HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ศิลป่า เขาใหญ่: ดื่มด่ำศิลปะกลางผืนป่า เยียวยากายใจ พร้อมเปิดบทสนทนากับธรรมชาติ
by Veen T.
7 พ.ค. 2568, 01:02
  190 views

"ธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจก่อเกิดศิลปะ" คำกล่าวคุ้นชินนี้ไม่เคยเกินจริง และในทางกลับกัน ศิลปะก็เป็นแรงบันดาลใจให้เรากลับไปหาธรรมชาติได้เช่นกัน เมื่อกายใจอ่อนล้า ทั้ง "ธรรมชาติ" และ "ศิลปะ" คือสิ่งที่เราโหยหา และช่างเป็นความสมบูรณ์แบบเมื่อได้รับการเยียวยาจากทั้งสองสิ่งในคราวเดียว นี่คือเหตุผลที่เราอยากชวนคุณตามมาเที่ยว ศิลป่า เขาใหญ่ (Khao Yai Art Forest) สถานที่ซึ่งจะพาคุณกลับมาสร้างสัมพันธ์กับธรรมชาติและชื่นชมศิลปะได้พร้อมกัน

PHOTO courtesy of Khao Yai Art Forest

"ศิลป่า เขาใหญ่" มาจากการผสมคำระหว่าง "ศิลปะ" และ "ป่า" สะท้อนถึงการเชื่อมโยงทั้งสองสิ่งนี้เข้ากับชีวิตผู้คน เพื่อสร้างพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักอนุรักษ์ นักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ ผู้รักธรรมชาติ หรือผู้ชื่นชอบงานศิลปะ การปฏิสัมพันธ์ผ่านศิลปะ อาหาร และธรรมชาติรอบตัว ผสานกับกระบวนการเรียนรู้ นำไปสู่การเยียวยาจิตใจและการตื่นรู้ด้วยพลังแห่งธรรมชาติ

ทางเข้า "ศิลป่า เขาใหญ่" เชื้อเชิญให้เราก้าวสู่เส้นทางธรรมชาติด้วยดินแดงที่ทอดยาวตลอดทาง อุโมงค์สีอิฐที่ทางเข้าราวกับเป็นพิธีการปรับเปลี่ยนให้เราเข้าสู่โหมดการรับรู้ศิลปะและธรรมชาติ เมื่อเดินผ่านอุโมงค์ เราจะพบกับบริเวณต้อนรับแบบโอเพ่นแอร์ที่โล่งเปิดรับลม พร้อมเครื่องดื่มในภาชนะกระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ต้อนรับก่อนเริ่มการเดินทางสัมผัสงานศิลปะ

จากพื้นที่ต้อนรับ เราเดินทางไปพบกับงานศิลปะชิ้นแรก "แมงมุมยักษ์" ซึ่งสามารถมองเห็นได้แต่ไกล นี่คือผลงานประติมากรรม "มามอง" (Maman) ของ หลุยส์ บูชัวร์ (Louise Bourgeois) ที่ศิลปินสร้างขึ้นในช่วงวัยชราเมื่อเธอตกผลึกกับชีวิต ในภาษาฝรั่งเศส "maman" แปลว่า "แม่" สำหรับหลุยส์ แมงมุมคือสัญลักษณ์ของความเป็นแม่ เพราะแมงมุมถักทอใยเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและปกป้องลูก ขณะเดียวกันก็แฝงไว้ด้วยความน่ากลัวและแข็งแกร่ง ต้องบอกว่าแมงมุมยักษ์ที่ถูกโอบล้อมด้วยวิวภูเขาสุดสายตานี้ ให้ความรู้สึกที่ทรงพลังอย่างยิ่ง สำหรับสายอาร์ตคงต้องรีบมาชม เพราะงานชิ้นนี้จะจัดแสดงถึงเดือนสิงหาคมนี้เท่านั้น

Khao Yai Art Forest

นอกจากงานของศิลปินระดับโลกชาวฝรั่งเศสแล้ว "ศิลป่า เขาใหญ่" ยังเป็นสถาบันศิลปะภายใต้วิสัยทัศน์ของ คุณมาริษา เจียรวนนท์ บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ โดยมี ราโบลลี แพนเซรา (Artistic Director) ทำหน้าที่คัดสรรศิลปินและนิทรรศการ เพื่อให้ศิลปะเชื่อมโยงบุคลากรแถวหน้าของโลก ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักคิด นักเขียน หรือผู้นำทางความคิด เพื่อให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนและสร้างชุมชนที่พัฒนาสู่ความยั่งยืนร่วมกัน

การชมงานที่ "ศิลป่า เขาใหญ่" ต้องเดินไปในแต่ละจุด บางจุดผ่านป่าที่ให้ร่มเงา บางจุดอย่าง "มามอง" ก็ตั้งอยู่กลางแจ้งท่ามกลางแปลงเกษตรอินทรีย์ แต่หากรู้สึกเหนื่อยล้า คุณสามารถขอรถกอล์ฟเป็นตัวช่วยได้ ทุกชิ้นงานล้วนถูกใจสายอินสตาแกรมและผู้ชื่นชอบการสร้างคอนเทนต์ศิลปะ แต่ชิ้นที่เป็นไฮไลต์อีกฟากหนึ่งของ Khao Yai Art Forest ที่ทุกคนเข้าถึงง่าย เห็นและสัมผัสได้ คือ 'Fog Landscape #48435' สร้างสรรค์โดยศิลปินชาวญี่ปุ่น ฟูจิโกะ นากายะ (Fujiko Nakaya) ที่ร่วมมือกับภูมิสถาปนิกเพื่อให้หมอกไหลไปตามธรรมชาติตามเนินต่างระดับบนพื้นที่กว่า 10,000 ตารางฟุต ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ที่สุดที่ศิลปินเคยสร้างมา

สายหมอกสีขาวคลี่ตัวออกอย่างแผ่วเบา เป็นระลอกคลื่นที่เคลื่อนไปช้าๆ ผ่านพื้นหญ้าและดอกไม้ก่อนแผ่คลุมเนินเขาแล้วค่อยๆ สลายไป เป็นงานศิลปะที่ยากจะไม่หลงรัก ไม่ว่าจะยืนอยู่ท่ามกลางสายหมอกหรือมองจากระยะไกลก็ตาม แม้ว่าหมอกธรรมชาติจะไม่สามารถกำหนดเวลาได้ แต่ที่ "ศิลป่า เขาใหญ่" นี้เป็นงานศิลปะที่สร้างความสดชื่นตามตารางเวลาที่แน่นอน และไม่ต้องกังวลกับหมอกที่มากระทบตัว เพราะงานนี้ใช้เทคโนโลยีเก็บเกี่ยวความชื้นในอากาศเพื่อกลั่นเป็นน้ำสะอาดที่สามารถดื่มได้

เวลาชมงานชิ้นนี้คือ 16.00 และ 11.30, 16.30 น ในช่วงวีคเอนด์ ช่วงที่แสงแดดกำลังสวยงาม และสายหมอกให้ความเย็นสดชื่นหลังจากเดินชมศิลปะมาทั้งวัน ขอเตือนทุกคนว่าพื้นที่ตรงนี้กว้างมาก ควรวางแผนการชมไว้ล่วงหน้าโดยอาจไปรอก่อนเวลาสัก 15 นาทีเป็นอย่างน้อยเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่เหมาะสมในการชมงาน

ระหว่างรอชมสายหมอก เดินมาอีกฝั่งพบกับก้อนหินขนาดใหญ่สองก้อนที่วางซ้อนกัน ผลงาน "GOD" โดยฟรานเชสโก อารีนา งานชิ้นนี้น่าจะสื่อสารกับคนไทยไม่ยาก ด้วยวัฒนธรรมที่เรากราบไหว้ต้นไม้ ก้อนหิน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ งานชิ้นนี้ใช้วัสดุธรรมชาติ ก้อนหินขนาดใหญ่ในไทยมาเป็นประติมากรรมที่ให้แนวคิดด้านจิตวิญญาณ และสอดคล้องกับภูมิทัศน์ของ "ศิลป่า เขาใหญ่" อย่างลงตัว หินทั้งสองก้อนถูกสลักตัวอักษรอย่างประณีต เพื่อซ่อนแก่นแท้ของแนวคิดไว้ภายในวัตถุ ก้อนหนึ่งสลักตัวอักษร G และ D และอีกก้อนสลักตัวอักษร O เมื่อหินทั้งสองก้อนมาประกบกัน คำว่า God จึงจะปรากฏอย่างสมบูรณ์ แต่ผู้มาเยือนก็ไม่สามารถมองเห็นได้ แนวคิดนี้ชาญฉลาดมาก เพราะผู้นับถือพระเจ้าไม่จำเป็นต้องจับต้องหรือมองเห็นพระเจ้าได้ การสื่อสารของความเชื่อนั้นใช้ความเชื่อมโยงทางใจมากกว่า

เดินต่อไปสักพักเดียว เราสานต่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และขนบได้จากผลงานชื่อ "Pilgrimage to Eternity" ของ "อุบัตสัตย์" ศิลปินไทยที่มีผลงาน 9 ชิ้นกระจายตัวอยู่ทั่วผืนป่าของ "ศิลป่า เขาใหญ่" เขานำเอาขนบและศิลปะการสร้างเจดีย์มาตีความให้เกิดบทสนทนาใหม่ๆ เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมและพุทธปรัชญา กระตุ้นให้ขบคิดเรื่องพุทธปรัชญา ในขณะเดียวกัน งานทั้ง 9 ชิ้นก็พาผู้ชมไปเดินสำรวจเชื่อมโยงกับธรรมชาติโดยรอบอีกด้วย

ระหว่างเดินชมผลงานของ "อุบัตสัตย์" เดินขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุด จะพบกับหินที่จัดเรียงเป็นวงแหวนใหญ่ในแต่ละชิ้นเป็นรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งรูปแบบที่ศิลปินยึดถือตลอดการทำงานศิลปะของเขา ผลงาน "Madrid Circle" ของ ริชาร์ด ลอง เป็นวงแหวนเป็นสัญลักษณ์เชิงสากล สะท้อนถึงรูปแบบตามธรรมชาติที่เข้าถึงไม่ยาก แต่สิ่งที่ทำให้งานอยู่โดดเด่นก็คือจุดที่ตั้งอยู่ เสมือนวัฏจักรชีวิตและจักรวาล โดยมีความไม่เป็นระเบียบของธรรมชาติของป่าโดยรอบ

Photo by Krittawat Atthsis and Puttisin Choojesroom

 

อีกผลงานที่เชื้อเชิญให้เข้าไปชม คือจอที่ตั้งไว้กลางป่า เป็นจุดที่หากไม่สังเกตอาจจะเดินผ่านได้ น่าแปลกใจที่ผืนป่าดูเหมือนจะโอบรับ "Two Planets" งาน video installation ของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ได้อย่างลงตัว ในผลงานนี้อารยานำโลกสองใบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงมาบรรจบกัน ระหว่างชาวบ้านในชนบทของไทยและผลงานศิลปะชื่อดังของฝั่งตะวันตก แม้การตั้งจอฉายจะดูค่อนข้างแปลกแยกกับผืนป่า ทว่า ผู้เข้าชมต้องไปพิจารณาเองว่าสิ่งที่ศิลปินต้องการสื่อสารคืออะไรกันแน่ ในความต่างที่อยู่ร่วมกันนี้

Photo by Krittawat Atthsis and Puttisin Choojesroom

แต่ "Two Planets" ไม่ใช่ชิ้นเดียวที่กลมกลืนอย่างแตกต่าง เพราะในผืนดินกว้างของ "ศิลป่า เขาใหญ่" ยังมี K-BAR ที่นำเอาองค์ประกอบหรูหรามาแสดงเป็นศิลปะจัดวาง ผลงานของศิลปินดูโอ้ชาวสแกนดิเนเวียที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับ Martin Kippenberger ศิลปินชาวเยอรมันผู้เป็นที่รู้จักจากความหลงใหลในแอลกอฮอล์ พาวิลเลียนขนาดย่อมนี้อาจนับว่าเป็นบาร์ลับได้เลย เพราะผู้มาเยือนอาจจะพลาดไปได้ง่ายๆ แต่หากเดินไปพบ K-BAR แล้ว คุณสามารถชมภาพงานจิตรกรรมและการตกแต่งภายในผ่านประตูกระจกได้ อย่าเสียใจหากไม่ได้ลิ้มลองคอกเทลซิกเนเจอร์อย่าง Dry Martin เพราะบาร์ 6 ที่นั่งนี้เปิดแค่เดือนละครั้ง เพราะแท้จริงแล้วนี่คือประติมากรรมที่รอคอยผู้เดินฝ่าป่ามาพบ ถ้าโชคดี คุณอาจไปในช่วงบาร์เปิดและได้ชิม Dry Martin สักแก้ว

นอกจากการเติมเต็มจิตวิญญาณด้วยศิลปะและธรรมชาติแล้ว 'ศิลป่า เขาใหญ่' ยังมีมุมให้เติมพลังด้วยอาหารจากฝีมือเชฟหนุ่ม วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ จากร้านซาหมวย แอนด์ ซันส์ หนึ่งในเชฟแถวหน้าของไทยในเรื่องอาหารกับความยั่งยืน ซึ่งรับรองว่าทุกจานที่รังสรรค์มีความพิถีพิถันและเชื่อมโยงกับธรรมชาติไม่แพ้งานศิลปะที่ได้ชมมาตลอดทั้งวัน (รออ่านเรื่องอย่างละเอียดเร็วๆ นี้)

......

Photo by Krittawat Atthsis and Puttisin Choojesroom

ศิลป่า เขาใหญ่" (Khao Yai Art Forest)

  • เวลาเปิดทำการ

-วันพฤหัสบดี - วันศุกร์: 12:30 – 18:00 น.

-วันเสาร์ – วันอาทิตย์: 10:00 – 18:00 น.

  • มีอาหารกลางวัน และมื้อค่ำ (ซื้อตั๋วล่วงหน้า)
  • บัตรเข้าชมพื้นที่เต็มรูปแบบ + ทานอาหาร สามารถจองผ่านเว็บไซต์เท่านั้น
  • การเข้าชมฟรี พื้นที่ Reception และ นิทรรศการ Maman โดยศิลปิน Louise Bourgeois เปิดให้เข้าชม ฟรี จนถึงเดือนพฤษภาคม 2568 (มีป๊อบอัพกาแฟ Arabica)
  • บัตรเข้าชมพื้นที่เต็มรูปแบบ  500 บาท

ข้อควรรู้ก่อนเยี่ยมชม 

  • เวลาปิดรับเข้าชมพื้นที่เต็มรูปแบบ: 15:30 น.
  •  เวลาปิดรับเข้าชมสำหรับประสบการณ์อาหารค่ำ: 16:30 น.
  • ไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้ามา
  • ควรแต่งกายในชุดลำลอง และใส่รองเท้าที่เหมาะสมในการเดินป่า หรือเป็นรองเท้ากีฬา เตรียมกันแดด หมวก (ในกรณีฝนตกมีร่มให้บริการ)

 ข้อมูลเพิ่มเติม www.khaoyaiart.com

PHOTO BY SAMATCHA APAISUWAN Otherwise Stated

ABOUT THE AUTHOR
Veen T.

Veen T.

Ex-lifestyle editor who's all about the slow-life vibe and still trying to nail it

ALL POSTS