HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
เจาะจิตวิทยาคำว่า Empathy ที่ “โอปอล สุชาตา” ตอบรอบ 5 คนสุดท้าย ก่อนครองรองอันดับที่ 3 Miss Universe 2024
by HBKK
17 พ.ย. 2567, 23:02
  18 views

 

“ผู้นำมีความสำเร็จต้องมีความเห็นใจผู้อื่น ไม่ว่าคุณจะเก่งขนาดไหน ท้ายที่สุดแล้วคุณต้องมีความเห็นใจผู้อื่น เพื่อเข้าใจคนอื่น แคร์ความเป็นอยู่ของผู้คน เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ผู้นำ แต่ต้องเป็นทุกคน นั่นคือสิ่งที่จะทำให้คนเป็นหนึ่งเดียวกันได้” โอปอล สุชาตา, รองอันดับที่ 3 Miss Universe 2024

 

ไม่ใช่แค่ความสวยและไหวพริบดี แต่การมีจิตใจที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำให้คนเรามีคุณค่าและงดงามออกมาจากภายใน แม้ โอปอล สุชาตา ตัวแทนสาวไทยจะไม่ได้มงลงคว้าที่ 1 แต่ก็ทำหลายคนทึ่งในแนวคิด โดยเฉพาะจิตแพทย์ที่ต่างชื่นชมว่าเป็นคำตอบที่ดีมาก เมื่อถูกถามว่า “คุณสมบัติอะไร ที่จะทำให้เป็นผู้นำประสบความสำเร็จ?”

ขออนุญาตหยิบยกข้อมูลที่ นพ.เจษฎา ทองเถาว์ แพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ จิตแพทย์ประจำ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี ที่อธิบาย “จิตวิทยา ของคำว่า Empathy” แบบน่าสนใจว่า

คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา

จากการตอบคำถามรอบ 5 คนสุดท้ายที่ว่า “คุณสมบัติอะไร ที่จะทำให้เป็นผู้นำประสบความสำเร็จ?”  มีคำศัพท์สำคัญที่หมอไม่คิดว่าจะได้ยิน นั่นคือ คำว่า  Empathy  ซึ่งคนทีทื่จะใช้คำนี้ได้นั้น ต้องมีความเข้าใจและคุ้นเคยกับงานด้านจิตวิทยาในระดับหนึ่งเลย

Empathy คืออะไร?

Empathy คือความสามารถในการเข้าใจและรับรู้ถึงอารมณ์ ความคิด และมุมมองของผู้อื่น แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักตามงานวิจัย:

1. Cognitive Empathy: การเข้าใจมุมมองของผู้อื่นโดยใช้เหตุผล เช่น การเข้าใจว่าทำไมคนๆ นั้นถึงรู้สึกหรือแสดงพฤติกรรมแบบนั้น

2. Emotional Empathy: การสัมผัสหรือรู้สึกตามอารมณ์ของผู้อื่น เช่น การรู้สึกเศร้าตามเมื่อเห็นคนอื่นร้องไห้

3. Compassionate Empathy: ความเข้าใจและมีแรงผลักดันที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อเห็นพวกเขาต้องการการช่วยเหลือ

Empathy ไม่ใช่แค่คุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำ แต่ยังเป็นพื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทุกมิติ ตั้งแต่ครอบครัว เพื่อน ไปจนถึงองค์กร

ประโยชน์ของ Empathy

1. พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น

การมี Empathy ช่วยให้เราสามารถสื่อสารและเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ดีขึ้น ลดความขัดแย้งและสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกว่าเดิม

2. ลดความเครียดในที่ทำงาน

ในองค์กรที่ผู้นำมี Empathy จะช่วยลดความกดดันในที่ทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างทีมที่มีความสามัคคี

3. ส่งเสริมสุขภาพจิตของทั้งผู้ให้และผู้รับ

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนแสดงให้เห็นว่า Empathy ช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียด (*cortisol*) และเพิ่มความพึงพอใจในชีวิตของผู้ที่แสดง Empathy

4. สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง

Empathy ช่วยให้เรามองเห็นความต้องการของคนในสังคม เป็นรากฐานของการช่วยเหลือและการอยู่ร่วมกัน

วิธีพัฒนา Empathy

1. ฝึกฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening): ให้ความสนใจอย่างแท้จริงกับสิ่งที่คนอื่นพูด โดยไม่ตัดสินหรือตอบโต้ทันที

2. ตั้งคำถามเชิงบวก: การถามว่า "คุณรู้สึกยังไง?" หรือ "ฉันช่วยอะไรได้บ้าง?" ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้แสดงความรู้สึก

3. สร้างประสบการณ์ร่วม: การลองทำกิจกรรมในมุมมองของคนอื่นช่วยเพิ่มความเข้าใจและลดอคติ

4. ฝึกการมองโลกในมุมของผู้อื่น (Perspective-Taking): ลองตั้งคำถามกับตัวเอง เช่น "ถ้าฉันเป็นเขา ฉันจะรู้สึกยังไง?"

5. ฝึกการแสดงออกทางอารมณ์: เช่น การกล่าวคำปลอบใจหรือให้กำลังใจเมื่อคนรอบตัวรู้สึกแย่

คำเตือนในการใช้ Empathy

Empathy ควรถูกใช้ด้วยความสมดุล เพราะการใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่นมากเกินไปโดยไม่ดูแลตนเอง อาจนำไปสู่ภาวะเหนื่อยล้าทางอารมณ์ (*emotional burnout*)

 

ในขณะที่เรื่องนี้เราเคยนำเสนอเรื่อง "อ่าน" สร้าง Empathy งานวิจัยของจิตแพทย์ที่อธิบายความเกี่ยวโยงของการอ่านกับการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

โดย เดวิด โรเดล ฟีเดอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในด้านจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ และไดอานา ทาเมียร์ จากพรินสตั้น ได้ลงมือศึกษาโดยการรีวิวเคสที่เคยทำการวิจัยด้านนี้มา 14 หัวข้อ เกี่ยวกับการอ่านเรื่องแต่งหรือ fiction เปรียบเทียบกับการอ่านเรื่องจริง หรือการที่ไม่อ่านหนังสือเลย

มีผลลัพธ์ที่วัดได้เกี่ยวกับความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น  เพราะเขาบอกว่าความเข้าใจผู้อื่นนั้นวัดผลได้จากหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการตีความท่าทีในแสดงออก  การมองสิ่งต่างๆในมุมอื่น  หรือการคาดการณ์ว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ   การพัฒนาทักษะการเข้าใจผู้อื่นตรงนี้อาจจะเห็นเป็นสถิติทางการวัดผลที่ดูเล็กน้อย แต่นัยยะของมันมีความสำคัญ และพบตรงกันจากการวิจัยหัวข้อต่างๆ และจากการวัดผลในหลากหลายวิธี

ดร.อาร์ท มาร์คแมน หัวหน้าโครงการ Human Dimensions of Organization จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน เขียนผ่านเว็บไซต์ Psychology Today เลยว่า นี่คือการค้นพบที่สำคัญ  การวิจัยจะมีการทดลองด้านการอ่าน (หรือการไม่อ่าน) ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะทำการทดสอบด้านความเข้าใจผู้อื่น  เหตุที่มันน่าสนใจก็เพราะการอ่านนิยายในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นเพียงพอที่จะเกิดผลการทดสอบที่แตกต่างได้เลย  ถ้าเป็นอย่างนี้ นักอ่านทั้งหลายที่อ่านนิยายอยู่เป็นประจำมีแนวโน้มจะเกิดความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นและมีความฉลาดทางอารมณ์ได้สบายมาก

ดร.มาร์คแมน ตัดสินใจนำเอาวรรณกรรมและมนุษยศาสตร์เข้ามาร่วมในโปรแกรมการสอน และก็ใช้ได้ผลดีทีเดียว เขาเขียนไว้ว่า “วรรณกรรมมีบทบาทสำคัญมากๆ ในเรื่องที่เราสอน  ทำให้มีการมองโลกผ่านมุมมองวิธีคิดของคนอื่นๆ วรรณกรรมสามารถเปิดหน้าต่างให้เราเห็นว่าผู้คนเขา ”คิดหรือรู้สึก”อะไรกัน

นวนิยายมีอิมแพคสูงสุด

อย่างหนึ่งที่ไม่ได้ถูกวัดผลชัดๆ ในการวิจัย 14 หัวข้อนี้ก็คือ การเปรียบเทียบผลของการอ่านนวนิยายกับเรื่องสั้น งานวิจัยชิ้นหนึ่งมีผลพิสูจน์ออกมาว่า การอ่านโดยทั่วไปจะดีต่อสมองและช่วยให้อายุยืน  ผลที่ได้นี้มาจากการอ่านหนังสือเรื่องยาว ที่ไม่ใช่งานเขียนแบบสั้นๆ  เพราะการติดตามเรื่องราว การจดจำตัวละครในทุกๆ ตอนตลอดเรื่อง มีผลดีต่อการทำงานของสมอง  และมีประโยชน์ในการรสร้างทักษะการเข้าใจผู้อื่น

คราวนี้ชัดเลยไหมว่าพวกเราสมควรอย่างยิ่งที่จะมีกองหนังสือนวนิยายไว้ข้างเตียง  หรือจะอ่านอีบุ๊คบนแท็บเลตหรือมือถือก็ได้เหมือนกัน  แม้ว่านักวิจัยไม่ได้ชี้ข้อแตกต่างระหว่างการอ่าน non fiction และการเขียนบันทึกส่วนตัว แต่ก็มองได้ว่าการอ่านบันทึกแนวอัตชีวประวัติของคนอื่น ก็น่าจะทำให้เราเข้าใจมุมมองเขาเหล่านั้น ก็คงจะเกิดประโยชน์เดียวกันนี้แหละ

 

 

อ้างอิง

  • Goleman, D. (1995). *Emotional Intelligence: Why It Can Matter More Than IQ*.
  • Batson, C. D., et al. (1997). "Empathy and Altruism". *Annual Review of Psychology*.
  • Decety, J., & Jackson, P. L. (2006). "The Functional Architecture of Human Empathy". *Behavioral and Cognitive Neuroscience Reviews*.
  • www.inc-asean.com

ABOUT THE AUTHOR
HBKK

HBKK

Live Every Day

ALL POSTS