บริจาคขวด PET ไปสร้างประติมากรรมเต่ามะเฟืองแม่ลูก ได้ที่ปั๊มบางจาก
ชวนบริจาคขวด PET กับโครงการ "ลดโลกเลอะ x รักษ์ปันสุข" กระตุ้นให้ตื่นตัวเรืองขยะพลาสติกในทะเล
แม้ว่าคนไทยจะเริ่มใส่ใจกับผลกระทบจากขยะพลาสติกล้นเมือง และเปลี่ยนมาใช้ขวดน้ำดื่ม/เครื่องดื่มพลาสติกที่ย่อยสลายได้กันอย่างแพร่หลาย หรือที่รู้จักกันคือ ขวด PET (Polyethylene terephthalate) แต่รู้ไหมว่า ขวดเหล่านี้ถูกนำกลับมารีไซเคิลเพียงแค่ 25% เท่านั้นเอง
ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อใช้ขวด PET เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อ จีวร หมวก หรือของใช้อื่นๆ ควบคู่ไปกับแคมเปญลดการใช้พลาสติกทุกประเภท ซึ่งเราเริ่มเห็นกันมากขึ้นเรื่อยๆ ที่คนไทยพกถุงผ้าไปจับจ่ายซื้อของ ใช้ภาชนะที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ หรือทำจากวัสดุธรรมชาติ
นอกจากขยะพลาสติกบกที่มีมหาศาลแล้ว ขยะทะเลกำลังเป็นปัญหาที่ถกกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่เราเห็นภาพสัตว์ทะเลต้องตายเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไปเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่ภาพขยะขนาดใหญ่เกลื่นตามชายหาด และลอยอยู่ในท้องทะเล จนทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลกที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเล โดยปี 2561 มีขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล 82 ตัน และเพิ่มเป็น 95 ตัน ในปีนี้
ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จับมือกับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเทศบางเมืองพัทยา จัดทำโครงการ "ลดโลกเลอะ x รักษ์ปันสุข" โดยเชิญชวนนักเดินทางร่วมบริจาคขวด PET ได้ที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี 262 แห่ง เพื่อนำขวดไปสร้างประติมากรรมเต่ามะเฟืองแม่ลูก พร้อมนิทรรศการให้ความรู้ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เต่ามะเฟืองถือเป็นสัตว์สงวนที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุด ดังนั้น เราจึงเลือกมาเป็นสัญลักษณ์ในการกระตุ้นให้คนไทยและนักท่องเที่ยวตระหนักถึงปัญหาขยะทะเล โดยเฉพาะพลาสติก ซึ่งขาด PET ที่ได้จากการรับบริจาค จะนำมาสร้างสรรค์ประติมากรรม เต่ามะเฟืองแม่ลูก ขนาด 8x8 เมตร (ใช้ขวด PET จำนวน 10,000 ขวด) ตั้งอยู่บริดวณริมหาดจอมเทียน พัทยา เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ธันวาคม 2562 ถึง มิถุนายน 2563 ซึ่งจะมีการเปิดตัวประติมากรรมอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ธันวาคมนี้
ยุทธศักดิ์ บอกว่า ททท. มีแนวคิดและให้ความสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิบชอบ (Responsible Tourism) โดยมีเป้าหมายลดการใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ลดลงร้อยละ 50 ภายในปี 2563 ลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง อาทิ หลอด ฝาครอบแก้ว ถุง และกล่องอาหาร พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้วัสดุทดแทนพลาสติกและพาชนะที่สามารถใช้ซ้ำได้ เช่น การใช้ถุงผ้า กระบอกน้ำ กล่องข้าวพกพา หลอดดูดจากวัสดุธรรมชาติ รวมถึงการใช้ผ้าเช็ดหน้า
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บางจากได้ริเริ่มโครงการ "รักษ์ ปัน สุข" ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยให้สถานีบริการน้ำมันบางจากเป็นจุดรับบริจาคขวด PET และได้นำไปรีไซเคิลเป็นเส้นใยเพื่อผลิตหมวกมอบให้เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดและสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต จำนวน 11,000 ใบ (ขวด PET 4 ขวด ผลิตหมวกได้หนึ่งใบ)
บางจาก มุ่งเน้นดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งผลิตภัณฑ์น้ำมัน และโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยร้านอินทนิลในปั๊มน้ำมันบางจาก ริเริ่มใช้แก้วกาแฟที่ย่อยสลายได้ (degradable plastic) เมื่อ 3 ปีที่แล้ว จนเรียกได้ว่าเป็นผู้ใช้รายใหญ่ที่สุดในเวลานี้ จากนั้น ได้เปลี่ยนมาแก้วกระดาษเคลือบไบโอพลาสติก และฝาโดมเป็นไบโอพลาสติก จนถึงการใช้หลอดไบโอพลาสติก พร้อมปรับบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ภายในร้านให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้านเมืองพัทยา นอกจากปัญหาการกำจัดขยะในตัวเมืองแล้ว ยังถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากขยะบนเกาะล้านที่สะสมจำนวนมากกว่า 70,000 ตัน บนพื้นที่ 12 ไร่ เนื่องจากปัญหาการดำเนินโครงการเตาเผาขยะ รวมไปถึงการขาดจิตสำนึกของนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ
มาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา บอกว่า ขณะนี้ เมืองพัทนากำลังร่างข้อบัญญัติเพื่อห้ามใช้พลาสติกบนเกาะล้านในปีหน้า หลังจากรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ทั้งนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการร้านค้าตระหนักถึงผลกระทบจากขยะพลาสติกมาตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งการลดปริมาณการใช้พลาสติก และการนำขยะกลับเข้าฝั่ง
กรมควบคุมมลพิษ รายงานว่า ปี 2561 ประเทศไทยมีขยะ 27.93 ล้านตัน โดยเป็นขยะพลาสติกราว 2 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นขวดพลาสติก PET จำนวน 330,000 ตันต่อปี ซึ่งผู้ผลิตน้ำดื่มและเครื่องดื่มต่างหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกย่อยสลายได้ เช่น เป๊ปซี่โค กำหนดนโยบายบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มเป็นแบบรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2025 ส่วนซันโทรี่ กำหนดเป้าหมายใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลทั้งหมดในปี 2030