ออฟฟิศซินโดรม: โรคของคนวัยทำงานที่ต้องระวัง
หลังเลิกงาน หลายคนมักบ่นว่า “ปวดเมื่อยจัง” โดยเฉพาะคนที่ต้องนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน แต่น้อยคนจะรู้ว่า “ออฟฟิศซินโดรม” ไม่ได้เป็นแค่ปัญหากล้ามเนื้อปวดเมื่อยธรรมดา หากปล่อยไว้ อาการนี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาท สายตา ความเครียด หรือแม้แต่ระบบทางเดินปัสสาวะ
หลังจากไปฟังอาจารย์หมอหลายคนที่มาพูดในงาน Office Syndrome Summit 2024 เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ทำให้รู้ว่า เรายังมีความเข้าใจหลายอย่างไม่ถูกต้อง เลยอยากมาเล่าให้บรรดาคนทำงานออฟฟิศได้รับรู้ข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ จะได้เฝ้าระวังสังเกตตัวเองว่ามีความเสี่ยง หรือสัญญาณอะไรที่บ่งบอกว่าจะเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมหรือเปล่า และถ้าเป็นแล้วจะมีวิธีจัดการกับมันอย่างไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้รักษาแบบผิดๆ ถูกๆ ทำให้เกิดอาการเรื้อรังจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้
อ.นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์ หรือหมอเปียง อาจารย์แพทย์สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผู้ก่อตั้งคลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู Pyong Rehabilitation Clinic เล่าว่า ออฟฟิศซินโดรมเป็นคำที่คนไทยบัญญัติกันขึ้นมา แต่ในทางการแพทย์จะเรียกว่า Myofascial pain syndrome (MPS) ซึ่งหมายถึงอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ซึ่งโรคนี้ก็ไม่ใช่แค่ปัญหาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะคอ บ่า ไหล่ หลัง หรือเอว เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับระบบประสาท สายตา ความเครียด ที่เรามักจะได้ยินว่าความเครียดลงกระเพาะ โรคทางสมอง และโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะอีกด้วย
จัดการออฟฟิศซินโดรมอย่างไรให้ได้ผล
หมอเปียงบอกว่า ในหลักการเราจะกลับไปที่พื้นฐานเพราะเป็นเรื่องของฟิสิกส์ล้วนๆ การที่เราจะทำให้ทุกอย่างดีได้ เราต้องเสริมร่างกายให้ถูกต้องตามหลักของการยศาสตร์ (Ergonomics)คือ วิทยาการทำงาน โดยใช้วิทยาศาสตร์เชื่อมโยงสัมพันธ์กับเนื้องาน บุคลากร สภาพแวดล้อม เพื่อออกแบบลักษณะของการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพหรืออันตรายจากอุบัติเหตุ
ถ้าน้ำหนักโหลดอยู่ใกล้ตัวมากเท่าไหร่ จะทำให้กล้ามเนื้อหรือข้อของเราทำงานน้อยลง ความเครียดของข้อก็น้อยลง ยิ่งเราเอื้อมมือออกไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งไม่ดีต่อร่างกาย ดังนั้น ต้องพยายามจัดโซนโต๊ะทำงานให้ดี วางสิ่งของที่ใช้บ่อยอยู่ใกล้มือให้มากที่สุด
การสะพายกระเป๋าด้านข้าง จะทำให้กล้ามเนื้อไหล่ต้องทำงานอยู่ตลอด แต่ถ้าสะพายอกหรือสะพายเฉียง ก็ไม่จำเป็นต้องยักไหล่ โอกาสเป็นออฟฟิศซินโดรมก็จะน้อยกว่า
เดี๋ยวนี้คนใช้เวลาดูโทรศัพท์ในแต่ละวันนานขึ้น ยิ่งก้มมากเท่าไหร่ กล้ามเนื้อคอก็จะทำงานหนักขึ้น ฉะนั้น เวลาเล่นโทรศัพย์มือถือ ต้องยกขึ้นสูงๆ หรือก้มให้น้อยที่สุดรวมถึงจอคอมพิวเตอร์ก็ปรับเพื่อให้เราก้มน้อยที่สุด
การนั่งก็เหมือนกัน ถ้านั่งตัวตรงจะดีกว่า ถ้านั่งงอหลัง ความเครียดที่ข้อเกิดขึ้นทันที ส่งผลให้ข้อและหลังเสื่อมเร็ว
เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการปรับท่าทางต่างๆ การทำงานในออฟฟิศ และเก้าอี้ก็เป็นส่วนสำคัญมาก เราก็ต้องยอมลงทุนซื้อเก้าอี้ที่ออกแบบมาซับพอร์ตการนั่งนานๆ แต่ถ้าใครไม่มีกฌควรหาหมอนมาเป็นตัวช่วย ท่าในการนั่งควรอยู่ที่ 90 องศา ไม่ว่าจะเป็นข้อเท้า เข่า สะโพก การวางมือ จึงจะถูกต้องตามหลัก ergonomics แต่ถามว่า ทำแบบนี้แล้วโรคจะหายมั้ย ต้องบอกว่า ทำให้เครียดน้อยลง แต่ไม่ได้ทำให้โรคดีขึ้น เรียกว่าทำให้ปัจจัยลบหายไป หมายความว่า ถ้าเราอยู่ในท่าทางที่ดีโอกาสที่จะเป็นโรคในอนาคตก็จะน้อยลง
ส่วนการนอนก็ให้อยู่ในแนวเส้นตรงกับกระดูกสันหลังของเรามากที่สุด จะช่วยให้ความเครียดของกระดูกสันหลังน้อยลง ถ้านอนหงายให้ใช้หมอนรองบริเวณน่องก็จะช่วยได้ หรือนอนตะแคงก็ใช้หมอนข้าง ส่วนหมอนก็เลือกให้เหมาะกับคอของเรา เมื่อนอนแล้วทำให้กระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรงก็พอแล้ว
การแช่ออนเซนก็ช่วยได้ในกรณีที่มีอาการไม่มาก ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายได้ ขณะที่ไคโรแพรคติก(Chiropractic)หรือการจัดกระดูก ก็มีให้บริการมากขึ้น แต่ถ้าคนที่เป็นกระดูกพรุน หรือกระดูกเสื่อม กระดูกเคลื่อน ไม่ควรรักษาด้วยวิธีนี้ และปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากไคโรแพคติกเป็นศาสตร์ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เวชศาสตร์ฟื้นฟู
ปวดหัวข้างเดียวเป็นไมเกรนจริงเหรอ
อ.นพ.วนกร รัตนวงษ์ อายุรแพทย์ สาขาประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ สถานเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกว่า ปวดหัวที่ไม่มีสาเหตุ (Primary Headache) เป็นกลุ่มที่ไม่ร้ายแรงไม่มีอันตรายต่อการเสียชีวิต แต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต มักปวดเป็นๆ หายๆ หรือปวดสลับซ้ายขวา เช่น ไมเกรน ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว
เรามักจะท่องกันมาว่า ไมเกรนคือการปวดหัวข้างเดียว แต่จริงๆ แล้ว การเกิดไมเกรนไม่จำเป็นต้องปวดหัวข้างเดียว แต่จะต้องมีอาการ 2 ใน 4 คือ ปวดหัวข้างเดียว ปวดตุ๊บๆ ปวดหัวมากจนถึงขนาดทำอะไรไม่ได้ ขึ้นลงบันได้ก็ปวด และต้องมีอาการคลื่นไส้อาเจียน มีอาการแพ้แสงและแพ้เสียงด้วย ถ้าไม่พบอาการแบบนี้ก็ไม่ใช่ไมเกรน
การกินยาแก้ปวดมากเกินไปจะทำให้ภาวะปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดเกินจำเป็น Medical Overuse Headache ถ้าใครต้องกินยาแก้ปวดเกิน 10 เม็ดต่อเดือน ต้องไปพบแพทย์
อ.นพ.ธนกฤต พงพิทักษ์เมธา ประสาทแพทย์และอาจารย์แพทย์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ปัญหาที่พบบ่อยสำหรับคนวัยทำงานก็คือ การกินยาแก้ปวด หรือยาสามัญประจำบ้านที่ทุกคนรู้จักดีก็คือ พาราเซตามอล แม้ว่าจะหาซื้อกินเองได้ง่ายๆ แต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม ไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน ถ้ากินมากกว่านี้ก็ต้องไปพบแพทย์ เพราะการกินยาแก้ปวดมากเกินไปจะทำให้ภาวะปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดเกินจำเป็น (Medical Overuse Headache) ส่วนยาแก้ปวดไมเกรานจัดเป็นยาอันตราย ควรอยู่ในการควบคุมของแพทย์
รักษาด้วยการฝังเข็ม
เปียง รีแฮบบิลิเทชั่น คลินิก (Pyong Rehabilitation Clinic) คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู จะให้บริการแบบครบจบในที่เดียว (One-stop-service) โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับออฟฟิศซินโดรมดูแลรักษาทั้งหมด สามารถจ่ายยา และออกใบรับรองแพทย์ได้เลย
หมอเปียง เล่าว่า เครื่องมือที่ถือเป็นฮีโร่ก็คือ วิธีปักเข็ม หรือฝังเข็มตะวันตก (Dry needling) เป็นเทคนิคการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งทำโดยแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู แตกต่างจากการฝังเข็มแบบจีน ทั้งในแง่ของเป้าหมายการรักษา วิธีการรักษา และผลลัพธ์จากการรักษา
การฝังเข็มแบบจีนมุ่งเน้นการปรับสมดุลพลังงานในร่างกายตามหลักการแพทย์แผนจีน โดยปักเข็มตามจุดบนเส้นลมปราณ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของพลังงาน ในขณะที่การฝังเข็มแบบตะวันตกเป็นการปักเข็มโดยตรงไปที่จุดทริกเกอร์ในกล้ามเนื้อ(จุดกดเจ็บหรือพังผืดในชั้นกล้ามเนื้อ)เพื่อกระตุ้นการคลายตัวของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณคอ บ่า ไหล่ และบรรเทาอาการปวดตามธรรมชาติของร่างกาย โดยอาศัยหลักการทางกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา ส่งผลให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
Dry needling ยังสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและไมเกรนได้ โดยการกระตุ้นจุดทริกเกอร์บริเวณคอและศีรษะ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดไมเกรน การรักษาด้วยวิธีนี้ช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ดีขึ้น
สำหรับผู้ที่มีปัญหาเอ็นอักเสบและข้ออักเสบ ก็ใช้การฝังเข็มช่วยลดอาการปวดและการอักเสบได้ โดยการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณที่เกิดการอักเสบ ช่วยให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหายได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ เปียง รีแฮบบิลิเทชั่น คลินิก ยังรักษาอาการปวดด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Peripheral Magnetic Stimulation: PMS) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บหรือระคายเคืองบริเวณผิวหนัง และไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย