HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
โซรายา ราชินีอัฟกานิสถาน
by ซัมเมอร์
24 ส.ค. 2564, 14:47
  831 views

เมื่อ 90 กว่าปีที่ผ่านมา อัฟกานิสถานเคยมีพระราชินีพระองค์หนึ่ง ที่ทรงต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของสตรี...

        พระราชินีโซรายา ทาร์ซี่ แห่งอัฟกานิสถาน ประสูติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1899 ในครอบครัวนักปฏิรูปสังคมซึ่งขณะนั้นลี้ภัยอยู่ในดามัสกัส ซีเรีย ยุคที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมัน

        หลังจากได้รับนิรโทษกรรม บิดาของโซรายาพาครอบครัวหวนคืนสู่อัฟกานิสถาน และได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีในราชสำนัก โซรายาจึงได้พบกับเจ้าชายอมานุลเลาะห์ นอกจากความงามของเธอจะจับพระทัย เจ้าชายยังทรงเห็นด้วยกับแนวคิดของมาห์มุด ทาร์ซี่ บิดาของเธอ ในเรื่องการปฏิรูปสังคมและเสรีภาพ

       

        โซรายาเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอมานุลเลาะห์ในปีค.ศ. 1913 ที่พระราชวังในคาบูล เป็นพระชายาเพียงพระองค์เดียวตลอดพระชนม์ชีพ ทรงปฏิบัติกรณียกิจเคียงข้างเจ้าชายตลอดมา

        หลังสงครามอังกฤษ-อัฟกานิสถาน เจ้าชายทรงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีอมานุลเลาะห์ ข่านในปีค.ศ. 1926 และทรงสถาปนาพระชายาเป็นพระราชินีองค์แรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ และเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายในมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปประเทศ และเสด็จออกในโอกาสสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งทรงม้าออกล่าสัตว์ เสด็จเยือนยุโรปอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี ดังที่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระราชดำรัสว่า “ข้าพเจ้าเป็นพระราชาของท่าน แต่พระราชินีคือรัฐมนตรีศึกษาธิการ”

Soraya Tarzi
พระราชินีโซรายา เสด็จกรุงเบอร์ลิน ในปี พ.ศ. 2471

         พระราชินีโซรายาทรงเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของตะวันออกกลางในทศวรรษที่ 1920 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษาและสิทธิสตรี ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลสตรี และโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงขึ้นเป็นครั้งแรก สนับสนุนให้สตรีเดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศ และให้แต่งงานช้าลง นอกจากนี้ยังทรงเรียกร้องให้สตรีมีส่วนในการพัฒนาประเทศ และออกนิตยสารสำหรับสตรีโดยทรงเป็นบรรณาธิการร่วมกับพระมารดา ซึ่งเป็นธิดาของชีคแห่งอเลปโป นิตยสารฉบับนั้นมีชื่อว่า “วิถีสตรี”

        ในปีค.ศ. 1928 พระราชินีโซรายาทรงได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการต่อต้านรุนแรงในประเทศ เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรวดเร็วและมากเกินไป สมเด็จพระราชาธิบดีตัดสินพระทัยสละราชบัลลังก์เพื่อไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง สองพระองค์เสด็จไปอินเดีย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิบริติช ก่อนจะเสด็จลี้ภัยในยุโรปพร้อมพระโอรสธิดา

        อดีตราชาอมานุลเลาะห์สวรรคตที่ซูริคสวิตเซอร์แลนด์ในปีค.ศ. 1960 พระราชินีโซรายาสวรรคตที่โรม อิตาลี ในปีค.ศ. 1968 สิริพระชนมายุ 68 พรรษา.

       นิตยสาร TIMES ยกย่องพระราชินีโซรายาเป็น 1 ใน 100 สตรีแห่งศตวรรษ 1920-2020

https://time.com/5792702/queen-soraya-tarzi-100-women-of-the-year/

https://en.wikipedia.org/wiki/Soraya_Tarzi

 

ABOUT THE AUTHOR
ซัมเมอร์

ซัมเมอร์

เขียนหนังสือ แปลหนังสือ เป็นคอลัมนิสต์พลอยแกมเพชร หลงไหล K-pop และติดตามวงการแฟชั่น

ALL POSTS