HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
เมื่อชุมชนคาทอลิกต้องงัดข้อกับนายทุน
by L. Patt
22 ต.ค. 2561, 19:15
  4,151 views

เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนรุกคืบเข้ามาในอาณาจักรของพระเจ้าอายุกว่า 140 ปีที่ชุมชนคาทอลิกหัวไผ่ ชลบุรี ศรัทธาต่อสิ่งใดจะแรงกล้ากว่ากัน

         ชุมชนวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ ต.โคกขี้หนอน อ. พานทอง ชลบุรี ถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและการเลี้ยงปลาเนื้อจำหน่าย โดยเฉพาะปลานิล ปลาสวาย ปละตะเพียน และปลายี่สก ที่ชาวบ้านยึดเป็นอาชีพหลักสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย หากใครผ่านไปแถวนั้นก็จะเห็นบ่อปลาจำนวนมากมาย ชาวบ้านกว่า 3,000 คนในชุมชนแห่งนี้ อาศัยอยู่บนพื้นที่ของวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ ภายใต้การปกครองของสังฑมณฑลจันทบุรี ซึ่งร้อยละ 80 เป็นเกษตรกรเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด โดยเสียค่าเช่าที่ดินในอัตรา 400 บาทต่อไร่ต่อปี แต่ถ้าปีไหนถูกน้ำท่วมก็จะได้ลดค่าเช่าลงครึ่งหนึ่ง

          คุณพ่อ วิเชียร ฉันทพิริยกุล เจ้าอาวาส เล่าว่า ที่ดินของวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ กลายเป็นที่หมายปองของบรรดานักลงทุนรายใหญ่ทั้งหลายที่ต้องการซื้อไปสร้างเมืองใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรืออีอีซี เพราะเป็นที่ดินผืนใหญ่ถึง 10,000 ไร่ และตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะมาก ที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนรายใหญ่หลายรายทั้งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และนิคมอุตสาหกรรมต้องการซื้อที่ดินผืนนี้ แต่ทั้งคุณพ่อและชาวบ้านคัดค้านอย่างหนัก เพราะที่นี่คือพระอาณาจักรของพระเจ้า

          ด้วยเหตุนี้  คุณพ่อวิเชียร จึงวางแนวทางในการฟื้นฟูชุมชนแห่งความเชื่อ ปลุกจิตสำนึกของเยาวชนให้เห็นถึงคุณค่าของแผ่นดิน อภิบาลชุมชนศิษย์พระคริสต์ และส่งเสริมกระแสเรียก นั่นคือ ส่งเสริมให้ลูกหลานคริสตชนมาบวชกันมากขึ้น ซึ่งการจะบวชเป็นพระได้ก็ต้องมีศรัทธา เรียนดี สุขภาพดี สัตย์ซื่อ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

            ทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ชุมชนวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ จะมีการจัดงาน "วันรู้คุณแผ่นดิน" เพื่อระลึกถึงพระสังฆราช ยาโกเบ แจง เกิดสว่าง และคุณพ่อ มาธือแรง ฟรังซัว มารี เกโก มิชชันนารีผู้บุกเบิกแผ่นดินหัวไผ่ ซึ่งปีนี้ คุณพ่อวิเชียร ได้ยกระดับการจัดงานเพื่อรวมพลังสร้างความสามัคคีของชุมชน โดยริเริ่มการจัดแสดงละครเพลงจากเยาวชนโรงเรียนประชาสังเคราะห์ วัดหัวไผ่ ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้ รวมถึงการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาศาสนจักรตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รับความสนใจจากคริสตชนเข้าร่วมกว่า 500 คน

            

           ปีค.ศ. 1880 หรือปีพ.ศ. 2423 (สมัยรัชกาลที่ 5) คุณพ่อมาทูแลง เกโก บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ได้รับมอบหมายให้ออกมาขยายกลุ่มคาทอลิกในจังหวัดชลบุรี และได้สร้างวัดที่บางปลาสร้อย เมืองพนัส โคกกะเหรี่ยง จนกระทั่งแห่งสุดท้ายที่บ้านหัวไผ่ ในปีค.ศ. 1880 หรือปีพ.ศ. 2423ขณะนั้น บริเวณนี้ยังเป็นป่าไม่มีผู้คนอาศัย คุณพ่อเกโก จึงได้จับจองพื้นที่ราบลุ่มบริเวณนี้กว่า 15,000 ไร่ และร่วมกับลูกศิษย์ที่ติดตามมาช่วยกันหักล้างถางพง สร้างวัดสร้างบ้านเรือน เนื่องจากบริเวณนี้มีป่าไผ่มาก จึงเรียกกันว่า วัดหัวไผ่ นั่นเอง คุณพ่อเกโก มรณะภาพในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1897 อายุ 84 ปี ปัจจุบัน วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ บริหารจัดการโรงเรียนประชาสังเคราะห์ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมต้น และจัดตั้งอภิบาลชุมชนเพื่อให้ตัวแทนชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนร่วมกัน

            นับตั้งแต่พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต (Lambert de la Motte) ซึ่งเป็นพระสังฆราชองค์แรกที่เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 1662 มิสซังสยามก็เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ โดยเฉพาะในสมัยพระสังฆราชการ์โนลต์ (Garnault) ช่วงปี 1786-1811 ต้องนับว่าเป็นสมัยฟื้นฟูมิสซังสยามโดยแท้ โดยมีการจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่วัดซางคาครูส เพื่อพิมพ์หนังสือชื่อ คำสอนคริสตัง เป็นเล่มแรกในประเทศสยาม พิมพ์ด้วยอักษรโรมัน แต่อ่านออกเสียงเป็นภาษาไทย หรือที่เรียกว่า ภาษาวัด นอกจากนี้ พระสังฆราชการ์โนลต์ยังได้ก่อตั้งบ้านเณรซางตาครูส เพื่อเป็นสถานฝึกอบรมชายหนุ่มที่สมัครใจจะบวชเป็นพระสงฆ์อีกด้วย

รูปปั้นบาทหลวงทูแลง เกโก

           ปัจจุบัน มีวัดคาทอลิกเก่าแก่หลายแห่ง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อ แต่ยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกด้วย อาทิ อาสนวิหารอัสสัมชัน บางรัก, วัดซางตาครูส กุฎีจีน, วัดคอนเซปชัญ สามเสน, วัดพระคริสตหฤทัย ราชบุรี และ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งจัดว่ามีความสวยงามที่สุดในประเทศไทย ในปีหน้า จะมีกิจกรรมสำคัญมาก โดยสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศให้คริสตชนฆราวาส นักบวช และพระสงฆ์ เตรียมพร้อมก้าวสู่การฉลอง 350 ปีมิสซังสยาม (1669-2019) พร้อมกับฉลอง 75 ปี มิสซังจันทบุรี (1944-2019) เพื่อร่วมฟื้นฟูความเป็นศิษย์พระคริสต์ในทุกมิติ ส่วนวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ จะครบรอบ 140 ปี ในปี 2020

          ก็ต้องมาติดตามดูกันว่า ชุมชนวัดหัวไผ่จะลุกขึ้นมายืนหยัดและจรรโลงความเชื่อความศรัทธากันอย่างไร เพราะการอนุรักษ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจมักจะเดินสวนทางกันเสมอ

STORY BY  L. Patt
PHOTO ประเสริฐ จันทร์สุข, ปรัชญา วุฒิ

 

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS