HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
"ตูรันโด" เพียงรอบเดียวในงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 21 กรุงเทพฯ
by วรวุฒิ พยุงวงษ์
9 ก.ย. 2562, 01:27
  2,692 views

ผลงานการประพันธ์ของจาโกโม ปุชชินี สุดยอดนักประพันธ์อิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่มาถึงกรุงเทพฯ แล้ว

         และแล้ว การรอคอยของผู้เขียนก็สิ้นสุดลงเมื่ออุปราการสามองค์ “ตูรันโด” (Turandot) ผลงานการประพันธ์ของจาโกโม ปุชชินี ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “สุดยอดนักแต่งอุปรากรอิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดรองลงมาจากแวรดิ” จะมาเปิดม่านงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 21 กรุงเทพฯ และอุปรากรนี้มีเพียงรอบเดียว... ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

        การแสดงโอเปราคลาสสิกตูรันโด (Turandot) จากคณะเอคาเตอรินเบิร์ก (Ekaterinburg Opera Theatre) คณะโอเปราชั้นนำที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซีย และยังคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมการแสดงที่สืบทอดจากอดีตสู่ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี คณะนี้ยังได้รับการการันตีด้วย 15 รางวัล “หน้ากากทองคำ” หรือ Golden Mask Awards (จากการเสนอชื่อเข้าชิง 83 ครั้ง) รางวัลนี้ถือว่า มีชื่อเสียงเทียบเท่ากับรางวัลออสการ์ของวงการภาพยนตร์ อีกทั้งยังได้รับการยอมรับว่า เป็นรางวัลที่ทรงเกียรติและเปี่ยมด้วยศักดิ์ศรีที่สุดในโลกศิลปะการแสดงอีกด้วย 

        โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเป็นคนชื่นชอบผลงานของจาโกโม ปุชชินีมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเนื้อเรื่องซึ่งครบครันด้วยรสวรรณกรรม อันได้แก่เสาวรจนี, นารีปราโมทย์, พิโรธวาทัง และสัลลาปังคพิไสย  หาได้เกาะอยู่แค่อาการเช้าชีเช้าช่ำร่ำรันทดตลอดศกอย่างหลายๆ เรื่อง หรือสไตล์ของท่วงทำนองที่มีความเป็นเพลงแบบไล่ลำดับตัวโน้ต ไม่โดดขึ้น โดดลงเต็มไปด้วยสีสันจนงงงวยตามไม่ทัน นี่

        คงเป็นหนึ่งในเหตุซึ่งทำให้หลายๆ บทเพลงของปุชชินีกลายเป็นแม่บทมาตรฐานของบรรดานักร้องกลุ่ม vocalist ผู้เน้นคุณภาพเสียงระดับโลกหลายคนนำมาขับขาน อาทิเช่น Un bel di vedromo จาก Madame Butterfly, O soave fanciulla จาก La Boheme, Vissi d’arte, vissi d’amore จาก Tosca และที่ขาดไม่ได้คือบทเพลงซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในเพลงไพเราะที่สุดของโลก O, mio babbino caro จากหัสนาฏกรรม Gianni Schicchi และสำหรับเรื่อง Turandot ก็คงเป็น Nessun Dorma (เนซซุน ดอรมา) ที่แปลว่า “ไม่ยอมให้มีใครได้หลับ”

        สำหรับ “ตูรันโด” ยังมีเรื่องราวโดดเด่นให้เล่าขานอีกหลายประเด็นจนควรค่าแก่การรับชม ตั้งแต่เรื่องของแรงบันดาลใจในการแต่งหลังจากปุชชินีได้อ่านผลงานดัดแปลงบทละครของเฟรดริช ชิสกิลเลอร์เมื่อปี 1801 อันได้เค้าโครงมาจากหนึ่งในนิทานเปอร์เซียชุด “หนึ่งพันหนึ่งทิวา” หรือ The Book of One Thousand and One Days (คนละเล่มกับ “หนึ่งพันหนึ่งราตรี” แต่ก็เป็นของเปอร์เซียเช่นเดียวกัน) โดยชื่อตูรันโดแปลตรงตัวก็คือ “ธิดาแห่งตูแรน” หรือ “ธิดาแห่งแดนตะวันออกกลาง” อันหมายถึงจักรวรรดิเปอร์เซียนั่นเอง

        แต่พอมาถึงปุชชินีผู้เริ่มทำการแต่งตูรันโดตั้งแต่เดือนมีนาคม 1920 เขาได้พลิกแพลงทุกเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นในราชสำนักจีน ประจวบเหมาะกับที่ช่วงเดือนมกราคม  1921 บารอนฟาสสินิ กามอซซิ ทูตานุทูตอิตาเลียนประจำประเทศจีนได้มอบของขวัญให้ปุชชินีเป็นหีบเพลงไขลาน ซึ่งประกอบไปด้วยทำนองเพลงจีนพื้นบ้านมากมาย และปุชชินีได้นำสามท่วงทำนองจากในนั้นมาใช้กับอุปรากรเรื่องนี้ (ร่วมกับอีกห้าทำนองเพลงจีนจากแหล่งอื่น ซึ่งก็เป็นเพลงพื้นบ้านเช่นเดียวกัน) อันรวมถึงเพลงชาติ หรือเพลงประจำราชสำนัก ซึ่งจะกระหึ่มขึ้นเมื่อจักรพรรดิอัลทูมปรากฏกาย กับอีกเพลงประทับใจนั้นก็คือการนำเพลงชาวบ้าน “โม่ลี่ฮวา” หรือ “ดอกมะลิ” ที่เด็กๆ จะพากันร้องประสานเสียงตามหลังเพลงสวดชมจันทร์ในองก์ที่ 1 และกลายเป็นเพลงประจำตัวของเจ้าหญิงตูรันโดเกือบตลอดเรื่อง

        ความน่าสนใจของตูรันโด นอกเหนือจากตัวพล็อตเรื่องสไตล์เอาเถิดเอาล่อเป็นเกมแมวจับหนูระหว่างเจ้าชายคาลาฟ ผู้ชาญฉลาด แต่ดันมาตกหลุมรักเจ้าหญิงตูรันโดจอมโหด อันถือเป็นมุขตลกร้ายที่ดึงให้ผู้ชมตื่นตาตามเรื่องได้ตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว ก็ยังเกี่ยวพันกับการที่ตูรันโดถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายที่ปุชชินีแต่งไม่เสร็จ

        สี่ปีผ่านไปจนถึงเดือนมีนาคมปี 1924 ปุชชินีแต่งอุปรากรเรื่องนี้จนจบ แต่ไม่เสร็จสมบูรณ์เนื่องจากความลำไยไม่พึงใจกับช่วงประสานเสียงสุดท้าย ได้มีการแก้ไขเนื้อร้องหลายต่อหลายรอบจนอาการหัวใจล้มเหลวได้คร่าชีวิตของเขาไป ปุชชินีก็สั่งเสียไว้ก่อนสิ้นใจให้ริคการโด้ แซนโนนาอิเป็นผู้แก้ไขเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จ หากโตนิโอ้ บุตรชายของเขากลับไม่เห็นด้วย และเลือกให้ฟรังโก้ อัลฟาโนดำเนินการสานต่อจนลุล่วง รอบปฐมทัศน์ซึ่งจัดแสดงที่โรงอุปรากรสกาลา (Teatro alla Scala) ณ กรุงมิลานเมื่อวันที่ 25 เมษายน 1926 อันนับได้หนึ่งปีกับห้าเดือนหลังสุดยอดศิลปินโลกได้จากไป โดยมีโรซา ไรซ่า กุหลาบดอกงามแห่งวงการอุปรากรอิตาเลียนยุคนั้นรับบทนำ ตูรันโดกลายเป็นปรากฏการณ์อันน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งสืบเนื่องจากเรื่องราวแสนวุ่นวาย สับสนในการแต่บทจบที่ปุชชินีทิ้งไว้เป็นมรดกไม่แล้วเสร็จ

        กระนั้น ผลตอบรับคือความสำเร็จอย่างล้นหลามท่ามกลางเสียงวิจารณ์เชิงลบจากกูรูโอเปราอึงคะนึงกระนั้นก็มีการนำอุปรากรเรื่องนี้ไปจัดแสดงในมหานครหลายแห่งทั่วทุกมุมโลก ยกเว้นที่เดียวคือสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยคำสั่งห้ามของรัฐบาลกับข้ออ้างว่าเนื้อหาของอุปรากรสร้างภาพลักษณ์เชิงลบให้แก่ประเทศ และพลเมืองจีน จนมาถึงทศวรรษ 1990 คำสั่งนั้นเป็นอันยกเลิก พร้อมเปิดการแสดงอุปรากรเรื่องนี้ถึงแปดคืนในเดือนกันยายน 1998 ภายใต้ชื่อว่า “ตูรันโด" ณ นครต้องห้าม” หรือ Torandot at the Forbidden City ซึ่งถือเป็นการร่วมงานระหว่างสุดยอดศิลปินระดับโลกเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผลงานการกำกับโดยจางอี้โหม่ว หรือผลงานวาทยากรโดยซูบิน เมห์ตา กับนักแสดงหญิงถึงสามคนที่ผลัดเวียนกับมารับบทเจ้าหญิงตัวร้าย

        ไม่ว่าจะอย่างไร สำหรับตัวผู้เขียนซึ่งเคยดูอุปรากรเรื่องนี้ในรูปแบบดีวีดีมาหลายเวอร์ชั่นแล้ว แต่เมื่อมีของจริงมาเล่นให้ดูกันสดๆ จะให้พลาดผลงานอันถูกยกย่องให้เป็นโอเปร่าซึ่งมีความโลดโผนอย่างที่สุดของปุชชินี ศิลปินในดวงใจได้หรือ

วันพุธที่ 11 กันยายนนี้ นะจ๊ะ เจ้าหญิงตูรันโดเรามาเจอกัน

 

บัตรเข้าชมทุกการแสดงมีจำหน่ายที่ Thai Ticket Major: www.thaiticketmajor.com 

ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ Facebook Bangkok Internaional Festival Dance of Dance & Music  หรือ เว้บไซต์  www.bangkokfestivals.com

ABOUT THE AUTHOR
วรวุฒิ พยุงวงษ์

วรวุฒิ พยุงวงษ์

At boundary of athletics and beauty, I write and play

ALL POSTS