HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
“เช ยอง ซอก”  โค้ชที่เป็นยิ่งกว่าโค้ช
by ดร. หนุ่ย นนทรี
24 ก.ค. 2564, 23:41
  1,708 views

        ภาพการสวมกอดกันระหว่าง “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ฮีโร่เหรียญทองกีฬาโอลิมปิกคนใหม่ของไทย กับ เซ ยอง ซอก โค้ชคู่ใจ ทันทีที่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศกีฬาเทควันโด มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 “โตเกียวเกมส์” เสร็จสิ้นลง นอกจากเหนือจากเป็นการแสดงความยินดีระหว่าง “โค้ชกับนักกีฬา” หรือ “ครูกับศิษย์” แล้ว ยังถือเป็นการแสดงความยินดีให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในวงการเทควันโดไทย ไม่ว่า ผู้บริหาร ผู้ฝึกสอน นักกีฬา และเจ้าหน้าที่ ที่การรอคอยเหรียญทองประวัติศาสตร์อันยาวนานเหรียญนี้ได้สิ้นสุดลงเสียที

         

        โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ เซ ยอง ซอก ผู้ฝึกสอนชาวเกาหลีใต้ วัย 47 ปี ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวงการเทควันโดไทยมาตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่เข้ามาทำหน้าที่นี้ ที่ปลดเปลื้องความกดดันอันหนักหนาสาหัส เหรียญทองโอลิมปิกที่รอคอย ถึงขั้นที่เจ้าตัวเคยเอ่ยปากว่า

         “หากสมาคมเทควันโด ยังไว้ใจให้ผมทำงานต่อ ผมก็จะไม่ไปไหนทั้งนั้น เพราะเป้าหมายของผมคือการพานักกีฬาเทควันโดของไทย คว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกให้ได้”

         แต่กว่าที่จะมาถึงวันนี้ได้ เส้นทางของ เซ ยอง ซอก กับการพัฒนานักกีฬาเทควันโดของไทย ก็ไม่ได้ถูกโรยด้วยกลีบกุหลาบ เริ่มต้นจากการรับงานแบบสายฟ้าแลบ เมื่อต้นปี 2002 เพื่อทำทีมเข้าแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 14 ที่เมืองปูซาน เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพในช่วงปลายปี โดยมีสัญญาสั้นๆ เพียงแค่ 8 เดือน ภายใต้โจทย์สุดหิน ที่เจ้าตัวถึงกับเขียนลงในหนังสือชีวประวัติส่วนตัว “ความฝันสายดำ” ว่า “เหมือนเรือแตกกลางทะเล” ไม่มีกระทั่งตัวนักกีฬาทีมชาติให้ฝึกซ้อม ไม่มีผู้ช่วย ต้องตระเวนหาเอง ฝึกเอง สอนเองหมดทุกอย่าง

โค้ชเช
ขอบคุณภาพจากสมาคมเทควันโด

         ด้วยความเป็นคนมุ่งมั่น ทำอะไรทำจริง เซ ยอง ซอก ค่อยๆ ปลุกปั้นสร้างนักกีฬา ภายใต้คำขวัญ “No Pain, No Gain” ยอมเจ็บ เพื่อแลกความสำเร็จ นั่นคือการซ้อมกรอบภายใต้ระเบียบวินัยที่เข้มงวด ซ้อมหนัก ซ้อมโหด แทบรากเลือด จนได้รับฉายา “โค้ชจอมเฮี๊ยบ” ที่สุดท้ายผลลัพธ์ก็คือดอกออกผลแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นวงการเทควันโดไทย ในการแข่งขันรายการต่างๆ ไม่ว่า ไม่ว่ารายการชิงแชมป์โลก เอเชี่ยนเกมส์ หรือโอลิมปิกเกมส์

          พร้อมๆ กับการสร้างนักเทควันโดไทยจนมีชื่อเสียงโด่งดังมานับไม่ถ้วน เริ่มจากศิษย์ก้นกุฏิรุ่นแรกอย่าง “น้องวิว” เยาวภา บุรพลชัย ตามด้วยรุ่นน้องๆ อย่าง บุตรี เผือดผ่อง ชนาธิป ซ้อนขำ รังสิยา นิสัยสม สริตา ผ่องศรี ชัชวาล ขาวละออ เทวิน หาญปราบ รวมถึง พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่กลายเป็นฮีโร่นักกีฬาคนใหม่ของเมืองไทยไปแล้ว

         ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมเทควันโดไทย กล่าวว่า คุณสมบัติที่สำคัญของเชก็คือ การรักและเอ็นดูนักกีฬาที่อยู่ในการดูแลเหมือนลูกหลาน ไม่ได้สอนเฉพาะทักษะด้านเทควันโด หากยังให้คำแนะนำและปรึกษาในทุกๆ เรื่อง เหมือนทำหน้าที่ผู้ปกครองไปในตัว นอกจากนี้ยังมีความรักในประเทศไทยอย่างมาก มีหลายครั้งที่มีข้อเสนอจากที่อื่นที่ให้ค่าจ้างมากกว่า แต่เขาก็ไม่รับข้อเสนอ เพราะรักในประเทศไทย

          นั่นสอดคล้องกับที่ เช ยอง ซอก ที่มีชื่อไทยว่า “ชัยศักดิ์” เคยกล่าวว่า เขามีความคิดตลอดเวลาว่า ประเทศไทยคือบ้านหลังที่ 2 ทุกคนในวงการเทควันโดคือครอบครัว และนักกีฬาทุกคนเปรียบเสมือนลูกชายกับลูกสาว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คงไม่สามารถทำใจได้ หากจำต้องไปทำทีมชาติอื่นมาแข่งขันกับลูกชาย บุตรสาว ที่ตนเองปั้นมากับมือ

          ดังนั้นการคว้าเหรียญทองประวัติศาตร์ของวงการเทควันโดไทย จึงไม่ใช่เพียงการสิ้นสุดการรอคอยของทุกๆ คน รวมถึงโค้ชเช แต่หากยังเป็นการเริ่มต้นภารกิจใหม่ นั่นคือการเตรียมทีมป้องกันเหรียญทองในอีก 3 ปีข้างหน้าที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสให้ได้

          นั่นคือสิ่งที่ท้าทาย เช ยอง ซอก ที่เป็นทั้งโค้ช ครู และพ่อ ของทีมนักเทควันโดทีมชาติไทยทุกคน

ABOUT THE AUTHOR
ดร. หนุ่ย นนทรี

ดร. หนุ่ย นนทรี

อดีตบรรณาธิการข่าวกีฬา ปัจจุบันสอนหนังสือ

ALL POSTS