HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
Feeling In Love เกาะแห่งความรักที่ชื่อ...สีชัง...
by วรวุฒิ พยุงวงษ์
30 ส.ค. 2565, 20:30
  1,004 views

“ว่ากันว่า ใครที่อยากเติมความหวานให้ชีวิต ยามเช้าให้ชวนกันมารับแสงแรกของตะวัน ณ ปลายสะพานแห่งรัก สะพานอัษฎางค์”

ว่าจะเขียนถึงเกาะสีชังมาตั้งแต่ episode สุดท้ายของละคร “คุณหมีปาฏิหาริย์” กับฉากที่พี่ณัฐพาเต้าหูไปสวีทกันบน “เกาะแห่งความรัก” ออนแอร์ไปทางช่อง 3 แต่ด้วยสารพัดเหตุ ทำให้ผัดผ่อนกับตัวเอง เลื่อนแล้วเลื่อนอีกกับบรรณาธิการ จนเพื่อนๆ หลายคนตามรอยผู้เขียนหลังจากได้คุยกันว่านึกอย่างไรถึงไปเที่ยวสีชัง และสีชัง “มีอะไรให้น่าดู?”

เกาะภูเขาแห่งนี้ เป็นอำเภอที่ 8 ของจังหวัดชลบุรี มีเพียง 1 ตำนาลคือท่าเทววงษ์กับ 7 หมู่บ้าน รายล้อมด้วย 8 เกาะบริวาร (สัมปันยื้อ, โปลง, ร้านดอกไม้, ยายเท้า หรือยายท้าว, เกาะขามน้อยม เกาะขามใหญ่, ท้ายค้างคาว และตาหมื่น) แห่งนี้มีที่มาของชื่อหลายเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นชื่อที่แผลงมาจากภาษาจีนว่า “ซีซัน” อันหมายถึง “สี่คนทำไร่” เพื่ออ้างอิงถึงพ่อค้าเรือสำเภาจีน 4 นายเบื่อหน่ายทำธุรกิจเลยหันมาประกอบอาชีพทำไร่อยู่บนเกาะแห่งนี้ หรือไม่ก็ตำนานว่าฤาษีองค์หนึ่งเบื่อหน่ายโลกีย์วิสัย ปลีกตนมาบำเพ็ญพรตบนเกาะ และเป็นที่นับถือของชาวบ้านจนพากันเรียกชื่อเกาะว่า “ฤาษีชัง” รวมถึงข้อสันนิษฐานว่าชื่อเดิมคือ “สีห์ชงฆ์” ซึ่งแปลว่า “แข้งสิงห์” เพื่อระบุรูปทรงของเกาะ และท้ายสุดคือ “สีชัง” มาจาก “สระชัง” ที่หมายถึงห้วงน้ำกว้างใหญ่

แต่จะมีที่มาของชื่ออย่างไรก็ตาม สาเหตุซึ่งดึงดูดใจให้ผู้เขียนมาพักผ่อน (กึ่งผจญภัย) บนเกาะแห่งนี้ก็คือสถานที่ท่องเที่ยวท่ามกลางบรรยากาศแปลกตาอันส่งผลให้สีชัยเคยเป็นเกาะแห่งการตากอากาศมาแต่เริ่มแรก

สำหรับการเดินทางมาพักบนเกาะสีชัง เราขอเลือกใช้เหตุผลด้านความสะดวกสบาย จ่ายเงินไม่อั้นด้วยการนอนที่โรงแรมโนโวเทล เนื่องจากสามารถจอดรถทิ้งไว้ที่โรงแรมโนโวเทลฝั่งศรีราชา อีกทั้งโรงแรมยังมีสปีดโบทบริการ ทั้งแบบของโรงแรม (2 มอเตอร์ ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 20 นาที) กับเรียกของเอกชนมาให้ (1 มอเตอร์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที) แทนที่จะไปขึ้นเรือโดยสาร ซึ่งใช้เวลาราว 30 นาที นอกจากนั้นปรัชญาการนอนโรงแรมประจำตัวของเราก็ใช้ได้เกือบทุกที่ นั่นคือ “มีปัญหาปรึกษาก็องเซียร์จ” อันหมายถึงให้เจ้าหน้าที่โรงแรมจัดการเรื่องรถเช่าพร้อมคนขับ ซึ่งสำหรับเกาะสีชัง ก็เลี่ยงไม่พ้นรถ “สกายแล็ป” พร้อมคนขับนำทางผู้นิยมจัดทริปพานักท่องเที่ยวไปยังจุดสำคัญต่างๆ (บางแห่งเราก็ไม่แวะ ได้แค่ผ่านไป เพราะต้องการทุ่มเวลาไปให้กับจุดหมายแห่งการมาเที่ยวอย่างเต็มที่) โดยเริ่มจากศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ อันเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเกาะแห่งนี้ให้ความนับถือ ความโดดเด่นของศาลเจ้านั้นก็คือภูมิทัศน์ดัดแปลงจากถ้ำให้กลายเป็นศาสนสถานรองรับสถาปัตยกรรมผสมไทยกับจีน จากบริเวณศาลเจ้าแห่งนี้ ยังอำนวยต่อการชมทิวทัศน์บ้านเรือนด้านหน้าเกาะได้อย่างชัดเจน

ผ่านศาลเจ้าไปก็จะถึงช่องเขาขาด หรือที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “ช่องอิศริยภรณ์” ค่อนไปทางด้านหลังเกาะ คือทางตะวันตก ภูมิทัศน์อันโดดเด่นด้วยลักษณะเฉพาะของช่องเขาซึ่งขาดออกจากกันเป็นหน้าผาสูง ส่งผลให้มีลมพัดแรงแม้อยู่ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบ มีทุ่งหญ้าที่ปกคลุมบางส่วน เมื่อถึงฤดูร้อนจะกลายเป็นสีทองอร่ามตระการตา ว่ากันว่าตอนพระอาทิตย์ตก ที่แห่งนี้จะให้บรรยากาศงดงามเป็นอย่างยิ่ง บริเวณช่องเขาขาดนี้ยังมีหาดหินกลมเพราะเต็มไปด้วยหินกลม ๆ ขนาดต่าง ๆ มากมายเกิดขึ้นจากอิทธิพลของลมที่พัดผ่านจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออกในช่วงเดือนมีนาคมถึงกันยายน ในอดีตเคยเป็น ที่ตั้งพลับพลาที่ประทับสำหรับชมทิวทัศน์พระอาทิตย์ตกของรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ยังมีแหลมมหาวชิราวุธ เป็นจุดชมวิว (มีลักษณะคล้ายกับแหลมพรมเทพแต่เล็กกว่า) โดยมีสะพานทอดยาวยื่นออกไปยังแหลม นักท่องเที่ยวนิยมไปตกปลาที่นั่นเพราะมีโขดหินมากมายเป็นแหล่งอาศัยของฝูงปลาหลายชนิด อีกทั้งยังเหมาะเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกในฤดูหนาวเนื่องจากช่วงเวลานั้น พระอาทิตย์เหมือนจะมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ

จากนั้น สกายแล็ปก็จะพาเราไปยังสถานที่สำคัญอันเป็นสาเหตุในการมาเที่ยวเกาะสีชัง นั่นกือพระจุฑาธุชราชฐาน ซึ่งจะขอยกไปกล่าวถึงในตอนท้ายเพราะเรื่องราวยาวมาก

เมื่อผ่านสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเกาะสีชังแล้ว ก็จะมาถึงหาดถ้ำพังสำหรับผู้ที่ต้องการเล่นน้ำทะเล (เนื่องจากตัวโรงแรมโนโวเทลตั้งอยู่ในเขตน้ำลึก มีแต่โขดหิน ไม่สามารถลงไปเล่นน้ำได้) ในเขตของอ่าวอัษฎางค์ ถัดไปก็จะเป็นท่ายายทิมทางทิศใต้ของเกาะ ซึ่งเดิมทีเป็นท่าเทียบเรือสำหรับขนสิ่งหิน ซึ่งได้จากการระเบิดภูเขาบนเกาะสีชังจนการสัมปทานสิ้นสุด กระนั้น ปัจจุบันก็ยังคงมีร่องรอยการระเบิดหินให้เห็นอยู่ตลอดเส้นทางผ่านเข้าสู่แหลมงู อันเป็นอีกแหล่งตกปลา และจุดชมวิว ที่สามารถมองเห็นเกาะยายท้าวกับเกาะค้างคาว 2 ใน 8 เกาะบริเวณที่กล่าวถึงไปตอนต้น ความพิเศษของแหลมงูก็คือ ช่วงเวลาน้ำลด (ก็คือตอนเช้า) ปลายแหลมจะกลายเป็นหาดทรายให้เดินข้ามไปยังเกาะทั้งสองนั้นได้

ความสำคัญของเกาะสีชังในประวัติศาสตร์นั้น ที่นี่เป็นเป็นที่จอดพักเรือสินค้านานาชาติในฐานะส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินเรือสินค้าชายฝั่งทะเลตะวันออกอันเชื่อมโยงการค้าสำเภาในทะเลจีนใต้กับเมืองต่างๆ ในภาคกลางของราชอาณาจักรสยาม จนแม้นักเดินเรือชาวตะวันตกในช่วงรัตนโกสินทร์ก็ยังรู้จักเกาะสีชังเป็นอย่างดีในนาม เกาะดัทช์ เพราะพ่อค้าชาวดัทช์ของบริษัท ดัทช์ อีสท์ อินดีส์ (Dutch East Indies) นิยมใช้เกาะสีชังเป็นที่พักเรือ นอกจากนั้นบรรยากาศของท้องถิ่นยังอำนวยต่อการฟื้นฟูสุขภาพได้เป็นอย่างดีดังจะเห็นได้จากในสมัยรัชกาลที่ ๕ (หรือเกินกว่านั้นขึ้นไป) สีชังเป็นเกาะตากอากาศ ให้คนกรุงพากันมาพักรักษาตัวเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถก็เคยเสด็จประทับที่เกาะสีชังนี้เพื่อทรงตากอากาศและเยียวยาพระโรคาพยาธิ ก็ปรากฏว่าทรงหายเป็นปกติ

นอกจากจะเคยเป็นสถานที่ที่ทรงใช้เป็นที่บริหารพระราชกรณียกิจที่สำคัญๆ ในการปกครองประเทศบ้านเมืองมาระยะหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งได้เคยเป็นที่พักฤดูร้อน รวมถึงใช้เป็นสถานประชุมและ ดำเนินกิจการของหมู่อำมาตย์ข้าราชบริพาร ระดับผู้ใหญ่ชั้นพระบรมวงศานุวงศ์ เกาะสีชังยังเป็นสถานที่ประสูติพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ(เจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ ในรัชกาลที่  6) และสร้างพระราชวังจุฑาธุช ณ เกาะแห่งนี้อีกด้วยเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๕ และสร้างพระจุฑาธุชราชฐาน ณ เกาะแห่งนี้อีกด้วยซึ่งทำให้เกาะสีชังเป็นเพียงเกาะเดียวในประเทศไทยที่มีพระราชวังหรือเขตพระราชฐานตั้งอยู่ที่เกาะสีชังนี้ นั่นก็คือพระจุฑาธุชราชฐาน ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเทววงศ์ลงมาทางใต้ของเกาะสีชัง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นที่ประทับในฤดูร้อน สภาพภูมิทัศน์ภายในมีความสวยงามตกแต่งตามลักษณะอุทยาน เดิมทีพระราชฐานแห่งนี้ประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งโกสีย์วสุภัณฑ์ พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ พระที่นั่งโชติรสประภาต์ และพระที่นั่งเมขลามณี พร้อมทั้งสร้างตำหนักขึ้นอีก 14 ตำหนัก โดยมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช เป็นแม่กอง ออกแบบโดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพศาสตรศุภกิจ ภายในเขตพระราชฐานยังมีสวนดอกไม้ สระ ธารน้ำ น้ำพุ ถ้ำหน้าผา  และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ อย่างประภาคาร และสะพานท่าเทียบเรือสีขาว

“เรือนเขียว” เรือนไม้ริมทะเลปัจจุบันยังอยู่และมีสภาพที่สมบูรณ์

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเสด็จมายังเกาะสีชังเป็นประจำโดยเรือกลไฟ และประทับแรมบนเรือ พระที่นั่งโดย มิได้สร้าง สร้างพลับพลาที่ประทับ แต่ในเวลานั้นก็มีเรือนไม้พักผ่อนริมทะเล ปลูกสร้างอยู่แล้วหลังหนึ่ง คือ “เรือนเขียว” ซึ่งปัจจุบันยังอยู่และมีสภาพที่สมบูรณ์

ในอดีตเกาะสีชังได้ใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อครั้งทรงพระประชวรในปีพุทธศักราช๒๔๓๑ และคณะแพทย์ได้ถวายความเห็นว่าควรเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ในที่ซึ่งจะได้อากาศจากชายทะเลโดยแต่เดิมบริเวณที่ประทับเป็นเพียงเรือนหลวงที่ฝรั่งเช่าอยู่ ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมด้วยและในช่วงระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๓๒ จนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่เกาะสีชังอีกหลายครั้ง 

ในระยะแรกได้มีพระราชดำริและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกขึ้น๓ หลัง และพระราชทานให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับพักฟื้นของผู้ป่วย ได้แก่ ตึกวัฒนา ตึกผ่องศรี และตึกอภิรมย์ ซึ่งตั้งชื่อตามพระนาม สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี และ พระนางเจ้าสายสวลีภิรมย์ ตามลำดับ หลังจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระราชฐาน ที่ประกอบด้วยพระที่นั่ง๔ องค์ ได้แก่ พระที่นั่งโกสีย์วสุภัณฑ์ พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ พระที่นั่งโชติรสประภาต์ พระที่นั่งเมขลามณี และพระตำหนักอีก ๑๔ หลัง เช่น พระตำหนักวาสุกรีก่องเก็จ พระตำหนักเพ็ชร์ระยับ พระตำหนักทับทิมสด พระตำหนักมรกฎสุทธ์ ซึ่งพระตำหนังมรกฎสุทธ์นี้เป็นที่เป็นที่ประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ซึ่งในปัจจุบันพระที่นั่งและพระตำหนักเหล่านี้ไม่ปรากฏให้เห็นอีกแล้ว ส่วนอาคารและสถาปัตยกรรมบางอย่างที่ยังคงหลงเหลือมาให้เห็นในปัจจุบัน ได้แก่ ตึกวัฒนา ตึกผ่องศรี ตึกอภิรมย์ เรือนไม้พักผ่อนริมทะเล ศาลศรีชโลธรเทพ รวมทั้งอัษฎางค์ประภาคาร ซึ่งเป็นประภาคารบนแหลมวังซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ สะพานอัษฎางค์และพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร

ด้วยการออกแบบพื้นที่ตามแบบสวนสถาปัตย์ จึงมีการขุดและสร้างบ่อ สระ และธารน้ำ รวมทั้งบันไดและทางเดินเท้าขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้รับพระราชทานนามอย่างคล้องจอง อาทิเช่น บ่อน้ำที่ชื่ออัษฎางค์, เชิญสรวล, ชวนดู, ชูจิตร, พิศเพลิน, เจริญใจ ฯลฯ หรือสระเทพนันทา, มหาอโนดาตต์, ประพาสชลธาร ตลอดจนบันไดเนรคันถี, รีฟันม้า, ผาเยปนูน, มูนสโตนหนา, ศิลาทอง, ผองผลึก ฯลฯ 

หลังเหตุการณ์พิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเมื่อรัตนโกสินศก ๑๑๒ หรือประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ฝรั่งเศสได้ปิดล้อมอ่าวไทยและส่งกำลังทหารเข้ายึดเกาะสีชัง ทำให้การก่อสร้างพระที่นั่งต่างๆ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่หยุดชะงักลงและในเวลาต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆ อันก่อสร้างด้วยไม้เป็นหลักเพื่อนำไม้ไปใช้สร้างที่อื่น แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่านำไปใช้กับที่ใดบ้าง ยกเว้นก็แต่เพียงไม้สักทองมาจากพระที่นั่งมันธาตุรัตน์โรจน์ พระที่นั่งเครื่องไม้สักทองรูปแปดเหลี่ยม ๓ ชั้น หนึ่งในพระที่นั่ง 4 องค์ของ “พระจุฑาธุชราชฐาน” ซึ่งสันนิษฐานว่าถูกนำมาสร้างใหม่ใกล้พระที่นั่งอัมพรสถาน ในเขตพระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. 2443 และได้รับการพระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งวิมานเมฆ 

ลานหิน

ปัจจุบันพระจุฑาธุชราชฐาน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 224 ไร่ อยู่ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับมอบสิทธิการใช้ที่ดินจากกรมธนารักษ์ ในปีพุทธศักราช 2521 โดยได้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสถานีวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์ฝึกนิสิตส่วนพื้นที่ริมทะเลด้านหน้าเขาก่อนถึงแหลมวังเป็นบริเวณพื้นที่ของพระราชฐานเดิม ซึ่งมีการปลูกไม้ประดับทั้งที่เป็นต้นไม้เดิมเมื่อครั้งสร้างพระราชฐานและที่นำเข้ามาปลูกเพิ่มเติมภายหลัง ส่วนพื้นที่ตั้งแต่บริเวณไหล่เขาหลังพระราชฐาน เรื่อยขึ้นไปจนถึงบริเวณพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตรที่อยู่บนยอดเขา และอ้อมไปอีกด้านหนึ่งของพระอุโบสถจนถึงศูนย์บริการข้อมูลยังคงเป็นป่าธรรมชาติ ซึ่งบริเวณตรงกลางมีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าสลับกับลานหินและโขดหินเตี้ยๆ และมีหมู่ไม้ที่ประกอบด้วยไม้ต้น ไม้พุ่มและไม้เลื้อยหลากหลายชนิดขึ้นแทรกอยู่เป็นระยะๆ และในช่วงฤดูฝนจะมีพืชล้มลุกขนาดเล็กขึ้นอยู่ตามพื้นดินหลากหลายชนิด

ตึกวัฒนา หรือเรือนวัฒนา ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการเหตุการณ์สำคัญบนเกาะสีชัง 

เมื่อเดินทางเข้าสู่เขตพระจุฑาธุชราชฐานในปัจจุบันทางซ้ายมือจะเป็นแนวชายหาดหินสลับกับหาดทรายเลียบทะเล ด้านขวามือตรงบริเวณทางเข้าคือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำชลทัศนสถานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของของสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล เลยพิพิธภัณฑ์เข้ามาอีกเล็กน้อยบนไหล่เขาทางด้านขวามือจะเป็นศาลศรีชโลธรเทพ เป็นศาลเจ้าซึ่งเป็นที่นับถือของชาวเกาะสีชังมาเป็นเวลาช้านานผ่านศาลศรีชโลธรเทพมาก็จะถึงทางเข้าพระจุฑาธุชราชฐานด้านใน จะเห็นแนวของต้นลั่นทมปลูกเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก ด้านซ้ายมือหรือทางทิศเหนือจะมองเห็นสะพานอัษฎางค์ซึ่งได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ เป็นสะพานยาวสลับกับศาลา 3 ระยะทอดยาวลงไปในทะเล หากเดินตามแนวชายหาดและลัดเลาะตามโขดหินไปเรื่อยๆ จะไปถึงแหลมวังซึ่งเป็นที่ตั้งของอัษฎางค์ประภาคาร เมื่ออ้อมแหลมวกกลับขึ้นมาพบกับชายหาดอีกด้านหนึ่ง เป็นบริเวณที่ตั้งของพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ซึ่งจะสังเกตเห็นส่วนฐานพระที่นั่งที่ยังเหลืออยู่ถัดขึ้นมาเป็นเรือนไม้ริมทะเลหรือที่ปัจจุบันมักเรียกกัน ว่าเรือนเขียว ตามสีของอาคาร ถัดจากเรือนเขียวเป็นตึกสีขาว 2 ชั้น คือ ตึกวัฒนา หรือเรือนวัฒนา ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการเหตุการณ์สำคัญบนเกาะสีชัง 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณเชิงเขาทางด้านล่างหลังเรือนวัฒนามีศาลาซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถานที่ที่ผู้มาเยือนพระจุฑาธุชราชฐานเข้าไปถวายสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ออกจากเรือนวัฒนาเลียบไปตามถนนริมทะเล ตามทางและบันไดซึ่งสร้างขึ้นไว้แต่เดิม ขึ้นไปตามไหล่เขาด้านทิศใต้จะพบเรือนทรงกลมชั้นเดียว คือ เรือนผ่องศรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้จัดนิทรรศการพระราชประวัติและประวัติบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญกับเกาะสีชังในอดีตและใกล้ๆ กันนั้นเป็นเรือนยาวชั้นเดียว คือ เรือนอภิรมย์ ซึ่งใช้จัดแสดงนิทรรศการสิ่งปลูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ หากเดินตามทางขึ้นเนินเขาไปด้านหลังเรือนผ่องศรีจะไปถึงวัดอัษฎางคนิมิตร มีพระอุโบสถเจดีย์สีขาวขนาดใหญ่ซึ่งได้รับการบูรณะซ่อมแซมจนมีความงดงามเหมือนเดิมและเป็นจุดที่สามารถชมวิวของทะเลเกาะสีชังได้ดีอีกจุดหนึ่ง อีกด้านทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดอัษฎางคนิมิตร พบเจดีย์เก่าแก่อายุหลายร้อยปี เรียกว่า เจดีย์เหลี่ยมอยู่บนเนินหิน ส่วนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดอัษฎางคนิมิตรจะมีทางเดินไปยังศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดเขตพระราชฐาน และระหว่างทางด้านขวามือมีจุดชมวิว เนินเขาน้อย เป็นจุดที่สามารถชมทิวทัศน์ในระยะไกลของเกาะสีชัง

แม้ว่าความรุ่งเรืองและอดีตอันมีชีวิตชีวาของพระราชฐานแห่งนี้จะเสื่อมถอยลดน้อยลงตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่การได้มาเยี่ยมชมพระจุฑาธุชราชฐานในปัจจุบันนอกจากจะได้ชื่นชมความงดงามของสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรม พร้อมทั้งพระอัจฉริยภาพในการก่อสร้างพระราชฐานแห่งนี้ได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนกับลักษณะของภูมิประเทศแล้ว บรรยากาศริมทะเลที่เงียบสงบยังทำให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนได้ย้อนระลึกและเกิดจินตภาพถึงความผูกพันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ไทยในสมัยนั้นที่มีต่อเกาะสีชัง ตลอดจนได้รับความรื่นรมย์จากพรรณไม้ดั้งเดิมของเกาะ ผสมผสานกับพรรณไม้ประดับที่นำเข้ามาปลูก โดยเฉพาะดอกลั่นทมหลากสี ซึ่งจะบานสะพรั่งไปทั่วทั้งเขตพระราชฐาน 

ก่อให้เกิดความงามและประทับใจแก่ผู้ที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนพระจุฑาธุชราชฐาน ณ เกาะสีชังแห่งนี้

สุดท้ายก็ออกจากเขตพระจุฑาธุชราฐาน ทุกคนก็ต้องไปเดินเล่น MV บนสะพานอัษฎางค์อยู่ในบริเวณพระตำหนัก เป็นสะพานขนาดใหญ่ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเคยใช้เป็นท่าขึ้นเทียบเรือหลังจากเสด็จประพาสฝรั่งเศส สร้างด้วยไม้สักทาสี มีป้ายบอกนามสะพานทั้งภาษาไทย ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ เป็นข้อความดังนี้ “สะพานอัษฎางค์ รัตนโกสินทร์ศก 110 สร้างสมัย ร.5” ทรงโปรดพระราชทานนามเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่พระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุฒิ ทรงหายจากอาการประชวร ณ เกาะแห่งนี้ และได้มีพิธีเปิดสะพานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2434

สำหรับการสร้างสะพานอัษฎางค์นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์จ้างลูกจ้างออกมาทำการไม้ ขุนพรหมรักษาเป็นนายด้าน ส่วนการต่อยและขนศิลากับทั้งก่อเสารับสะพานนั้นใช้แรงลูกจ้างบ้าง พวกช่างเกณฑ์บุญบ้าง พระยาสมุทรบุรานุรักษ์เป็นนายด้านทำการตามตัวอย่างของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพศาสตร์ศุภกิจเป็นนายช่างใหญ่ โดยลงมือก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 30 วันเศษ

ทั้งนี้ สะพานอัษฎางค์ ตัวสะพานทำด้วยไม้สักทาสีและตรึงเหล็กที่แข็งแรง เสารับรอดและคานนั้นปักลูกไม้และก่อศิลาด้วยซีเมนต์ผสมปูน แต่เนื่องด้วยสะพานอัษฎางค์ของเดิมได้ผุพังไปหมดแล้ว จึงมีการสร้างสะพานขึ้นมาใหม่ให้เหมือนของเดิม โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงการบูรณะคือ ครั้งแรกได้สร้างตัวสะพาน และบูรณะครั้งที่ 2 จึงเพิ่มเติมศาลานั่งเล่นขึ้นอีก 3 หลัง และมีการบูรณะตัวสะพานอีกครั้งในปี 2556 เพื่อให้เหมาะแก่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อว่าเกาะเล็กๆ แค่นี้ กลับทำให้เที่ยววันเดียวไม่ทั่ว เพราะแค่พระจุฑาธุชราชฐานแห่งเดียว ผู้เขียนก็ต้องหิ้วเสื้อติดตัวไปเปลี่ยนอีกหนึ่งตัว และยังมีอีกหลายจุดท่องเที่ยวตกค้าง ทั้งในส่วนของพระราชวังประวัติศาสตร์ และส่วนอื่นๆ บนเกาะ เป็นสาเหตุว่าจะต้องมาเที่ยวสีชังแห่งนี้อีกอย่างแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพเปิด ตำหนักผ่องศรีภายในเขตพระจุฑาธุชราชฐาน

ABOUT THE AUTHOR
วรวุฒิ พยุงวงษ์

วรวุฒิ พยุงวงษ์

At boundary of athletics and beauty, I write and play

ALL POSTS