HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
"PTSD" อาฟเตอร์ช็อคทางอารมณ์ที่ไม่ควรมองข้าม
by Manta
26 ก.ค. 2561, 14:15
  3,907 views

       ร่างกายอันมหัศจรรย์ของมนุษย์เรามีระบบซ่อมแซมตัวเองได้ในระกับหนึ่ง เมื่อเกิดการกระทบกระเทือนหรือเสียศูนย์ โปรแกรมการเยียวยาทางธรรมชาติทั้งร่างกายและจิตใจจะถูกนำมาใช้เพื่อปรับสมดุล แต่ถ้าความกระทบกระเทือนนั้นรุนแรงเกินกว่าจะรับได้ โดยเฉพาะในด้านจิตใจที่มองจากภายนอกไม่เห็นล่ะ ผลเสียที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่แค่ความเศร้าสะเทือนใจชั่วข้ามคืน แต่อาจมีผลร้ายหลอกหลอนไปชั่วชีวิต โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่นที่อ่อนไหว และมีภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ต่ำกว่าผู้ใหญ่ เหตุการณ์ที่มองว่า “เล็กน้อย” อาจส่งผลร้ายใหญ่หลวงได้

        คุณหมอ วริษา  กาญจนชัยภูมิ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจากศูนย์เด็กพิเศษโรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ จะพาไปรู้จักอาการ PTSD และวิธีการรับมือก่อนจะสายเกินไป

PTSD คืออะไร

        PTSD (Post-traumatic stress disorder) หรือโรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย คือ สภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญ กับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างมาก PTSD อาจพบได้ในเหตุการณ์ภัยรุนแรง เหตุการณ์ร้ายแรงไม่คาดฝันหรือสถานการณ์ที่อันตรายคุกคามต่อชีวิตของผู้นั้นหรือคนอื่นๆ ทั้งที่เป็นผู้เผชิญเหตุการณ์เองโดยตรง หรือ อาจได้เห็นเป็นพยานรับรู้ในเหตุการณ์ดังกล่าว หรือว่าเป็นผู้ที่สูญเสียบุคคลที่รักในเหตุการณ์นั้นๆ  

เหตุการณ์ลักษณะใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับโรค PTSD

        ลักษณะของภัยพิบัติที่ทำให้เกิด PTSD ต้องมีลักษณะรุนแรงมากพอที่จะทำให้เกิดอาการและปัญหาการปรับตัวอย่างเรื้อรัง มิใช่เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดธรรมดา หรือการสูญเสียตามปกติ  แต่เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงเกินกว่าความเครียดปกติเช่นภัยธรรมชาติ อุทกภัย แผ่นดินไหว อุบัติเหตุร้ายแรง หรืออุบัติภัยหมู่ การก่อการจราจล การเผชิญสงคราม การฆาตกรรม พ่อหรือแม่ฆ่าตัวตาย การถูกทำร้ายร่างกายหรือทางเพศ การถูกข่มขืน การถูกทรมาณ หรือแม้แต่เด็กที่อยู่ในบ้านที่มีความรุนแรง

อาการ PTSD เป็นอย่างไร

        อาการของ PTSD เป็นกลุ่มอาการ เป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ประกอบด้วย  4 หัวข้อหลักๆดังนี้

คิดว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้น (Re-experiencing)  คิดวนเวียนถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ ความทรงจำที่เลวร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ผุดขึ้นมาเอง  รู้สึกเหมือนอยู่กลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำๆมาตลอดและตกใจกลัว (Flashback) ฝันซ้ำๆในเนื้อหาเหตุการณ์เหล่านั้น มีปฏิกิริยาทางร่างกายและจิตใจเวลาเจอสัญลักษณ์หรือสิ่งที่คล้ายกับเหตุการณ์ที่ประสบเหตุการณ์มา  ในกรณีของเด็กอาจออกมาในรูปแบบของการเล่นซ้ำๆเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

        กลัวและหลีกเลี่ยง (Avoidance) กลัวสถานที่หรือสถานการณ์หลังจาก ประสบเหตุ  หลีกเลี่ยงที่จะคิดและรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์  หลีกเลี่ยงไม่กล้าเผชิญกับสิ่งเร้าภายนอกนั้นๆที่จะทำให้นึกถึง เช่นกลัวสถานที่ สถานการณ์ กิจกรรม บทสนทนา

        มีความรู้สึกนึกคิดในทางลบ (Negative alteration of cognition and mood) ไม่สามารถมีอารมณ์ในทางบวกอย่างต่อเนื่อง ไม่มีความสุข ไม่สนใจร่วมกิจกรรมต่างๆ   รู้สึกแปลกแยกจากผู้อื่น  บางราย ไม่สามารถจำส่วนที่สำคัญของเหตุการณ์ได้  มีความเชื่อความคาดหวังที่เป็นไปในทางลบอย่างต่อเนื่องและมีการขยายความออกไปในทางลบ เกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่นและ สิ่งรอบตัว   ยังคงที่ความคิดที่บิดเบือนของสาเหตุและผลที่เกิดขึ้นตามมาของเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องซึ่งนำไปสู่การตำหนิตัวเองและคนอื่น  มีอารมณ์ทางลบได้แก่โกรธ อาย กลัว รู้สึกผิด อย่างต่อเนื่อง

        สุดท้ายคือ อาการตกใจและหวาดกลัว (Hyperarousal symptoms)  มีอาการจับจ้องระวังภัย ตื่นตัวมากขึ้น  หงุดหงิดตกใจง่าย โกรธง่าย สะดุ้งผวามากขึ้นต่อเสียงดัง  ขาดสมาธิ นอนหลับไม่ดี เข้านอนยาก มีสะดุ้งตื่นตอนนอน

ถ้าหลังเหตุการณ์ 4 สัปดาห์ยังคงมีอาการเหล่านี้อยู่หรืออาการเกิดขึ้นในภายหลัง มีผลรบกวนชีวิตประจำวันและหน้าที่การงานการเรียนที่แย่ลง เรียกว่า PTSD

ปัจจัยที่ทำให้เกิด PTSD ในเด็กมีอะไรบ้าง

        อาการของผู้ป่วยและการดำเนินของโรคในเด็กและวัยรุ่นแต่ละคนจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่ได้รับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความหมายต่อผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน ระยะเวลาที่ประสบเหตุการณ์ ผู้ป่วยเองมีบุคลิกและวิธีการเผชิญต่อสภาวะความเครียดอย่างไร อายุเด็ก ประสบการณ์เก่าที่เคยมีมาก่อน สภาพแวดล้อมที่จะช่วยเด็ก

          Post-trauma factor ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องได้แก่ การขาดการสนับสนุนจากสังคมคนรอบข้างและเด็กต้องเผชิญกับความยากลำบากทางด้านจิตใจสังคมอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสทำนายการที่ทำให้โรคเรื้อรังได้มากที่สุด เรื่องของลักษณะรูปแบบการทำหน้าที่ของครอบครัว สุขภาพจิตของพ่อแม่ของเด็กที่มีอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้าหลังเกิดเหตุการณ์มีส่วนสำคัญต่อการเกิด PTSD ในเด็ก ลักษณะพ่อแม่ที่ไม่สนับสนุนให้กำลังใจ ไม่เป็นมิตรกับเด็ก และรูปแบบการเลี้ยงดูแบบบังคับเป็นตัวทำนายความรุนแรงของโรคได้ การรักษาช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ควรรีบปฎิบัติ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการเกิดขึ้นในช่วงแรกเพราะถ้าทอดทิ้งไม่รักษาหรือช่วยเหลือช้าไปจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเรื้อรังไปได้นาน

การรักษา Post-Traumatic Stress Disorder มีขั้นตอนการรักษาอย่างไร

          เมื่อเด็กต้องประสบเหตุภัยที่รุนแรง เราจำเป็นต้องเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยทางจิตใจจะมีการติดตามอาการ ในการรักษาทางการแพทย์ ใช้รูปแบบการรักษาแบบองค์รวม เน้นที่การช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนแก่ผู้ประสบภัยทุกคน การฟื้นฟูชุมชนให้กลับสู่ปกติ และมีการคัดกรองอาการ PTSD (early screening)เมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจทำให้เสี่ยงต่อ PTSDและพฤติกรรมอาการของเด็กที่ดูเปลี่ยนไป ถ้ามีอาการปรากฎเข้าข่าย PTSD ต้องมีการประเมินเพิ่มเติมในส่วนความรุนแรงของโรค ระดับความบกพร่องในการใช้ชีวิตของผู้ประสบภัย จิตแพทย์ผู้ดูแลต้องให้การวินิจฉัยโรค การรักษา ค้นหา,ป้องกันและรักษาโรคร่วมทางจิตเวชที่อาจเกิดขึ้นได้ อันได้แก่ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคกลัว การใช้สุรา ยาเสพติด รวมถึงติดตามอาการอย่างใกล้ชิต โดยทำงานเป็นทีมในการบำบัดร่วมกับนักจิตวิทยา รวมทั้งการนำผู้ปกครองและผู้ดูแลเข้าร่วมในการประเมินด้วยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

 วิธีการรักษา Post-Traumatic Stress Disorder

         ประกอบด้วยการรักษาที่ไม่ต้องใช้ยา และการรักษาด้วยยา การรักษาทางด้านจิตใจประกอบด้วยการทำจิตบำบัดมีหลากหลายวิธี เช่น Trauma-Focused Cognitive therapy  สำรวจและพูดคุย ในเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แนะนำการผ่อนคลาย การเผชิญกับสิ่งที่ทำให้ตื่นกลัว ปรับเปลี่ยนความเชื่อ และความคิดที่บิดเบือนไปเกี่ยวกับอาการหรือเหตุภัยพิบัติครั้งนั้น  ฝึกให้ควบคุมความรู้สึกนึกคิดและรับมืออารมณ์ของตนเองได้  โดยมีผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเข้าใจ  มีการให้ความรู้ผู้ปกครองกับเกี่ยวกับเกิดเหตุการณ์ที่เด็กพบเจอและปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ รวมทั้งให้ทักษะผู้ปกครองในการช่วยปรับพฤติกรรมแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังมี cognitive-behavior therapy (CBT) ,การทำจิตบำบัดรายบุคคล, stress management, EMDR (eye movement desensitization and reprocessing) ในส่วนของพ่อแม่ มีส่วนร่วมในการบำบัดรักษา ในรูปแบบของ Child-parental psychotherapy, family therapy สำรวจแก้ไขจิตใจ อารมณ์และหาวิธีการที่เหมาะสมที่พ่อแม่จะช่วยเด็กได้

        ในส่วนของการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม  ได้แก่ การให้ความรู้กับครู ผู้ป่วย พ่อแม่  เด็ก ผู้เกี่ยวข้องกับเด็ก เกี่ยวกับโรค PTSD อาการ การรักษา การพยากรณ์โรค การช่วยเหลือครอบครัวให้ได้พบกันและอยู่ด้วยกันโดยเร็ว จัดกิจกรรมและโรงเรียนให้เด็กเข้าสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด  จัดที่อยู่อาศัยให้มั่นคงและปลอดภัย มีระบบการป้องกันการเกิดภัยพิบัติซ้ำ การฟื้นฟูชุมชน

         การใช้ยารักษา PTSD พบว่า การใช้ยากลุ่ม SSRIs (Selective serotonin reuptake inhibitor) เช่น sertraline, paroxetine มีประสิทธิภาพในรักษาในผู้ใหญ่ แต่ยังขาดข้อมูลสนับสนุนทางงานวิจัยในเด็ก ดังนั้นการใช้ยาในเด็กและวัยรุ่นควรจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป

เมื่อเกิดอาการ PTSD ในเด็ก คนใกล้ชิดควรปฎิบัติตัวอย่างไร

          การให้ผู้ดูแลหลักของเด็กมีการตอบสนองให้กำลังใจเด็ก รับฟัง ปลอบโยน ทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจถึงความปลอดภัย ให้มั่นใจว่าเค้ามีผู้ดูแล ปกป้องและมีที่พึ่ง หลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ที่ไม่จำเป็นต่อการรักษา หรือเพื่อการนำเสนอข่าว ไม่ควรต้องให้เด็กหรือผู้ประสบภัยต้องเล่าเรื่องซ้ำๆหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ หรือพูดจาซ้ำเติมในเชิงตำหนิให้เด็กรู้สึกผิด แต่เปิดโอกาสให้เด็กพูดคุยในส่วนที่เด็กอยากจะพูดคุยและความรู้สึกเกี่ยวกับเหตุการณ์เท่าที่ผู้ป่วยต้องการโดยไม่ลงรายละเอียดของเหตุการณ์ ที่สำคัญพยายามให้เด็กมีกิจกรรมตามปกติ และค่อยๆ กลับสู่สภาพเดิม โดยมีผู้ใหญ่หรือพ่อแม่คอยให้กำลังใจ ดังนั้นผู้ปกครองจึงเป็นส่วนที่สำคัญที่จะป้องกันและเป็นการรักษาตามหลังเหตุการณ์รุนแรงได้ดี

 

ABOUT THE AUTHOR
Manta

Manta

นักดื่ม นักจิบ ดื่มบ้างบ่นบ้าง

ALL POSTS