HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
พาโกษาปานกลับฝรั่งเศสอีกครั้งหลังจาก 333 ปี
by Ohnabelle
25 มี.ค. 2563, 15:32
  3,104 views

        ในวันที่อากาศอุณหภูมิเหลือเลขตัวเดียว ฟ้าครึ้ม ฝนตกพรำ และลมแรงราวๆ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รูปปั้นโกษาปานแบบครึ่งตัวหล่อด้วยบรอนซ์ถูกนำมาตั้งเด่นอยู่ที่ต้นถนนสยาม (Rue de Siam) เมืองแบรสต์ เมืองท่าทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส นับเป็นเวลา 333 ปีพอดีหลังจากที่ราชทูตไทยคนแรกจากเมืองสยาม ย่างเท้าลงจากเรือที่แผ่นดินฝรั่งเศส           

         แม้ว่าอากาศจะไม่เป็นใจ แต่ชาวเมืองแบรสต์และแขกจากเมืองไทยที่พากันใส่ชุดไทยรวมกว่าร้อยคน ต่างยอมฝ่าลม ท้าความหนาวเย็นมาเป็นสักขีพยาน และต้อนรับโกษาปานกลับมาฝรั่งเศสอีกครั้ง และคราวนี้ท่านจะอยู่ตลอดไปเพื่อเป็นอนุสรณ์ของจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ       

        แบรสต์เป็นเมืองชายทะเล ในแคว้นบริทานีย์ หรือ เบรอตาญมาตั้งแต่โบราณ และเป็นเมืองท่าที่สำคัญทั้งในด้านการค้าและการทหาร และแน่นอน เรือคณะราชทูตจากกรุงสยามต้องมาเทียบท่าที่นี่เช่นกัน

        เมืองแบรสต์แทบจะไม่ได้อยู่ในความสนใจของชาวไทยส่วนใหญ่ที่มักอยู่แถวๆ ปารีส แวร์ซายส์  เพราะเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ห่างจากปารีส 500 กว่ากิโลเมตร ถ้าจะนั่งรถไฟต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่งทีเดียว แต่ถ้ามองถึงความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ แบรสต์เป็นเมืองที่มองข้ามไปไม่ได้  และเป็นเมืองหนึ่งที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทยปักหมุดมาเที่ยวกันเรื่อยๆ

         

       

         ได้ยินชื่อเมืองแบรสต์หนแรกจากเพื่อนนักเขียนที่เป็นกรรมการสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสที่เล่าว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคยเสด็จเยือนเมืองนี้เมื่อพ.ศ. 2532 ทรงเห็นว่าเมืองนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศส และเป็นศูนย์การศึกษาที่เป็นเลิศด้านการสอนภาษาฝรั่งเศส  ภายหลังได้ทรงส่งนักเรียนจากเมืองไทยมาเรียนต่อที่นี่ปีละหลายคน  จนถึงวันนี้นับเป็นเวลามากกว่า 30 ปีและมีนักเรียนไทยที่มาเรียนที่นี่รวมเกินกว่าพันคน

        และที่นี่เมืองแบรสต์ มีถนนสายเล็กๆ ที่ผ่ากลางเมืองชื่อว่า ถนนสยาม  สถานีรถไฟฟ้ากลางเมืองก็ชื่อว่าสถานีสยามเหมือนกัน

       

        ฟังหนแรกยังนึกอยู่ว่าเมืองไทยดังขนาดนั้นเชียวหรือ  และเชื่อแล้วว่าดังจริงเมื่อเห็นจำนวนคนไทยและฝรั่งเศสที่มาร่วมงานเปิดรูปปั้นอนุสรณ์โกษาปานในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 และทั่วทั้งเมือง มีป้ายโปสเตอร์โฆษณาประชาสัมพันธ์งานติดเต็มเมืองไปหมด

         รศ.ดร.ธิดา บุญธรรม อุปนายกสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เล่าว่าการจัดสร้างรูปปั้นโกษาปานเป็นโครงการสำคัญของสมาคมฯ ที่จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ผู้ทรงจุดประกายให้คนไทยได้รู้จักเมืองแบรสต์และสนใจประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งการที่ทรงส่งเสริมการศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นภาษาฝรั่งเศสหรือความรู้ในสาขาอื่นก็ตาม

         

        อาจารย์วัชระ ประยูรคำ ศิลปินผู้ได้ชื่อว่าเป็นมือ 1 ของไทยในด้านการสร้างสรรค์รูปหล่อบรอนซ์ของบุคคลสำคัญ เล่าว่างานนี้เป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะอาศัยเพียงรูปวาดสมัยโบราณที่มีอยู่ไม่มาก ต้องศึกษาเรื่องการแต่งกายในยุคนั้น ต้องใช้จินตนาการอย่างมากว่าคนที่เป็นราชทูตที่ได้รับความไว้วางใจจากพระมหากษัตริย์ของอาณาจักรที่รุ่งเรืองมากที่สุดแห่งหนึ่งในดินแดนสุวรรณภูมิให้เป็นผู้แทนเชิญพระราชสาส์นไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ควรมีบุคลิก การแสดงออกทางสีหน้าเป็นอย่างไร จะปั้นจะหล่ออย่างไรจึงจะสะท้อนความเป็นนักการทูต องศาของหน้าและศีรษะต้องเอียงมากน้อยแค่ไหนจึงจะสื่อได้ถึงการเจรจาและเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส

       

        โชคดีที่เอกสารที่ฝั่งฝรั่งเศสบันทึกไว้มีค่อนข้างมาก มีรูปวาดอยู่พอสมควร ทำให้มีข้อมูลตั้งต้นพอให้จินตนาการต่อได้  เมื่อปั้นรูปเสร็จแล้วเตรียมให้โรงหล่อแกะแบบและหล่อออกมาเป็นบรอนซ์ ยังเพิ่งเห็นเอกสารจากฝรั่งเศสที่เป็นรูปวาดโกษาปาน สวมลอมพอกที่มีดอกไม้ไหวประดับรอบๆ จึงต้องรีบปั้นดอกไม้ไหวตามไปติดก่อนจะเริ่มกระบวนการแกะแบบและหล่อบรอนซ์ได้แบบฉิวเฉียด

     

        ที่เมืองแบรสต์ ช่างหินแกรนิตมือหนึ่งของแบรสต์จัดการหาหินแกรนิต ตัดไว้ให้เหมาะเป็นฐาน  ที่ใช้หินแกรนิตทำฐาน เพราะแคว้นเบรอตาญขึ้นชื่อเรื่องหินแกรนิต และนอกจากจะทำฐานหินไว้ให้แล้ว ยังได้นำเศษหินจากการสร้างฐานมาทำเป็นลูกเต๋าเล็กๆ ให้เป็นที่ระลึกแก่สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสด้วย  ส่วนป้ายคำจารึกที่เป็นแผ่นทองเหลืองนี่ เมดอินไทยแลนด์แท้ๆ และนำไปติดก่อนงานจะเริ่มไม่กี่วัน

       

        ก่อนที่พิธีเปิดรูปปั้นโกษาปานจะเริ่ม คณะทำงานช่วยกันนำตาข่ายดอกรักไปประดับ พอถึงเวลา นายกเทศมนตรีเมืองแบรสต์ เอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส  คณะกรรมการสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสและแขกวีไอพีจากเมืองแบรสต์ เมืองอื่นๆ ในฝรั่งเศส และแม้กระทั่งพระภิกษุในพระพุทธศาสนาที่ประจำอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ต่างก็มาร่วมงานกันคับคั่ง

        หลังจากเปิดแพรคลุมรูปปั้นแล้ว ขบวนกลองยาวที่กระทรวงวัฒนธรรมส่งไปร่วมงานก็เริ่มโห่ และร้องรำนำขบวนแขกเดินฝ่าลมไปตามถนนสยาม เข้าไปที่ศาลากลางเมืองแบรสต์ เพื่อทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ

                

        และในห้องประชุมนี้เอง ที่มุมหนึ่งเราได้เห็นภาพวาดด้วยสีน้ำ ฝีมืออาจารย์เกริกบุระ ยมนาค ผู้ที่ได้ชื่อว่าจิตรกรระดับเทพ ที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์และสถานที่ต่างๆ ที่โกษาปานไปเยี่ยมเยือนออกมาเป็นภาพวาด  ซึ่งได้มีการรวมไว้ในหนังสือที่ระลึกของงานด้วย  บางภาพ ดูแทบไม่ออกว่าเป็นภาพเขียนหรือภาพถ่าย เหมือนจริงจนขนลุก

       

        และในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ได้เวลาสนุกกันแล้วสิ  เมื่อคณะนาฏศิลป์ไทยมีการแสดงรำวง และชวนคนที่มาร่วมงานรำวงด้วยกัน ได้เวลาฝรั่งทั้งหลายควักกะปิกันอย่างเมามัน

         

        ใครสนใจ หาเรื่องราวของโกษาปานอ่านได้จากในอินเทอร์เน็ต หรือหาบันทึกเก่าๆ มาอ่านได้  อ่านสนุกทั้งรายละเอียดการเดินทางตลอด 5 เดือนที่รอนแรมไปในเรือ และแวะพักตามเมืองท่าใหญ่ๆ  การถวายพระราชสาส์นเจริญไมตรีจากสมเด็จพระนารายณ์แด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้ทรงอำนาจมากทั้งในฝรั่งเศสและยุโรป ความเฉลียวฉลาดในการเจรจาของคณะราชทูตไทย  หรือแม้กระทั่งเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การลงอาบน้ำในแม่น้ำซึ่งเป็นกิจวัตรของของไทย แต่เป็นเรื่องแปลกของฝรั่งที่นานทีปีหนถึงจะอาบน้ำ ทำให้ชาวเมืองต่างๆ แห่กันมาดูราชทูตอาบน้ำกันเป็นที่เอิกเกริก

         ส่วนใครสายมู อาจจะสนใจเรื่องพิสดารระหว่างการเดินทาง เช่น ช่วงที่เรือตกอยู่ในวังน้ำวนปากแม่น้ำถึง 3 วัน 3 คืนไม่สามารถออกมาได้ จนกระทั่งผู้มีอาคมที่ไปด้วยในคณะราชทูตต้องทำพิธี จึงมีลมหอบเรือหลุดออกจากวังน้ำวนได้  ซึ่งเรื่องนี้พระเจ้าหลุยส์ยังแปลกใจไม่เชื่อว่าคาถาอาคมจะมีจริง จนขอทดลองให้ทหาร 500 คน ยิงปืนใส่ แต่กระสุนด้านยิงไม่ออกแม้แต่กระบอกเดียว ปล่อยให้คณะราชทูตไทยที่ผูกเครื่องรางลงเลขยันต์แบบจัดเต็มเตรียมพร้อมนั่งชิลกันไป  พอลองยิงใหม่ กระสุนกลับตกใกล้บ้างไกลบ้างแต่ก็ยังไม่โดนใครในคณะราชทูตเลย

         

        งานจบแล้วแบบหนาวๆ ฉ่ำฝน แต่รูปปั้นโกษาปานก็ยังคงยืนหยัดเป็นอนุสรณ์อยู่กลางเมืองแบรสต์ รอให้คนไทยไปเยี่ยมเยือน

ABOUT THE AUTHOR
Ohnabelle

Ohnabelle

Work hard, Eat harder ศิษย์เก่าออสเตรเลียแต่วนเวียนกับเรื่องสวิตเซอร์แลนด์

ALL POSTS