"หลานม่า" แชร์ประสบการณ์ตรง อยู่อย่างไรให้มีคุณภาพ พร้อมจากไปอย่างไร้กังวล
ประสบการณ์ตรงหลานม่า (ตัวจริง) แรงบันดาจในการสร้างภาพยนตร์หลานม่า หนังไทยที่เข้าชิงออสการ์ ครั้งที่ 97 สาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม กับการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย
ประเทศไทยเดินหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ส่งผลให้เกิดปัญหาการดูแลญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวเพราะช่องว่างระหว่างวัย นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ Cheery Home International และนายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย พร้อมด้วย คุณทศพล ทิพย์ทินกร นักเขียนบทภาพยนตร์หลานม่า ได้แบ่งปันประสบการณ์ตรงจากการดูแล “อาม่า” ในเสวนาเรื่อง “วางแผนวัยชะ-รา-ล่า” ภายในงาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นถึงความสำคัญของการเตรียมตัวดูแลผู้สูงอายุ และการวางแผนเพื่อให้ญาติผู้ใหญ่สามารถจากไปอย่างสงบและมีศักดิ์ศรี
ประสบการณ์ส่วนตัวในการดูแลคุณย่าคุณยาย
นพ.เก่งพงศ์ เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวในการดูแลอาม่า “อึ้งศรี แซ่ตั้ง” ซึ่งมีอายุถึง 104 ปีก่อนที่ท่านจะจากไปเมื่อปีที่ผ่านมา อาม่าที่มาจากเมืองจีนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีลูก 7 คน หลาน 16 คน การเลี้ยงดูครอบครัวใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สุดท้ายทุกคนก็ประสบความสำเร็จ โดยปัญหาที่ครอบครัวเผชิญในช่วงที่อาม่าป่วย คือใครจะเป็นคนดูแลท่าน นี่เป็นจุดที่ทำให้ นพ.เก่งพงศ์ มองเห็นความสำคัญของการสร้างโรงพยาบาลที่รองรับการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาในครอบครัวที่หลายคนอาจพบเจอ
“อาม่าต้องผ่าตัดเข่า ผ่าตัดมะเร็ง เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาภายในครอบครัวซึ่งคนที่ดูหนังเรื่องหลานม่าจะเข้าใจ เรื่องของสังคมแบบนี้ทำให้เกิดความคิดที่จะพลิกสถานการณ์สาธารณสุขได้” นพ.เก่งพงศ์ เล่าถึงประสบการณ์ตรง
ในขณะเดียวกัน คุณทศพล ทิพย์ทินกร เล่าถึงประสบการณ์ในการดูแลอาม่าของตนเองเช่นกัน อาม่าของคุณทศพลเคยขายโจ๊กที่ตลาด คุณแม่ก็เคยไปช่วยบ้าง พอโตขึ้นไม่ค่อยได้สนิทกับอาม่า แต่เมื่อเรียนจบและอาม่าป่วย เป็นมะเร็งลำไส้ เขาก็ได้พาท่านไปหาหมอและใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น การดูแลอาม่าในช่วงที่ป่วยทำให้คุณทศพลได้รู้จักและเรียนรู้เรื่องราวในอดีตของอาม่ามากขึ้น ซึ่งทำให้เข้าใจว่าการดูแลผู้สูงอายุไม่ใช่แค่เรื่องของการรักษาทางกาย แต่ยังเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวด้วย
อุดช่องว่างระหว่างวัย ลดอุปสรรคทางวัฒนธรรม
ปัญหาของช่องว่างระหว่างวัยและอุปสรรคทางวัฒนธรรมที่มักเกิดขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในครอบครัวเชื้อสายจีน นพ.เก่งพงศ์ อธิบายว่าในครอบครัวจีน ผู้สูงอายุมักจะไม่บอกปัญหาสุขภาพของตนเองให้ลูกหลานทราบ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่
“อาม่ามีอาการปวดท้องเรื้อรังมาหลายปี แต่ไม่เคยบอกใคร อาม่ากินยาชุดมานานเป็นปีๆ พวกเราไม่รู้เลย เพราะกลัวว่าลูกหลานจะลำบากหรือสิ้นเปลืองเงินในการรักษา” คุณทศพล เผย
การทำความเข้าใจมุมมองของผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ นพ.เก่งพงศ์ ใช้การเปรียบเทียบว่า การมองผ่าน “แว่นตาคนละสี” เป็นการอธิบายว่า ผู้สูงอายุมักมีมุมมองที่ต่างจากคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่มักเติบโตมาด้วยความลำบาก และมองการรักษาหรือการใช้เงินอย่างระมัดระวัง
“เราต้องเข้าใจว่าวัฒนธรรมและการเติบโตของรุ่นเขามันต่างกับของเรา” นพ.เก่งพงศ์ กล่าวเสริม
“เราซื้อของมาให้กิน อาม่าด่าเลยว่าทำไมต้องซื้อของแพงๆ หรือทำไมต้องใช้เงินเยอะๆ ในการซื้อของบางอย่าง แต่ต่อมาเราก็เข้าใจว่าอาม่าจะมองว่าเงินควรเก็บไว้ใช้ในสิ่งที่จำเป็นมากกว่า” คุณทศพล เสริม
แนวทางการดูแลผู้สูงอายุในยุคปัจจุบัน
ทั้งสองท่านเห็นพ้องกันว่า การดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดและวิธีการ นพ.เก่งพงศ์ กล่าวว่า การรักษาผู้สูงอายุในปัจจุบันไม่ใช่หน้าที่ของแพทย์เพียงคนเดียว หรือการรักษาตามโรค แต่ต้องอาศัยการให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล มีหลายมิติมากขึ้น ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ความสัมพันธ์ทั้งหมดสามสิ่งนี้ขาดไม่ได้
นพ.เก่งพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บางครั้งอาจต้องใช้ "white lie" หรือการโกหกแบบขาว เพื่อให้อาม่าหรือคุณย่ารู้สึกสบายใจ เช่น การบอกว่าการผ่าตัดไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอาจมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น
นอกจากนี้ การวางแผนล่วงหน้าสำหรับช่วงท้ายของชีวิต หรือที่เรียกว่า advance care planning ก็เป็นสิ่งสำคัญ นพ.เก่งพงศ์ เล่าว่า อาม่าของเขาได้เตรียมกระเป๋าที่บรรจุสิ่งของสำคัญสำหรับการจากไปไว้ตั้งแต่ตอนอายุ 70 ปี และอัพเดตของในกระเป๋าอยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างพร้อมเมื่อถึงเวลาจากไป สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการมองความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านของชีวิต และเป็นสิ่งที่ทุกคนควรเตรียมตัวไว้
การเตรียมตัวเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
ความสำคัญของการเตรียมตัวเพื่อวัยชรา โดยการดูแลสุขภาพควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ใช่รอจนถึงอายุ 50 ปี การสร้างรากฐานสุขภาพที่ดีตั้งแต่เด็กด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จะช่วยให้เรามีชีวิตที่มีคุณภาพยาวนานขึ้น
คุณทศพลที่เพิ่งเป็นคุณพ่อเมื่อปีที่แล้ว ยังเล่าเพิ่มเติมว่า การเตรียมตัวเพื่อเป็นพ่อแม่และการดูแลผู้สูงอายุนั้นมีความคล้ายคลึงกัน เพราะต้องอาศัยความเข้าใจและการเตรียมพร้อมทั้งทางกายและใจ
การป้องกันโรคสมองเสื่อมก่อนวัยอันควร
นพ.เก่งพงศ์ ยังได้กล่าวถึงแนวคิด ikigai ของญี่ปุ่น หรือการหาจุดมุ่งหมายในชีวิต การให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมในสังคมและทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ จะช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมก่อนวัยอันควร การอยู่บ้านเฉยๆ โดยไม่ทำกิจกรรมใดๆ สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมถึง 30% ดังนั้น การสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทำสิ่งที่ตนรักและมีความถนัดจะช่วยให้ชีวิตของพวกเขามีคุณค่าและสุขภาพจิตดีขึ้น
การดูแลผู้สูงอายุไม่ใช่แค่เรื่องของการรักษาทางกาย แต่ยังเกี่ยวข้องกับความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว การดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและจากไปอย่างสงบ จำเป็นต้องอาศัยการเตรียมพร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ และการสื่อสารที่ดีระหว่างกัน การเตรียมตัวสำหรับวัยชราไม่ควรเริ่มเมื่ออายุมากแล้ว แต่ควรเริ่มตั้งแต่เด็ก เพื่อสร้างฐานสุขภาพที่ดีและยั่งยืนในระยะยาว
พบความยั่งยืนในหลากหลายมิติและการเตรียมตัวเกษียณ พร้อมการจากไปอย่างไร้กังวล ได้ที่โซน Better Me ในงาน Sustainability Expo 2024 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น G ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2024