HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
เราเป็นหนึ่งในลูกค้าที่ยินดีจ่ายแพงขึ้น เพื่อซื้อสินค้ารักษ์โลกหรือไม่?
by Dae Warunee
13 ส.ค. 2567, 09:14
  718 views

ถ้า “รักษ์โลก” แล้วต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มขึ้น คิดว่าพร้อมไหม? ยินดีจ่ายไหม? และคุ้มค่าแค่ไหน” เรื่องนี้มีคำตอบ!!

จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งอากาศที่ร้อนขึ้น ฝนที่ตกหนักนอกฤดูกาล ฝุ่น PM2.5 อุบัติการณ์โรคระบาด ลามไปยันเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ล้วนเป็นภัยใกล้ตัวที่ทำให้คนส่วนมากหันมาตระหนักถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม พลาสติก มลภาวะ

พลิกอุตสาหกรรมโลกให้ไปในทิศทางของพลังงานสะอาด สร้างกระแสรักษ์โลก เกิดธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business) นาทีนี้เราจึงเห็นสินค้าและบริการรักษ์โลกเพิ่มมากขึ้น แต่ที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ 100% เพราะหลายคนมองว่าเป็นเรื่องของราคา!!

รู้หรือไม่? ลูกค้า 64% ระบุว่าเรื่องของความยั่งยืนสำคัญ และ 12% ยินดีจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้ารักษ์โลก

 

ข้อมูลโดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ชี้ว่าทั่วโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืน พร้อมระบุว่าธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business) เป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ โดยแนะทุกภาคส่วนควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวสู่ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ลดต้นทุนในการผลิต และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) ระบุว่า ปัจจุบันการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ รวมถึงผู้บริโภคก็มีความต้องการสินค้าและบริการที่ยั่งยืน ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากคู่มือ The Visionary CEO’s Guide to Sustainability โดย Bain & Company ได้สำรวจความต้องการของผู้บริโภค จำนวนมากกว่า 23,000 คน ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก

 

ในปีที่ผ่านมา มีผู้บริโภคร้อยละ 64 ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอย่างมาก และผู้บริโภคร้อยละ 12 ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้า บริการ หรือธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคธุรกิจจึงควรเร่งปรับตัวสู่การเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business) เพื่อแสวงหาความได้เปรียบและช่วงชิงโอกาสทางการค้า

 

ทั้งนี้ ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business) หมายถึง การดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตของรายได้ควบคู่กับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการดำเนินการ 3 ด้าน ประกอบด้วย

  1. ด้านสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ ใช้พลังงานหมุนเวียน และรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
  2. ด้านสังคม มีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิต การศึกษา และการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น
  3. ด้านเศรษฐกิจ ดำเนินการค้าอย่างเป็นธรรม ช่วยกระจายรายได้ และสร้างความเสมอภาค และโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร 

 

เปิดผลสำรวจความเห็นผู้บริโภคเกี่ยวกับการบริโภคอย่างยั่งยืน Gen ไหนพร้อมเปย์สินค้ารักษ์โลก

ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคเกี่ยวกับการบริโภคอย่างยั่งยืน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่พร้อมที่จะสนับสนุนสินค้าที่มีความยั่งยืนโดยเฉพาะสินค้าที่มีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น มีการออกแบบที่คำนึงถึงเรื่อง Eco-design อย่างบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสนใจในประเด็นด้านความยั่งยืนมากที่สุด คือ อาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

โดยอุปสรรคสำคัญที่พบคือ “ราคา” โดยเฉลี่ยที่สูงกว่าสินค้าทั่วไป ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงสินค้าประเภทนี้ได้

“เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” วลีจูงใจให้เกิดความรู้สึกเชิงบวก

ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะรู้สึกเชิงบวก เมื่อเจอร้านค้าที่โฆษณาว่า “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen X และ Baby boomer แม้ความถี่ในการซื้อสินค้าที่มีความยั่งยืนยังไม่มากนัก แต่จะเพิ่มขึ้นตามอายุและรายได้ของผู้บริโภค

โดยผู้ตอบแบบสำรวจให้ความเห็นว่า แรงจูงใจหลักในการซื้อสินค้าที่มีความยั่งยืนคือ การตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะที่อุปสรรคสำคัญในการซื้อสินค้าประเภทนี้คือ สินค้าที่มีความยั่งยืนมักมี “ราคาสูงกว่า” สินค้าทั่วไปและมีตัวเลือกที่น้อยกว่า

 

ความมั่นใจในคุณภาพสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมสำคัญแค่ไหน

ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่า สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมและสินค้าทั่วไปมีคุณภาพที่ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่กลุ่มผู้บริโภค Gen X และ Baby boomer มีความมั่นใจในคุณภาพสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากลุ่มที่อายุน้อยกว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยินดีจะจ่ายเงินแพงขึ้นสำหรับสินค้าที่มีความยั่งยืน

 

ประมาณ 70% ของกลุ่มตัวอย่างยินดีจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% ขณะที่ยอมจ่ายเพิ่มมากกว่า 20% สำหรับสินค้าในกลุ่ม Eco-design สินค้าที่มีฉลากลดโลกร้อน และสินค้าประหยัดพลังงาน

 

นอกจากนี้ แม้ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z จะไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้าที่มีความยั่งยืนมากนัก แต่กลับยินดีจ่ายเงินเพิ่มมากกว่า 10% สำหรับสินค้าที่มีความยั่งยืนมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม และหากแบ่งตามกลุ่มรายได้จะพบว่า กลุ่มผู้มีรายได้สูงยินดีจะจ่ายเงินเพิ่มมากกว่า 10% สำหรับสินค้าที่มีความยั่งยืนสูงที่สุด เพราะมีความตื่นตัวในเรื่องกระแสสิ่งแวดล้อมมากที่สุดและมีความพร้อมด้านกำลังซื้ออีกด้วย

 

การปรับกลยุทธ์การตลาดโดยแบ่งตามกลุ่มผู้บริโภค

  • กลุ่ม Gen X และ Baby boomer ควรเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก เนื่องจากมีความมั่นใจในคุณภาพและมีความถี่ในการซื้อสินค้าที่มีความยั่งยืนสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ จึงสามารถตั้งราคาสินค้าสูงขึ้นได้แต่ยังคงคุณภาพและประโยชน์ในระยะยาว
  • กลุ่ม Gen Y มีกำลังซื้อ แต่ยังไม่มองหาสินค้าที่มีความยั่งยืนมากนัก ควรใช้กลยุทธ์การตลาดเพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าและชูประเด็นด้านความรักษ์โลก
  • กลุ่ม Gen Z ไม่มีความมั่นใจในคุณภาพสินค้ามากที่สุด แต่ยินดีจะจ่ายแพงกว่า 10% มากที่สุด

 

สุดท้าย เราจะเห็นสินค้าด้านความยั่งยืนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อมีตัวเลือกมากขึ้น มีการผลิตมากขึ้น เราอาจเห็นกลไกทางการตลาดเรื่อง “ราคา” ที่กลับมาเท่าสินค้าปกติ หรือหากพลังงานทางเลือกต่างๆ ช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ ในอนาคตเราก็อาจได้ใช้สินค้ารักษ์โลกในราคาที่ถูกลง หากทรัพยาการยังคงมีเพียงพอให้มนุษย์เราได้ใช้

 

- HappeningBKK Service

 

อ้างอิง : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า / ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

 

 

ABOUT THE AUTHOR
Dae Warunee

Dae Warunee

นักกฎหมายที่หยั่งรากบนเส้นทางสายนักเขียน เซียนเรื่องกินเที่ยว หวังเก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์

ALL POSTS