‘มะเร็งปอด’ สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย ผลวิจัยระบุวิกฤต PM2.5 เรื้อรัง ส่งผลยีนกลายพันธุ์ตัวการก่อโรค
ฝุ่นละอองภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม การศึกษาวิจัยพบ PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงการกลายพันธุ์ของยีนในเซลล์ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งนำไปสู่การเกิด "โรคมะเร็งปอด"
“มะเร็ง” ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย และด้วยมลพิษทางอากาศ รวมถึงฝุ่นควันต่าง ๆ โดยเฉพาะมลพิษจากอนุภาคฝุ่นละออง หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ PM2.5 ซึ่งเป็นสาเหตุกระตุ้นที่ทำให้เกิด “โรคมะเร็งปอด” ในกลุ่มคนที่ไม่สูบบุหรี่ ปัญหาดังกล่าวที่เรื้อรังมานานจึงสร้างความวิตกกังวลให้กับหลาย ๆ คน
จากรายงานของคลังข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเมินได้จากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละมากกว่าแสนราย ซึ่งมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตเฉียดหลักแสนรายด้วยเช่นกัน ซึ่ง "มะเร็งปอด" ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย (เป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับและถุงน้ำดี และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง) โดยในปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 คน หรือคิดเป็น 40 คนต่อวัน
ทั้งนี้ จากผลการวิจัย* แสดงให้เห็นว่ามีปัจจัยในชีวิตประจำวันหลายด้านที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยง “โรคมะเร็งปอด” ได้แก่ การสูบบุหรี่ หรือการอยู่ใกล้ชิดกับคนที่สูบบุหรี่ การทำงานที่มีการสัมผัสกับแร่ใยหินในรูปแบบต่าง ๆ และการส่งต่อผ่านกรรมพันธุ์ เป็นต้น ขณะที่สาเหตุอื่น ๆ เช่น มลภาวะทางอากาศอย่างฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ก็กำลังทวีความรุนแรงและกลายมาเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปอด ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 แล้วกว่า 71,184 ราย (สูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม)
แม้ว่าวิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 จะได้รับการยกระดับการแก้ปัญหาเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังและเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ตลอดหลายปีมานี้ เราได้เห็นนักคิด นักวิชาการ รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จำนวนมากที่ออกมาให้ความรู้ความเข้าใจเรื่อง PM2.5 ตลอดจนเตือนภัย และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา แต่เนื่องจากปัญหาดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข ดังนั้นประชนชนจึงควรมีข้อมูลความรู้ในการเตรียมตัวและวางแผนเพื่อดูแลตนเองควบคู่ไปด้วยกัน
โดยฝุ่นละออง PM 2.5 ถือเป็นสารก่อมะเร็งที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียง 2.5 ไมครอน ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และสามารถลอยเข้าไปในหลอดลมจนถึงปอดได้โดยที่เราไม่รู้สึกตัว ส่งผลให้ปอดเกิดอาการอักเสบ โดยสาเหตุดังกล่าวไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้น เช่น แสบตา แสบจมูก ระคายเคืองตา หรือภูมิแพ้กำเริบเท่านั้น แต่หากได้รับฝุ่นละออง PM2.5 ในปริมาณมากและต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบในระยะยาวทำให้เกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลใหม่จากการศึกษาวิจัยในงานประชุมวิชาการทางการแพทย์นานาชาติ European Society for Medical Oncology (ESMO) ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่ามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการกลายพันธุ์ของยีนชนิด EGFR และ KRAS ในเซลล์ระบบทางเดินหายใจซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอดได้**
ด้วยสาเหตุและปัจจัยหลายประการ ทำให้ประชาชนทั่วไปยากที่จะรับรู้และแยกแยะออกได้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับโรคร้ายหรือไม่ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงมลพิษ ฝุ่นควัน และหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำ รวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามทั้งกับคนทั่วไปหรือกลุ่มเสี่ยง
มะเร็งปอดจะมีทั้งหมด 4 ระยะหลัก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตรวจพบเจอในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายหรือในสภาวะที่โรคลุกลามแล้ว ส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ทั้งนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ทำให้มีการนำนวัตกรรม AI เข้ามาใช้ร่วมไปกับการตรวจสอบยืนยันผลจากรังสีแพทย์เพื่อคัดกรองมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ซึ่งสามารถเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของผลการตรวจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีและตรงจุด เมื่อเทียบผลของการรักษาจะพบว่า หากเจอมะเร็งปอดที่ระยะแรกจะมีโอกาสอยู่รอดใน 5 ปีสูงถึง92 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ถ้าพบในระยะที่ 4 มีโอกาสอยู่รอดเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จะเห็นได้ว่า “มะเร็ง รู้เร็ว รักษาได้” การได้รับผลวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะสามารถทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งผลการรักษาที่ดีและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้มากยิ่งขึ้น
แม้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอก อย่างมลภาวะฝุ่น PM2.5 ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การหมั่นดูแลตัวเองเป็นประจำ ด้วยการไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงและระมัดระวังการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งขณะฝุ่นหนาแน่น ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิดขณะอยู่ภายในตัวอาคาร สังเกตอาการของคนกลุ่มเสี่ยงรอบตัว หมั่นตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอหรือเมื่อมีอาการเข้าข่าย ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
ด้วยความปราถนาดีจาก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และ The Lung Ambition Alliance (LAA)
อ้างอิง *https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5920433/