อย่าให้ชีวิตมนุษย์กลายเป็นสวนสัตว์: 'แบงค์ เลสเตอร์' ต้องเป็นเคสสุดท้าย
ขณะที่เรากำลังจะเริ่มต้นปี 2025 และคิดว่าจะจบปีแบบสวยๆ สังคมไทยต้องสะเทือนใจอีกครั้ง กับข่าวการจากไปของ “แบงค์ เลสเตอร์” เด็กหนุ่มขายพวงมาลัยที่รับจ้างเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้วย น้องเสียชีวิตจากคำท้าดื่มวิสกี้ทั้งขวดเพื่อแลกกับเงินเพียง 30,000 บาท การจากไปของแบงค์ก่อให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับสังคม ที่คนยากจนต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพแลกกับเงินโดยไม่คิดชีวิต
ชีวิตของแบงค์: การดิ้นรนเพื่อคนที่รัก
ธนกร กันธิ หรือที่รู้จักในนาม “แบงค์ เลสเตอร์” บนโซเชียลมีเดีย เป็นชายหนุ่มวัย 27 ปีที่ขยันทำงาน เขาขายพวงมาลัยและทำงานทุกอย่างเพื่อดูแลคุณยายที่ป่วยหนัก ซึ่งเขาอาศัยอยู่ด้วยมาตั้งแต่ยังเด็ก การเสียชีวิตของแบงค์เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมงานเลี้ยงในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ และได้รับคำท้าดื่มวิสกี้ทั้งขวดเพื่อแลกเงิน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แบงค์ยอมทำอะไรที่น่าอับอายหรือเสี่ยงชีวิตเพื่อเงิน ที่เขาต้องการนำไปใช้ดูแลคุณยายผู้ไม่เคยรู้ว่าหลานชายทำอะไรบ้าง แบงค์เคยเขียนแคปชั่นบนโซเชียลอย่างเจ็บปวดว่า เขาเลือกเกิดไม่ได้ และไม่ว่าใครจะรังแกหรือทำให้เขาอับอายขนาดไหน ถ้าได้เงินมาเขาก็จะทำ
“สวนสัตว์มนุษย์” (human zoo) และการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นคน
คำว่า “สวนสัตว์มนุษย์” ไม่ใช่คำที่เกินจริงสำหรับชีวิตของแบงค์ เขาเคยทำสิ่งที่ไม่น่าเชื่อ เช่น นั่งให้คนถีบหน้าหงาย กินวาซาบิในปริมาณมาก กินเจลหล่อลื่น และแม้แต่กินขี้หมา โดนอ้วกใส่หัว ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อหารายได้เลี้ยงคุณยายที่เขารัก
แบงค์กลายเป็นที่รู้จักในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ สำหรับคลิปที่หลายคนเรียกมันว่า “คอนเทนต์ขยะ” แต่คลิปที่นำเสนอราวกับว่าแบงค์ไม่ใช่คน กลับมีจำนวนยอดไลก์และยอดแชร์อย่างน่าตกใจ ใช่แล้ว มีคนในสังคมที่ชื่นชอบเนื้อหาแบบนี้ คลิปคอนเทนต์ที่แบงค์รับจ้างเป็นอินฟลูฯ ไม่ใช่แค่ที่เราเรียกกันว่า “brain rot” ซึ่งเป็นคำแห่งปีของอ็อกซ์ฟอร์ด ดิกชันนารีปีนี้ แต่ในกรณีของแบงค์ มันสะท้อนถึง “ความเสื่อมทางศีลธรรม” ที่ร้ายแรงกว่าสมองเสื่อมเสียอีก
แบงค์: เหยื่อของความยากจนและความบิดเบี้ยวในสังคม
แบงค์ยอมรับคำท้าเหล่านี้ไม่เพียงเพราะความยากจน แต่ยังอาจเป็นเพราะเขามีภาวะออทิสติก ซึ่งยิ่งทำให้เขาเปราะบางยิ่งขึ้นในสังคมที่มาตรฐานทางจริยธรรมบิดเบี้ยวนี้ เนื้อหาที่เขามีส่วนร่วม ไม่ได้ดูเหมือนเป็นการรับคำท้าทั่วไป แต่กลับคล้ายการกลั่นแกล้งที่พบได้ทั่วไปในโรงเรียนและสังคมที่กระทำกับคนที่อ่อนแอกว่า หรือไม่มีทางเลือก
เสียงสะท้อนของสังคม
หลังข่าวการเสียชีวิตของแบงค์ถูกเผยแพร่ สาธารณชนและคนดังหลายคนออกมาแสดงความเสียใจ พร้อมประณามการกระทำที่นำไปสู่การเสียชีวิตของเขา เพจ Reporter Journey บนเฟซบุ๊ก บอกว่า “ในเมื่อแพลตฟอร์มโชเชียลมีเดียลดการมองเห็นคอนเทนต์คุณภาพที่ครีเอเตอร์ดีๆ ตั้งใจทำ แต่กลับดันยอดคอนเทนต์ขยะให้ขึ้นบนฟีด เพราะเอนเกจเมนต์ ยอดวิวสูง สิ่งที่ตามมา คือ สปอนเชอร์จะไปซื้อโฆษณาบนคอนเทนต์ขยะ เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้พวกมันทำต่อไป ส่วนคอนเทนต์คุณภาพก็จะค่อยๆ หายไป”
ศิลปิน บิ๊ก-ดี เจอรร์ราด ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นตั้งแต่แรก และไปร่วมในงานศพของแบงค์ เขียนบนเฟซบุ๊กว่า “จริงๆ แล้วนี่เป็นวิธีของคนที่อ่อนแอ เพื่อกดคนอื่นให้ตัวเองดูแข็งแกร่ง...พวกคุณไม่เห็นใจน้องบ้างเหรอ แค่คนๆ นึงที่อยากได้เงินไปดูแลยาย" ทั้งนี้บิ๊กยังพูดในฐานะที่ตัวเองเคยโดนบูลลี่มาก่อน แต่บอกว่าตัวเองโชคดีที่รอดมาได้
แต่การแสดงความเสียใจและแรงกระเพื่อมจากคนบางกลุ่มอาจยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง สังคมจำเป็นต้องร่วมมือกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวในการยุติพฤติกรรมอันเลวร้ายเช่นนี้ หากแพลตฟอร์มโซเชียลไม่สามารถแบนเนื้อหาแบบนี้ได้ เราในฐานะผู้บริโภคต้องช่วยกันปฏิเสธและแบนเนื้อหาที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหล่านี้ เราทำได้และต้องทำให้ดีกว่านี้
เราต้องทำอะไรต่อไป?
สังคมต้องร่วมกันเรียกร้องให้ผู้สร้างเนื้อหาที่เสี่ยงอันตรายหรือเอาเปรียบผู้อื่นต้องหยุดเล่นกับชีวิตคนเพื่อยอดไลก์ ยอดเอนเกจ แต่หากยังมีรายได้ มีท่อน้ำเลี้ยงจากสปอนเซอร์ คงเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าคอนเทนต์ขยะเสื่อมศีลธรรมเหล่านี้ไม่มีคนดู เนื้อหาเหล่านี้ก็จะค่อยๆ หายไปจากโลกโซเชียล และไม่ต้องมีใครกลายเป็นเหยื่อของ “human zoo” อีก
สำหรับผู้ที่สนับสนุนหรือเพลิดเพลินกับเนื้อหาแบบนี้ คุณกำลังสนัสนุน “สวนสัตว์มนุษย์” ในกรณีของแบงค์ นอกจากผู้ต้องหาที่จะต้องรับผลของการกระทำแล้ว ทุกคนที่กดไลก์ กดแชร์ ก็ไม่ต่างกับผู้ร่วมลงมือในการจากไปของน้อง
ถอดบทเรียนจากกรณีแบงค์: ให้มันจบในปี 2024
ตำรวจได้ดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ และสังคมต่างประณามการว่าจ้างคนแบบแบงค์ราวกับว่าพวกเขาไม่ใช่มนุษย์ แต่เราต้องช่วยกันมากกว่านั้น เพื่อให้สังคมมีความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ไม่ใช่สวนสัตว์มนุษย์ หน่วยงานกำกับดูแลการสื่อสารของประเทศต้องทำหน้าที่ให้ดีกว่านี้ ทำงานเชิงรุกไม่ใช่วัวหายล้อมคอก ส่วนผู้ท่องโซเชียลอย่างเรา ๆ ต้องกล้าพูดว่า “ไม่” และแบนเนื้อหาเหล่านี้ เราต้องช่วยกันกำจัดเนื้อหาที่เสื่อมทรามแบบนี้ และเราต้องลงมือทำทันที
แบงค์อาจจะทำให้คนบางคนเคยหัวเราะมาก่อนในแบบที่ผิดๆ แต่การจากไปของแบงค์ทำให้คนเสียน้ำตา และเสียใจและช่วยจุดประกายในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อปกป้องเหยื่อคนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เราหวังว่าการตายของแบงค์จะไม่ใช่แค่ 'อีกเคสหนึ่ง' ในปีที่ผ่านมา แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในสังคม เพื่อคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับทุกคน เราอยากให้คดีของน้องเป็นเคสสุดท้ายของสวนสัตว์มนุษย์ในประเทศไทย!
หลับให้สบาย น้องไม่ต้องเหนื่อยแล้ว ขอให้ไปสู่สุคติค่ะแบงค์