HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
“เดินตามจีบ” ลัดเลาะเยาวราช Learning Fest Bangkok 2024
by HBKK
3 ส.ค. 2567, 20:18
  854 views

I change, therefore I am. เพราะเยาวราชไม่เคยหยุดนิ่ง เยาวราชจึงมีวันนี้และเป็นจุดหมายในใจสำหรับนักชิมชาวไทยและต่างชาติ

เราเชื่อว่าคุณเคยผ่านรถเข็นขนมจีบย่านเยาวราชนับเจ้าไม่ถ้วน และเคยชิมมาแล้วจนจำร้านไม่ได้ แต่เราก็เชื่อว่ามีหลายร้านที่คุณยังไม่เคยลิ้มลอง หรืออาจจะไม่เคยรู้ว่าเป็นร้านดังเก่าแก่เพราะฟู้ดบล็อกเกอร์ยังไม่เคยมาชิม 

เดินตามจีบ ลัดเลาะเยาวราช Learning Fest Bangkok 2024


กิจกรรมชื่อเก๋ๆ “เดินตามจีบ” ฟังดูโรแมนติก แต่จริงๆ แล้ว เป็นกิจกรรมของสายกินโดยแท้ การเดินระยะสั้นๆ ประมาณ 3 กิโลเมตร ตระเวนชิมและช็อปขนมจีบหลากหลายร้าน แต่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจแบบอิ่มหนำจริงๆ

เราเลือก “เยาวราช” เป็นเป้าหมาย เพราะเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีสีสัน มีบทบาทสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของไทยมานานนับตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา นอกจากนี้ ในสายตาคนทั่วโลก เยาวราชคือแหล่งท่องเที่ยวที่แสนจะมีเสน่ห์ เป็นศูนย์กลางของสตรีทฟู้ด เป็นตัวแทนของความเป็นไทยที่ขนาด “ลิซ่า” ยังใช้เยาวราชเป็นที่ถ่ายทำวีดีโอซิงเกิลเปิดตัวของเธอในฐานะศิลปินเดี่ยวเลยทีเดียว

และเพราะเยาวราชเป็นศูนย์กลางของสตรีทฟู้ด “ขนมจีบ” จึงได้รับเลือกเป็นตัวเอกของทริปนี้ เพราะเป็นของว่าง อาหารทานเล่น หรือแม้กระทั่งรับประทานจริงจังที่ทุกคนรู้จักและชื่นชอบ และที่สำคัญคือ ในอาหารทานเล่นชิ้นพอดีคำเหล่านี้ รวมทั้งเส้นทางเดินจากร้านหนึ่งไปอีกร้านหนึ่ง ยังแฝงไว้ด้วยเรื่องราวมากมาย

เฮียสมชัย กวางทองพาณิชย์ นักประวัติศาสตร์ชุมชน
ตรอกเจริญไชย หรือตรอกกระดาษ แหล่งผลิตเครื่องเซ่นไหว้กระดาษ

คุณสมชัย กวางทองพาณิชย์ หรือเฮียสมชัย นักประวัติศาสตร์ชุมชน เริ่มพาคณะเดินตามจีบจากโรงแรมอาศัย ไชน่าทาวน์ มุ่งหน้าไปจุดหมายแรกคือ “จกโต๊ะเดียว” หนึ่งในร้านดังเยาวราชที่อยู่ในมิชลินไก๊ด์ เดินผ่านตรอกเจริญไชย 2 หรือตรอกกระดาษที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องเซ่นไหว้กระดาษที่ใหญ่มาก ซึ่งปากซอยเป็นตึกเก่าที่เรียกว่าตึกฝรั่งเพราะเป็นทรงและมีการตกแต่งสไตล์ยุโรป แม้จะเก่าแต่ก็ยังมีเสน่ห์

บ้านเก่าเล่าเรื่อง
ชุดงิ้วที่จัดแสดงในบ้านเก่าเล่าเรื่อง
ชิมขนมจีบของร้าน "จกโต๊ะเดียว"

ในตรอกเล็กๆ นี้ผ่านพิพิธภัณฑ์ขนาดกะทัดรัดชื่อ “บ้านเก่าเล่าเรื่อง” จัดแสดงชุดงิ้ว อุปกรณ์การแสดงน่าสนใจในบ้านตึกโบราณ ที่มีประตูเหล็กเชื่อมไปบ้านข้างๆ  เฮียสมชัยเล่าว่าคนสมัยก่อนเจาะผนังทำประตูไว้ให้คนในตึกแถวเดียวกันเดินไปมาหาสู่กันได้สะดวก  นอกจากนี้ ในตรอกเดียวกันยังมีร้านขายก๋วยเตี๋ยว ข้าวหมูแดง เครื่องดื่มต่างๆ รายทาง ยั่วให้ชาวคณะเดินตามจีบปันใจให้ของกินระหว่างทางไปไม่น้อย

“จกโต๊ะเดียว” ประเดิมคำถามแรกว่า มาเดินตามจีบ แต่ทำไมพาไปกินเกี๊ยว เพราะสิ่งที่ได้ชิมหน้าตาเป็นเกี๊ยวชัดๆ  คำตอบคือจริงๆ เกี๊ยวกับขนมจีบก็เป็นญาติๆ กัน ลักษณะคือการคลึงแป้งเป็นแผ่นบางหุ้มไส้ที่ทำจากเนื้อสัตว์หรือผักแล้วนึ่งหรือต้ม ชนิดของแป้งและไส้แตกต่างกันไปตามภูมิภาคและผลผลิต เช่น ภาคเหนือจะใช้แป้งสาลี ส่วนภาคใต้เป็นแป้งข้าวเจ้า ภาคเหนือจะใช้ไส้หมู ส่วนภาคใต้อยู่ใกล้ทะเลจะมีกุ้งเป็นส่วนประกอบ ร้านนี้มีความเชี่ยวชาญเรื่องอาหารทะเลมาก่อน เกี๊ยวกุ้งร้านนี้จึงเด้งสู้ฟัน นุ่มลิ้น

เฮียสมชัยเล่าว่า ขนมจีบ หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า ซาวม่าย ซึ่งสำเนียงอาจจะเพี้ยนกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น ถ้าแปลตามศัพท์จะมีความหมายว่า ของแถม เพราะเดิมนั้น คนที่เดินทางบนเส้นทางสายไหม จะแวะดื่มชาตามร้านข้างทาง ร้านเหล่านี้มีของกินหลายอย่างมาให้กินแกล้มเป็นของแถม หนึ่งในนั้น คือ ขนมแป้งห่อไส้นึ่งนี่เอง

ร้านเฉินติ่มซำ
ร้านลิ้มอ่วงซุย
ขนมจีบ ร้านลิ้มอ่วงซุย

จากนั้น คณะมุ่งหน้าไปตามตรอกอิสรานุภาพ ผ่านร้าน “เฉินติ่มซำ” ที่ชี้ให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอย่างชัดเจน เพราะใช้เครื่องจักรมาผลิตขนมจีบ เพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และร้าน “ลิ้มอ่วงซุย” ร้านเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นขนมจีบรสชาติเข้มข้นแบบแต้จิ๋ว  

ตรอกเล็กซอกน้อยในย่านเยาวราช

จากนั้นคณะเราเดินลัดเลาะไปตามตรอกเล็กซอกน้อย ให้ได้สัมผัสบรรยากาศชุมชนโบราณที่สร้างบ้านเรือนติดๆ กัน บางแห่งเป็นโรงงิ้วเก่าที่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป  ทางเดินไม่กว้างนัก แค่พอเดินสวนกันได้ แต่พอมายุคนี้ มีมอเตอร์ไซค์ มีรถเข็นของผ่านไปมา คนที่สัญจรต่างต้องเอื้อเฟื้อกัน หลีกทางกันด้วยน้ำใจ

ร้าน “ฮั่วเซ่งฮง”
ขนมจีบพร้อมเสิร์ฟจากร้าน “ฮั่วเซ่งฮง”

หลุดออกจากตรอกมาเดินบนถนนใหญ่ ผ่านร้าน “ฮั่วเซ่งฮง” ซึ่งปัจจุบันมีสาขาตามห้างใหญ่ๆ ด้วย และเป็นเจ้าตำรับขนมจีบมาตรฐานที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของร้านให้ทันวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ชอบเดินห้าง แต่ยังคงหลงใหลในรสชาติอาหารจีนแท้ๆ  ฝั่งตรงข้าม เป็นร้านขายของที่ระลึกชื่อลิ้มจิ่งเฮียง ที่เฮียสมชัยบอกว่าป้ายชื่อหน้าร้านเป็นลายมือที่สวยมากที่สุด

ร้าน “แต้เล่าใช่หลี”
ซาลาเปาและขนมจีบนึ่งร้อนๆ ของร้าน “แต้เล่าใช่หลี”

 

อีกสองร้านถัดมาอยู่ใกล้กัน อารมณ์เหมือนขนมจีบนึ่งใหม่ร้อนๆ หน้าโรงเรียน ร้านแรกคือ ร้าน “แต้เล่าใช่หลี” ที่ชิมแล้วถ้าถูกใจต้องซื้อเลย อย่าหวังว่าค่อยกลับมาซื้อทีหลัง เพราะแค่เราเดินคล้อยหลังไปก็ขายหมดแล้ว 

ร้าน “ไต้แป๊ะ”
ร้าน “ไต้แป๊ะ”

ส่วนร้านใกล้กันคือ ร้าน “ไต้แป๊ะ” ภัตตาคารเก่าที่มีชื่อเสียงมากเป็นที่นิยมของนักชิม และเจ้าสัวทั้งหลาย ก่อนที่อาหารเหลาจะกลายมาเป็นอาหารที่ใครๆ ก็นิยม และกลายมาเป็นสตรีทฟู้ดที่คนทั่วโลกต้องมาชิม

จากถนนใหญ่ เราเลี้ยวเข้าถนนเล็กอีกครั้ง พบกับมุมลับที่รู้จักกันในชื่อ “ตรอกผูกคอ” แน่นอนว่าเมื่อมีความสำเร็จ ก็ย่อมมีความล้มเหลว ตรอกนี้เดิมเป็นซอยเปลี่ยวไม่มีบ้านเรือน คนเดินน้อย เดิมมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งผู้ที่ไม่สมหวังใช้เป็นสถานที่ผูกคอเพื่อหนีความทุกข์  แม้ประวัติเดิมจะดูดาร์คๆ แต่วันนี้ตรอกนี้มีร้านกาแฟและโรงแรมลับเก๋ๆ หลายแห่งที่น่าแวะเข้ามาชม บรรยากาศตรงข้ามกับสมัยก่อนมาก

   

บ้านอาเหลียง
ขนมจีบสดใหม่ของบ้านอาเหลียง

ขนมจีบสองร้านสุดท้าย คือ บ้าน “อาเหลียง” ที่นึ่งขนมจีบในซึ้งขนาดกว้างประมาณหนึ่งเมตร ส่งขายหลายที่ เป็นหนึ่งในร้านที่เฮียสมชัยบอกว่านี่คือขนมจีบต้นตำรับในความทรงจำของเฮีย ร้านนี้เป็นหนึ่งในด้านดังของชาวโซเชียลที่มักถ่ายคลิปให้เห็นคนต่อแถวกันยาวเหยียดรอชิม 

ร้านแปะเซียะ หน้าวัดมงคลสมาคม
ร้านแปะเซียะ

ร้านสุดท้ายคือ ร้าน “แปะเซียะ” หน้าวัดมงคลสมาคม หนึ่งในสี่วัดญวนในย่านเยาวราช-สำเพ็ง ร้านนี้คนต่อแถวกันยาวมากเช่นกัน  ขนมจีบของแปะเซียะมีรสพริกไทยชัดเจน ปัจจุบันแต่ละชิ้นมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมมากตามราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น  

วัดมงคลสมาคม

ชิมขนมจีบแล้ว แวะเข้าไปดูสถาปัตยกรรมของวัด ไฮไลต์ คือ ลายซุ้มประตูหน้าพระพุทธรูป เป็นตราแผ่นดินเก่าที่ยังคงมีรูปช้างและกริช ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าล้านช้างกับมลายูยังเป็นส่วนหนึ่งของสยาม  ภายหลังเมื่อเราเสียดินแดนล้านช้างให้ฝรั่งเศส และมลายูให้อังกฤษ ตราแผ่นดินจึงเหลือแค่ช้างสามเศียรเหมือนในหลังเหรียญบาทรุ่นเก่าเท่านั้น

มุมลับเยาวราช “บันไดในโรงงิ้วเก่า”

ระหว่างทาง เฮียสมชัยพาแวะเข้าไปในอาคารเก่าซึ่งเดิมเป็นโรงงิ้ว ปัจจุบันเป็นลานจอดรถ ด้านบนเป็นอพาร์ตเมนท์ที่ยังใช้งานอยู่  ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าตอนที่ ดร.ซุนยัดเซ็น มาเมืองไทยเพื่อพบปะกับกลุ่มชาวจีนในไทยได้เข้าเฝ้าร. 6 สมัยที่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งก็คืออาคารนี้เอง

ขนมจีบจากร้านยิ้มยิ้ม

เดินจนจบแล้ว คณะกลับไปที่โรงแรมอาศัย กรุงเทพ ไชน่าทาวน์ เพื่อพบกับเซอร์ไพรซ์ก่อนกลับ คือ ขนมจีบเจ้าดังที่เราเดินผ่านแต่ยังไม่ได้ชิม  หนึ่งในนั้น คือ ร้านยิ้มยิ้ม ซึ่งยังคงทำขนมจีบในรูปลักษณ์ดั้งเดิมของแต้จิ๋ว หรือฐานกว้าง ยอดแคบและจับจีบ เหมือนถุงใส่เงินโบราณ ไส้แน่น รวมทั้งของว่างที่ทางโรงแรมเตรียมไว้ให้

2 ชั่วโมงกับขนมจีบ 9 ร้าน แม้จะคลายข้อสงสัยหลายเรื่องทั้งวิถีชีวิต การเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังคงกระตุ้นความอยากรู้ให้หลายๆ คนกลับมาค้นหาข้อมูลต่อทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับอาหาร วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ การพัฒนาเมือง และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สำคัญคือ กระตุ้นให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับมือเพื่อการดำรงอยู่อย่างมั่นคง

“I change, therefore I am” 

 

ทั้งนี้ HappeningBKK ต้องขอขอบคุณผู้ร่วมทริปในครั้งนี้, TK Park พื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคน และ โรงแรมอาศัย กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์ ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้

 

 

#happeningbkkwalk

#tkpark

#learningfest2024

#asaichinatown

ABOUT THE AUTHOR
HBKK

HBKK

Live Every Day

ALL POSTS