HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ย้อนรอยภารกิจพลิกฟื้นความสดใสกอบกู้แฟชั่นหลังสงครามโลกของบุรุษนาม คริสเตียน ดิออร์
by วรวุฒิ พยุงวงษ์
27 เม.ย. 2563, 16:16
  2,368 views

        ไม่ถึงสองปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สุดสิ้น ไม่น่าเชื่อว่าทั้งโลกจะถูกพลิกฟื้นให้หวนคืนกลับสู่ความสดใส สนุกสนาน เต็มไปด้วยสีสันอันน่าตื่นเต้นท่ามกลางกลิ่นอายแห่งบรรยากาศหรูหราตระการของของโลกแฟชั่นบทปฏิวัติวัฒนธรรมอันทำให้ทุกขั้วสังคมทั้งโลกก้าวไปตามครรลองของบุรุษนาม...คริสเตียน ดิออร์

        ท่ามกลางละไอหมอกบางเบากับอากาศหนาวเย็นของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947 กลิ่นหอมหวานของดอกไม้เจือความสดชื่นของใบไม้เขียวขจีที่ถือว่าเป็นตัวแทนแห่งความทันสมัยในยุคนั้นฟุ้งกระจายออกมาจากตัวอาคารทรงนีโอ-คลาสสิกเลขที่ 30 บนถนนมงแตญจน์ ทำเลสุดหรูของมหานครปารีส สุภาพสตรีจำนวนมากหลากวงการกำลังรุดหน้ามาสู่ที่มาของกลิ่นหอม – คริสเตียน ดิออร์สั่งให้พนักงานของเขานำน้ำหอม Miss Dior ซึ่งเพิ่งผลิตเสร็จสิ้นจากโรงงานออกมาฉีดพรมในห้องซาลอนต่างๆ ทั่วตัวอาคารห้องเสื้อของตนเพื่อเป็นการ “เรียกแขก” มีบันทึกระบุไว้ว่าครั้งนั้นหมดน้ำหอมไปเกือบหนึ่งลิตรครึ่ง

       

         ทุกพื้นที่ในตัวอาคารแน่นขนัดขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งบันไดวน จากนั้น วินาทีที่ทุกคนเฝ้ารอก็มาถึงกับการปรากฏของเสื้อผ้าคอลเลคชั่นประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 1947 ซึ่งอาศัยโครงสร้างรูปทรงหลัก 2 สไตล์ในการออกแบบ ตัดเย็บ นั่นก็คือ “กอร็อลล์” (Corolle) อันหมายถึงวงกลีบดอกไม้ เพื่อสะท้อนถึงแนวคิด “ดอกไม้ชื่อผู้หญิง” ผ่านแจ็คเก็ตเข้ารูป เน้นเอวคอดกิ่ว หนุนปีกสะโพกเหนือกระโปรงทรงตัว A บานกว้าง สะโพกผายจำลองแบบวงกลีบดอกไม้อันเป็นที่มาของแรงบันดาลใจ ส่วนอีกสไตล์ก็คือ “เลข 8” (Huit) ด้วยตัวเสื้อเน้นอกอิ่มกลมกลึง เอวคอดเหนือสะโพกโค้งผายไม่ต่างอะไรจากเลข 8 จุดกำเนิดแรงบันดาลใจ จำลองสัดส่วนทรวดทรงของผู้หญิงในอุดมคติ “อก-เอว-สะโพก” เพื่อเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่มีความเป็นผู้หญิงอย่างแท้จริง

 

         เหนืออื่นใด บนโครงสร้างที่ดูเรียบง่ายก็คือการตัดเย็บอย่างประณีต เต็มไปด้วยความใส่ใจในรายละเอียดของงานฝีมือเพื่อสื่อถึงเจตจำนงของคริสเตียน ดิออร์ที่จะปลดแอกผู้หญิงออกจากกรอบการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าไร้รูปทรง ปราศจากสีสัน อาศัยเนื้อผ้าที่เน้นความคงทนจนแทบจะหยาบกระด้างเพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาอัตคัดขัดสนระหว่างช่วงสงคราม

        สงครามสิ้นแล้ว ความหม่นหมอง หดหู่ ชวนหมดอาลัยในชีวิตก็ควรยุติ ผ้าไหมจำนวนนับร้อยหลาจนถึงหมดพับถูกนำมาใช้ในกระบวนการอัดพลีทตีเกล็ดสำหรับตัดเย็บกระโปรงบานเพียงตัวเดียว หรืออาจต้องใช้แพรโปร่งใยมัสลินหนึ่งพับหมดไปกับการทำสุ่มซับในสำหรับกระโปรงเข้าคู่กับตัวเสื้อซึ่งดูเรียบง่าย หากสะกดทุกสายตาด้วยฝีมืองานปักประดับโดยใช้วัสดุเลอค่าสุดวิจิตรบรรจง ทุกอย่างคือการนำผลงานแฟชั่นสมัยแบ็ลล์ อีพ็อคหรือหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมฝรั่งเศสกลับมารังสรรค์ใหม่ ไม่ต่างอะไรจากการปลุกฟื้นจิตวิญญาณแห่งความฟู่ฟ่าตระการตาให้กลับมามีชีวิตใหม่ – ย้อนยุคงานปฏิวัติเพื่อสร้างปฏิวัติโลกใหม่หลังสงคราม

       

        “สิ่งซึ่งถูกส่งผ่านงานออกแบบของผมก็เป็นแค่การสื่อถึงรูปแบบการแต่งกายที่ผมต้องการเห็นอย่างแท้จริง งานออกแบบทั้งหมดนี้ก็แค่ว่าความชื่นชอบส่วนตัวของผมมันประจวบเหมาะกับอารมณ์ทั่วไปของผู้คนทั้งหลายในยุคนั้น และอารมณ์เหล่านั้นก็สะท้อนตัวออกมาผ่านแฟชั่นของผมอย่างลงตัว มันไม่ต่างอะไรจากยุโรปซึ่งบอบช้ำจากความเหนื่อยล้าเปลวไฟสงครามเพราะโดนระเบิดลงทุกเมื่อเชื่อวัน และกำลังอยากเห็นประกายสว่างสดใสของดอกไม้ไฟมาแทนที่” คริสเตียน ดิออร์เขียนไว้ในบันทึกของเขา

        และวันนี้....วันที่โลกกำลังเฝ้ารอการสิ้นสุดของสงครามครั้งใหม่ที่ปราศจากระเบิดทำลายล้างรุนแรง กระนั้น ชีวิตมากมายก็ถูกคร่าให้ดับสูญ ถึงแม้โควิด-19 อาจกินเวลาไม่นานถึง 6 ปีเท่ากับสงครามครั้งก่อน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือช่วงเวลาที่หลายคนอาจกำลังมองหาคริสเตียน ดิออร์อีกคนที่จะมาช่วยฟื้นฟูความร่าเริงสดใสให้แก่บรรยากาศสังคมโลกอีกครั้ง....

ABOUT THE AUTHOR
วรวุฒิ พยุงวงษ์

วรวุฒิ พยุงวงษ์

At boundary of athletics and beauty, I write and play

ALL POSTS