เปิดประสบการณ์ประทับใจกับ "คลังมหาสมบัติ" ของชาติที่บ้านปลายเนิน
ฟื้นชีวิตบ้านตากอากาศในชนบทสมัย ร.6 ของ "สมเด็จครู" ที่คลองเตย สู่พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต
ได้ยินชื่อพระตำหนักปลายเนินมาตั้งแต่เด็ก ดูโขนวันนริศที่จัดที่นี่มาทุกปีช่วงปลายเดือนเมษายน แต่ไม่เคยรู้เลยจริงๆ ว่าพระตำหนักนี้อยู่ตรงไหน ทราบคร่าวๆ แค่อยู่แถวคลองเตย และมีอะไรบ้างนอกจากเรือนไทยกับสนามหญ้าที่ใช้แสดงโขนละคร ในที่สุดบ่ายวันหนึ่งก็ได้ได้รู้คำตอบ
จากรถใต้ดินสถานีคลองเตย เดินออกมาฝั่งการไฟฟ้านครหลวง แล้วเดินต่อไปอีกแค่ 1นาที จึงเห็นรั้วสีขาว ติดป้ายเล็กๆ หน้าตาธรรมดามากว่า “บ้านปลายเนิน” ถ้าไม่รู้มาก่อนว่านี่เคยเป็นที่ประทับของพระโอรสของรัชกาลที่ 4คงคิดว่าเป็นบ้านคนธรรมดาๆ สักคน เห็นแค่หน้าประตู ก็ลบความคิดว่าการเป็นเจ้านายชั้นสูงต้องอยู่ตึกใหญ่โตหรูหราอลังการไปได้เลย
ก้าวพ้นรั้วปั๊บ สิ่งแรกที่เห็นคือต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งร่มครึ้มตลอดแนวถนนเล็กๆ ขนาดพอให้รถคันเดียววิ่งได้พอดีคันเสียงจอแจบนถนนพระราม 4 เงียบลงไปถนัดเมื่อก้าวพ้นรั้วเข้ามา ทางขวามือเป็นรั้วเตี้ยๆ พาเรามาถึงเรือนไทย ทางซ้ายจะพบตึกตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่สูงเยี่ยมเทียมฟ้าของหน่วยราชการแห่งหนึ่ง ถ้าหลับตาซ้ายไม่เห็นตึกนี้ จะมองภาพได้ชัดว่าสมัยก่อนแถวนี้คงเป็นทุ่งโล่ง เรือนไทยที่นี่คงจะเด่นและสงบไม่น้อยทีเดียว
เรือนไทยในวันนี้มีนั่งร้านล้อมรอบ เพราะทายาทราชสกุลจิตรพงศ์กำลังบูรณะเรือนไทยซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือสมเด็จครู ในช่วงปลายของพระชนม์ชีพ อีกไม่นานเมื่อรื้อนั่งร้านออก เรือนไทยคงจะอวดโฉมได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง
ม.ร.ว. จักรรถ จิตรพงศ์ ผู้เป็นหลานปู่ของสมเด็จครูเล่าว่า เรือนนี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงซื้อเรือนไทยเก่ามาปรุงใหม่เป็น “ที่ประทับตากอากาศในชนบท” เนื่องจากประชวรด้วยโรคปอดอักเสบ ถูกแล้ว ท่านใช้คำว่า “ชนบท” เพราะเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 ย่านคลองเตยนี่ถือได้ว่าไกลปืนเที่ยงมาก รอบๆ เป็นทุ่งโล่ง น้ำในคลองยังใส อากาศบริสุทธิ์ การที่ประทับอยู่ที่นี่ตลอดเกือบ 40 ปีในบรรยากาศสงบเงียบจึงทำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงสร้างสรรค์งานศิลปะหลากหลายแขนงและมีความสำคัญต่อประเทศเราได้มากมาย ณ เรือนไทยแห่งนี้
สำหรับหลายๆ คนที่เคยได้ยินพระนามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เวลาเรียนวิชาสังคมหรือประวัติศาสตร์ แต่อาจจะจำไม่ได้ว่าท่านเป็นใคร ทำอะไรไว้บ้าง ขอให้นึกถึงพระบรมรูปรัชกาลที่ 1ที่สะพานพุทธที่ทรงออกแบบให้อาจารย์ศิลป์ พีระศรีเป็นผู้หล่อ ขอให้นึกถึงวัดเบญจมบพิตร วัดที่ทำจากหินอ่อนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติแทบจะทุกคนต้องมาชมไม่เช่นนั้นจะเรียกไม่ได้ว่ามาถึงเมืองไทยแล้ว นั่นละ คือหนึ่งในผลงานการออกแบบของพระองค์ท่าน ผู้ไม่เคยทรงศึกษาเล่าเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือสถาบันศิลปะใดๆ แต่อาศัย “ครูพักลักจำ” และทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เอง หรือทรงศึกษาจากหนังสือเท่าที่หาได้ในยุคนั้นเท่านั้น แต่สามารถเขียนแบบอาคารส่งไปอิตาลีให้ช่างที่ไม่เคยรู้จักสถาปัตยกรรมไทยเลยตัดหินอ่อนตามแบบได้เป๊ะๆ แล้วส่งกลับมาสร้างอาคารที่งดงามสมบูรณ์แบบได้ และมีคุณค่าขนาดที่โลกต้องจารึกไว้ทีเดียว
พระอัจฉริยภาพในด้านศิลปะของพระองค์ท่านมีความหลากหลายแตกฉานทุกแขนง ไม่เฉพาะแต่งานศิลปะแบบประเพณี หรืองานศิลปะยุคโบราณ ลายไทยต่างๆ แต่พระองค์ท่านยังทรงเป็น Renaissance Man ผู้แหวกแนวศิลปะไทย สร้างสรรค์ผลงานที่งามตามธรรมชาติ เขียนรูปพระอาทิตย์ทรงรถเทียมม้า ก็ให้คนจูงม้ามาเดิน แล้วทรงวาดภาพม้าที่มีกล้ามเนื้อ มีอากัปกิริยาเช่นม้าจริงๆ ไม่ใช่ม้าแบบที่เราเห็นในจิตรกรรมฝาผนัง รูปรถม้า ก็เป็นรถม้าชนิดที่ถ้าลอกแบบออกมาขยายแล้วผลิตขึ้นมาจะเป็นรถที่ใช้งานได้จริงๆ เมื่อทรางสร้างวัด เช่นวัดราชาธิวาส ถ้าใครเข้าไปในโบสถ์ จะเห็นได้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างงานศิลปะไทยดั้งเดิม เข้ากับศิลปะแบบฝรั่ง มีจิตรกรรมฝาผนังที่ใช้สีปูนเปียกหรือเฟรสโก (Fresco)มีพระประธานเป็นศูนย์กลาง เรียกว่านำงานประติมากรรม ศิลปกรรม และมัณฑนศิลป์มารวมกันไว้จะเรียกว่านี่คือมิกซ์มีเดีย (Mixed Media) ครั้งแรกของประเทศไทยเลยก็ว่าได้
นี่ยังไม่นับงานก่อสร้างต่างๆ ตัดถนนสายแรกของประเทศไทย อาคารหลายอาคารที่ใช้เป็นที่ทำการของหน่วยงานรัฐบาล ภาพวาดลายเส้น การออกแบบตราประจำกระทรวงต่างๆ รวมถึงสัญญลักษณ์ตรา กทม. ยังไม่นับเพลงเขมรไทรโยค และเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมี ยังไม่นับการทรงงานในฐานะเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงวัง และกระทรวงกลาโหม รวมทั้งเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมัยรัชกาลที่7
เมื่อช่วงปลายพระชนม์ชีพ ได้มีการสร้างตึกหลังใหม่ให้เป็นที่ประทับ เพื่อให้สะดวกต่อการดูแลเนื่องจากพระพลานามัยไม่ค่อยแข็งแรงด้วยทรงพระชรา อาคารนี้เรียกว่าพระตำหนักตึกอยู่ถัดจากเรือนไทยไปไม่กี่เมตร เป็นตึกปูน 2 ชั้น ชั้นบนเป็นห้องบรรทมที่ประทับจนสิ้นพระชนม์และมีพระอัฐิประดิษฐานอยู่ภายใน ห้องบรรทมนี้ถูกปิดตายมาตลอด เพิ่งถูกเปิดออกเมื่อไม่นานมานี้เมื่อทายาทของพระองค์เข้ามาดู และค่อยๆ คัดข้าวของเพื่อวางแผนเตรียมทำทะเบียนของที่พบ และเตรียมนำออกจัดแสดงเพื่อให้คนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาและชมผลงานของบุคคลที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลกประจำปี พ.ศ. 2506
ทายาทราชสกุลจิตรพงศ์รุ่นที่ 4 ที่รับหน้าที่ “สำรวจ” พระตำหนักตึกพบว่าที่นี่เป็นคลังมหาสมบัติ ที่ไม่ได้หมายถึงแก้วแหวนเงินทอง แต่มหาสมบัติด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นภาพแบบร่างฝีพระหัตถ์ ศิลปวัตถุโบราณที่ทรงสะสม และข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันส่วนพระองค์ แต่ละชิ้นเช่น ไม้เท้า แว่นตา ภาพสเก็ตช์ หัวโขน ฯลฯ หรือแม้แต่ชองใช้ส่วนพระองค์อย่างผ้าเช็ดหน้าที่อยู่ในขวดโหล ของล้ำค่าเหล่านี้ไม่ได้บอกแค่เรื่องราวในชีวิตของสมเด็จครูเท่านั้น แต่ยังบอกเล่าเรื่องราวพัฒนาการของบ้านเมือง ที่มาที่ไปของงานศิลปะ การออกแบบและอื่นๆ ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของบ้านเมือง เพียงได้เห็นของใช้ส่วนพระองค์ ภาพสเก็ตช์ฝีพระหัตถ์ไม่กี่ชิ้นที่ทายาทของพระองค์ท่านนำมาแสดงให้ชมก็อดขนลุกไม่ได้กับความประณีตทั้งฝีมือและแนวคิด
เรียกได้ว่า บ้านปลายเนิน คือ สถานที่ที่สะท้อนรากเหง้าของวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสะท้อนให้เห็นว่าศิลปินของแท้ระดับครูนั้น ไม่ได้ยึดติดกับอะไรทั้งสิ้น ท่านอาจจะเริ่มจากศิลปะไทยประเพณี แต่เมื่อเข้าถึงจิตวิญญาณของศิลปะแล้ว ก็สามารถประยุกต์ ผสมผสานกับศิลปะตะวันตกหรือชาติอื่นๆ สร้างสรรค์เป็นผลงานที่ยังคงทันสมัยเข้าถึงใจคนรุ่นหลังๆ ได้ ต่อให้เป็นคนชาติอื่นที่ไม่รู้จักศิลปะไทย ก็ชื่นชมกับผลงานของสมเด็จครูได้แบบเต็มอิ่ม
นอกจากผลงานที่ทรงสร้างสรรค์ไว้แล้ว ที่บ้านปลายเนินยังมีเรื่องเล่า เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมากมาย เช่น ทางเดินปูหินแผ่นขนาดประมาณ 1 ฟุตนั้น เป็นหินอับเฉาที่ถ่วงเรือสินค้าสมัย ร. 3ทำให้เราตาสว่างว่าอับเฉานั้นไม่ได้มีแค่ตุ๊กตาหินที่เราเห็นที่วัดโพธ์ิ เป็นแผ่นๆ แบบนี้ก็มี ซึ่งทางเดินนี้ สมัยก่อนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงนำรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 มาเข้าเฝ้าสมเด็จครู ก็มีรูปที่ทุกพระองค์ประทับยืนเดินบนทางเสด็จนี้เช่นกัน
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา บ้านปลายเนินไม่ได้เป็นเพียงที่เก็บมหาสมบัติของชาติไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นโรงเรียนที่สอนนาฎศิลป์ ดนตรีไทยให้คนรุ่นใหม่มาแล้วมากมาย และแม้แต่เรือนที่ใช้สอนนักเรียนรำและเล่นดนตรีก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจเพราะออกแบบโดยหม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จครู ด้วยความสนใจทางงานด้านสถาปัตยกรรมแต่ไม่มีโอกาสได้ร่ำเรียน ท่านจึงทรงเป็นศิลปินตามรอยเสด็จพ่อ โดยพระอารมณ์ขันที่ท่านกล่าวเมื่อออกแบบเรือนรำ คือเมื่อเป็นสถาปนิกไม่ได้ "ก็เป็นสถาปนึกแล้วกัน"
"คลังสมบัติ" แห่งนี้ยังสร้างศิลปินแห่งชาติ สร้างศิลปินยุคใหม่ที่ทำงานกับฝรั่งต่างชาติ สอนให้นักออกแบบระดับโลกได้ชื่นชมศิลปวัฒนธรรมไทยมาแล้วนับไม่ถ้วน ผ่านการให้ทุนการศึกษาของมูลนิธิฯ และรางวัลนริส ซึ่งเริ่มตั้งต้นตั้งแต่รวบรวมเงินทุนได้ 23,312 บาท
อีกไม่นาน เมื่อการบูรณะบ้านปลายเนินเสร็จเรียบร้อย คงจะมีอะไรน่าสนใจให้ได้ดูได้ศึกษากันอีกมาก โดยเฉพาะการจัดแสดงงานศิลปะชั้นยอดของสมเด็จครูที่เรายังไม่เห็นกันอีกมาก เพราะทายาทตั้งใจให้วังปลายเนินในยุคใหม่เป็นหอจดหมายเหตุที่มีชีวิต (Living archive) ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของพระองค์ท่าน ความเป็นอยู่ และการทรงงาน
จะมีอะไรน่าชมไปกว่าผลงานศิลปะที่จัดแสดงในบ้านของศิลปินผู้เป็นเจ้าของผลงานนั้นเองเสมือนเราย้อนอดีตกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในยุคนั้น ได้เห็นข้าวของที่วางอยู่เสมือนสมเด็จครูเพิ่งจะทรงใช้เสร็จ ได้เห็นภาพฝีพระหัตถ์วางอยู่บนโต๊ะทรงงานเหมือนสมเด็จครูเพิ่งจะทรงวางดินสอไปพักผ่อนเมื่อสักครู่นี้เอง