ไปอาบป่ากันเถอะ
ป้องกันและรักษาสุขภาพด้วยการอาบป่าให้ต้นไม้เยียวยาจิตใจ ตามแบบฉบับชาวญี่ปุ่น
ว่ากันว่าการอาบป่าเป็นแนวคิดที่ถือกำเนิดขึ้นในญี่ปุ่น ประเทศซึ่งมีวัฒนธรรมและความเชื่อที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติอย่างยิ่งประเทศหนึ่ง คนญี่ปุ่นเชื่อมานานแล้วว่าต้นไม้มีพลังงานที่ช่วยเยียวยาจิตใจของคนได้ กิจกรรมเพื่อความผ่อนคลายของคนที่นี่จึงมักเป็นการไปเดินเล่นในสวนสาธารณะหรือสวนป่าที่มีอยู่มากมายทั่วประเทศ ไปเดินขึ้นเขา ตั้งแคมป์หรือเดินชมพืชพรรณตามธรรมชาติ
ในญี่ปุ่นคำว่าการอาบป่ามีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 1982 โดยกรมป่าไม้ โดยป่าอากาซาวะป่าเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจใน จ.นากาโนะเป็นป่าแห่งแรกที่มีการจัดการเรื่องกิจกรรมการอาบป่าอย่างจริงจัง ต่อมาเมื่อผลลัพธ์ที่ได้จากการอาบป่าเริ่มมีหลักฐานพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อปี 2004 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้นำการอาบป่ามาใช้ในนโยบายด้านเวชศาสตร์ป้องกันอย่างเป็นทางการ
พลังการรักษาบำบัดของป่ามาจากสิ่งที่เรียกว่า “ไฟทอนไซด์” สารเคมีที่ต้นไม้จะปล่อยออกมาเพื่อฆ่าเชื้อโรคและเยียวยาตนเอง ไฟทอนไซด์นี้นอกจากจะดีกับต้นไม้แล้วยังให้ผลในทางที่ดีมากมายกับมนุษย์ ทั้งช่วยผ่อนคลาย ลดความดันโลหิต เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อีกทั้งในป่ายังมีสิ่งที่เรียก 1/f fluctuation หรือความผันผวน 1/f ที่พบได้ในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นจังหวะการเต้นของหัวใจ การสั่นไหวของเปลวเทียน แสงแดดที่ส่องลอดใบไม้ หรือใบไม้ในป่าที่สั่นไหวไปตามแรงลม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นจังหวะของธรรมชาติที่ช่วยให้มนุษย์เกิดความผ่อนคลายได้ทั้งร่างกายและจิตใจ
ในปี 2005 เคยมีการทดลองนำเอา “มนุษย์เงินเดือนผู้อ่อนล้า” จากเมืองใหญ่ไปร่วมกิจกรรมอาบป่า และทำการตรวจเลือดและปัสสาวะทุกวันเพื่อหาความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีในร่างกาย และพบว่าการได้พักแรมในป่า 2 คืน 3 วัน สามารถเพิ่มการทำงานของเซลล์ NK หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งทำหน้าที่ฆ่าเซลล์มะเร็งโดยตรงได้ถึง 52.6% P53 หรือโปรตีนที่ช่วยต้านการเกิดมะเร็งก็มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น โดยเซลล์ NK สามารถรักษาระดับการทำงานที่สูงไว้ต่อไปได้ถึงอีก 30 วัน แม้ว่าจะยังมีการศึกษาทางคลินิกไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการรักษาบำบัดทางการแพทย์ได้ แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนมากสำหรับผลในทางป้องกันและรักษาสุขภาพที่จะได้จากการอาบป่า
ตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมาทางญี่ปุ่นจึงได้ริเริ่มระบบการตรวจประเมินป่าทั่วประเทศ เพื่อขึ้นทะเบียนรับรองป่าที่เหมาะสมสำหรับกิจกรรมอาบป่า ปัจจุบันมีป่า 63 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านการรับรองแล้วว่าเหมาะสม มีเส้นทางเดินที่ไม่อันตราย จะไม่ทำให้หลงป่า มีความชันและความสว่างเหมาะสม บางแห่งสามารถนำรถเข็นเข้าไปได้ อีกทั้งยังมีการฝึกคนท้องถิ่นให้ทำหน้าที่เป็น “ไกด์อาบป่า” มีการจัดอบรมสร้าง “นักบำบัดด้วยการอาบป่า” และเพราะคนญี่ปุ่นมองว่าวิถีทางในการรักษาสุขภาพที่ดีที่สุดคือการป้องกัน การอาบป่าจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด
แม้ว่าในไทยจะยังไม่มีการจัดการที่เป็นระบบเช่นนั้น แต่เราก็เลือกได้ ที่จะไปใช้เวลาอยู่ในธรรมชาติบ้าง แทนที่จะไปอยู่ตามโรงหนังหรือห้างสรรพสินค้าเป็นประจำ ด้วยคุณประโยชน์มากมายที่ต้นไม้มีให้ เพียงได้ไปเดินเล่นในสวนสักแห่ง หรือออกไปใช้เวลาคุณภาพร่วมกับครอบครัวในป่าธรรมชาติใกล้ๆ อย่างเช่น เขาใหญ่ ก็น่าจะช่วยเยียวยาร่างกายและจิตใจได้ไม่มากก็น้อย
MAIN PHOTO by mali maeder from Pexels