เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย (ที่ไม่น้อย) ในประวัติศาสตร์ของน้ำหอมที่คุณอาจไม่เคยรู้
ในโอกาส National Fragrance Day เรามาฉลองโดยรวบรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในประวัติศาสตร์ของน้ำหอมมาไว้ ณ ตรงนี้
ในยุคที่อาณาจักรโรมันโบราณรุ่งเรืองถึงขีดสุด หนึ่งในย่านชุมทางถนนสายหลักของกรุงโรม ปรากฏชุมชนคนทำน้ำหอมที่เรียกว่า “อันกูเอ็นตาริ” (unguentarii) ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า “งานปรุงกำยาน” ว่ากันว่าชาวโรมันผู้พิสมัยในเครื่องหอม และน้ำหอมตลอดจนผู้ประกอบกิจการหลายประเภท ต่างมุ่งหน้ามายังแหล่งทำงานอันเต็มไปด้วยผู้มีพรสวรรค์ และกระตือรือร้นในการคิดค้น สร้างสรรค์แห่งนี้ ด้วยหวังว่าตนจะได้พบกับเอสเซนส์ หรือหัวน้ำปรุงกลิ่นใหม่เพื่อก่อกระแสความนิยมในวงสังคม ร้านรวงซึ่งเป็นแหล่งพบปะของคนทุกชนชั้นในย่านนี้ จึงกลายเป็นศูนย์กลางข่าวซุบซิบแห่งโรมไปโดยปริยาย!
หลังกรุงโรมล่มสลาย และศาสนจักรกลายเป็นศูนย์รวมอำนาจของภาคพื้นยุโรป เครื่องหอมกลายเป็นของต้องห้ามของบุคคลทั่วไป กระนั้น ก็ยังมีการปลูกสมุนไพรพืชหอมทั้งหลายไว้ในสวนเล็กๆ หลังโบสถ์หลายแห่งเพื่อใช้ประโยชน์ในการปรุงยา และทำเครื่องหอมสำหรับประกอบพิธีทางศาสนา
ช่วงเวลาของยุคกลางระหว่างที่เครื่องหอมทั้งหลายถูกลดบทบาทในยุโรป ชาวอาหรับชนเผ่าต่างๆ ได้คิดค้นเทคนิคแยบคายขึ้นมากมายเพื่อสกัดโมเลกุลกลิ่นออกมาจากวัตถุดิบ กระบวนการต้มกลั่นใช้ไอน้ำสกัดโมเลกุลกลิ่นหรือ distillation อันเป็นกรรมวิธียอดนิยมในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างเป็นทางการในยุคนี้จากการใช้หม้อกลั่นทองแดงเคลือบดีบุกติดตั้งท่อความเย็นเพื่อควบแน่นกลั่นไอน้ำให้กลายเป็นหยดของเหลวลำเลียงตัวลงสู่ถังเก็บ กลไกนี้นำมาซึ่งความง่ายดายในการผลิต “น้ำกุหลาบ” (สกัดจากกุหลาบดามัสก์) ที่ศาสดาโมฮัมเหม็ด (หรือพระมูฮัมหมัด) โปรดปรานมากเสียจนได้รับการยกย่องให้เป็นน้ำหอมประจำตัว ดังมีบันทึกขององค์ศาสดาระหว่างศตวรรษที่ 7 ถึง 8 ปรากฏข้อความไว้ว่า “สามสิ่งบนโลกนี้ที่ข้าพเจ้ารักมากอย่างที่สุดคือสตรี, น้ำหอม และสาวกผู้สวดภาวนา...” กระนั้น อาวิเซ็นนา อยุรแพทย์ชาวอาหรับ กลับเป็นผู้พัฒนาทั้งกระบวนการนี้จนสมบูรณ์เมื่อศตวรรษที่ 10
ในยุคกลางสมัยรุ่งโรจน์หลังคริสตจักรยึดนครเยรูซาเล็มกลับคืนมาได้ ศิลปะวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตของชาวยุโรปได้เข้าสู่ภาวะฟื้นตัว ดอกไม้, พืชสมุนไพรทำน้ำหอม และน้ำมันหอมระเหย ถูกใช้ในการปรุงน้ำอาบ หรือน้ำสำหรับนอนแช่ในอ่าง และน้ำล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และอีกหนึ่งความหรูหราของสุภาพสตรีชั้นสูงนอกจากถุงหอมสำหรับซุกไว้ใต้ร่มผ้าเครื่องแต่งกายเพื่อให้เนื้อตัวหอมกรุ่นอยู่ตลอดวัน ก็คือ “ลูกหอม” (pomander เป็นเครื่องหอมซึ่งในยุคนั้นมักนิยมใช้ลาเวนเดอร์ หรือลูกจันทน์เทศปรุงสูตรแล้วขึ้นทรงเป็นลูกกลม) บรรจุกลักโลหะขนาดเล็กไว้ร้อยสายสร้อยคล้องคอ ซึ่งกลายเป็นเครื่องประดับบ่งบอกฐานะไปในตัวจากงานฝีมือทางการผลิต ทั้งในส่วนของลูกกลมโลหะ และตำรับเครื่องหอมที่ถูกปรุงบรรจุไว้ภายใน
ระหว่างกาฬโรคระบาดหนักในยุโรปประมาณศตวรรษที่ 14 นอกจากบรรดาหมอจะสวมเสื้อคลุมยาวเย็บกระเป๋าบรรจุสมุนไพรหอมทรงสรรพคุณในการป้องกันการติดเชื้อโรคระบาดแล้ว ก็ยังมีมาสก์ หรือหน้ากากอนามัยรูปทรงคล้ายจะงอยปากนก ภายในบรรจุสมุนไพร, เครื่องเทศ และน้ำมันโดยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ ความเชื่อที่ว่าน้ำมันหอมกับวัตถุดิบให้กลิ่นหอม หรือเครื่องหอมสามารถขจัด “กลิ่นเหม็นอับจากโรคภัย” ได้นั้น เป็นอีกปัจจัยในการทำให้การใช้น้ำมันหอมเป็นที่นิยมในยุโรปยุคกลางตอนกลาง
ว่ากันว่าระหว่างปี 1370 มีนักบวชสันโดษได้ปรุง “น้ำทิพย์เยาว์วัฒนะ” หรือ elixir of youth มาถวายราชินีเอลิซาเบ็ธแห่งฮังการีโดยอาศัยลาเวนเดอร์กับโรสแมรีเป็นวัตถุดิบหลัก ผลลัพธ์ก็คือกลิ่นหอม และสรรพคุณของสมุนไพรราวกับปลุกฟื้นความอ่อนเยาว์ให้แก่ราชินีวัย 72 จนกษัตริย์แห่งโปแลนด์ถึงกับต้องมนต์เสน่ห์ รีบยกขบวนมาสู่ขออภิเษก และน้ำทิพย์สูตรนี้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วยุโรป อีกทั้งยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันในชื่อ Queen of Hungary Water หรือ “น้ำฮังการี” (เพราะหลายครั้งจะถูกเรียกสั้นๆ ว่า Hungary Water)
หลายศตวรรษนับจากชาวอาหรับพัฒนาเทคนิคต้มกลั่น ใช้ไอน้ำสกัดโมเลกุลกลิ่น ท้ายที่สุดในเมืองโมเดนา ประเทศอิตาลีก็ปรากฏการณ์นวัตกรรมกลไกท่อทำความเย็นเพื่อก่อบรรยากาศควบแน่นให้ไอน้ำซึ่งระเหยขึ้นมาจากหม้อต้ม ได้กลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำหอม และลำเลียงตัวลงไปอยู่ในถังเก็บ ซึ่งถูกเรียกว่าถังฟลอเรนทีน (Florentine Vase หรือ Florentine Tank หมายถึงถังซึ่งถูกผลิตขึ้นจากเมืองฟลอเรนซ์, ประเทศอิตาลี) พร้อมกันนั้น ได้มีการสรรค์สร้างแอลกอฮอล์กลิ่นหอม ซึ่งมีความเข้มข้นเกือบ 95% ขึ้นเป็นครั้งแรก อันนำไปสู่ผลงานปฏิวัติวงการเครื่องหอมนามว่า aqua vitae (อาควา วิเต: น้ำแห่งชีวิต) ในปลายศตวรรษที่ 14
ราชินีแคทเธอรีน เดอ เมดิซี ซึ่งต้องเดินทางมาเสกสมรสกับกษัตริย์อองรีที่ 2 ณ มหานครปารีสเมื่อปี 1533 ทรงนำถุงมือหอมพื้นเมืองทัสคานีติดพระองค์มาด้วย และนั่นคือจุดเริ่มต้นชุมชมฟอกหนังที่เมืองกราซ ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางการเพาะปลูกพืชทำน้ำหอมสำหรับกลบกลิ่นน้ำยาฟอกหนัง ก่อนจะวิวัฒนาการเป็นเมืองหลวงของอารยธรรมน้ำหอมโลกในปัจจุบันดังที่เราอาจรู้กันดีมาก่อนหน้านี้แล้ว
เครื่องหอมหาได้มีวิวัฒนาการอยู่เพียงยุโรป ดังปรากฏหลักฐานมากมายในอินเดียที่บ่งชี้ว่าเครื่องหอมคือหัวใจสำคัญของการประกอบพิธีกรรมตันตระอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ชายจะใช้น้ำมันไม้จันทน์หอมทาตัวระหว่างดำเนินพิธี ส่วนผู้หญิงนิยมใช้น้ำมันดอกมะลิลูบไล้มือทั้งสองข้าง ประพรมน้ำมันแพ็ทชูลิบนลำคอ และพวงแก้ม ใช้อำพันกับเนินอก หญ้าหอมบนเรือนผม มัสค์บนช่วงลำตัว ไม้จันทน์เทศกับเรียวขา และหญ้าฝรั่นทาเท้า
ในขณะที่ชาวจีนนิยมปรุงแต่งบรรยากาศรอบตัวด้วยเครื่องหอม และน้ำปรุงหอม จากหมึกเขียนหนังสือไปจนถึงกระดาษเขียนหนังสือ และเครื่องเขียนต่างๆ ตามฐานะของตน รวมถึงใช้จุด หรือเผาภายในวิหาร หรือศาลเจ้าประจำตระกูล ชาวญี่ปุ่นก็นิยมใช้การเผาเครื่องหอมเป็นหลัก โดยเฉพาะกำยานในพิธีการสำคัญ จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมกำยานที่เรียกว่า “โกโดะ” (Kho-Do) ด้วยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันสิ่งอัปมงคล และโชคร้าย ซึ่งยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
ถึงแม้จะได้รับสมญานามว่า “ราชสำนักหอมหวน” สืบเนื่องจากทุกอณูพื้นที่ของพระราชวังแวรซายส์ล้วนเต็มไปด้วยกลิ่นหอมอบอวล ทั้งภายใน และภายนอกตัวพระราชสถาน ดารดาษไปด้วยชามอ่างบรรจุกลีบดอกไม้กองพูนเพื่อมอบกลิ่นหอมกรุ่นกำจายไปรอบบริเวณ เช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นที่ผ่านการฉีดพรมด้วยน้ำหอม และน้ำหอมก็ถูกนำมาใช้ทำน้ำพุในทุกแอ่งแหล่งที่ กระนั้น หนึ่งตำนานเล่าขานที่น่าสะพรึงก็คือ “ราชบุรุษสุดหอมแห่งมวลกษัตริย์” นามลูอิสที่ 14 กลับเคยทรงสรงน้ำ หรืออาบน้ำเพียงสามครั้งเท่านั้นตลอดพระชนม์ชีพด้วยความหวาดกลัวอันสืบความเชื่อที่แพร่สะพรัดตลอดศตวรรษที่ 17 ว่าน้ำอาบเป็นพาหะนำโรคอย่างดี ยิ่งอาบน้ำน้อยครั้งก็ยิ่งลดโอกาสการติดโรคระบาดใดๆ
ความมั่งคั่งทางวัตถุดิบ ทั้งนำเข้า และผลิตขึ้นเอง ร่วมกับความพรั่งพร้อมในเชิงเทคนิควิธีการแห่งศิลปศาสตร์การปรุงน้ำหอม ส่งผลให้เหล่านักออกแบบ-ผู้ปรุงน้ำหอมเริ่มทำการค้าเครื่องหอมประดับกายกันออกไปเป็นวงกว้างยิ่งขึ้นผ่าน “พ่อค้าเร่น้ำหอม” ซึ่งจะใช้ม้าเดี่ยวเทียมเกวียน หรือกะบะติดล้อบรรทุกน้ำหอมกับเครื่องหอมจำนวนมาก บ้างก็มียา, เวชภัณฑ์ และแว็กซ์หอมสำหรับขัด หรือเคลือบเฟอร์นิเจอร์ ออกตระเวนไปตามหัวเมืองใหญ่ นอกเหนือจากถนนสายต่างๆ ในกรุงปารีส จำนวนผู้ประกอบอาชีพนี้เพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นอุปสรรคการจราจร อีกทั้งยังมีเรื่องร้องเรียนภายใน ทำให้แพทย์ประจำราชสำนักถึงกับต้องทำฎีการ้องเรียนให้องค์กษัตริย์สั่งห้ามเกวียนเทียมม้าเหล่านี้มาเร่ขายของตามถนนในมหานคร
ยุคเรืองปัญญา ฌอง-ลูอิส ฟารเชียน ผู้ปรุงน้ำหอมส่วนพระองค์ถวายแด่พระนางมารี อังตัวแน็ตต์ ราชินีในกษัตริย์ลูอิสที่ 16 แห่งฝรั่งเศสได้ออกแบบกลิ่นหอมแนวต่างๆ ซึ่งมีความหรูหรา รองรับกับบุคลิก และอารมณ์ในแต่ละวันขององค์ราชินี หนึ่งในนั้นก็คือ ‘Sillage de la Reine’ (ซิญาช เดอ ลา แรน: รัศมีกลิ่นแห่งราชินี) ซึ่งผสมขึ้นจากซ่อนชู้, มะลิ, ดอกส้ม, ไม้จันทน์, ไอริส และซีดาร์ เป็นจุดเริ่มต้นคำศัพท์ว่า sillage (ซิญาช) สำหรับใช้พูดถึงคุณสมบัติด้านความหนาแน่น และกำลังกลิ่นของน้ำหอมในปัจจุบัน
นโปเลียน โบนาปาร์ตผู้ชื่นชอบโอ เดอ โคโลญจน์เป็นพิเศษ ถึงกับมีรับสั่งให้ชารแด็ง สุคนธกรผู้สืบทอดกิจการของ Houbigant ออกแบบ ปรุงสูตร และผลิตโคโลญจน์ส่งมอบให้พระองค์เดือนละ 50 ขวด และปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โบนาปาร์ตก็ทรงใช้น้ำหอมกลิ่นอ่อนใส บางเบาอย่างฟุ่มเฟือยยิ่งไปตลอดพระชนม์ชีพ
ในยุควิคตอเรียน ซึ่งสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียเป็นผู้ปกครองหญิงท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง มีการใช้น้ำกลั่นเจือจางหัวน้ำหอมร่วมกับแอลกอฮอล์ในปริมาณเข้มข้นสูงกว่าโคโลญจน์ทั่วไป ทำให้โอ เดอ โคลญจน์สูตรน้ำมันดอกส้มเนโรลิรุ่นใหม่กลายเป็นที่นิยมใช้ประพรมผิวกายคืนความสดชื่นหลังอาบน้ำ จนทำให้ต้องมีไว้ประจำห้องอาบน้ำ และห้องน้ำส่วนตัว จนเป็นที่มาของคำว่า eau de toilette หรือ toilet water (บ่อยครั้งจะใช้คำว่า grooming water ซึ่งฟังดูรื่นหูกว่า) เนื่องจากมีราคาจำหน่ายไม่แพงมากเท่าโคโลญจน์สูตรปรุงพิเศษ อีกทั้งมีกลิ่นหอมอ่อนใส บางเบา จึงเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางของทั้งผู้ชาย และผู้หญิงในยุคนี้
ผู้หญิงวิคตอเรียนทั่วไป ก็ยังคงชื่นชอบน้ำมันลาเวนเดอร์กลิ่นหอมสะอาด ซึ่งถูกนำมาใช้ในการปรุงแต่งกลิ่นให้กับทุกผลิตภัณฑ์อุปโภคในชีวิตประจำวัน จากผลิตภัณฑ์สำหรับจัดแต่ง และบำรุงเรือนผม ไปจนถึงเครื่องสำอาง และสบู่ และเพราะความนิยมอย่างสูงเช่นนี้ ทำให้ลาเวนเดอร์คุณภาพสูงสุดสำหรับวงการน้ำหอมถูกเรียกว่า “ลาเวนเดอร์แท้สายพันธุ์อังกฤษ” หรือ “ลาเวนเดอร์อังกฤษ” (Lavender Angustifolia) อีกทั้งยังมีการนำมาเพาะปลูกเป็นไร่กสิกรรมขนาดใหญ่ในเขตโพรวองซ์ของฝรั่งเศส ณ ปัจจุบัน
เรื่องราวของน้ำหอมหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมได้รับการจดบันทึกต่อเนื่องมาจากกระแสนิยมใหม่อันบังเกิดขึ้นปลายสมัยวิคตอเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลลัพธ์จากวิทยาการล้ำสมัย อันได้แก่หัวน้ำหอมสังเคราะห์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการแนวกลิ่นจากธรรมชาติที่ไม่สามารถสกัดได้จากธรรมชาติ หรืออาจเป็นหัวน้ำหอมที่หายาก ขาดตลาด น้ำหอมหลายกลิ่นตลอดศตวรรษที่ 20 ได้กลายเป็นบทเล่าขานถึงกระแสความนิยมในแต่ละยุคสมัย จาก Guerlain Shalimar มาสู่ Chanel No.5 จนถึง Miss Dior และการเริ่มต้นธุรกิจน้ำหอมสำหรับผู้ชายอย่างจริงจังเป็นทางการระหว่างทศวรรษ 1960