"อ่าน" สร้าง Empathy รับปี 2019
นานแค่ไหนแล้ว ที่คุณไม่ได้อ่านนิยาย หรือวันนี้จะหยิบมาอ่านสักเล่มดีไหม มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันมาว่า การอ่านเรื่องแต่งจำพวกนิยายช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ และช่วยให้สมองทำหน้าที่ได้ดีขึ้นด้วย
นักวิจัยสงสัยมานานว่าการอ่านนิยาย หรือเรื่องที่ชวนให้เราหลีกหนีความจริงรอบตัวไปสู่อีกมุมที่ต่างออกไป น่าจะเป็นประโยชน์ในการสร้างทักษะของการเข้าใจผู้อื่น ที่เรียกว่า Empathy ได้ดีมาก ตอนนี้เรามีคำตอบแล้ว ...ว่ามันจริง
เดวิด โรเดล ฟีเดอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในด้านจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ และไดอานา ทาเมียร์ จากพรินสตั้น ได้ลงมือศึกษาโดยการรีวิวเคสที่เคยทำการวิจัยด้านนี้มา 14 หัวข้อ เกี่ยวกับการอ่านเรื่องแต่งหรือ fiction เปรียบเทียบกับการอ่านเรื่องจริง หรือการที่ไม่อ่านหนังสือเลย มีผลลัพธ์ที่วัดได้เกี่ยวกับความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น เพราะเขาบอกว่าความเข้าใจผู้อื่นนั้นวัดผลได้จากหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการตีความท่าทีในแสดงออก การมองสิ่งต่างๆในมุมอื่น หรือการคาดการณ์ว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ การพัฒนาทักษะการเข้าใจผู้อื่นตรงนี้อาจจะเห็นเป็นสถิติทางการวัดผลที่ดูเล็กน้อย แต่นัยยะของมันมีความสำคัญ และพบตรงกันจากการวิจัยหัวข้อต่างๆ และจากการวัดผลในหลากหลายวิธี
ดร.อาร์ท มาร์คแมน หัวหน้าโครงการ Human Dimensions of Organization จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน เขียนผ่านเว็บไซต์ Psychology Today เลยว่า นี่คือการค้นพบที่สำคัญ การวิจัยจะมีการทดลองด้านการอ่าน (หรือการไม่อ่าน) ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะทำการทดสอบด้านความเข้าใจผู้อื่น เหตุที่มันน่าสนใจก็เพราะการอ่านนิยายในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นเพียงพอที่จะเกิดผลการทดสอบที่แตกต่างได้เลย ถ้าเป็นอย่างนี้ นักอ่านทั้งหลายที่อ่านนิยายอยู่เป็นประจำมีแนวโน้มจะเกิดความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นและมีความฉลาดทางอารมณ์ได้สบายมาก
ดร.มาร์คแมน ตัดสินใจนำเอาวรรณกรรมและมนุษยศาสตร์เข้ามาร่วมในโปรแกรมการสอน และก็ใช้ได้ผลดีทีเดียว เขาเขียนไว้ว่า “วรรณกรรมมีบทบาทสำคัญมากๆ ในเรื่องที่เราสอน ทำให้มีการมองโลกผ่านมุมมองวิธีคิดของคนอื่นๆ วรรณกรรมสามารถเปิดหน้าต่างให้เราเห็นว่าผู้คนเขา ”คิดหรือรู้สึก”อะไรกัน
นวนิยายมีอิมแพคสูงสุด
อย่างหนึ่งที่ไม่ได้ถูกวัดผลชัดๆ ในการวิจัย 14 หัวข้อนี้ก็คือ การเปรียบเทียบผลของการอ่านนวนิยายกับเรื่องสั้น งานวิจัยชิ้นหนึ่งมีผลพิสูจน์ออกมาว่า การอ่านโดยทั่วไปจะดีต่อสมองและช่วยให้อายุยืน ผลที่ได้นี้มาจากการอ่านหนังสือเรื่องยาว ที่ไม่ใช่งานเขียนแบบสั้นๆ เพราะการติดตามเรื่องราว การจดจำตัวละครในทุกๆ ตอนตลอดเรื่อง มีผลดีต่อการทำงานของสมอง และมีประโยชน์ในการรสร้างทักษะการเข้าใจผู้อื่น
คราวนี้ชัดเลยไหมว่าพวกเราสมควรอย่างยิ่งที่จะมีกองหนังสือนวนิยายไว้ข้างเตียง หรือจะอ่านอีบุ๊คบนแท็บเลตหรือมือถือก็ได้เหมือนกัน แม้ว่านักวิจัยไม่ได้ชี้ข้อแตกต่างระหว่างการอ่าน non fiction และการเขียนบันทึกส่วนตัว แต่ก็มองได้ว่าการอ่านบันทึกแนวอัตชีวประวัติของคนอื่น ก็น่าจะทำให้เราเข้าใจมุมมองเขาเหล่านั้น ก็คงจะเกิดประโยชน์เดียวกันนี้แหละ
เอาเลยไหม นอนเหยียดบนโซฟา หรือบนเตียง กับหนังสือนิยายหรืออัตชีวประวัติสักเล่ม ทำอย่างนี้ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในปีใหม่นี้เลย เพราะมันดีต่อสมองและสุขภาพ แถมช่วยเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์ และอาจทำให้คุณทำงานและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้นอีกด้วยนะ
อ้างอิง : www.inc-asean.com