แกะรอยตามหาขนมไทยเชื้อสายโปรตุเกสบนแผ่นดินโมซัมบิก
ตั้งแต่ผมเดินทางมาถึงกรุงมาปูตู (Maputo) เมืองหลวงของประเทศโมซัมบิก (Moçambique) ผมก็แอบตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ แต่มีความหมายใหญ่ ๆ เอาไว้ในใจว่าผมจะตามล่าหาขนมไทยให้เจอให้ได้ และมันคงสุดแสนจะฟินเอามาก ๆ หากผมได้มีโอกาสลิ้มรสขนมไทยบนแผ่นดินกาฬทวีป
หลายท่านที่อ่านมาจนถึงประโยคนี้คงจะทำหน้างงและสงสัยว่าจะไปตามหาขนมไทยในโมซัมบิกเนี่ยนะ? แล้วจะไปเจอได้อย่างไรล่ะ?
ผมขออนุญาตขยายความอีกนิดนะครับว่าขนมไทยที่ผมกำลังตามหานั้นก็คือขนมจำพวกฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด ลูกชุบ หม้อแกง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นขนมไทยเชื้อสายโปรตุเกสทั้งสิ้น โมซัมบิกนั้นเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาเกือบ 500 ปี นับตั้งแต่ ค.ศ. 1498 จนได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1975 ผมจึงเชื่อว่ายังไงก็ต้องได้รับการถ่ายทอดฝึกปรือให้ทำขนมเชื้อสายโปรตุเกสตระกูลนี้ไว้บ้างล่ะน่า
หากไปย้อนดูประวัติศาสตร์ก็จะพบว่าขนมไทยที่เราคุ้นชินกันในวันนี้นั้นมีถึง 14 ชนิดที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากโปรตุเกสสู่เมืองไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยบุคคลสำคัญที่นำเมนูขนมเหล่านี้มาเผยแพร่ก็คือท้าวทองกีบม้า หรือ มารีอา กูโยมาร์ ดือ ปินยา (Maria Guyomar de Pinha) ซึ่งมักรู้จักกันดีในชื่อว่า มารี กีมาร์ (Marie Guimar) สุภาพสตรีลูกครึ่งญี่ปุ่นโปรตุเกส ผู้เป็นภรรยาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน ขุนนางชาวกรีกที่เข้ามารับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
และขนมลูกครึ่งไทยโปรตุเกสทั้ง 14 ชนิดนี้ก็คือ ทองม้วน ทองหยิบ ทองหยอด ทองพลุ ทองโปร่ง ฝอยทอง กะหรี่ปั๊บ ขนมหม้อแกง สังขยา ขนมผิง สัมปันนี ขนมขิง ขนมไข่เต่า และ ลูกชุบ และบางที่ก็รวมเอาบ้าบิ่นเข้าไปเป็นรายการที่ 15 ด้วย และโครงการตามหาขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมจากโปรตุเกสในประเทศโมซัมบิกก็เริ่มขึ้นทันทีที่ผมบินมาถึงกรุงมาปูตู
ความที่ขนมจำพวกฝอยทอง ทองหยอด ลูกชุบอะไรพวกนี้นั้นเราสามารถหาซื้อกันได้โดยทั่วไปในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นแผงขนมในตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ แต่ไม่ใช่ที่โมซัมบิกครับ เพราะไม่ว่าผมไปเดินตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้แต่ร้านขายเค้กขายขนมไหน ๆ ก็ตาม ผมไม่เคยเจอขนมเหล่านี้เลย
ตายละหว่า... แล้วตกลงว่าร้านขนมร้านไหนในมาปูตูที่มีขนมเช่นนี้ขายบ้างล่ะ? โอย... โอย... โอย... ถ้ากลับไปโดยไม่ได้ลองทานฝอยทองที่นี่ล่ะก็ .....คงจะคาใจไม่น้อยเลยล่ะ
เอ๊ะ.... หรือว่าเราอาจจะเคยผ่านตาขนมเหล่านี้มาบ้างแล้ว แต่เราเองต่างหากที่ไม่รู้ว่ามันคือขนมจำพวกนี้เพราะเราก็ไม่รู้ว่าภาษาโปรตุเกสเรียกว่าอะไร และหน้าตาของมันอาจไม่เหมือนที่บ้านเราก็ได้นะ
ดังนั้นจึงต้องพึ่งอาจารย์มะเหมี่ยว (เบญจรัศมี รุจน์รวีหิรัญ) อาจารย์ผู้สอนภาษาโปรตุเกสให้กับผม และเคยใช้ชีวิตที่มาปูตูมาถึง 2 ปี ผมรีบส่งไลน์หาอาจารย์มะเหมี่ยวอย่างรัว ๆ
“ไปที่ร้าน Taverna Doce เลยค่ะพี่โอ๊ค หนูเคยทานที่นั่น แต่มันหวานมาก ๆ มาก ๆ นะคะ” อาจารย์ตอบมาอย่างรวดเร็ว
“แล้วพี่ควรจะเรียกขนมเหล่านี้ว่าอะไรครับ?” ผมส่งคำถามกลับไปด้วยยังเรียนภาษาโปรตุเกสไปไม่ถึงรายชื่อขนมเหล่านี้
“ขนมต่าง ๆ เรียกเป็นภาษาโปรตุเกสดังนี้ค่ะ Fios de Ovo คือ ฝอยทอง Ovos Moles คือ ทองหยอดค่ะ” อาจารย์ตอบกลับมา และผมก็รีบส่งสติ๊กเกอร์ “ขอบคุณน้าาา” ไปให้อาจารย์ พร้อมกับรีบพุ่งไปร้าน Taverna Doce กับทันที
ร้านขนมร้านนี้ดูดีมีชาติตระกูลมาก ๆ ด้วยตั้งอยู่บนเชิงเขา มองเห็นท้องทะเลสีคราม ตกแต่งอย่างสะสวย และมีขนมละลานตาเต็มตู้จนเลือกไม่ถูก
ทาร์ตไข่ หรือ Pastel de Nata วางกองบนหลังตู้กระจกใสที่มีขนม ขนม ขนม มากมาย ผมเคยลองทาร์ตไข่มาแล้วเมื่อตอนไปเที่ยวที่ อีย่า ดือ โมซัมบิก (Ilha de Moçambique) ผมเลยเฉย ๆ แล้วมองผ่านแบบไม่สนใจ แต่ฟ้อยช์ ดือ โอวู (ฝอยทอง) และโอวุช โมลึช (ทองหยอด) ล่ะอยู่ไหน
“ขอโทษครับเซนยอร์ วันนี้เราไม่มี Fois de Ovo กับ Ovos Moles เลยครับ เราขายหมดไปแล้ว ต้องขอโทษด้วยครับ” เสียงของคุณพี่คนเสิร์ฟสร้างความผิดหวังให้กับผมมาก ๆ
“ไม่ได้นะครับ... ผมมาจากเมืองไทยเพื่อมากินขนมชนืดนี้ที่นี่ ใคร ๆ ก็แนะนำว่าต้องทานที่ร้านนี้เท่านั้น ถ้าหมดแล้ว จะทำใหม่ไหมครับ? ทำเถิดครับ.. นะ..นะ...” ผมรีบอ้อนด้วยภาษาโปรตุเกสอย่างกระท่อนกระแท่นจนคุณพี่คนเสิร์ฟตกใจเหมือนกันที่เขากำลังทำให้คนคนหนึ่งเดินซึ่งทางข้ามทวีปมาเพื่อมากินฝอยทองและทองหยิบที่ร้านเขาอาจจะต้องผิดหวังได้
“เดี๋ยวผมขอคุยกับเชฟก่อน เซนยอร์ไปนั่งดื่มนั่งทานขนมอื่น ๆ ให้ใจร่มๆ ก่อนนะครับ” คุณพี่คนเสิร์ฟรีบเอาใจ
ผมเหลือบตาไปเจอขนมชนิดหนึ่งที่หน้าตาดูเหมือนบ้าบิ่นมาก ๆ โดยมีป้ายภาษาโปรตุเกสเขียนกำกับไว้ว่า Queijadas de Coimbra
ผมรีบส่งไลน์หาอาจารย์มะเหมี่ยวอีกครั้งเพื่อขอความรู้ว่าขนมบ้าบิ่นนั้นเรียกเป็นภาษาปอรตุเกสว่าอะไร
“Queijadas de Coimbra ค่ะ” อาจารย์ตอบกลับมา และมันคือชื่อที่ผมเห็น
ได้การล่ะ... อย่างน้อยผมก็ได้ลองบ้าบิ่นแน่ ๆ ระหว่างนั้นผมพยายามนึกถึงขนมอื่น ๆ อย่างทองหยิบ ลูกชุบ สังขยา ขนมหม้อแกง พร้อมกับส่งไลน์ไปถามอาจารย์มะเหมี่ยวอีกครั้ง
“อาจารย์ครับ... ตอนนี้พี่อยู่หน้าตู้ขนมแล้วนะครับ ตอบไลน์มาด่วน ๆ เลยว่าขนมเหล่านี้มีชื่อภาษาปอรตุเกสว่าอะไร? ทองหยอด ลูกชุบ สังขยา หม้อแกง รู้นะว่าอ่านไลน์อยู่ รีบตอบเลยนะคร้าบ” ผมส่งไลน์กดดันไปที่อาจารย์มะเหมี่ยวอีกครั้ง
ตริ๊ง... เธอ Read และตอบกลับมาตามแรงกดดันของผม
“ตามนี้ค่ะ ทองหยิบ เรียกว่า Trouxa Ovos (คำว่า Trouxa หมายถึงหลอดค่ะ) ลูกชุบ เรียกว่า Massapães (เป็นรูปพหูพจน์ของ Massapão คำว่าลูกชุบนี้สามารถสะกดได้สองแบบค่ะ คือ Massapão หรือ Maçapão ค่ะ) สังขยา เรียกว่า Bolo de Coco และขนมหม้อแกง เรียกว่า Tigelada (คำว่า Tigela แปลว่าถ้วย เดิมขนมชนิดนี้อบในถ้วยค่ะ)” อาจารย์มะเหมี่ยวตอบมาอย่างละเอียดยิบ และผมก็มีคลังคำศัพท์ด้านขนมเป็นภาษาปอรตุเกสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผมรีบสั่งขนมบ้าบิ่นมาให้อุ่นใจไว้ก่อน ขณะที่สายตาก็สอดส่ายหาขนมอื่น ๆ ที่มีรายชื่ออยู่ในไลน์ แล้ว Trouxa Ovos, Massapães, Bolo de Coco และ Tigela อยู่ไหนเนี่ย?
“เอ่อ.... หมดครับ ขนมที่เซนยอร์เอ่ยชื่อมาหมดแล้วครับ เราทำวันละถาดเท่านั้น ส่วน Queijadas de Coimbra ที่เซนยอร์สั่งมาเมื่อสักครู่ ผมจะรีบนำไปเสิร์ฟนะครับ” คุณพี่คนขายใจดีสร้างความผิดหวังให้ผมอีกครั้ง
“ลองถามเชฟด้วยนะครับ เผื่อทำเพิ่มสำหรับขายบ่ายนี้.. นะ... นะ.....” ผมรีบอ้อนซ้ำ
เวลาผ่านไปสักครู่พร้อมกับขนม Queijadas de Coimbra หรือขนมบ้าบิ่นก็นำมาเสิร์ฟ ผมรีบตักขึ้นมาชิม มันหวานแหลมอย่างที่อาจารย์บอกไว้ แต่ก็นับว่าอร่อยในแบบตำรับของเขา ความจริงบ้าบิ่นของเรากลายพันธุ์จาก Quejadas de Coimbra ไปมากทีเดียว สิ่งที่ยังยืนยันความเป็นลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาก็คือเนื้อมะพร้าวที่ผสมอยู่ในทาร์ตชนิดนี้
“ทำไมเซนยอร์ไม่ลองเค้กหรือขนมอื่น ๆ ในร้านเราบ้างครับ? ร้านเรามีขนมขึ้นชื่อหลายเมนูเลย” คุณพี่คนเสิร์ฟถามเมื่อเห็นว่าผมมีสีหน้าที่ยิ้มแย้มขึ้น
“คือว่าขนมกลุ่มที่ผมบอกไปเป็นขนมที่เมืองไทยก็มีและเราทานกันมานานหลายร้อยปีจนนับว่าเป็นขนมไทยไปแล้วครับ ผมอยากมาตามรอยขนมเหล่านี้ในแอฟริกาบ้าง อยากรู้ว่ารสชาติมีความคล้ายและความต่างอย่างไร? และขนมเหล่านี้ล้วนมีชื่อภาษาไทยด้วยนะครับ” ผมไขข้อข้องใจ
บ่ายนั้นผมเลยสอนคุณพี่คนเสิร์ฟให้หัดพูดชื่อขนมไทยอย่างสนุกสนาน เขาออกเสียงได้ไม่เลวเลยไม่ว่า “บ้าปี้น ลูกชู้บ ต็องยิบ ต็องย้อด ฟ้อยต็อง ซังกะย้า หม่อแก็ง”
... โอย...อย่างขำ แต่ผมรอฝอยทองกับทองหยอดอยู่นะครับ อย่ามาทำฮากลบเกลื่อนนะคุณพี่ ผมจำได้ดี
“อ๋อ.... เรื่องขนม เซนยอร์ครับ ผมมีข่าวดีครับ เชฟบอกว่าจะทำ “ฟ้อยต็อง” กับ “ต็องย้อด” ให้ทานวันพรุ่งนี้ แต่เซนยอร์ต้องสั่งขั้นต่ำอย่างละ 12 ชิ้น ฝอยทอง 12 ชิ้น ทองหยอด 12 ชิ้น ราคาชิ้นละ 180 เมติไกช์ รวมกันก็ 4,320 เมติไกช์นะครับ พรุ่งนี้จะมารับกี่โมง” คุณพี่รีบประกาศข่าวดีพร้อมเอ่ยชื่อขนมเป็นภาษาไทยสำนวนโมซัมบิก
วินาทีแรกผมก็แอบดีใจมาก ๆ ที่จะได้ลองขนมสมใจอยาก แต่วินาทีต่อมาผมก็เริ่มคำนวณค่าขนมจากเงินสกุลเมติไกช์ของโมซัมบิกให้กลายเป็นเงินบาทของไทย
“ดะ... ดะ... ดะ... เดี๋ยวนะ ราคาฝอยทองกับทองหยอดรวมกัน 4,320 เมติไกช์เหรอ?” และผลการคิดเลขด้วยไอโฟนก็ออกมาเป็น 2,300 บาทสำหรับฝอยทอง 12 พับกับทองหยอด 12 ลูก ตกหน่วยละ 95 บาท ที่สำคัญคือผมต้องนั่งละเลียดขนมทั้ง 24 หน่วยนี้คนเดียว
ไม่ไหว ไม่ไหว ไม่ไหวล่ะ!!!
“โห...ไม่ไหวล่ะ... มันแพงมากเกินไป แล้วผมคงทานคนเดียวไม่ไหว งั้นแค่ผมได้กินบาบี้นพร้อมกาแฟเอสเปรสโซ่ตัดหวานตอนนี้ผมก็ดีใจแล้วล่ะครับ ขอบคุณมาก ๆ เลยครับคุณพี่ Muito obrigado” ผมรีบกลับลำทันที
ภารกิจการกินขนมไทยเชื้อสายโปรตุเกสเลยสำเร็จเพียงครึ่งทางท่ามกลางความงงของคุณพี่คนเสิร์ฟอารมณ์ดีที่ร้าน Taverna Doce
ถ้าแวะมาเที่ยวมาปูตูแล้วลองแวะมาทานขนมที่ร้าน Taverna Doce นะครับ แล้วถ้าพบคนเสิร์ฟอารมณ์ดีที่พร้อมจะชวนคุณทานบ้าปี้น ลูกชู้บ ต็องยิบ ต็องย้อด ฟ้อยต็อง ซังกะย้า หม่อแก็ง ฯลฯ ก็อย่าตกใจนะครับ
STORY BY โลจน์ นันทิวัชรินทร์