รู้จักวัฒนธรรมการผลิตและดื่มเบียร์ของเบลเยียมที่ยูเนสโกยกให้เป็นมรดกโลก
เบลเยียมเมืองเบียร์ที่แท้ทรู ดื่มกันราวกับน้ำและดื่มได้ในหลากหลายโอกาส
เมื่อพูดถึงเบียร์ นักดื่มจำนวนมากมักนึกถึงประเทศเยอรมันก่อนใครเพื่อน แต่หารู้ไม่ว่าจริงๆ แล้วประเทศที่มีความโดดเด่นเรื่องเบียร์กลับเป็นประเทศเล็กๆ ที่ทำเบียร์เองดื่มเองกันในประเทศแบบพอเพียงกันมาหลายศตวรรษแล้ว
หลักประกันของวัฒนธรรม (ดื่มและทำ) เบียร์ของเบลเยียมได้ถูกนำขึ้นทะเบียนของ UNESCO ให้เป็น Intangible Cultural Heritage of Humanity ในปี 2559 ด้วยความหลากหลายของขั้นตอนการผลิต และ ที่สำคัญ ประเพณีการถ่ายทอดความรู้ภายในครอบครัวมานานเป็นศตวรรษ ดูได้จากโรงเบียร์เล็กโรงเบียร์น้อยกระจัดกระจายอยู่ทั้วไปในประเทศ
ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมการทำเบียร์ของเบลเยียมจะได้รับการยอมรับจากยูเนสโก แต่ที่จริงแล้วเบลเยียมผลิตเบียร์น้อยกว่า 1% ของผลผลิตเบียร์ทั่วโลก แต่เบียร์ที่นี่มีความหลากหลายมากกว่าประเทศอื่นๆ สาเหตุที่เบียร์จากที่นี่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมาก่อนอย่าง Heineken หรือ Budweiser เนื่องจากคนในประเทศบริโภคเบียร์แทนน้ำ เฉลี่ยแล้วคนละเกือบ 100 ลิตรต่อคนต่อปี แล้วจะมีอะไรเหลือไปขายนอกประเทศ
การที่คนที่นี่ดื่มเบียร์แทนไวน์อย่างประเทศในยุโรปอื่นๆ ก็เนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะจะปลูกองุ่น อากาศที่นี่เหมาะจะปลูกพวกธัญพืชที่เอามาใช้ทำเบียร์มากกว่า สาเหตุหลักอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เมื่อสมัยหลายร้อยปีก่อน น้ำดื่มในประเทศไม่สะอาด รัฐบาลเบลเยียมจึงสนับสนุนให้คนทำเบียร์ดื่มแทนน้ำ เพราะเกรงว่าคนจะเสียชีวิตจากอาการท้องร่วงเพราะน้ำไม่สะอาด คนก็หันมาหมักเบียร์อ่อนๆดื่มกัน ประมาณ 1-2% เพราะขั้นตอนการหมักเบียร์จะทำลายแบคทีเรียร้ายๆ ไปหมด คนจึงนิยมหันมาดื่มเบียร์แทนน้ำ ไม่เว้นแม้แต่ลูกเล็กเด็กแดงดื่มเบียร์แทนน้ำทั้งนั้น แม้แต่คนที่คลอดบุตรใหม่ๆ ทางโรงพยาบาลก็มีการเอาเบียร์มาเสิร์ฟให้อาจจะช่วยลดการซึมเศร้าหลังคลอดได้ สักขวดก็ไม่เป็นไร
ในปัจจุบัน การดื่มเบียร์ที่นี้ถือเป็นการเข้าสังคมมากกว่าเป็นการดื่มให้เมา กฎหมายที่นี่เป็นประเทศเดียวในยุโรปที่อนุญาตให้เด็กดื่มเบียร์ได้ตั้งแต่อายุ 16ปี แต่หลายครอบครัวมักให้เด็กเล็กชิมเบียร์หรือไวน์ตั้งแต่เด็ก โดยผสมกับน้ำให้ลองเวลามีงานเลี้ยงโอกาสสำคัญๆ ภายในครอบครัว เพื่อเด็กจะได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของงาน
แต่คนเบลเยียมก็ไม่ได้ดื่มเบียร์เฉพาะเวลามีงานเลี้ยงฉลองเท่านั้น แต่ดื่มเป็นกิจวัตร หากไม่นั่งดื่มในบ้าน หลายคนก็จะไปนั่งดื่มตามผับสักแก้วหรือสองแก้วหลังอาหารมื้อเย็นก่อนกลับมานอน การดื่มนอกบ้านของคนที่นี่ไม่ใช่จะดื่มให้เมา แต่เป็นการออกไปสังสรรค์กับคนรู้จักแบบไม่ต้องนัดหมายกัน คือใครว่างก็ออกไปนั่ง ทำให้ในแต่ละวันเราก็มีโอกาสได้เจอเพื่อนในละแวกบ้านซึ่งไม่มีทางรู้ว่าจะเป็นใคร
Stamcafé
คนท้องถิ่นที่นี่มักจะมีผับประจำของตัวเอง เรียกว่า stamcafé (สตัมคาเฟ่) คำนี้มีความหมายที่น่าสนใจตรงที่ว่า stam แปลว่า “รากเหง้า” เพราะฉะนั้นสตัมคาเฟ่ก็เหมือนผับที่เป็นของคนบ้านอยู่ละแวกนั้น สำหรับคนเบลเยี่ยมแล้วการเลือกสตัมคาเฟ่นั้นมีความสำคัญมาก เพราะคนส่วนใหญ่มักใช้เวลาอยู่ที่ร้านนี้มากรองจากที่บ้านและที่ทำงาน ถ้านึกไม่ออกก็ลองนึกภาพอารมณ์ผับในเรื่อง Cheers ประเภทที่เดินเข้าร้านไปแล้วทุกคนต่างรู้จักกันไปหมด
เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ผู้ชายส่วนมากทำเมื่อย้ายบ้านไปปักรากแห่งใหม่อย่างลงตัวแล้ว ก็คือต้องตระเวณหาสตัมคาเฟ่ไว้นั่งดื่ม เป็นการปรับตัวให้เข้าสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้ดีที่สุด เปรียบเทียบกับคนชาติอื่นหรือคนไทยอาจจะไปทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านในโบสถ์หรือวัด หรือพ่อแม่ที่โรงเรียนของลูก แต่สำหรับคนทีเบลเยียมแล้วนิยมพบปะสังสรรค์และทำความรู้จักกันผ่านเบียร์ที่มีให้เลือกมากมาย
สตัมคาเฟ่ของคุณฮันส์
สตัมคาเฟ่เป็นแหล่งที่พบปะของคนในแถบนั้นๆ คนที่ไปก็คนทุกวัยทุกเพศที่ดื่มได้ตามกฏหมายของเบลเยียม ช่วงวันศุกร์เสาร์คนจะคึกคักเป็นพิเศษ ยิ่งหลังเที่ยงคืนไปคนที่ทำงานร้านอาหารแถบนั้นก็จะมานั่งคุยหลังเลิกงานก่อนกลับบ้านไปนอนลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนวัยทำงานที่ต้องการมานั่งระบายความเครียดจากงานจากครอบครัว หรือคนวัยเกษียณที่มานั่งคุยเก็บข่าวสารของคนแถวนั้น ใครตาย ใครเกิด ใครหย่า ใครแต่งงานใหม่ คล้ายกับลุงๆ ป้าๆ บ้านเราที่ชอบแอบไปหาข้อมูลเพื่อนบ้านตามสภากาแฟตอนเช้า ส่วนสตัมคาเฟ่ของเด็กวัยรุ่นจะไม่ได้อยู่ใกล้บ้านเพราะเลิกเรียนแล้วก็ไปรวมตัวกันที่สตัมคาเฟ่ย่านกลางเมืองเพราะอยู่ใกล้โรงเรียนมากกว่า
คาเฟ่ที่เป็นที่นิยมก็ต้องเป็นคาเฟ่ที่บาร์เทนเดอร์ (ส่วนมากก็เป็นเจ้าของด้วย) ใจดี อารมณ์ดี พูดคุยด้วยได้ เราเองก็มีสตัมคาเฟ่ของเราที่อยู่ห่างจากบ้านไม่ถึงห้านาที แต่ขออนุญาตเก็บเป็นความลับเพราะเคยมีประสบการณ์ไม่ค่อยจะดี ครั้งหนึ่งเราเคยพาเพื่อนไปแล้วไปปากเสียกับเจ้าของ เราเลยต้องตัดสินใจเลิกคบเพื่อนคนนั้นไป เพราะหาเพื่อนใหม่หาง่ายกว่าหาร้านสตัมคาเฟ่ดีๆ ใกล้บ้าน
เจ้าของและบาร์เทนเดอร์ในคาเฟ่ประจำของเราชื่อ Hans หนุ่มอารมณ์ดีที่มีอารมณ์ออกจะติสต์มากหน่อย แต่ก็เป็นคนหัวเราะง่ายและเป็นที่รักของคนละแวกนั้น ในผับนี้จะเปิดเพลงคลาสิคไม่ได้เข้ากับบรรยากาศการตกแต่งร้านเท่าไหร่ คุณฮันส์ตกแต่งร้านสไตล์ bric-a-brac เธอซื้อของจากตลาดของเก่าเอามา mix and match ได้อย่างน่าสนใจ
เธอเป็นคน eccentric มากๆ เธอเปิดผับอยู่ช้ันล่าง บ้านเธออยู่ข้างบน ทำธุรกิจแบบตามใจฉัน เธอไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ทำงานที่ชอบ เธอเปิดคาเฟ่เพราะชอบคุยกับคน ไม่ชอบทำงานประจำ ไม่ชอบเดินทาง ไม่ชอบทัวริสต์มากๆ
ทันทีที่เธอเปิดร้านทุ่มนึง ป้าย “จองแล้ว” จะวางอยู่ทุกโต๊ะ เวลาที่คนรู้จักหรือขาประจำเข้าร้านเธอก็บอกเลือกที่นั่งตามสบาย ขาประจำก็จะเลือกโต๊ะใกล้ๆ บาร์ แต่ถ้าเป็นทัวริสต์เข้ามา เธอก็จะให้นั่งโต๊ะใกล้ประตู หรือถ้าไม่ชอบหน้าก็บอกว่าร้านเต็มทั้่งๆ ที่ไม่มีคนนั่ง
วันหนึ่งเราเคยไปนั่งดื่มที่โต๊ะประจำของเรา ก็ได้เห็นฉากนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย (คงเป็นคนจีน) เดินเข้ามาสามคน ร้านค่อนข้างว่าง แต่ก็มีขาประจำนั่งที่บาร์ เธอเลยจัดให้กลุ่มนี้นั่งข้างประตู ทำให้คนจีนกลุ่มนั่นก็ไม่ค่อยพอใจเพราะอยากนั่งด้านใน แต่เธอยืนยันว่าทุกโต๊ะจองไว้หมดแล้ว กลุ่มนั้นก็จำใจนั่งแต่ก็บ่นว่าหนาว และพอได้เมนูก็ถามว่ารับบัตรมั้ย เมื่อได้รับคำตอบว่า “Cash only”ก็ไม่พอใจ ฮันส์จึงบอกว่ามีเครื่องเอทีเอ็มไม่ไกลนัก
พอเริ่มสั่งอาหาร เจ๊หัวหน้ากลุ่มก็จะขอดูเมนูมังสวิรัติ ฮันส์ก็บอกว่ามีแค่ในเมนูนั้นล่ะ (พวกของกินง่ายๆ ประเภท พาสต้า ลาซานญ่า) หัวหน้ากลุ่มเริ่มเรื่องมากถามจะไม่เอาเนื้อได้มั้ย ฮันส์บอกไม่ได้เพราะไม่มีอาหารมังสวิรัติ หัวหน้ากลุ่มพยายามขอให้แยกเนื้อให้ ถึงตอนนี้ทุกคนที่นั่งที่บาร์เริ่มขยับตัวแบบตัวใครตัวมันนะเพราะไม่อยากจะจินตนาการฉากต่อไป ว่าแล้วคุณฮันส์ถึงเก็บของบนโต๊ะนั้นแล้วบอกเชิญออกได้ หัวหน้ากลุ่มไม่พอใจถามว่าทำไมต้องไล่ “ก็คุณเรื่องมากไม่ต้องกินแล้ว เชิญไปที่อื่น ที่หน้าร้านก็มีเขียนว่า Cash only มีเมนูแปะให้ดูว่ามีอะไรกิน ยังจะเรื่องมากเอาโน่นเอานี่ ที่นี่ไม่รับคนเรื่องมาก”
หลังจากนั้นก็มีการปะทะคารมกันเล็กน้อยแล้วเจ๊หัวหน้ากลุ่มก็หาว่าเจ้าของร้านนั้นร้ายกาจและไม่สุภาพ จะเอาไปเขียนลง social media บอกให้นักท่องเที่ยวคนอื่นรู้ ฮันส์ได้แต่บอกว่าเชิญตามสบาย มีคนด่าเธอเยอะแล้ว และเธอเองก็ภูมิใจมากพิมพ์คำ “สรรเสริญ” ของนักท่องเที่ยวมาแปะไว้ที่หน้าร้านเพื่อเตือนนักท่องเที่ยวทุกคนว่าไม่ใช่ว่าลูกค้าจ่ายเงินให้เธอแล้วจะเรียกร้องอะไรก็ได้