HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
เดินทางไกลกับมิวสิคัลไทยแท้ Bangkok – Los Angeles ก่อนผงาดเวที ณ เกาหลีใต้
by Pom Knight
22 พ.ค. 2566, 07:30
  1,878 views

ผลงานจากสาขาขับร้องละครเพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดล เรื่อง กรุงเทพ - ลอสแองเจลิส คือละครที่คณะกรรมการของ Daegu International Musical Festival (DIMF) คัดเลือกให้เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวจากต่างประเทศที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการประกวดละครเพลงระดับมหาวิทยาลัยของเทศกาลมิวสิคัลระดับโลก ซึ่งจัดมาเป็นปีที่ 17 แล้ว ละครมีกำหนดลงโรงแสดงสองรอบที่เมืองแทกูในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 แต่กว่าจะถึงเกาหลี เรื่องนี้ฝ่าฟันอุปสรรคตามเส้นทางมาไม่น้อยเลย

BKK-LA (ขอเรียกสั้นๆ ดังนี้ตลอดทั้งบทความ) เกิดจากการสร้างสรรค์ร่วมกันของ อาจารย์นพีสี เรเยส แห่งสาขาขับร้องละครเพลง และคุณกฤษดา เรเยส โดยคุณกฤษดาเป็นผู้คิดเรื่องและประพันธ์ดนตรี ส่วนอาจารย์นพีสี (หรือครูดูกของเด็กๆ) นำไปสร้างเป็นบทละครเพลง เขียนเนื้อ และกำกับการแสดง

ฺBKK-LA
แนวคิดเดิม เพิ่มเติมหลายร่าง

อาจารย์นพีสีกล่าวถึงที่มาของละครว่า “เมื่อปี ค.ศ. 2020 หน่วยงานทางศิลปะแห่งหนึ่งเปิดรับการแสดงที่จะต้องมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯ คุณกฤษดาเลยช่วยกันคิดเรื่องราวที่จะทำเป็นละครเพลงได้ เพราะเป็นรูปแบบที่เราถนัด กลายมาเป็น “กรุงเทพ - ลอสแองเจลิส จากความหมายของชื่อเมืองทั้งสองที่เหมือนกันคือ City of Angels - เมืองแห่งเทพ เรานำแนวคิดนี้มาเล่าเรื่องของตัวละครในโลกคู่ขนาน แต่ในปีนั้นโครงการของเราไม่ได้รับคัดเลือก เลยเก็บโครงเรื่องไว้ก่อน 

ปีถัดมา ค.ศ.2021 เรานำเอาโครงเรื่อง  BKK-LA มาดัดแปลงให้เป็นรูปแบบเรื่องย่อภาพยนตร์ส่งไปประกวดในการประกวดเรื่องย่อภาพยนตร์  ส่งไปให้ค่ายหนัง ส่งให้ผู้กำกับภาพยนตร์ คนในวงการภาพยนตร์  ฯลฯ แต่ก็ยังไม่มีใครตอบรับสนใจ

“จนมาปี 2022 สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น เรารู้สึกว่าเราห่างหายจากกิจกรรมสร้างสรรค์และการแสดงมานาน และเกิดความคิดว่าถ้าไม่มีใครสนใจเราก็จะทำเองละ เรารื้อโครงเรื่อง BKK -LA มาเขียนเป็นรูปแบบละครเพลง วางเพลง เขียนบทกัน และได้มาทำการแสดงในเทศกาลละครเพลงกรุงเทพ การแสดงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 และ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา”

Bkk-LA musical
สองเมืองแห่งเทพ ในโลกคู่ขนาน

BKK-LA เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพ กับ Los Angeles สองเมืองที่มีความหมายเดียวกัน คือแปลว่า”เมืองของเทพ” เป็นที่ซึ่งชีวิตจริงและความฝันของคนคู่หนึ่งเกิดขึ้น 

ฟ้า สาวนักแอนิเมเตอร์ กับเทพ แฟนหนุ่มวิศวไอที เบื่อหน่ายกรุงเทพ มีความฝันอยากไปใช้ชีวิตที่ลอสแอนเจลิสสหรัฐอเมริกา ทั้งสองออกเดินทางวันที่ 7 กันยายน 2019 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ระเบิดใหญ่ของดวงอาทิตย์ (Solar Storm) สิ่งที่ตามมาคือเหตุการณ์ที่จะทำให้ชีวิตของทุกคนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

“แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์รอบตัวที่พบเจอกับสถานการณ์โควิด” อาจารย์นพีสีเล่าต่อ “ได้ทำรีเสิร์ชเรื่องต่างๆ เช่น ทัศนะของคนไทยที่อยากย้ายประเทศจากเพจดังๆ เช่น  “โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย หาข้อมูลความสำเร็จและความล้มเหลวของคนไทยที่ไปใช้ชีวิตต่างแดน ตัวอย่างความสำเร็จเช่น ผู้หญิงคนไทยที่ไปทำงานทางด้าน animation ให้กับ Disney และมีการสอดแทรกเรื่องโควิดเพราะเขียนบทในช่วงที่สถานการณ์โควิดรุมเร้ารอบตัว จึงได้ผนวกทัศนะคนรุ่นใหม่ที่มีต่อท่าทีและการแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาลไทยเข้าไปด้วย”

musical
ขึ้นเวทีเทศกาลละครกรุงเทพ

การนำ BKK-LA ไปแสดงเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลละครกรุงเทพ หลังจากปิดเวทีช่วงโควิดกันไปยาวนาน มีข้อดีหลายอย่าง ทั้งสถานที่จัดแสดงซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และการประชาสัมพันธ์ที่ทางทีมงานไม่ต้องจัดการเอง แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน

“ละครต้องมีความยาวไม่เกิน 50 นาที และจะมีการแสดงต่อคิวก่อนและหลังเรื่องของเรา จึงต้องรีบเก็บของ รีบเคลียร์ แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะคิดไว้ในใจว่าอยากทำให้ละครเพลงนี้เป็นละครที่สามารถนำไปแสดงที่ไหนก็ได้  เคลื่อนที่ง่าย มีอุปกรณ์ประกอบฉากน้อยชิ้นและเบาๆ” 

ภายหลังจากเทศกาล อาจารย์นพีสีประเมินความสำเร็จของงานที่ผ่านไปว่าพอใจระดับหนึ่ง

"เราเป็นละครเพลงเรื่องเดียวในเทศกาล เป็นเหมือนการได้ทดลองทำงานสร้างสรรค์ละครเพลงเรื่องใหม่  ได้ test ผู้ชมกลุ่มแรก ยอมรับว่ามีหลายสิ่งที่ยังไม่พร้อม ด้วยความที่ทำงานไปซ้อมไป บางเพลงก็เพิ่งเสร็จ นักแสดงยังงงๆ ผู้กำกับและผู้ประพันธ์เพลงติดโควิดต่อด้วยไข้เลือดออกกันทั้งคู่ โชคดีที่มีอาจารย์ช่อลดา สุริยะโยธิน หัวหน้าสาขาขับร้อง และ Voice Coach ของละครเพลงเรื่องนี้เข้ามาช่วยดูแลการแสดงให้ อย่างไรก็ตาม ดีใจที่มีโอกาสได้เริ่มต้นทำงานจริงๆ ได้รับฟังฟีดแบคจากผู้ชมจริงๆ และทำให้มีโอกาสได้ถ่ายวิดีโอแล้วส่งไปสมัครเข้าร่วมเทศกาลละครเพลงที่เมืองแทกู”


คัดเลือกร่วมเทศกาลมิวสิคัลที่แทกู

ทางสาขาขับร้องละครเพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดล เคยได้ส่งละครเรื่อง Amelia ผ่านการคัดเลือกได้ไปร่วมแสดงและประกวดในส่วนละครเพลงมหาวิทยาลัยที่ Daegu International Musical Festival (DIMF) แล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2019 มาถึงในปี 2023 นี้กับ BKK-LA แม้จะผ่านประสบการณ์มาบ้างแล้วแต่ขั้นตอนต่างๆ ก็ไม่ได้ซับซ้อนน้อยไปกว่ากันเลย 

“หลังจากที่ส่งวิดีโอไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2023 เราก็ต้องรอลุ้นกันอยู่นาน กว่าจะรู้ว่าเขาคัดเลือกละครเพลงของเราก็เป็นวันที่ 6 เมษายนแล้ว  จึงเหลือเวลาในการเตรียมการไม่มาก แล้วก็ยังมีเรื่องอื่นๆให้ต้องลุ้น เช่น เราต้องส่งบทละครทั้งเรื่องไปให้หน่วยงานเกาหลีที่เรียกว่า KMRB เป็นผู้พิจารณาเซ็นเซอร์ จัดเรตติ้ง ลุ้นให้เขาอนุญาตให้เข้าไปแสดง แล้วยังมีเรื่องของงบประมาณต่างๆ เนื่องจากปีนี้เราเพิ่มจำนวนคนที่ไปมากขึ้นกว่าครั้งที่แล้ว ค่าตั๋วเครื่องบินก็แพงขึ้น ลุ้นอีกว่าทางเทศกาลจะให้การสนับสนุนได้เท่าใด จะเดินทางกันไปไหวไหม”

นอกจากปัจจัยด้านเกาหลี ก็ยังมีด้านของไทยเราเองด้วยที่ต้องมีอีกหลายลุ้น 

“ช่วงที่รู้ว่าได้ไปแน่เป็นช่วงปิดเทอม ฉลองสงกรานต์พอดี เด็กๆ กระจายตัวกันไปตามที่ต่างๆ ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปต่างประเทศ ติดเรียนพิเศษ ติดธุระ ฯลฯ นอกจากนั้นเด็กของเราก็ค่อนข้างมีงานมากก็ต้องแบ่งเวลาให้กับโปรเจ็คต์อื่นๆ ด้วย กว่าจะได้ซ้อมก็เหลือเวลาอีกไม่มากนัก เวลานัดกันมาซ้อมที่วิทยาลัยจะขอให้เด็กวอร์มอัพ เตรียมพร้อมร่างกายให้มีพลังพร้อมสำหรับโรงละครที่จะแสดงที่มีขนาดใหญ่กว่าคราวก่อน”


กรุงเทพ - แทกู ความเหมือนและความต่าง

คณะละครที่จะเดินทางไปแสดงที่แทกูครั้งนี้ นอกจากทีมนักศึกษา 10 คนที่รับบทบาทเป็นนักแสดงและเสตจแมเนเจอร์แล้ว ยังมีคุณสรพล อัศวกาญจนา sound engineer ฝีมือดีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ผู้มีประสบการณ์ช่ำชองไปดูแลระบบเสียงให้ และได้รับเกียรติจากปรมาจารย์ด้านออกแบบแสงละครเวทีที่ใครๆ ในวงการละครเวทีทั่วฟ้าเมืองไทยต่างก็รู้จักกันดีอย่างครูแอ๋ม - อาจารย์ทวิทธิ์  เกษประไพ ไปออกแบบดูแลเรื่องแสงด้วย 

“คราวนี้เราไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาการแสดง 50 นาทีแบบที่เทศกาลละครกรุงเทพ ไม่เร่งรัดเกินไป จึงได้นำเอาบทพูดที่ตัดไปกลับมา ขยายเพลงบางเพลง แก้ไขวิดีโอที่ใช้ประกอบเรื่อง ในส่วนการแสดงครั้งนี้เน้นเรื่องการใช้ body language สื่อความหมายให้มากขึ้น เพราะผู้ชมคนเกาหลีไม่เข้าใจภาษา ต้องอ่านซับไตเติลและทำความเข้าใจพวกเราจากการใช้ร่างกาย ในเรื่องนี้ อาจารย์ทรีดี - ดร. ธนะพัฒน์ พัฒน์กุลพิศาล choreographer ของเราช่วยได้มาก ทำให้ท่าเต้นมีความหมาย สอดคล้องกับการตีความตัวละคร และมีพลังมากขึ้นมากๆ”


“Highly creative and enjoyable as a new musical”

ถ้าไปเปิดดูรายชื่อละครเพลงที่เข้ารอบการประกวดละครระดับมหาวิทยาลัยใน DIMF ปีนี้ทั้งหมด เราจะพบว่า BKK-LA ต้องประชันกับละครชื่อดังโปรดักชั่นใหญ่แทบทั้งสิ้น อย่างเรื่อง Fame, Les Misérables, Next to Normal และอื่นๆ ขณะที่ BKK-LA เป็นส่วนน้อยที่ใช้บทดั้งเดิม จึงต้องถามอาจารย์นพีสีว่าข้อนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นหรือจุดเสี่ยงอย่างไร อาจารย์ตอบว่าเป็นทั้งสองอย่างเลย

“การแสดงของมหาวิทยาลัยอื่นๆ มีส่วนน้อยที่เป็นบทสร้างใหม่  หลายแห่งนำบทละครเพลงฉบับบรอดเวย์มาแสดงเลย ความจริงเราจะทำแบบนั้นก็ได้ อยากเอา Little Women (ละครเพลงประจำปีของดุริยางคศิลป์ที่เพิ่งจัดแสดงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์) ไปแข่งเหมือนกัน แต่คงไม่มีงบประมาณซื้อลิขสิทธิ์จากบรอดเวย์อีก แล้วก็ถ้าพูดตามจริงแล้ว เกาหลีเป็นชาติที่ซีเรียสเรื่องละครเพลงมากๆ ที่เคยไปดูละครของเขาครั้งก่อน แม้จะเป็นละครนักศึกษา เป็นภาษาเกาหลี ฝีมือก็ทัดเทียมละครมืออาชีพเลยทีเดียว เราอาจพอสู้เขาได้เรื่องร้องเพลง แต่เรื่องเต้นนี่น่าจะยังต้องฝึกอีก แต่พอเป็นละครออริจินัลสร้างใหม่ ก็ไม่ค่อยมีอะไรให้เปรียบเทียบ อีกอย่าง ตอนที่เขาตอบรับเลือกคณะเราให้ไปแสดง เขาเขียนว่า

[ The judges found Musical is highly creative as a new musical and to be enjoyable and it has been chosen for the 1st round at the 17th DIMF College Musical Festival among talented national universities all over Korea. ] 

“แสดงว่าเขามองว่าละครเพลงของเรามีความคิดสร้างสรรค์ อะไรบางอย่าง อาจจะเป็นเรื่องราวโลกคู่ขนานที่ไม่เคยมีใครนำมาทำเป็นละครเพลง หรือการร้องดูเอ็ต (duet) กับตัวเอง หรือส่วนอื่นๆ  ก็เลยคิดว่านี่คงเป็นจุดเด่นของละครเพลงเรื่องนี้ ส่วนจุดเสี่ยง ก็อาจจะเป็นที่เรื่องราวที่ยากแก่การติดตามหากต้องพึ่งพาซับอย่างเดียว เพลงอาจจะค่อนข้างยาก การแสดงที่ต้องไปใช้สถานที่ไม่คุ้นเคยอาจจะทำให้ต้องปรับตัวมาก  เด็กเราร้องเพลงดีแต่การเต้นยังต้องฝึกอีกหน่อย อะไรทำนองนี้ค่ะ”

musical
จุดเริ่มต้นของ soft power ไทยๆ

Mahidol Musicalการนำ BKK-LA ไปเข้าร่วมเทศกาลถึงเมืองแทกู อาจไม่ใช่การไปเพื่อประกาศศักดาหรือหวังคว้าชัยชนะอันยิ่งใหญ่กลับบ้าน แต่คือเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนของน้องๆ สาขาขับร้องละครเพลง ของทีมงาน ของอาจารย์ และของเหล่านักสร้างละครเพลงไทยด้วยที่จะได้ศึกษาจากประสบการณ์ล้ำค่าครั้งนี้ 

“คิดว่าการที่ได้รับโอกาสและการสนับสนุนให้ไปทำการแสดงนี่ก็คือสุดยอดแล้ว อันที่จริงมันคือการไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ก็พยายามบิ๊วเด็กๆ เรื่องการแข่งขัน ความมุ่งมั่น ทำให้ดีที่สุด ตอนนี้อาจจะยังคิดบรรยากาศกันไม่ค่อยออก เลยขอให้เด็กคิดว่าการแข่งขันที่สำคัญที่สุดคือการแข่งกับตัวเอง ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาตัวเองในฐานะนักแสดงละครเพลงให้ได้มากที่สุด ให้ใช้โอกาสนี้ไปเปิดหูเปิดตา ให้คนทางนั้นเห็นศักยภาพเด็กไทยที่ไม่แพ้ชาติอื่น  ชื่นชอบพวกเราเหมือนเป็นตัวแทน soft power เล็กๆ สักหน่อยก็โอเคละค่ะ” อาจารย์นพีสีกล่าวสรุป

ร่วมกันส่งกำลังใจไปให้ทีม Bangkok - Los Angeles ขอให้ทำหน้าที่ตัวแทนมิวสิคัลไทยได้อย่างดีที่สุด และสนุกกับประสบการณ์นี้อย่างเต็มที่ รอติดตามอ่านบทความตอนต่อไปที่จะเล่าถึงการผจญภัยของคณะละครไทยในเมืองแทกูกับผลตอบรับจากผู้ชมชาวเกาหลีกัน อีกไม่นาน.

musical south korea

Bangkok - Los Angeles 

โดยสาขาขับร้องละครเพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลา 15.00 น. และ 19.00 น.

Biseul Hall, Daegu Culture & Arts Center, Daegu, South Korea

ข้อมูล BKK-LA ในเว็บทางการ DIMF: https://dimf.or.kr/portal/festival/view.do?mId=0203020400&searchType=003&idx=195 

ภาพประกอบ: Jira Angsutamatuch (instagram: @jira_joke)

ABOUT THE AUTHOR
Pom Knight

Pom Knight

นักแปลและบรรณาธิการอิสระที่อยากให้การอ่านหนังสือเอาสนุกและการตระเวนดูละครเวทีทั้งในและนอกราชอาณาจักรเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวได้จังเลย สาธุ

ALL POSTS