HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
"โรคตับ" ภัยเงียบสุขภาพที่ป้องกันได้
by HBKK
31 ก.ค. 2567, 11:06
  292 views

...รู้หรือไม่ มะเร็งตับซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสตับอักเสบ เป็นสาเหตุอันดับที่ 3 ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั่วโลก คร่าชีวิตมนุษย์ราว 1 ล้านคนต่อปี แซงหน้าแม้แต่ HIV

กรกฎาคม เดือนแห่งการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคตับ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 28 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันตับอักเสบโลก (World Hepatitis Day) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายของโรคตับอักเสบ และรับรู้ถึงวิธีการป้องกันตนเองจากโรคไวรัสตับอักเสบได้อย่างถูกต้อง


หนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นในปีนี้คือ การประชุม Asia Pacific-International Roche Infectious Disease (IRIDS 2024) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศเวียดนาม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก 12 ประเทศในกลุ่ม APAC มาร่วมเจาะลึกถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโรคตับอักเสบ เนื่องจากคนจำนวนมากรวมทั้งคนไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพตับอย่างจริงจัง โรคตับอักเสบจึงมักเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ โดยมักไม่มีใครสังเกตเห็นจนกว่าจะสายเกินไป

...รู้หรือไม่ มะเร็งตับซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสตับอักเสบ เป็นสาเหตุอันดับที่ 3 ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั่วโลก คร่าชีวิตมนุษย์ราว 1 ล้านคนต่อปี แซงหน้าแม้แต่ HIV

ดร.จอห์น วอร์ด ผู้เป็นกระบอกเสียงสำคัญในการประชุม APAC IRIDS เปรียบโรคตับอักเสบเหมือนภัยเงียบที่ทำให้ตับติดเชื้อโดยมีอาการเพียงเล็กน้อย ก่อนที่จะลุกลามอย่างเงียบๆ ไปสู่ระยะรุนแรง

“ตับ เป็นอวัยวะที่อดทนมาก มันไม่ได้ทำให้เกิดอาการอะไรมากมาย ดังนั้น คุณจึงมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปีโดยไม่รู้ว่าคุณติดเชื้อไวรัสเรื้อรัง ซึ่งจะค่อยๆ ทำลายตับของคุณจนกว่าจะถึงระยะสุดท้าย โดยร้อยละ 80 ของมะเร็งตับทั่วโลก มีสาเหตุมาจากโรคตับอักเสบบีและซี ซึ่งมะเร็งตับมีอัตราการรอดชีวิตต่ำ” ดร.จอห์น วอร์ด กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2022 มีประชากรจำนวนกว่า 300 ล้านรายติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีแบบเรื้อรัง โดยมากกว่าครึ่งผู้ติดเชื้อไม่รู้ว่าตนเองมีเชื้อ ในขณะที่ข้อมูลจาก Coalition for Global Hepatitis Elimination พบว่ากว่า 80% ไม่ได้เข้ารับการรักษา

ด้านรายงานของ APAC Liver Disease Alliance ประจำปี 2023 พบว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคตับอักเสบมียอดสูงถึง 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการเสียชีวิตด้วยโรค HIV ถึง 3 เท่า และนับเป็น 63% ของยอดผู้เสียชีวิตจากตับอักเสบทั่วโลก

 

“กำจัดให้หมดสิ้นไป” เป้าหมายระดับโลกในปี 2030

ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการตั้งเป้ากำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบให้หมดสิ้นไปภายในปี 2030 และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดพิมพ์ Global Health Sector Strategy on viral hepatitis ขึ้นมาเพื่อปูทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยมีคำขวัญว่า “กำจัดให้หมดสิ้นไป” ซึ่งกำหนดให้อัตราการเกิดโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีต้องลดลง 90% และอัตราการเสียชีวิตจะต้องลดลง 65% เมื่อเทียบจากปี 2015 ถึงปี 2030

“ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ขาดแผนปฏิบัติการระดับชาติที่เหมาะสมในการขจัดไวรัสตับอักเสบ หลายประเทศไม่มีแผนหรือมีแผนไม่เพียงพอ ในขณะที่ไต้หวันและญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งสองกำลังอยู่ในแนวทางที่จะกำจัดการเสียชีวิตจากไวรัส” โรเบอร์ตา ซาร์โน จาก APAC Liver Disease Alliance กล่าวว่า

แม้ว่าหลายประเทศจะปฏิบัติตามแนวทางแนะนำของ WHO แต่ความเป็นจริงยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากการเข้าถึงการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบนั้นยังไม่ได้ขยายไปทั่วทั้งระบบสาธารณสุข และแนวทางบำบัดที่ง่ายและผู้คนจ่ายได้ถึงนั้นยังจำกัดอยู่ในวงแคบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับบริการปฐมภูมิ ในประเทศกลุ่มรายได้ต่ำและปานกลาง

ศาสตราจารย์ ซาอีด ฮามิด จากมหาวิทยาลัยอากา ข่าน กล่าวว่า ในกรณีของปากีสถาน มีแผนระดับชาติอยู่ แต่ยังไม่ได้นำไปปฏิบัติอย่างเต็มที่ เขาเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศที่มีภาระหนักสูง คล้ายกับความสำเร็จในการตอบสนองที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคตับอักเสบที่ทวีความรุนแรงขึ้น ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย-แปซิฟิก จะไม่บรรลุเป้าหมายการกำจัดในปี 2030 เราจึงจำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในประเทศเหล่านี้เพื่อทำให้ภูมิภาคนี้บรรลุเป้าหมายของ WHO ได้

สถานการณ์โรคตับจากเชื้อไวรัสในประเทศไทย

ศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เผยว่า โรคตับอักเสบที่เกิดจากไวรัสในประเทศไทย พบไวรัสอักเสบบี ประมาณร้อยละ 3 ของประชากร หรือราว 2-3 ล้านคน ขณะที่ไวรัสตับอักเสบซี อยู่ที่ 0.4% ของประชากร หรือราว 2-3 แสนคน

โรคตับมีอาการอย่างไร

ศ.นพ.ทวีศักดิ์ อธิบายว่าโรคตับในระยะแรกไม่แสดงอาการ จนกว่าตับจะมีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงมากจึงแสดงอาการ ซึ่งมักลุกลามเป็น “โรคมะเร็งตับ” ที่พบในระยะ 3 หรือ 4 หรือมาด้วยอาการตับแข็ง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตภายใน 3-6 เดือน

“1 ใน 3 ของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ที่หลายคนไม่รู้คือ ไวรัสตับอักเสบซี เป็นไวรัสเรื้อรังในมนุษย์ตัวเดียวที่สามารถรักษาให้หายขาด เพียงกินยาวันละเม็ด 84 วัน มีโอกาสหายขาดร้อยละ 99” ศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม พร้อมกล่าวถึงมาตรการเชิงรุกของสาธารณสุขของไทยที่เปิดให้ตรวจคัดกรองผู้ที่เข้าเกณฑ์ สำหรับคนที่เกิดก่อนปี 2535 เนื่องจากปี 2535 ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับให้ทารกทุกคนตั้งแต่แรกเกิด

โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดโอกาสให้คัดกรองไวรัสตับอักเสบซี ฟรี 1 ครั้งในชีวิต ผ่านหลายช่องทาง ที่สะดวกที่สุดคือผ่านแอพ “เป๋าตัง” ใน Health Wallet หรือกระเป๋าสุขภาพ ดังนี้

  • การตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี

เงื่อนไข : คนไทยที่เกิดก่อน ปี 2535 ฟรี 1 ครั้งตลอดชีวิต

  • การตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี

เงื่อนไข : คนไทยที่เกิดก่อน ปี 2535 ฟรี 1 ครั้งตลอดชีวิต

กรณีเกิดหลัง ปี 2535  ได้รับสิทธิปีละ 1 ครั้ง โดยต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง

  1. ผู้ติดเชื้อ HIV
  2. ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด
  3. กลุ่มมีเพศสัมพันธ์ชายรักชาย
  4. ผู้ต้ัองขัง
  5. บุคลากรทางการแพทย์

ทั้งนี้ สามารถใช้สิทธิ์ได้จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2567

 

เรื่องน่ารู้!!

ไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิด แตกต่างกันอย่างไร?

  • ไวรัสตับอักเสบเอ

การติดต่อ : ติดต่อทางอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
อาการ : ไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน ดีซ่าน ตาเหลือง

  • ไวรัสตับอักเสบบี 

การติดต่อ : ติดต่อทางเลือด เพศสัมพันธ์ จากแม่สู่ลูก
อาการ : ตับอักเสบรุนแรง อาจพัฒนาไปเป็นโรคตับ มะเร็งตับ

  • ไวรัสตับอักเสบซี

การติดต่อ : ติดเชื้อทางเลือด เพศสัมพันธ์
อาการ : ตับอักเสบเรื้อรัง จนกลายเป็นตับแข็ง มะเร็งตับ

  • ไวรัสตับอักเสบดี

การติดต่อ : ติดเชื้อทางเลือด กลุ่มเสี่ยงคือผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบ B
อาการ : ตับอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยตับเรื้อรังรุนแรงเสี่ยงเสียชีวิตได้

  • ไวรัสตับอักเสบอี

การติดต่อ : เกิดจากทานอาหารที่ปรุงไม่สุก เช่น เนื้อหมู สัตว์ปีก
อาการ : ตาเหลือง ตัวเหลือ อ่อนเพลีย

รู้แบบนี้แล้วก็อยากให้คนไทยไปใช้สิทธิ์ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบกันเยอะๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคตับและมะเร็งตับ หยุดสถิติตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทั้งที่เราป้องกันได้ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย “กำจัดให้หมดสิ้นไป” ในปี 2030

ABOUT THE AUTHOR
HBKK

HBKK

Live Every Day

ALL POSTS