถเป็นทางออกได้หากสร้างเสื้อผ้าที่ lasts generation, not season หรือใช้งานได้นาน คุ้มค่า ไม่ใช่แค่ของที่ต้องคอยวิ่งตามเทรนด์และเปลี่ยนโฉมทุกซีซั่น และเป็นพลังขับเคลื่อนความยั่งยืนในมิติใหม่ที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก

เปรี้ยว-อาทิตย์ จันทรางศุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือ Chief Design Officer ของ GQ Group แบรนด์เสื้อผ้าไทยที่หลายคนคิดว่าเป็นแบรนด์อินเตอร์ และกำลังจะฉลอง 60 ปีในปีหน้า บอกว่า ทุกวันนี้ เสื้อผ้าไม่ได้เป็นแค่ปัจจัยสี่ แม้จะมีอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องที่ทำให้เสื้อผ้านั้นถูกใจคน แต่ความท้าทายของธุรกิจในปัจจุบันคือ จะทำอย่างไรที่จะสร้างสมดุลตรงกลางระหว่างปัจจัยสี่ที่ถูกใจคน กับธุรกิจที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน
“หลายคนคิดว่าความยั่งยืนในวงการแฟชั่น คือเพียงแค่ใช้วัสดุหรือเส้นใยรีไซเคิล แต่การใช้เส้นใยรีไซเคิลยังไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จริงๆ ความยั่งยืนมีหลายด้านกว่านั้น ต้นทุนต่อการสวมใส่แต่ละครั้ง (cost per wear) อาจจะเป็นแนวคิดที่ตรงจุดกว่า เพราะสะท้อนถึงทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตและลดขยะได้ เช่น ถ้าเป็นเสื้อผ้าที่ดีไซน์เรียบๆ ใช้มาแล้วหลายปีก็ยังดูดีเพราะเป็นเสื้อผ้าที่แก้ปัญหาให้คนใส่จริงๆ ต้นทุนต่อการสวมใส่แต่ละครั้งย่อมถูกกว่าเสื้อผ้าที่ดีไซน์แปลกใหม่แต่ใส่ได้ไม่กี่หน” อาทิตย์ อธิบาย
การออกแบบและสร้างสรรค์เสื้อผ้าที่ทำให้คนจำนวนมากซื้อไปใช้ได้ แทนการทำเสื้อผ้าสำหรับคนกลุ่มเดียวที่ชอบเปลี่ยนตลอดเวลา หรือการขายของเดิมให้คนใหม่ๆ โดยไม่จำเป็นต้องขายของใหม่ให้ลูกค้ากลุ่มเดิมๆ เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่สามารถนำไปสู่ความยั่งยืนได้ในมุมมองของแฟชั่นดีไซเนอร์
“ถ้าธุรกิจอยู่ได้ ช่วยให้คนมีงานทำ มีกินมีใช้ไปได้เรื่อยๆ นั่นคือความยั่งยืน ถ้าธุรกิจของเราอยู่ตรงกลาง หล่อเลี้ยงทุกฝั่ง และตอบโจทย์ได้ทั้งในด้านธุรกิจ อารมณ์ ความต้องการของผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมได้ นั่นก็คือความยั่งยืน”
แนวคิดที่กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของ GQ Group นี้เอง เป็นแกนหลักในการสร้างสรรค์งานดีไซน์ที่ทำให้คอลเลคชั่น GQ Pro Med ชุดสครับสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการตอบรับอย่างมากทันทีที่เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการ บางแบบขายหมดภายใน 8 ชั่วโมง
ทำไมแฟชั่นยั่งยืน เริ่มต้นที่ชุดสครับ
ชุดสครับ โดยทั่วไปคือเสื้อตัวปล่อยๆ สีเรียบ คอวี แขนสั้น ที่เราเห็นหมอ พยาบาล คนทำงานในเวลเนสเซ็นเตอร์ สปา คลินิกความงามสวมใส่กันเป็นประจำ คำถามคือชุดสครับเกี่ยวอะไรกับความยั่งยืน
จากหลักคิดของการสร้างสรรค์แฟชั่นที่ lasts generation, not season ถ้าจะให้เกิดประสิทธิผล เปรี้ยวมองว่า ต้องเริ่มจากกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จึงเป็นกลุ่มแรกที่ GQ Groupให้ความสนใจ
“จริงๆ เริ่มจากตอนที่ GQ ออกเสื้อเชิ้ตขาวที่ผลิตจากผ้าสะท้อนน้ำ พอของลงตลาด โควิดมาพอดี ทุกคนทำงานที่บ้าน ไม่มีใครซื้อเสื้อผ้า แต่ทุกคนต้องการหน้ากากอนามัย ซึ่งตอนนั้นขาดแคลนมาก เราคิดว่าควรเก็บหน้ากากอนามัยไว้ให้บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนคนทั่วไปใช้หน้ากากผ้าที่ซักแล้วใช้ใหม่ได้จะดีกว่า เราจึงนำผ้าสะท้อนน้ำมาทำหน้ากากอนามัยป้องกันโควิดซึ่งก็ขายดีมากๆ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้สนับสนุนกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ มาวันนี้เรามองว่านวัตกรรมต่างๆ ที่เรามีน่าจะช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ได้มากขึ้น เมื่อมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เราจะทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย”
จากการวิจัยตลาดอย่างเข้มข้น ทำให้ GQ พบว่า ตลาดชุดสครับในเมืองไทยมีมากกว่า 40 แบรนด์ แต่แทบทุกแบรนด์ยังคงมีรูปแบบเดียวกัน อาจต่างกันที่วัสดุที่ใช้บ้าง นั่นหมายความว่าการออกแบบแฟชั่นที่ฉีกกรอบความคิดเดิมๆ น่าจะสร้างโอกาสในเชิงธุรกิจอีกมาก
“เราต้องรู้ปัญหาของลูกค้า ก่อนที่ลูกค้าจะรู้ปัญหาของตัวเอง”
จากการเก็บข้อมูล ทำวิจัยตลาดหลายครั้ง ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี สัมภาษณ์แพทย์เฉพาะทางหลากหลายสาขากว่า 30 คน สิ่งแรกที่ทีมค้นพบคือ หมอทุกคน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทุกคน บอกว่าชุดสครับที่ใส่อยู่นั้นดีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร
แต่มุมมองขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และการได้เห็นตัวอย่างตลาดชุดสครับในหลายๆ ประเทศ ทำให้ทีมดีไซเนอร์ของ GQ มั่นใจว่าการออกแบบแฟชั่นต้องพาชุดสครับไปได้ไกลกว่านี้ จึงต้องเริ่มสัมภาษณ์คุณหมอกันอีกหลายครั้งแบบเจาะลึกเพื่อให้เข้าใจการใช้ชีวิตและการทำงานมากขึ้น พร้อมค้นหาปัญหาที่ลูกค้ามองไม่เห็น
“บางทีเราก็เห็นนะว่า เสื้อที่หมอใส่อยู่ตะเข็บข้างฉีกรุ่ย คอเสื้อเปื้อนรองพื้น กระเป๋าใส่ของแล้วย้วย ทรงไม่สวย สิ่งเหล่านี้หมอไม่เห็น แต่เราเห็น”
จากข้อมูลเชิงลึกที่เก็บได้ ทีมดีไซเนอร์ต้องเริ่มจากหาหลักว่า ดีเอ็นเอของชุดสครับคืออะไร โครงสร้างเป็นอย่างไร แล้วลองเก็บไว้แต่โครงสร้างหลัก ค่อยๆ เติมเส้นสายใหม่ๆ เข้ามา ปรับบางส่วนออก จนได้ชุดใหม่ที่มองปราดเดียวก็ยังเป็นชุดสครับที่ทุกคนคุ้นเคย ดูทะมัดทะแมง สะท้อนความน่าเชื่อถือในอาชีพเช่นเดิม แต่มีอะไรใหม่ๆ ซ่อนในนั้นมากมาย
เปรี้ยวบอกว่า ความสนุกของการออกแบบคอลเลคชั่นนี้คือ การไปตามหาสิ่งของที่หมอทุกท่านพกพาประจำเหมือนๆ กัน เช่น สมาร์ทโฟน ปากกา สเปรย์แอลกอฮอล์ ทิชชู เครื่องรางประจำตัว ฯลฯ แล้วออกแบบให้ของทุกสิ่งเหล่านี้มีที่เก็บแบบพร้อมใช้งานได้ในเสื้อตัวเดียว
ชุดสครับของ GQ จึงเป็นแบรนด์เดียวที่มีกระเป๋าและช่องเก็บของมากมายถึง 26 จุด อาทิ ช่องพิเศษสำหรับเก็บพระเครื่อง ช่องเสียบปากกาที่มีแผ่นรองกันหมึกเปื้อน ช่องเสียบขาแว่นตา กระเป๋าที่ปิดได้ล็อกไม่ให้สมาร์ทโฟนหรือของร่วงหล่น หรือกระทั่งช่องเล็กๆ สำหรับเสียบยาดมชนิดหลอดที่อยู่ใกล้คอเสื้อทำให้หมอเปิดฝาหลอดแล้วเสียบไว้ก็ได้กลิ่นยาดม โดยไม่ทำให้คนไข้เห็นว่าหมอก็ต้องการยาดมเหมือนกัน
และยังเป็นแบรนด์เดียวที่มีดีไซน์หลากหลาย ทั้งคอปก แขนเต่อ กางเกงขาบานให้เลือกนอกเหนือจากคอวี แขนสั้น กางเกงปลายแคบตามมาตรฐาน นอกจากนี้ ตัวเสื้อเข้ารูปช่วยให้ผู้สวมใส่ดูดีขึ้น กางเกงขอบด้านหน้าเรียบเข้ารูปทรงสวย แต่ด้านหลังเป็นยางยืดที่ให้ความทะมัดทะแมง ลุกนั่งได้ง่าย และกางเกงผู้ชายมีซิปหน้าเข้าห้องน้ำสะดวก ไม่ต้องรอเข้าห้องน้ำที่มีประตูปิดเหมือนกางเกงผูกเชือกแบบเดิม มีหลายสีให้เลือกตามความชอบและความเชื่อเรื่องถูกโฉลก ทั้งสีพื้นฐานที่นิยมใช้กันอยู่และสีใหม่ๆ อินเทรนด์ เช่น เขียวมิ้นต์กรีน
นอกจากนี้ การใช้เทคนิคพิเศษในการทอผ้า ที่ด้านนอกเป็นผ้าสะท้อนน้ำ ไม่ซึมน้ำ ไม่เปรอะเปื้อนง่าย แต่ด้านในสามารถระบายอากาศและซึมซับเหงื่อได้ดี ไม่มีรอยเหงื่อเปียกออกมาให้เห็น
“หมอแต่ละคน แต่ละสาขา ต้องการไม่เหมือนกัน แต่สุดท้าย เราต้องมีดีไซน์เดียวที่ตอบโจทย์ทุกคน พอเราพัฒนาชุดสครับของเราเสร็จแล้ว ส่งให้คุณหมอไปลองใส่ แล้วถามว่าลองใส่ชุดของเราเทียบกับชุดที่หมอชอบที่สุดที่มีอยู่ในตู้แล้วลองบอกหน่อยว่า ยอมแลกชุดเดิมกับชุดของเราไหม ปรากฏว่าหมอทุกคนยอมแลก”
เติมไอเดียใหม่ ปูทางสู่ชุดสครับที่แตกต่าง
ชุดสครับใน GQ Pro Med มี 2 แบบ คือ พรีเมียม สำหรับใส่ได้ในการทำงานทุกวัน กับ อีลีท (Elite) ที่เป็นแจ็คเก็ตคุณภาพสูงและเพิ่มความแปลกใหม่ เหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเดินทางบ่อยๆ ซึ่งหากนับรวมชุดสครับด้านในกับแจ็คเก็ตตัวนอกแล้ว จะมีกระเป๋ารวมมากถึง 46 จุด หลากหลายขนาด สามารถใส่ไอแพด พ็อกเก็ตบุคสำหรับอ่านระหว่างเดินทาง เก็บพาสปอร์ตได้อย่างปลอดภัย พัดลมมือถืออันเล็กเวลาออกสนาม อุปกรณ์ประจำตัวต่างๆ และยังมีฮู้ดคลุมศีรษะป้องกันความหนาวได้ เมื่อไม่ใช้ก็พับเก็บซ่อนในคอเสื้อใช้เป็นหมอนรองคอก็ได้
ไอเดียใหม่ที่ GQ ใส่ลงไปในกลุ่มอีลีท เป็นการทดลองขยับกรอบความเชื่อที่มีต่อชุดสครับให้ขยายวงกว้างออกไปว่า ชุดสครับสามารถมีดีไซน์และการใช้งานได้มากขึ้น
GQ มองว่าชุดสครับไม่ได้จำกัดเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ในอนาคต คนที่ทำงานในสายเฮลท์แคร์ ดูแลเด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงวัย กู้ภัย และสายอาชีพอื่นก็สามารถใช้ได้ มีโอกาสที่จะเข้าไปในตลาดเวลเนสซึ่งมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดได้
“เราอาจจะเรียกสิ่งที่ GQ กำลังทำนี้ว่า เทคแวร์ (Techwear) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ และมีแนวคิดเรื่องความยั่งยืนที่เข้มข้นมาก เพราะเป็นแฟชั่นที่มากประโยชน์ใช้สอย ดีไซน์สวย ใช้วัสดุที่ทนทาน เราเน้นการทำเสื้อผ้าที่ใช้งานได้อย่างคุ้มค่า ไม่ต้องซื้อบ่อยๆ แต่ทำให้คนจำนวนมากขึ้น หลากหลายกลุ่มมากขึ้น สามารถใช้เสื้อผ้าของเราได้ เรียกว่าเป็นความยั่งยืนที่สวมใส่ได้จริงๆ”