รากเหง้าชาวทาสที่ “เคปโคสต์”
ลูกหลานทาสชาวแอฟริกันมากมายเดินทางที่นี่ เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษกว่า 25 ล้านคนที่เดินทางผ่านเมืองนี้ไปยัง “โลกใหม่” เพื่อใช้ชีวิตขมขื่นตราบจนลมหายใจสุดท้ายในฐานะ “ทาส”
หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) นักแสดง นักร้อง และนักดนตรีแจ๊สผิวสีชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียงก้องโลกในยุค 50’s เคยเดินทางจากสหรัฐอเมริกามายังหมู่บ้านเล็กๆ ริมมหาสมุทรแอตแลนติกในประเทศกานา (Ghana) เขาตั้งใจกลับมายังถิ่นกำเนิดอันแท้จริงของเขา แน่นอนว่ามันไม่ใช่เมืองนิวออร์ลีนส์บนแผ่นดินอเมริกาตามที่บันทึกไว้ในสูติบัตร
สำหรับหลุยส์ อาร์มสตรองแล้วนั้น บ้านเกิดอันแท้จริงของเขาคือที่นี่... ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ในแอฟริกาตะวันตก ที่ที่บรรพบุรุษของเขาเกิด และเติบโตขึ้นมาก่อนจะถูกล่าและกลายมาเป็นสินค้าส่งออกที่เรียกว่า “ทาส” และต้องเดินทางรอนแรมบนเรือไม้ข้ามมหาสมุทรไปยัง “โลกใหม่” ที่เรียกขานกันว่า “สหรัฐอเมริกา” ในปัจจุบัน
ลุงโคฟี่ (Kofi) ไกด์ใจดีชาวกานาชี้ให้ผมและพี่ๆ น้องๆ ดูหมู่บ้านเล็กๆ ที่แสนสงบสวยงามหมู่บ้านหนึ่งพร้อมกับเล่าเกร็ดประวัติอันเกี่ยวพันกับหลุยส์ อาร์มสตรองให้พวกเราฟัง ขณะนั้นรถของเรากำลังจะถึงเมืองเล็กๆ ที่มีชื่อว่าเคปโคสต์ (Cape Coast) ที่อดีตคือแหล่งค้าทาสสำคัญในภูมิภาคนี้
“มีชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันจำนวนนับร้อยนับพันคนที่เดินทางกลับมาที่นี่เพื่อตามหา “ราก” อันแท้จริงของพวกเขา... เหมือนอย่างหลุยส์ อาร์มสตรอง” ลุงโคฟี่เล่าขณะที่ผมเองก็นึกถึงวรรณกรรมรางวัลพูลิตเซอร์เรื่อง Roots ซึ่งเขียนโดย Alex Haley ที่ผมกำลังอ่านค้างอยู่ Alex เองก็เดินทางกลับมาตามหารากของเขาในประเทศแกมเบีย (The Gambia) ด้วยเช่นกัน และหนังสือเรื่อง Roots ของเขาก็ทำให้คนนับล้านๆ คนทั่วโลกได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของทาสอย่างคุนต้า คินเต้ (Kunta Kinte) ที่มาพร้อมกับภาพความจริงอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลากว่า 300 ปี ของการค้าทาสระหว่างช่วงศตวรรษที่ 16 – 19
“ แล้วตัวลุงเองล่ะครับ... เคยมีโอกาสได้พานักท่องเที่ยวที่เป็นลูกหลานทาส ไม่ว่าจะเป็นชาวอเมริกัน บราซิล หรือว่าชาติไหนๆ ก็ตามที่เดินทางกลับมาตามร่องรอยของบรรพบุรุษที่กานานี้บ้างไหมครับ?” ผมถาม
“เคย.... หลายครั้งด้วย ส่วนมากมาจากอเมริกา” ลุงโคฟี่ตอบ
“แล้วพวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้างครับลุง” คราวนี้ตาพี่นนถามลุงบ้าง
“ทุกคนที่มาถึงที่นี่กลับไปพร้อมด้วยน้ำตา ....ทุกคน ...ทุกคน” เมื่อจบประโยค เสียงของลุงโคฟี่ก็ค่อยๆ แผ่วเบาลงและจางหายไปพร้อมกับลำแสงสุดท้ายของเย็นวันนั้นเมื่อพระอาทิตย์ที่กำลังอำลาขอบฟ้าลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
เช้าวันรุ่งขึ้น เรารีบตรงมายังตลาดปลาของเมืองเคปโคสต์แต่เช้า เรือประมงหลายสิบหลายร้อยลำกำลังลอยเข้าเทียบท่าพร้อมลำเลียงปลาขึ้นฝั่ง ผู้คนมากมายต่างสาละวนอยู่กับงานหนักที่อยู่ตรงหน้า ทั้งเก็บอวน ผูกแห ขนปลาสดขึ้นฝั่ง ลำเลียงถังน้ำแข็งไปยังแผงปลา เสียงตะโกนพูดคุยกันเซ็งแซ่ ช่างเป็นฉากชีวิตที่สดใสโดยมีปราสาทเคปโคสต์ตั้งตระหง่านเป็นฉากหลังอยู่ลิบๆ
ใครจะคาดคิดว่าปราสาทหลังสวยแห่งนี้เป็นหนึ่งในแหล่งกักกันทาสที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก เหล่าเมืองต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมมหาสมุทรแอตแลยติกนั้น มีสถานที่ที่เรียกว่า Slave Castle อยู่มากมายถึง 40 แห่ง ปราสาทเคปโคสต์ถือเป็นศูนย์กลางการค้าทาสที่เรียกกันว่า Trans Atlantic Slave Trade
การค้าทาสเกิดขึ้นในทวีปแอฟริกาตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 15 และคงอยู่อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนศตวรรษที่ 19 ก่อนจะจบสิ้นลงในปี ค.ศ. 1872 โดยมีชนชาติยุโรปแทบทุกชาติ รวมทั้งอาหรับ หรือแม้แต่หัวหน้าเผ่าชาวแอฟริกันเองที่ร่วมอยู่ในกระบวนการนี้
“ขอต้อนรับทุกท่านสู่ปราสาทเคปโคสต์ ขณะนี้พวกคุณกำลังยืนอยู่บนกองอุจจาระที่หมักหมมนานนับร้อยๆ ปี จากคนจำนวนนับแสนนับล้านคนที่แออัดกันอยู่ที่นี่ระหว่างรอเรือมารับ ก่อนจะมุ่งหน้าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่โลกใหม่ต่อไป” เสียงโรเบิร์ต ไกด์หนุ่มผู้รับหน้าที่นำนักท่องเที่ยวเดินชมปราสาทแห่งนี้กล่าวขึ้น ผมรีบเหลือบตาดูที่เท้าของผมทันที ผมกำลังยืนยู่บนพื้นสีดำเข้มที่มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งนุ่ม จะเป็นปูนก็ไม่ใช่ อิฐก็ไม่เชิงและขณะนั้นเรากำลังยืนอยู่ในห้องที่มืดมากๆ มีเพียงแสงสว่างที่ลอดผ่านช่องระบายลมเล็กๆ พร้อมกับกลิ่นอับๆ และอากาศที่ร้อนระอุเพราะไร้ลมพัด ที่ทางเข้ามีป้ายเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Male Slave Dungeon
“นักวิทยาศาสตร์ได้เคยเข้ามาทำการเซาะเอาพื้นห้องกักขังทาส... ก็คือห้องที่พวกคุณกำลังยืนอยู่ขณะนี้นะครับ.... เพื่อไปทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ พวกเขาพบของเสียทุกชนิดในร่างกายมนุษย์ที่หล่อรวมกันอยู่ในนั้น มันไม่ใช่แค่อุจจาระ แต่มันมีทั้งปัสสาวะ อาเจียน เลือด น้ำตาของคนจำนวนมากที่หมักหมมรวมกันอยู่” โรเบิร์ตอธิบายต่อ
“ไม่ทราบว่าได้ลองสังเกตสภาพพื้นถนนที่ปูอยู่ในบริเวณอื่นๆ ของปราสาทบ้างหรือไม่ครับ?” โรเบิร์ตตั้งคำถาม
ผมนึกย้อนภาพตัวเองตอนมาถึงและเดินผ่านส่วนต่างๆ ของปราสาทก่อนจะลงมายังห้องใต้ดินที่ใช้กักขังทาสที่ผมกำลังยืนอยู่เวลานี้ ผมจำได้ว่ามันเป็นพื้นอิฐเหมือนพื้นถนนแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปในยุโรป
“ใช่ครับ.... เดิมพื้นห้องนี้ก็เป็นพื้นอิฐ แต่ของเสียของมนุษย์มันทับถมกันจนพื้นอิฐเดิมนั้นเดิมสูญหายไปหมดแล้ว และกลายเป็นพื้นเรียบในสภาพที่พวกคุณกำลังยืนอยู่... อยากทราบไหมครับว่าของเสียที่หมักหมมในนี้มีมากขนาดไหน?” โรเบิร์ตอธิบาย พร้อมตั้งคำถาม
“นี่ครับ” โรเบิร์ตพูดพร้อมกับชี้ให้ดูรอยแต้มสีขาวบนผนัง มันสูงขึ้นมาประมาณเข่า และนั่นคือปริมาณของเสียที่ขับถ่ายออกมาจากคนจำนวนมากที่หมักหมมรวมกันในห้องนี้ ก่อนจะมีการขุดแซะและทำความสะอาด
ห้องกักกันทาสเป็นห้องที่ขุดลึกลงไปใต้อาคาร จึงอับลมและแสง ห้องเล็กๆ ห้องนี้ใช้กักขังทาสไว้คราวละ 150 – 200 คน เพื่อรอเรือสินค้าเดินทางมารับ โดยแต่ละคราวทาสจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในห้องนี้เฉลี่ยประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ที่นานสุดคือ 12 สัปดาห์ ดังนั้นพื้นที่แคบๆ แห่งนี้จึงเป็นทั้งที่กิน ที่ยืน ที่นั่ง ที่นอน ที่ขับถ่าย รวมทั้งที่ลมหายใจเฮือกสุดท้ายหมดลง
ก่อนมาถึงปราสาททาสชายหญิงจำนวนมากจะถูกกวาดต้อนมาจากหมู่บ้านไกลแสนไกลในพื้นทวีปและเดินเท้าที่จองจำด้วยโซ่ตรวนจากเหล็ก รวมทั้งดามคอด้วยไม้หรือห่วงโลหะ ระยะเดินเท้าโดยเฉลี่ยคือไม่ต่ำกว่า 200 ไมล์ และที่ไกลที่สุดที่เคยบันทึกไว้คือ 600 ไมล์จากประเทศบูร์กินา ฟาโซ (Burkina Faso)
“คนยุโรปไม่ใช่ผู้ที่กวาดต้อนชนพื้นเมืองมาเป็นทาสนะครับ หลายคนเข้าใจผิด คนยุโรปคือผู้ขายและผู้ซื้อเท่านั้น แต่เหล่าหัวหน้าเผ่า หรือกษัตริย์ของราชอาณาจักรเล็กๆ ในพื้นที่แอฟริกาตะวันตกเหล่านี้ต่างหากที่เป็นผู้กวาดต้อนเชลยสงคราม หรือแม้แต่จับราษฎรของตนมาขายเป็นทาสโดยมีผลประโยชน์มากมายที่ได้รับแลกเปลี่ยนเป็นของกำนัล” โรเบิร์ตอธิบาย และนั่นทำให้ผมอ้าปากค้าง
“ทาสชายหนึ่งคน อาจหมายถึงลูกปืนใหญ่ 24 ลูก หรืออาจจะกลายเป็นเหล้า ไวน์ ซิการ์ หรือสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ จากยุโรปที่มีอำนาจพอจะเปลี่ยนคนคนหนึ่งให้ละทิ้งความเป็นมนุษย์ของตนเองไปได้” ...จริง ผมเองไม่มีวันเข้าใจได้เลยว่ามนุษย์สามารถปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันเยี่ยงนี้ได้อย่างไร
พวกเราเดินต่อไปเรื่อยๆ จากห้องใต้ดินที่กักขังทาสชาย ไปยังห้องอื่นๆ ของปราสาท พร้อมกับฟังเรื่องราวจากโรเบิร์ต “เมื่อมาถึงสิ่งแรกที่ทำก็คือการเอาเหล็กร้อนเผาไฟนาบที่หน้าผาก หรือหน้าอกเพื่อตีตราว่าเป็นสินค้าของใคร? ชาติไหน? ในตอนนั้นมียุโรปหลายชาติที่มีกิจการรุ่งเรืองจากการขายทาส ไม่ว่าสวีเดน ดัทช์ โปรตุเกส ฝรั่งเศส ฯลฯ เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า Branding จากนั้นก็จะส่งลงไปยังห้องขังชั้นใต้ดิน และด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายจึงส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตระหว่างคุมขังนั้นสูงถึง 40 % เลยทีเดียว”
เราเดินต่อมาเรื่อยๆ ไปยังอีกฝั่งของปราสาท ที่นั่นก็มีห้องกักขังทาสผู้หญิงที่มีป้ายติดไว้ว่า Female Slave Dungeon เหนือห้องขังทาสผู้หญิงจะมีลานเล็กๆ ไว้ให้นายๆ ชาวยุโรปมองลงมาได้ ทาสสาวหน้าตาดีจำนวนหนึ่งจะได้รับคัดเลือกมาบนลานนี้เพื่อให้นายๆ ได้เลือกเพื่อนำตัวไปปรนเปรอความใคร่
ทาสที่ได้รับเลือกจะถูกนำไปอาบน้ำขัดตัว และส่งขึ้นห้องทางบันไดลับ หากพวกเธอตั้งครรภ์ขึ้นมา เธอจะถูกกันออกมาจากหัองขังใต้ดิน และนำไปเก็บตัวไว้ที่อาคารข้างปราสาทจนทารกคลอด แล้วจึงกลับมาอยู่ในคุกใต้ดินในสภาพทาสอีกครั้งเพื่อรอเรือมารับ
ส่วนลูกครึ่งที่เกิดมานั้น จะเรียกว่าเป็นชนชั้น “มูลาตู” ที่ได้รับการศึกษาในแบบแผนเดียวกับยุโรป จากบาทหลวงที่มาจากยุโรป และสามารถอาศัยอยู่กับพ่อในบริเวณปราสาทได้โดยไม่ต้องไปอยู่ปะปนกับคนพื้นเมือง รวมทั้งได้สิทธิ์ในการถือสัญชาติเดียวกันกับผู้เป็นบิดา ในขณะที่แม่นั้นจะยังคงสถานะทาสต่อไป และจะไม่มีโอกาสเจอกันกับลูกของตัวเองเลย
หากทาสหญิงคนไหนขัดขืน เธอก็จะถูกส่งตัวมายังห้องขัง (The Cell) ที่เล็ก มืด สกปรก และร้อนมากๆ ในช่วงกลางวัน โรเบิร์ตได้ลองพาพวกเราให้เข้าไปยืนอยู่ในคุกเล็กๆ แห่งนั้นแล้วลองจับเวลาว่าเราจะทนอยู่กันได้กี่นาที... ผมว่า 3 นาทีก็ถือว่าเยอะมาก
“มีทาสหญิงหลายคนที่ถูกกักขังไว้ในห้องนี้จนเสียชีวิต” โรเบิร์ตเล่า
“อ้อ....ความเลวร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในคุกชั้นล่างนั้น... ถัดขึ้นไปด้านบนคือโบสถ์ที่ตั้งอยู่ตรงกับตำแหน่งนี้พอดี” คำพูดของโรเบิร์ตประโยคนี้ทำให้เราทุกคนนิ่งเงียบกันไปอีกนาน
และแล้วเราก็มาถึงจุดสุดท้ายของการชมปราสาทเคปโคสต์ นั่นคือประตูที่ไม่หวนกลับ หรือ The Door of No Return ที่ตั้งอยู่ตรงปลายปราสาทริมชายทะเล
มีชาวแอฟริกันทั้งชายหญิงจำนวนมากสุดที่บันทึกไว้ได้คือ 25 ล้านคนที่เดินผ่านประตูนี้ออกไปขึ้นเรือไม้ ก่อนล่องข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่ “โลกใหม่” และจากบ้านเกิดไปตลอดชีวิต
แล้วชายหญิงทั้ง 25 ล้านคนนี้ไปไหน?
กว่าครึ่งคือประชากรชาวบราซิลในปัจจุบัน อีกหนึ่งในสามกลายเป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน รวมทั้งประชากรในหมู่เกาะแคริบเบียนเกือบทั้งหมด และมีอีกมากมายที่อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศอาหรับ และยุโรป เมื่อจบการเดินชมปราสาทเคปโคสต์ในวันนี้ โรเบิร์ตทิ้งท้ายไว้ว่า
“มีที่ไหนบ้างที่ไม่มีประวัติศาสตร์? ทุกที่มีหมด สิ่งสำคัญคือเราเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์กันบ้าง? และเราพยายามกันแค่ไหนที่จะไม่ทำให้สิ่งเลวร้ายนั้นเกิดขึ้นอีก? เราพยายามกันพอแล้วหรือยัง? วันนี้เราไม่ได้ต้องการประณามใคร เราไม่ได้ต้องการชี้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่เรามาเรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อช่วยกันป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นมาอีก ไม่ว่าที่ไหนในโลกก็ตาม”
ผมเดินออกมาจากปราสาทเคปโคสต์ พร้อมกับหันหลังกลับไปดูพวงหรีดจำนวนมากที่มาจากเมมฟิสบ้าง แอตแลนต้าบ้าง บราซิลบ้าง บนนั้นมีคำไว้อาลัยของลูกหลานที่เขียนถึงบรรพบุรุษของพวกเขาที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่
ผมจินตนาการถึงความรู้สึกของพวกเขา
“.... ทุกคนที่มาที่นี่กลับไปพร้อมน้ำตา ....ทุกคน ....ทุกคน” คำพูดของลุงโคฟี่ยังก้องอยู่ในหูของผม พร้อมนัยน์ตาที่ชุ่มเช่นกัน
ขอขอบคุณภาพจาก
ดวงฤทัย พุ่มชูศรี Facebook Ning’s Homemade
นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี
Story by โลจน์ นันทิวัชรินทร์