HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
มหัศจรรย์พันธุ์ไม้หายากแห่งผืนป่าของไทย
by L. Patt
28 ธ.ค. 2567, 08:45
  96 views

เมื่อลมหนาวมาเยือน คนกรุงก็นึกถึงบรรยากาศสุดชิลล์และทิวทัศน์แบบพาโนราม่าตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยขุนเขา สายหมอก และดอกไม้ป่านานาพรรณ HappeningBKK อยากชวนมารู้จักกับพันธุ์ไม้หายากที่ซ่อนตัวอยู่บนผืนป่าของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ สะท้อนถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และธรรมชาติที่รังสรรค์ความงดงามได้อย่างน่าทึ่ง

ดอกจิงจ้อแดง หรือเครือตีแต้ ภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก

ไม้เลื้อยแห่งผืนป่าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก โดดเด่นด้วยดอกสีแดดสดใส กลีบดอกเชื่อมต่อกันเป็นหลอดยาวสง่างาม และที่น่าหลงใหลคือส่วนปลายดอกที่แผ่บานออกตั้งฉากกับลำต้น ราวกับดาวน้อยสีแดงที่ประดับตกแต่งเถาวัลย์เขียวขจี

ช่วงฤดูหนาวนี้ ยังเป็นเทศกาลชมใบเมเปิลเปลี่ยนสีด้วย ซึ่งจะพบต้นเมเปิล หรือก่วม ในผืนป่าบริเวณหลังหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ หมันแดง ภูหินร่องกล้า ตอนนี้กำลังผลัดใบเป็นสีแดงสดสวยงามราวกับพรมแดงธรรมชาติ ท่ามกลางสายหมอก

 

มะแปวอ ขามผีน้อย มะแปปกวาง หรือ แปบกวางใหญ่  จ.ตาก

ไม่พุ่มเลื้อยจากเขาหินปูน ดอยหัวหมด อ.อุ้มผาง จ.ตาก ไม้พุ่มหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ใบประกอบแบบมีใบย่อย 3 ใบ หูใบรูปใบหอก ปลายแยกเป็น 2 แฉก ดอกสีออกขาว มีแต้มสีเขียวที่ด้านในกลีบบน และมีแต้มสีม่วงที่ปลายกลีบคู่ข้าง มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่แถบหิมาลัยถึงบังกลาเทศ เมียนมา จีนตอนใต้ ตอนเหนือของไทย และลาว

ย่านดาโอ๊ะ  ใบไม้สีทอง ของดีสามจังหวัดชายแดนใต้

ใบไม้สีทองหายาก เป็นพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นที่พบได้เฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานีเท่านั้น โดยพบครั้งแรกในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส และยังพบในป่าดิบชื้นบริเวณที่โล่งริมลำธารในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ.ยะลา

เอื้องบายศรี

เอื้องบายศรี หรือเอื้องคำหิน

กล้วยไม้พื้นเมือง ดอกสีเหลืองและมีลวดลายสีม่วงบนกลีบปาก มีลีกษณะลำต้นเป็นหัวทรงกลมรีหรืออ้วนป้อม โดยมีกาบใบห่อหุ้นไว้ กลีบปากมีลักษณะพิเศษ คือแผ่เป็นแผ่นยาวและงอนออก ก้านช่อดอกและแกนช่อปกคลุมด้วยขนสีขาว

ตากุ้ง

ตากุ้ง จ.สุพรรณบุรี

พรรณไม้หายากแห่งทุ่งน้ำจืดไทย หลังหายสาบสูญมานานนับสิบปี ค้นพบครั้งแรกในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2466 ที่ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี โดยนายแพทย์และนักพฤษศาสตร์ชาวไอริช ผู้เชี่ยวชาญของไทยเพิ่งค้นพบอีกครั้งในพื้นที่ป่าริมน้ำของ จ.สุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา และสระแก้ว ลักษณะเด่นคือ ใบเดี่ยว ดอกสีเหลืองปนน้ำตาลแดง และผลสีเขียวปนม่วงแดงรูปไข่กลับ ลักษณะคล้ายตากุ้ง จนเป็นที่มาของชื่อนั่นเอง

ผักลืมผัว

ผักลืมผัว บานสะพรั่งถิ่นอีสาน

พืชพื้นบ้านอีสานที่บานสะพรั่งทั่วทุ่งนาในฤดูเก็บเกี่ยว โดยมักพบขึ้นปะปนกับกระดุมเงิน ผักกะแยง กระถินนา และปอผี เป็นดอกสีม่วงสวยสด ชาวบ้านนิยมนำมากินสดคู่กับลาบ น้ำพริก ใส่แกงเผ็ด ผัด หรือใส่ไข่เจียว

 

ครูมวย จ.อุบลราชธานี

ไม้พุ่มบนลานหินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี

สิงโตกลอกตา

สิงโตกลอกตา จ.นครพนม

กล้วยไม้หายากแห่งอุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.นครพนม มีความพิเศษตรงที่สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งบนต้นไม้อื่น หรือแบบอิงอาศัยและบนก้อนหิน โดยลำต้นมีใบเพียง 2 ใบ  แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือ ก้านช่อดอกที่ยาวพิเศษ ปลายก้านจะมีดอกเรียงตัวสวยงามคล้ายร่ม

เถาสองสลึง หรือจิงจ้อเหลี่ยม จ.นครพนม

ไม้เถาล้มลุกแห่งป่าภูลังกา-ภูวัว จ.นครพนม มีดอกสีม่วงสวยงาม และมีใบประดับที่โคนช่อดอกรูปร่างคล้ายเรือ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญในการแยกชนิด

ก่อบังบาตร

ก่อบังบาตร จ.บึงกาฬ

พรรณไม้มหัศจรรย์แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ เป็นพรรณไม้หายากที่ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2557 มีขอบใบจักฟันเลื่อน

ช่องวงช้างเล็ก จ.สุราษฎร์ธานี

กล้วยไม้ป่าหายาก แห่งอุทยานใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี พบได้เฉพาะในพื้นที่ป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา มีลำต้นทรงกระบอกสีน้ำตาลแดง ใบเรียงสบับหลากหลายรูปแบบ ช่อดอกแบบกระจะ ต้นหนึ่งออกดอกได้ถึง 6 ช่อพร้อมกัน แต่ละช่อห้องลงมาอย่างสวยงาม ดอกมีสีขาวบริสุทธิ์และส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ

ตองแห้งบะไห จ.อุบลราชธานี

พืชล้มลุกหายากที่พบได้เฉพาะบนลานหินทรายในประเทศไทยเท่านั้น โดยตั้งชื่อตามแหล่งที่ค้นพบครั้งแรกที่บ้านบะไห ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

ดอกไม้ไหว จ.เชียงใหม่

มรดกทางพฤกษศาสตร์แห่งดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ เป็นไม้ล้มลุก โดดเด่นด้วยลำต้นเป็นเหลี่ยมและดอกสีเหลืองสดที่ออกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ

 

เอื้องนวลจันทร์ ทุ่งใหญ่นเรศวร

กล้วยไม้ป่าหายากในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผืนป่ามรดกโลกของไทย โดดเด่นด้วยดอกสีขาวแต้มสีม่วงแดงที่โคนกลีบปาก ออกดอกเป็นช่อกระจะหลวมที่ปลายยอด กลีบเลี้ยงจะมีปลายเรียวแหลมและมีขนสั้นนุ่มที่ผิวด้านนอก

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS