HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
Exclusive: ความสำคัญของพิธีถวายพระเกียรติสูงสุดแด่ รัชกาลที่ 9 ที่ "สวีเดน"
by สมพิศ วัตกินส์
10 พ.ย. 2560, 02:05
  4,181 views

ความสำคัญของ "เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟืม"ทำไมประมุขต่างชาติจึงถวายให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา

 

ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นและเสียงระฆังโบสถ์ดังวังเวง กองทหารเกียรติยศอัญเชิญพระราชลัญจกรพิเศษ ฯ (ตราพระครุฑพ่าห์) จากพระราชวังกรุงสตอกโฮล์ม ผ่านลานที่เต็มไปด้วยฝูงชนชาวไทยและครอบครัวกว่า 1500 คน หญิงสาวในชุดสีดำใบหน้าเศร้าหมองประคองพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรอย่างทะนุถนอมและเทิดทูน...เป็นภาพข่าวที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก และนำความภาคภูมิใจอย่างสูงมาให้พวกเราชาวไทย ในวันที่เศร้าที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติ

 

 

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา สำนักพระราชวังสวีเดน จัดพิธีอัญเชิญพระราชลัญจกรพิเศษ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ตราพระครุฑพ่าห์) จากพระราชวังกรุงสตอกโฮล์ม ไปประดิษฐานที่โบสถ์รีดดาร์โฮล์ม อันเป็นสถานที่ฝังพระบรมศพราชวงศ์สวีเดนหลายพระองค์ ในฐานะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีม ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของสวีเดน

 

 

ยิ่งมีการเผยแพร่ภาพและวิดีโอพิธีอันทรงเกียรตินี้มากขึ้น ก็ยิ่งมีคำถามมากขึ้นตั้งแต่ความหมายของคำว่า “พระราชลัญจกร” ซึ่งเป็นราชาศัพท์ที่ไม่คุ้นหูนัก คำว่า “เซราฟีม” ไปจนถึงเหตุผลที่สวีเดนเป็นประเทศเดียวในโลกที่จัดพิธีถวายพระเกียรติอย่างยิ่งใหญ่เช่นนี้

 

อ่านความรู้สึกของคนไทยในสต๊อกโฮมในวันนั้น คลิ๊กที่นี่

 

คำว่า“ลัญจกร” (อ่านว่า ลัน-จะ -กอน) แปลว่า ตรา สำหรับใช้ตีหรือประทับ ใช้เป็นราชาศัพท์ว่า“พระราชลัญจกร” หมายถึงตราที่พระเจ้าแผ่นดินทรงใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยและประทับกำกับเอกสารสำคัญที่ออกในพระปรมาภิไธยเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงพระราชอำนาจ และเป็นเครื่องมงคลประจำรัชกาลซึ่งจะต้องอัญเชิญขึ้นถวายพระเจ้าแผ่นดินในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพร้อมกับเครื่องมงคลอื่นๆ

 

 

พระราชลัญจกรมี 3 ประเภท คือ

 

 

 

 

 

  1. พระราชลัญจกรประจำพระองค์ใช้ประทับกำกับพระบรมนามาภิไธย ในเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน
  2.  พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน หรือตราแผ่นดินใช้ประทับกำกับพระบรมนามาภิไธยในเอกสารสำคัญหรือกำกับนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ
  3. พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินใช้ประทับกำกับเอกสารสำคัญที่ออกในนามพระปรมาภิไธย

 

ส่วน “พระราชลัญจกรพิเศษ” หรือ “ลัญจกรพิเศษ” นั้นสำนักพระราชวังสวีเดนจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ  พร้อมกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีม

 

คำถามต่อมาก็คือ แล้วเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีมนี้คืออะไรและทำไมจึงมีการถวายให้ในหลวงของเรา

 

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีม เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของสวีเดน มีชั้นเดียวแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือสร้อยคอ ตราดาว และเข็ม

 

สร้อยคอ ประกอบด้วยเทวทูตทอง 11 องค์ สลับกับไม้กางเขนพระราชาคณะระดับแพตริอาร์คสีฟ้าขลิบทอง 11แท่งบนสายโซ่ทอง

 

ตราดาว ประกอบด้วยไม้กางเขนแบบมอลตีสสีขาวขลิบทองและตรงกลางเป็นลูกโลกสีฟ้าสลักตัวอักษร IHS สีขาวและมีไม้กางเขนแบบลาตินสีขาวประดับอยู่กึ่งกลางของตัวอักษร Hล้อมรอบด้วยมงกุฏสวีเดน 3 มงกุฎ และมีตะปูทอง 3 ตัวอยู่ใต้ไม้กางเขน มีตัวอักษรย่อ FRS ซึ่งก็คือพระนามของพระเจ้าเฟรเดริกที่  1  แห่งสวีเดน สลักด้วยทองคำอยู่ด้านหลังของลูกโลกสีฟ้า ทั้งสองด้านของตราอาร์มจะเป็นไม้กางเขนราชาคณะระดับแพตริอาร์คทองคำ และมีเทวทูตทองคำอยู่ระหว่างมุมแฉกของตราอาร์มทั้งสองด้าน นอกจากนี้ ตราดาวจะล้อมรอบไปด้วยมงกุฎทองคำซึ่งจะสอดคล้องกับสายคล้องคอสำหรับผู้รับที่เป็นบุรุษหรือริบบิ้นสีฟ้าอ่อนสำหรับผู้รับที่เป็นสตรี

 

เข็ม ประกอบด้วยไม้กางเขนแบบมอลตีสสีเงิน ตรงกลางเป็นลูกโลกสีฟ้าล้อมรอบด้วยทองคำ ซึ่งจะคล้ายกับด้านตรงข้ามลูกโลกสีฟ้าที่อยู่ในตราดาวแต่มีขนาดใหญ่กว่า และระหว่างมุมแฉกของไม้กางเขนจะประดับด้วยเทวทูตเงิน

 

 

สัญลักษณ์ที่อยู่บนตราเซราฟีมเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายทางศาสนาคริสต์ สามตัวอักษร IHS เป็นตัวย่อในภาษาลาตินมาจากคำว่า  Iesus Hominum Salvator หมายความว่าพระเยซูผู้ช่วยให้มนุษยชาติรอด ตะปู 3 ตัวหมายถึงตะปูที่ใช้ตรึงพระเยซูกับไม้กางเขน และเทวทูตเซราฟีมที่มีหกปีก ที่มาของชื่อเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์นี้ก็ได้รับการกล่าวถึงในพระคัมภีร์ไบเบิลเช่นกัน

 

พระเจ้าเฟรเดริกที่ 1 แห่งสวีเดนเป็นผู้สถาปนาตั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีมเมื่อปี พ.ศ. 2291นับตั้งแต่นั้นมา มีพระประมุข พระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ และประมุขได้รับการถวายหรือพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีมจำนวนทั้งสิ้น 865 พระองค์

 

สำหรับประเทศไทยนั้น พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีมคือ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  1. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ได้รับการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีมเป็นลำดับที่484 จากสมเด็จพระราชาธิบดีออสการ์ที่ 2 เมื่อวันที่ 11กรกฎาคมพ.ศ. 2430และสร้อยคอเนื่องในโอกาสที่เสด็จเยือนสวีเดนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440
  2. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้รับการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีมเป็นลำดับที่ 522 จากสมเด็จพระราชาธิบดีออสการ์ที่ 2 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440เนื่องในโอกาสที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จเยือนประเทศสวีเดนอย่างเป็นทางการและได้รับสร้อยคอเนื่องในโอกาสที่เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2454
  3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชาธิบดีออสการ์ที่ 2 เป็นลำดับที่ 523 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440
  4. สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชาธิบดีกุสตาฟที่ 5 เป็นลำดับที่ 610 เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.  2454
  5. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้รับการถวายจากสมเด็จพระราชาธิบดีกุสตาฟที่ 5 เป็นลับดับที่ 672 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475
  6. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้รับการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีมเป็นลับดับที่ 707 จากสมเด็จพระราชาธิบดีกุสตาฟที่ 5 เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2493 และสร้อยคอเมื่อวันที่  15 มกราคม พ.ศ. 2508
  7. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้รับการถวายจากสมเด็จพระราชาธิบดี กุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟ เป็นลับดับที่ 747 เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2503
  8. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชาธิบดี กุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟ เป็นลับดับที่ 759 เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2508
  9. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้รับการถวายเป็นลำดับที่ 836 จากสมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ลที่ 16 กุสตาฟ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546
  10. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้รับพระราชทานเป็นลำดับที่ 837 จากสมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ลที่ 16 กุสตาฟเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546
  11. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีได้รับพระราชทานเป็นลำดับที่ 838 จากสมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ลที่ 16 กุสตาฟเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546

 

หลายคนอาจจะถามว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีมเป็นของสวีเดน แล้วทำไมมีการถวายพระมหากษัตริย์และพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ไทยหรือชาติอื่น ๆ ด้วย

 

 

เมื่อเริ่มสถาปนาตั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีม ผู้ที่ได้รับจะต้องทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบโรงพยาบาลสำคัญ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาลเซราฟีม (Serafimerlasarettet) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแผนใหม่แห่งแรกของสวีเดน เปิดทำการในปี พ.ศ. 2295 และปิดทำการถาวรในปี พ.ศ. 2523 ซึ่งหน้าที่ดูแลโรงพยาบาลนี้ค่อย ๆ เลิกไปในช่วงคริสตวรรษที่ 19 เนื่องจากคณะแพทย์พยาบาลตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เห็นว่าการให้ผู้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีมมาควบคุมโรงพยาบาลเป็นประเพณีที่ล้าสมัย

 

แต่เดิมนั้น ทั้งประชาชนธรรมดาทั้งชาวสวีเดนเองและชาวต่างชาติที่บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ประเทศสวีเดนมีสิทธิ์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีมจากพระประมุขของสวีเดน แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ถวายหรือพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้แก่พระประมุข ประมุขหรือพระบรมวงศานุวงศ์ต่างชาติเท่านั้น และต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ได้มีการปรับเปลี่ยนอีกครั้งให้พระราชวงศ์สวีเดนสามารถรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้เช่นกัน

 

พระประมุขของสวีเดน โดยผ่านสำนักพระราชวังสวีเดนจะถวายหรือพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีม แก่พระประมุข หรือ ประมุขของรัฐ ตลอดจนพระราชวงศ์ของประเทศที่สวีเดนมีสัมพันธไมตรีด้วย และในขณะเดียวกันก็จะเป็นธรรมเนียมของทางสำนักพระราชวังสวีเดนที่จะจัดทำพระราชลัญจกรพิเศษประจำพระองค์หรือลัญจกรพิเศษของประเทศ แล้วนำไปประดับในห้องเครื่องราชฯ ในพระราชวังกรุงสตอกโฮล์ม และจะประดับไว้จนพระประมุข/ประมุขนั้นเสด็จสวรรคตหรือถึงแก่อสัญกรรม

 

 

 

จากนั้นทางสำนักพระราชวังก็จะจัดพิธีอัญเชิญพระราชลัญจกรพิเศษนี้ไปประดิษฐานที่โบสถ์ริดดาร์โฮล์ม ในวันเดียวกันกับที่มีพระราชพิธีพระบรมศพหรือพิธีศพในประเทศนั้น ๆ  โดยระหว่างพิธีจะมีการตีระฆังโบสถ์ติดต่อกันตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมง ตั้งแต่เวลาเที่ยงตรงไปจนถึงบ่ายโมง ซึ่งเรียกพิธีอัญเชิญฯนี้ว่า “พิธีตีระฆังแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีม”(A Ringing/Tolling of the Seraphim หรือ Serafimerringningenในภาษาสวีเดน)

 

โบสถ์รีดดาร์โฮล์มซึ่งเป็นที่ประทับแห่งสุดท้ายของกษัตริย์สวีเดน เป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นโบสถ์ยุคกลางที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เพียงแห่งเดียวในสตอกโฮล์ม สร้างขึ้นโดยนักบวชคณะฟรันซิสกันประมาณปี พ.ศ.1833 ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าแม็กนัสที่ 3 สวรรคต

 

พระบรมศพของพระประมุขสวีเดนทุกพระองค์ ยกเว้นสมเด็จพระราชินีคริสตินา นับจากพระราชาธิบดีกุสตาฟที่ 2 อดอล์ฟ (สวรรคต ปี พ.ศ. 2175) ไปจนถึงพระราชาธิบดีกุสตาฟที่ 5 (สวรรคตปี พ.ศ. 2493) ถูกฝังอยู่ในโบสถ์รีดดาร์โฮล์มแห่งนี้

 

กษัตริย์จากยุคกลางยังถูกฝังไว้ที่นี่เช่นพระเจ้าแม็กนัสที่ 3 (มักนุส ลาดูลอส สวรรคต พ.ศ. 1833) และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8(คาร์ล คนุสสัน บอนเด สวรรคต พ.ศ. 2013)

 

 

ปัจจุบัน โบสถ์รีดดาร์โฮล์มได้รับการดูแลโดยสำนักพระราชวังและคณะกรรมการทรัพย์สินแห่งชาติสวีเดน เป็นโบสถ์ที่ฝังพระบรมศพและอนุสรณ์สถานสำหรับราชวงศ์สวีเดน และยังใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระราชลัญจกรพิเศษของพระประมุขหรือลัญจกรพิเศษของประมุขที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีมที่สวรรคตหรือถึงแก่อสัญญกรรมไปแล้วอีกด้วย

 

โบสถ์นี้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้เฉพาะในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง นอกจากนี้จะสามารถเข้าไปได้ในเฉพาะในช่วงที่มีคอนเสิร์ต มีพิธีตีระฆังแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีมหรือโดยการจัดกิจกรรมเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น

 

นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม กล่าวว่า สมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ลที่ 16 กุสตาฟและสมเด็จพระราชินีซิลเวีย ทรงมีความผูกพันกับพระราชวงศ์ไทยและประเทศไทยอย่างยิ่ง ทั้งสองพระองค์เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์หลายครั้ง รวมทั้งได้เสร็จฯ มาร่วมพระราชพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ.2549และสมเด็จพระราชินีซิลเวียก็เป็นหนึ่งในราชวงศ์ต่างประเทศที่ได้เสด็จฯ มาร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

 

 

ท่านทูตเกียรติคุณฯ กล่าวกับ Happening BKK ด้วยว่า สมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ลที่ 16 กุสตาฟ  ได้ถวายพระเกียรติยศสูงสุดแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการตำแหน่งสูงสุดของสำนักพระราชวังและข้าราชการในพระองค์หลายท่านมาร่วมพิธีดังกล่าว ได้แก่ นายอิงมาร์ เอียลีอัสสัน สมุหนายกแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อัศวิน และอดีตราชเลขาธิการ นายสวอนเต ลินด์ทวิสต์ ราชเลขาธิการ นายมัทส์ นิลสัน เลขาธิการสำนักพระราชวัง นายสตาฟฟาน โรเซียน รองสมุหนายกแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อัศวิน นายเบงท์ เทลอัน เหรัญญิกแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อัศวิน อดีตผู้ดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พันโท ริชาร์ด เบ็ค ฟีส หัวหน้านายทหารรักษาพระองค์ พันตรี มาทีอัส เฮ็นริคสัน รองหัวหน้านายทหารรักษาพระองค์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักเครื่องราชอิสริยาภรณ์อัศวิน รวมทั้งสิ้น 14 คน ส่วนทางฝ่ายไทยนั้น มีท่านทูตฯ พร้อมด้วยภริยาและข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ จำนวน 15 คน เข้าร่วมพิธีอัญเชิญพระราชลัญจกรพิเศษ จากพระราชวังกรุงสตอกโฮล์มไปยังโบสถ์รีดดาร์โฮล์ม

 

 

ท่านทูตเกียรติคุณฯ กล่าวด้วยว่า พิธีดังกล่าวได้สร้างความปลื้มปีติและภาคภูมิใจอย่างสูงสำหรับชาวไทยในสวีเดนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงเป็นพระประมุขที่ทรงครองเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าวนานที่สุดถึง 66 ปี ได้รับการถวายพระเกียรติอย่างสูงสุดในครั้งนี้

 

อ้างอิง

 

 

 

 

 

 

 

  1. สำนักพระราชวังสวีเดน (kungahuset.se)
  2. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม
  3. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
  4. royalcentral.co.uk
  5. wikipedia.org

 

ขอบคุณสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์มในความเอื้อเฟ้อข้อมูลและภาพพิธีฯ

 

*ภาพมีลิขสิทธิ์

 

*Copyright Kungahuset.se

ABOUT THE AUTHOR
สมพิศ วัตกินส์

สมพิศ วัตกินส์

แม่ นักแปล ล่าม สาว(เหลือ)น้อยผู้แสวงหา ผู้คร่ำหวอดกับตัวอักษรและภาษามากว่าสามทศวรรษ

ALL POSTS