มองโอกาสและทางรอด...เมื่อคนรุ่นใหม่อยากทำธุรกิจเพื่อสังคมกันเยอะขึ้น
แพชชั่นมาเต็ม คนรุ่นใหม่หันมาสนใจทำวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) กันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น แม้ว่าระบบนิเวศสนับสนุน SE ของไทยจะยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น
บางจาก หนึ่งในองค์กรภาคเอกชนที่เริ่มโครงการ Banpu Champions for Change (BC4C) ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม ซึ่งเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่อายุ 20-35 ปี ให้ต่อยอดไอเดียธุรกิจ ทั้งด้านรายได้และผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการบ่มเพาะกิจการระยะเริ่มแรก (Incubation Program) พร้อมกับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ
ปีนี้ BC4C ก้าวสู่ปีที่ 14 ภายใต้ธีม “จุดไฟ โตไปพร้อมกัน” ได้ขยายพื้นที่กิจกรรมการออกไปยังหัวเมืองใหญ่ 4 ภาค คือ จังหวัดเชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และกรุงเทพฯ เพื่อค้นหา SE ในชุมชนที่มีไอเดีย มีแรงใจ แต่ยังขาด “พื้นที่” หรือ Playground ที่ให้ลงมือจริง ซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างมาก โดยมีผู้ประกอบการ SE ในท้องถิ่นสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ถึง 51 กิจการ จาก 14 จังหวัด ใน 4 ภูมิภาค มีอายุเฉลี่ย 20-30 ปี
ผลการคัดเลือก 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ได้แก่ คิดถึงกระบี่, Seeds Journey, เด็กมีดี เพื่อสังคม, แสนบุญฟาร์ม, DDEXP, กาแฟฟื้นป่า, Wangsa, Phster, Link Learning และไม้เมืองเลย
ยกตัวอย่าง Seed Journey ทีมชนเผ่าอาข่ารุ่นใหม่ จ.เชียงราย ที่อยากส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในชุมชนชาวชาติพันธุ์ เพราะเชื่อมั่นว่า นอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้คนภายนอกเข้าใจเรื่องราวของคนในท้องถิ่นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ชุมชนได้ ก็ยังช่วยให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องเมล็ดพันธุ์และความมั่นคงทางอาหารในชุมชนได้อีกด้วย
ขณะที่ นักกิจกรรมสร้างสรรค์พิษณุโลก กับไอเดีย Local Creative Tourism เพื่อพัฒนาศักยภาพศิลปินและงานกิจกรรมท้องถิ่น ให้กลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน
เปิดพื้นที่เสริมทักษะ SE
บ้านปู ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) สร้างพื้นที่เรียนรู้และทดลองตลาดสำหรับ SE รุ่นใหม่ Pilot Project X Playground
ดร.ภูธิป มีถาวรกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคม และอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) บอกว่า ที่นี่เป็นสถาบันเดียวในประเทศไทยที่เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจ “สาขาวิชาธุรกิจเพื่อสังคม” ระดับปริญญาตรีอย่างเต็มรูปแบบ โดยสอนตั้งแต่พื้นฐานด้านการตลาด การเงิน การบัญชี ไปจนถึงทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนแบรนด์ เช่น การเล่าเรื่อง (Storytelling) ที่สำคัญ ทุกอย่างวิชาที่เรียนจะถูกเชื่อมโยงกับบริบทของปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว
ไฮไลต์ของหลักสูตรอยู่ที่วิชาช่วงสุดท้ายที่จะทำเป็นโปรเจกต์จบ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นโครงการทดลอง หรือ Pilot Project ที่นิสิตต้องออกแบบกิจการ SE ของตัวเอง พร้อมลงมือทดสอบจริง ไม่ใช่แค่คิดโมเดลส่งอาจารย์ แต่ต้องลงพื้นที่ ระบุผู้มีส่วนได้เสีย และพิสูจน์ให้เห็นว่า ธุรกิจที่สร้างขึ้นสามารถช่วยชุมชน สร้างรายได้ หรือสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมได้จริงแค่ไหน
ดังนั้น SE ที่เข้าร่วมโครงการ BC4C ปีที่ 14 จะได้ฝึกปรือทักษะที่จำเป็น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเครือข่าย SE ให้แข็งแรง และทำให้คนรู้สึกว่า SE เท่ากับ Startup มีความเท่ ความเจ๋งเท่ากัน และอยากก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
BC4C จึงไม่ใช่แค่เวิร์กช็อป แต่คือการได้ฝึกลงสนามจริง ผ่านโปรแกรม “การบ่มเพาะกิจการระยะเริ่มต้น” (Incubation Program) ที่สอนตั้งแต่การวางรากฐานธุรกิจ เช่น การคิดต้นทุน/กำไรการทำระบบบัญชี การแก้ปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบ เช่น การตั้งสมมุติฐานของปัญหา การวัดผล กระทบทางสังคม ไปจนถึงการให้ทุนทดลองตลาด ทุกทีมจะได้รับการดูแลจากพี่เลี้ยง (Mentor) ผู้ประกอบการ SE ตัวจริงที่จะคอยให้คำปรึกษาและลงไปเป็นเพื่อนร่วมเดินทางตลอดระยะเวลาโครงการฯ
“ผมเชื่อว่า ยิ่งเรามีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ทดลอง ลงมือ และปล่อยไอเดียมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งเห็นผู้ประกอบการ SE หน้าใหม่เกิดขึ้น และกลายเป็นขุมพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก แก้ปัญหาใกล้ตัวได้อย่างยั่งยืน” ดร.ภูธิป กล่าวทิ้งท้าย