HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
5 กฎหมาย In Paris
by ซัมเมอร์
16 พ.ย. 2563, 23:23
  2,133 views

รักษาเสน่ห์ ความฝรั่งเศสที่เห็นในซีรีส์ฮิต ​Emily In Paris ด้วยกฏหมายที่ผู้มาเยือนอาจไม่รู้

       บงชูร์...เสน่ห์“ความฝรั่งเศส” โก้เก๋แทรส์ชิคและคลาสสิก ที่ส่งให้ Emily In Paris กลายเป็นซีรี่ส์สุดปังนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่อาศัยการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานและการใช้กฎหมายช่วยอนุรักษ์คุณค่าของศิลปะการกินอยู่และการใช้ชีวิตอย่างมีวัฒนธรรมประจำชาติ...

baguetteกฎหมายขนมปัง

       เพื่อรักษาความเป็นบาแกตต์และครัวซองต์ ฝรั่งเศสมีกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า บาแกตต์ของแท้และดั้งเดิม จะต้องผลิต ณ ที่จำหน่าย คือนวดแป้งและอบในร้านขนมปัง โดยใช้ส่วนผสมสี่ชนิดคือ แป้งสาลี, น้ำ, เกลือ และยีสต์...ย้ำว่าสี่ชนิดเท่านั้นแล้วก็ห้ามแช่แข็ง ห้ามแอบใส่สารปรุงแต่ง หรือวัตถุกันเสียเด็ดขาด เก็บได้ไม่นานก็ช่าง พรุ่งนี้ค่อยเดินไปร้านใกล้อพาร์ทเม้นท์แล้วซื้อห่อกระดาษกลับมาใหม่

croissant        ส่วนครัวซองต์ แม้ชาติกำเนิดจะมาจากเวียนนาในยุคที่ออสเตรียถูกกองทัพออตโตมันบุก แต่ฝรั่งเศสก็จับมาเปลี่ยนชื่อจาก “คิปเฟล” เป็น “ครัวซองต์” จนกลายเป็นของตัวเองมาตั้งแต่ยุคเรอเนสซองส์ และจริงจังกับการรักษาคุณภาพความเป็นครัวซองต์อย่างมาก ถึงขั้นที่ในยุคต่อมาเมื่อมาร์การีนหรือเนยเทียมเริ่มแพร่หลายหลังสมัยสงครามนโปเลียนที่สาม ฝรั่งเศสก็ออกกฏหมายให้ครัวซองต์ที่ใช้เนยแท้ ทำเป็นรูปตัวตรง ส่วนครัวซองต์ที่ผสมมาร์การีน แม้เพียง 5% ก็ต้องทำเป็นรูปโค้ง จะมาตรงอย่างของแท้ไม่ได้!.

diorกฎหมายโอต์กูตูร์

        คำว่า โอต์ กูตูร์ ( Haute Couture) ที่หมายถึงสุดยอดแฟชั่นของฝรั่งเศสนั้น เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นในปี 1908 โดยสมาคมห้องเสื้อระดับสูงแห่งกรุงปารีส ชองเบรอแซงดิกาล เดอ ลา โอต์ กูตูร์ โดยมีข้อกำหนดไว้ด้วยว่า ห้องเสื้อที่จะมีสิทธิ์ใช้คำว่าโอต์ กูตูร์ได้นั้น จะต้องอยู่ในรายชื่อที่คณะกรรมการรับรองและมีการพิจารณาเป็นรายปี

        การจะเป็นโอต์ กูตูร์ ยังมีกฎเพิ่มเติมอีกว่า ต้องออกแบบและตัดเย็บชุดขึ้นเพื่อลูกค้าเฉพาะบุคคล โดยมีการฟิตติ้งหรือลองชุดอย่างน้อยหนึ่งครั้ง, ตั้งห้องเสื้อและห้องทำงานในกรุงปารีสและมีพนักงานเต็มเวลาไม่น้อยกว่า 15 คน ช่างฝีมือ 20 คน ที่สำคัญ ต้องจัดแฟชั่นโชว์ นำเสนอคอลเลคชั่น 50 ชุดขึ้นไปทั้งชุดทิวาและราตรี ปีละสองฤดูกาล ในเดือนมกราคมและกรกฎาคม อย่างเช่นผลงานของห้องเสื้อคริสเตียนดิออร์, ชาเนล,  เชียปาเรลลี่ เป็นต้น

กฏหมายกระเป๋า

        แน่นอนว่าพวกมิเร่อร์ ก๊อปเกรดสามเอที่ปั๊มโลโก้แบรนด์นั้นผิดอยู่แล้ว แต่ฝรั่งเศสยังไปไกลกว่านั้นคือจดทะเบียนดีไซน์ รูปทรง และเอกลักษณ์ของงานออกแบบไว้ด้วย ไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้นแต่ยังรักษาผลประโยชน์ในเมืองแฟชั่นอื่น ๆ ทั่วโลกอย่างเคสที่อเมริกา เคยมีการฟ้องร้องเรื่องลอกเลียนแบบกระเป๋าเบอร์กิ้น แม้จะไม่ได้ใช้ชื่อแอร์เมส และขายราคาถูกกว่ามากแต่เจ้าของแบรนด์เขาก็มองว่าเป็นการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด บางคนอาจคิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตสินค้าราคาถูก เสียชื่อเสียง ลดทอนความเชื่อถือในคุณภาพและระดับทางการค้า เคสนี้ฟ้องกันไปเมื่อปี 2014

        รูปทรงของเบอร์กิ้นนั้นเป็นเอกลักษณ์ที่คนทั่วไปรู้จักเพราะออกสื่ออยู่เสมอ อย่าง Sex and the City ซีรี่ส์อเมริกันที่เปรียบเสมือนพี่สาวของ Emily in Paris ก็เคยมีเบอร์กิ้นประกอบฉาก เรียกได้ว่ามีการสั่งสมบารมี สร้างมูลค่าทางการตลาดมายาวนาน จนสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าในอเมริกายังรับจดสิทธิบัตร ทั้งชื่อแบรนด์ และรูปแบบของกระเป๋าด้วย

French Champangeกฎหมายแชมเปญ

       ประโยคที่ว่า “แชมเปญต้องผลิตในแคว้นแชมเปญของฝรั่งเศสเท่านั้น” ไม่ใช่โฆษณาแต่ว่ามีที่มาจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ปี 1919 ที่ห้ามใช้คำว่า “แชมเปญ” กับไวน์ชนิดมีพรายฟองที่ผลิตจากดินแดนอื่น และกรรมวิธีการหมักบ่มก็ต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามแบบดั้งเดิม โดยใช้องุ่นจากแคว้นนี้เท่านั้น

        คงไม่แปลกถ้าจะกำหนดกฏเกณฑ์เฉพาะเครื่องดื่ม แต่การรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของคำว่าแชมเปญยังไปไกลถึงสินค้าอื่น ๆ อีกด้วย อีฟ แซงต์ โลรองต์ เคยต้องยกเลิกการตั้งชื่อน้ำหอมว่าแชมเปญ เพราะศาลอุทธรณ์แห่งกรุงปารีสตัดสินให้ใช้คำนี้เรียกแชมเปญที่เป็นเครื่องดื่มเท่านั้น จะนำมาใช้เป็นชื่อน้ำหอมมิได้

        ส่วนการเปิดแชมเปญฉลองนั้นมีที่มาจากราชสำนักฝรั่งเศส สืบทอดมาถึงสนามแข่งรถกรังด์ปรีซ์ที่เมืองไรมส์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแชมเปญ จึงมีการมอบแชมเปญให้ผู้ชนะ ต่อมาในทศวรรษที่ 60 แดน เกอร์นีย์ นักแข่งรถฟอร์มูล่า วันชาวอเมริกันเกิดนึกสนุกเขย่าขวดก่อนเปิดแชมเปญฉลองแชมป์บนเวทีที่สนามเลอมังส์ กลายเป็นธรรมเนียมเปิดแชมเปญฉลองเป็นฟองฟู่ในเทศกาลรื่นเริงต่าง ๆ ต่อมาจนทุกวันนี้

กฎหมายห้ามถ่ายรูปหอไอเฟลตอนกลางคืน

       หอสูงสัญลักษณ์ของปารีสที่ตั้งชื่อตามวิศวกรกุสตาฟ ไอเฟลนี้เปิดตัวในปี 1889 ภายใต้กฎหมายฝรั่งเศส ลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้สร้างงานศิลปะตลอดชีวิต บวกอีก 70 ปีหลังล่วงลับไปแล้ว ซึ่งก็ส่งผลให้หอไอเฟลเป็นสาธารณะมาตั้งแต่ปี 1993...เฉพาะตอนกลางวันเท่านั้น!

        เหตุผลก็เพราะ ตอนกลางคืน ที่หอไอเฟลมีการจัดแสง อาบสีทอง, ไฟกะพริบ, บีคอน และอีเวนท์ต่าง ๆ ซึ่งระบบไฟนี้ติดตั้งในปี 1985 โดยปิแอร์ บีดูอ์ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คงอีกหลายปีกว่าจะปลอดลิขสิทธิ์  เว็บไซต์ของ SETE บริษัทที่บริหารงานหอไอเฟลจึงระบุว่า การใช้ภาพหอไอเฟลตอนกลางคืนต้องได้รับอนุญาตจาก SETE ก่อน และต้องมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ตามลักษณะของงานและสื่อ แต่ถ่ายมุมมองทิวทัศน์จากบนหอได้ไม่มีข้อห้าม อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีใครถูกดำเนินคดีในชั้นศาลจากการโพสท์หรือแชร์ภาพเหล่านี้...โอเรอวัร์ค

ABOUT THE AUTHOR
ซัมเมอร์

ซัมเมอร์

เขียนหนังสือ แปลหนังสือ เป็นคอลัมนิสต์พลอยแกมเพชร หลงไหล K-pop และติดตามวงการแฟชั่น

ALL POSTS