HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ศิลปะในการสร้างสุข: จากจิตรกรรมสู่สุคนธศิลป์
by วรวุฒิ พยุงวงษ์
11 ม.ค. 2566, 19:47
  1,239 views

เมื่อสองสถาบันวัฒนธรรมของฝรั่งเศสนั่น Maison Guerlain กับ Maison Matisse จับมือกันกับงานสร้างงานล้ำค่า

เพราะศิลปะต่างสาขาสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กัน จากฉันทลักษณ์สู่คีตศิลป์ จากวรรณกรรมสู่นาฏกรรม จากสถาปัตยกรรมสู่อัญมณศิลป์ และกระทั่งจากจิตรกรรมสู่สุคนธศิลป์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือศิลปะแห่งการปรุงน้ำหอม เฉกเช่นการร่วมงานกันระหว่างสองสถาบัน อันต่างเป็นสัญลักษณ์ หรือตัวแทนมรดกศิลปะ และวัฒนธรรมของฝรั่งเศสนั่นก็คือ Maison Guerlain กับ Maison Matisse ผ่านผลงานกลุ่มสุคนธศิลป์ในคอลเลกชัน L'Art & La Matière (ลารเตต์ ลา มาติแอร) และ Exceptional Creations คอลเลกชันผลงานสร้างสรรค์ซึ่งมีความพิเศษเหนือสามัญ

Henry
อ็องรี เอมิล เบอนัวต์ มาตีส (Henri Matisse 1933) //PHOTO Wiki Commons

อันดับแรก คงต้องท้าวความกันนิดถึงหนึ่งในจิตรกรผู้มีชื่อเสียง และทรงอิทธิพลอย่างที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 อ็องรี เอมิล เบอนัวต์ มาตีส (มีชีวิตอยู่ระหว่างปีค.ศ.1869-1954) หรือ “อ็องรี มาตีส” เจ้าของสมญานาม “จิตรกรสร้างสุข” ซึ่งเกิดในครอบครัวของผู้มีฐานะแห่งเมืองเลอ กาโต-ก็องเบรซิส์ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ความผูกพันในงานศิลปะของมาตีสเริ่มต้นจากไวโอลิน ทว่าหลังจากเขาหายป่วยหนักระหว่างยังเป็นนักศึกษา (ประมาณปี 1889) ท่ามกลางความเครียด และหดหู่ระหว่างพักฟื้น เพื่อนคนหนึ่งได้แนะนำให้เขาลองหัดวาดภาพ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นการค้นพบ และทำความรู้จักกับงานศิลปะสาขาจิตรกรรม ซึ่งเขากล่าวว่า สำหรับผม จิตรกรรมเป็นเหมือนวิมานสวรรค์ที่ผมได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง ได้อยู่กับความสงบสุขตามลำพัง และรู้สึกถึงความมั่นคง ปลอดภัย 

ภาพวาด "นักดนตรี" ของอ็องรี มาตีส//  PHOTO courtesy of Maison Matisse

ในฐานะผู้นำศิลปะลัทธิโฟวิสต์คู่กับอองเดร เดอเรน อ็องรี มาตีสสร้างจุดเด่นให้ผลงานของตนด้วยความเรียบง่ายจากการใช้พื้นที่กว้างลงสีโดยไม่ต้องคำนึงถึงมิติความลึก ร่วมกับการใช้เฉดสีโทนสดที่ตัดกันอย่างฉูดฉาด และรุนแรงจนปลุกอารมณ์ ความรู้สึกเถื่อนระห่ำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (นี่คือคำอธิบายที่มาของการใช้คำเรียกว่า fauvist ซึ่งแปลว่าสัตว์ป่า) จากนั้น หลังผ่านเคราะห์ซ้ำสองระหว่างปีค.ศ. 1941 ชีวิตบนรถเข็นของอ็องรี มาตีสซึ่งผ่านการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็ง กลับเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจว่าเขาได้รับโอกาสครั้งที่สองในชีวิตเพื่อทำผลงานทั้งหลายของตนให้ลุล่วงเสร็จสมบูรณ์ อุปสรรคสาหัสระหว่างช่วงเวลานั้นกลายเป็นพลังผลักดัน สร้างแรงขับเคลื่อนให้ก้าวต่อไปด้วยการพูดว่า มีดอกไม้ในทุกหนแห่งสำหรับคนที่ต้องการจะเห็น

โอกาสหนสองในชีวิตที่เขาได้รับ คือการถือกำเนิดใหม่ของพลังทางความคิดสร้างสรรค์ในฐานะศิลปินด้วยการทดลองงานศิลปะรูปแบบใหม่โดยใช้เทคนิคตัดกระดาษสีกวอช (gouache-stained paper เป็นกระดาษที่ลงสีด้วยสีน้ำทึบแสง ซึ่งเรียกกันในภาษาจิตรกรรมว่ากวอช) ออกมาในขนาดใหญ่หลายชิ้น หลากเฉดสี สารพันรูปทรงก่อนนำไปปะติดบนผนังราวกับกำลังสร้างงานประติมากรรม ด้วยการจัดตำแหน่งองค์ประกอบภาพ ลวดลายต่างๆ อย่างใบไม้, ดอกไม้ และผลไม้อันถือกำเนิดมาจากกรรไกรในมือของศิลปิน ได้กลายเป็นงานศิลปะขึ้นรูปอันทันสมัยอย่างน่าทึ่งด้วยพลังแห่งการใช้เฉดสีที่รุนแรงสะกดสายตา

จิตรกรรมปะกระดาษสีแปะผนัง หนึ่งพันหนึ่งราตรี ที่มาตีสสร้างสรรค์ขึ้นระหว่างนอนไม่หลับ/ PHOTO courtesy of Maison Matisse

ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมวาดภาพลงสีด้วยมือ หรือภาพปะกระดาษสีขึ้นผนัง ทั้งสองรูปแบบต่างสะกดสายตาด้วยความร้อนแรง ฉูดฉาดของสรรพสี และสร้างชื่อให้แก่อ็องรี มาตีสมาอย่างต่อเนื่องจวบจวนวาระสุดท้ายของชีวิต 

ด้วยเจตจำนงที่จะสืบสานส่งผ่านค่านิยมต่างๆ ของอ็องรี มาตีส โดยเฉพาะการแบ่งปันความสุขผ่านสีสันอันสะท้อนถึงการมองโลกในแง่ดี หรือทัศนคติคิดบวกจากหลายผลงานระดับตำนาน Maison Matisse (เมซง มาตีส) จึงถูกก่อตั้งขึ้นโดยหนึ่งในเหลนของอ็องรี มาตีสเพื่อดำเนินการรังสรรค์ผลงานถ่ายทอดเนื้อแท้แห่ง “ความเป็นมาตีส” โดยปราศจากการลอกแบบ หรือทำซ้ำ ควบคู่ไปกับการให้ความเกื้อหนุน ส่งเสริมต่องานออกแบบของบรรดาศิลปินร่วมสมัย 

ในฐานะจิตรกร อ็องรี มาตีสคือนามที่มาพร้อมกับความสุข เวลามองดูผลงานของคุณทวด ผมเห็นความสุข ความตื่นเต้น กระตือรือร้น และพลังบวกจากการมองโลกในแง่ดี ภายใต้ฝีมือที่ขับเคลื่อนลีลาสะบัดปลายพู่กันอันเรียบง่าย ท่านแค่ต้องการนำความสุข เบิกบานใจมาแบ่งปันให้กับชีวิตของทุกคน ด้วยปณิธานเดียวกันนี้ เมซง มาตีสจึงได้ออกแบบคอลเลกชันผลงานตกแต่งบ้านทั้งหลายขึ้นโดยหวังว่าแต่ละชิ้น และทุกชิ้น คือการนำความสุขไปมอบไว้ในสถานที่นั้นๆ หรือมอบให้แก่ผู้มีโอกาสได้พบเห็น ฌอง-มาตธูว มาตีส ผู้ก่อตั้งเมซง มาตีส และเหลนของอ็องรี มาตีสกล่าว
 

งานรังสรรค์ลวดลายจากภาพวาด "หนึ่งพันหนึ่งราตรี" ประกอบไปด้วยกลีบกับใบของมะลิรายล้อมรูปหัวใจ// PHOTO courtesy of Maison Matisse

ในอีกสาขาศิลปะ ว่าด้วยการปรุงน้ำหอม เมื่อปิเอร-ฟรองซัวส์-ปาสกาล เกอร์แลงได้เริ่มต้นธุรกิจของตนขึ้นระหว่างปี 1828 เขาขอให้ศิลปินหลายแขนง อาทิเช่นลูอิส อับเบมา จิตรกรและประติมากรหญิงยุคแบ็ลเลโพก (Belle-Époque หรือยุคสมัยแห่งความอ่อนช้อยงดงาม) ผู้บุกเบิกวิถีศิลป์สตรีนิยมในสมัยนั้น ให้มาออกแบบตกแต่งบูติกของเขา เช่นเดียวกัน ในรุ่นของฌาคส์ เกอร์แลง เขาได้ซื้อภาพวาดของโคลด โมเนต์, เอดัวรด์ มาเนต์ และกามิลล์ ปิซซาโรมาประดับตกแต่ง ถึงแม้ผลงานของจิตรกรเหล่านั้นจะถูกดูแคลนภายใต้คำวิจารณ์ และมุมมองของสาธารณชนในยุคนั้นก็ตาม และตอนที่เขาเปิดบูติกขึ้น ณ อาคารเลขที่ 68 ถนนชองพ์เซลีเซส์กลางมหานครปารีส เขาก็ไว้วางใจให้ฌอง มิเชล ฟร็องค ศิลปินนักออกแบบหนุ่มเป็นผู้รับผิดชอบงานตกแต่งภายใน นอกจากนั้น ภาพวาด “นกกางเขน” หรือ The Magpie ของโมเนต์ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ดอรเซย์ (Musée d'Orsay) นั้น ก็เคยแขวนอยู่ในห้องทำงานของเขาเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจในความงาม

ด้วยต้องการตอกย้ำความเกี่ยวพันใกล้ชิดที่คนในสกุลผู้ก่อตั้งมีต่อศิลปะ และงานออกแบบ ในปีค.ศ. 2005 Maison Guerlain จึงเปิดแผนกสุคนธกรรมชั้นสูงขึ้นโดยใช้ชื่อสื่อความหมายตรงตัวว่า Haute Parfumerie เพื่อรื้อฟื้นพันธกิจมุ่งมั่นอันมีต่อการร่วมงานกับศิลปินแขนงต่างๆ ผ่านคอลเลกชันผลงานสร้างสรรค์ที่มีความพิเศษเหนือสามัญหรือ Exceptional Creations ซึ่งอำนวยให้องค์กรสามารถแสดงถึงภารกิจมุ่งมั่นของตนในฐานะผู้อุปถัมภ์งานศิลป์ ให้การสนับสนุนแก่บุคคลผู้มีพรสวรรค์ หรือมอบหมายงานให้ช่างศิลป์ในการสรรค์สร้าง ผลิตผลงานการออกแบบขึ้นในจำนวนจำกัด ขณะที่ผลงานน้ำหอมกลุ่มสุคนธศิลป์หรือ L'Art & La Matière คือเวทีแสดงพรสวรรค์ความสามารถทางศิลปะของบรรดาสุคนธกรแห่งเกอร์แลง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักออกแบบผู้ปรุงน้ำหอมทั้งหลายเหล่านั้นได้ผลิตผลงาน ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากศิลปะต่างแขนงอย่างที่คนในสายสกุลเกอร์แลงรุ่นก่อนๆ ได้เคยทำ อาทิเช่นน้ำหอม Rose Barbare (โรส บารแบ็คร) อันมีที่มาจากอุปรากรเรื่องคาร์เมนของจอร์ช บิเซต์, Néroli Outrenoir (เนโรลิ อูเตรอนัวร์) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากผลงานของจิตรกรฝรั่งเศสปิเอร ซูลาช และ Musc Outreblanc (มุสกูเตรอบลองก์) มีที่มาจากบรรดาประติมากรรมฝีมือของออกุสต โรแด็ง

PHOTO courtesy of Maison Guerlain

และในปีนี้ ความงดงามอันถือกำเนิดขึ้น ณ จุดบรรจบระหว่างสองสถาบันสัญลักษณ์ ผู้เป็นตัวแทนมรดกศิลปะ และวัฒนธรรมของฝรั่งเศส ทำให้ค.ศ. 2023 กลายเป็น “ปีของมาตีสที่เกอร์แลง” เพื่อยกย่องความสำคัญของความสุขผ่านศิลปะแห่งน้ำหอมโดยอาศัยแรงบันดาลใจมาจากผลงานภาพวาดของอ็องรี มาตีสสองชิ้น นั่นก็คือภาพวาด “นักดนตรี” หรือ La Musique (ลา มูสิค ปี 1939) และจิตรกรรมภาพปะกระดาษสี “หนึ่งพันหนึ่งราตรี” หรือ Les Mille et Une Nuits (เลส์ มิลเลตูนุยต์ส์ ปี 1950) ซึ่งล้วนเป็นผลงานอันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังในการถ่ายทอดอารมณ์ จุดประกายความสุข เบิกบาน มอบความรู้สึกสดใส มีชีวิตชีวาได้เป็นอย่างดี

น้ำหอม Couleur Bonheur หรือ "สีสันแห่งความสุข" ทั้งโลกมีเพียง 14 ขวด / PHOTO courtesy of Maison Matisse

ผลงานทั้งสองยังนำมาซึ่งการรังสรรค์สองลวดลายสีสันสดสว่างเจิดจ้า สื่อถึงความสุข เบิกบานใจจากเมซง มาตีส โดยที่ลวดลายจากภาพวาด “นักดนตรี” ถูกนำมาใช้กับขวดลายผึ้งรุ่น Bee Bottle Maison Matisse Edition เพื่อให้เป็นผลงานอันมีความพิเศษเหนือสามัญหรือ Exceptional Piece ส่วนภาพปะกระดาษกว็อช “หนึ่งพันหนึ่งราตรี” ได้ถูกดัดแปลงขึ้นเป็นลวดลายอันงดงามบนสามผลงานใหม่รุ่น Maison Matisse Edition ในคอลเลกชัน L'Art & La Matière 

Jasmin Bonheur เป็นน้ำหอมกลิ่นมะลิรุ่นแรกของคอลเลกชัน L'Art & La Matière โดยอาศัยการปรุงแต่งกลิ่นด้วยหัวน้ำหอมอันเสมือนตัวแทนหลากเฉดจากจานสีของมาตีส ด้วยความหมายของชื่อน้ำหอมว่า “มะลิแสนสุข” ดอกไม้กลีบขาวบริสุทธิ์ราวคลี่ยิ้มให้กับกลิ่นฉ่ำชื่นของแอปริค็อท, ความหอมหวาน อ่อนโยนของกุหลาบ และเสน่ห์เย้ายวนจากไอริส นี่คือกลิ่นหอมที่สะท้อนถึงความสุข และความเบิกบานในชีวิตวิถีฝรั่งเศสอย่างแท้จริง

PHOTO courtesy of Maison Matisse

ถึงแม้มะลิจะเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสุดโปรดของเกอร์แลงมานับตั้งแต่ปีค.ศ.1828 แต่ทว่าในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ นักออกแบบกลิ่นได้หาจุดหักมุมเผยบุคลิกใหม่ ผ่านการใช้มะลิสองสายพันธุ์จากสามแหล่งผลิตอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน นั่นก็คือมะลิเขี้ยวงูจากเมืองกราส และเขตกาลาเบรียในอิตาลีกับมะลิแขกจากอินเดีย

ดิฉันออกแบบน้ำหอมกลิ่นมะลิที่สง่างามอยู่ท่ามกลางสีสันสดใสด้วยการใช้หัวน้ำหอมซึ่งมอบกลิ่นแห่งความเบิกบานปรุงแต่งลงไปบนกลีบดอกไม้สีขาวกระจ่าง โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากจานสีในมือของอ็องรี มาตีส หนึ่งในศิลปินผู้สร้างผลงานแห่งความสุขเป็นเครื่องชี้นำ เดลฟีน เฌลค์ นักออกแบบผู้ปรุงน้ำหอมของ Guerlain กล่าวถึงแนวทางการออกแบบแนวกลิ่นในครั้งนี้เพื่อถ่ายทอดครรลองความงามจิตรกรรมผ่านลำนำแห่งความหอมได้อย่างแยบคาย ให้ทุกองค์ประกอบของเนื้อกลิ่นร่วมกันจุดประกายจินตนาการถึงแสงแดดทางตอนใต้ของฝรั่งเศสจรัสประกายออกมาจากผลงานต่างๆ ของมาตีส ภายใต้สรรพสีแต่งแต้ม มะลิดอกนี้นำมาซึ่งความสุขตรงกับความหมายของชื่อน้ำหอม และฉายาของจิตรกรเจ้าของผลงาน

นอกจากผลงานน้ำหอม “มะลิแสนสุข” ซึ่งถูกผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง 1000 ชิ้น ลวดลายจากภาพวาด “หนึ่งพันหนึ่งราตรี” นี้ยังถูกนำมาใช้กับแผ่นประดับสำหรับเติมความหรูหราบนฝาขวดของน้ำหอมกลิ่นใดๆ ในคอลเลกชัน L'Art & La Matière ด้วยเช่นกันโดยวางจำหน่ายเพียง 200 ชิ้น ในขณะที่เทียนหอม Figure Azur รุ่น Maison Matisse Edition กรุ่นกำจายความหอมเย้ายวนชวนหลงใหลของผลมะเดื่อกลางไอแดดออกมาจากแก้วบรรจุสีขาวรุ่นพิเศษ ตกแต่งลวดลายซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาดชิ้นเดียวกันนี้ มีวางจำหน่ายในจำนวนจำกัดเพียง 500 ชิ้นเพื่อสะท้อนถึงความสุขยามนอนอาบแดดริมทะเลทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ท้องถิ่นที่อ็องรี มาตีสโปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง

  งานลงสีลวดลายจากภาพวาด บนขวด Bee Bottle// PHOTO courtesy of Maison Matisse

สำหรับผลงานอีกชิ้น อันเป็นจุดเชื่อมโยงถึงบทเริ่มต้นชีวิตศิลปินของมาตีสในฐานะนักดนตรีไวโอลิน ทักษะ และไหวพริบด้านการดนตรีของเขาถูกพลิกแพลงผ่านการนำจังหวะ หรือท่วงทำนองมาใช้กับงานจัดระเบียบรูปทรงรองรับเฉดสี จากเส้นกรอบของใบฟิโลเดนดรอนที่ตอบรับกับสัดส่วนโค้งเว้าของกีตาร์ ไปจนถึงพื้นที่สีแดงตัดน้ำเงินสดซึ่งดูเรียบง่าย ปราศจากมิติ ตามปรากฏในภาพวาด “นักดนตรี” หรือ La Musique” (1939) ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่จิตรกรหญิงอาสตริด เดอ ชาเญ ผู้สร้างชื่อเสียงให้ตนเองได้อย่างโดดเด่นเป็นที่สุดในโครงการฟื้นฟู บูรณะพระราชวังแวรซายส์ที่เพิ่งเสร็จสมบูรณ์ไปไม่นานมานี้ มารังสรรค์ลวดลายเอกลักษณ์ และเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ทางการออกแบบทั้งในแง่ของรูปทรง และสีสันที่ตัดกับพื้นหลังสีน้ำเงินสดเข้ม สำหรับนำมาใช้กับผลงานรุ่น Exceptional Piece รองรับการบรรจุ Couleur Bonheur (กูเลอร บ็อนเนอร) หรือ “สีสันแห่งความสุข” น้ำหอมเข้มข้นระดับเอ็กซแตรต์ (extrait) เจ้าของเนื้อกลิ่นเข้มข้นสูงสุด มอบกำลังกลิ่นสูงสุด

ความประณีต ใส่ใจในรายละเอียดอันหมดจด ไร้ที่ติ ปราศจากช่องโหว่แต่ประการใดในเนื้องานทั้งหมดนี้ เป็นผลจากการใช้เวลาของเธอทำการศึกษา และวิเคราะห์ร่วมกับเมซง มาตีสอย่างต่อเนื่องจนมิอาจนับชั่วโมงได้ เพื่อคัดเลือกหกเฉดสีออกมาจากภาพวาด “นักดนตรี” รุ่นต้นแบบ ก่อนจะทำการออกแบบ ผสมสีทั้งหกเฉดนั้นขึ้นมาอีกครั้งเพื่อให้ตรง หรือใกล้เคียงกับในภาพวาดต้นแบบให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนของการปรับพื้นที่รองรับการกระจายตัวจังหวะสีกับมิติความลึก ลวดลายทั้งหมดอาศัยงานลงพู่กันภายใต้ความพิถีพิถันต่อทุกรายละเอียดอย่างที่สุดเพื่อให้แต่ละขวดกลายเป็นผลงานศิลปะอันทรงเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวในโลก แต่ละ “ชิ้น” เต็มไปด้วยความล้ำเลอค่า และทรง “คุณค่า” แก่การเก็บสะสม และส่งต่อเฉกเช่นสุดยอดผลงานศิลปะสร้างสรรค์แห่งยุคสมัยด้วยทุกประการเหตุผล นอกจากจะมีลายเซ็นพร้อมหมายเลขกำกับให้สมฐานะผลงานหนึ่งเดียวในโลกอย่างแท้จริง ก็ยังได้รับการบรรจุไว้ในกล่องไม้ อันอาศัยงานออกแบบเดียวกันกับลังไม้สำหรับใช้ขนส่งงานศิลป์ชั้นสูง โดยจะทำการวางจำหน่ายทั่วโลกเพียง 14 ขวดเท่านั้น (สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขายที่เดียว ขวดเดียวที่สิงคโปร์

ABOUT THE AUTHOR
วรวุฒิ พยุงวงษ์

วรวุฒิ พยุงวงษ์

At boundary of athletics and beauty, I write and play

ALL POSTS