HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
มองอยุธยาในมุมที่ไม่รู้จัก
by HBKK
26 ส.ค. 2560, 09:29
  5,848 views

ปีนี้ ครบ 250 ปี การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาราชธานีแห่งสยาม นอกจากวัดวังแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่คนไทยยังไม่รู้จัก

แม้ว่า กรุงศรีอยุธยาจะเป็นมหาอำนาจราชธานียาวนานถึง 417 ปี และกลายเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก แต่คนรุ่นใหม่อาจไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์รากเหง้าของกรุงเก่าที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอันรุ่งเรืองที่ถือเป็นต้นแบบทางสถาปัตยกรรมของอาณาจักรรัตนโกสินทร์

เก่ง Repaze - จิรายุส สายนาค ชาวพระนครศรีอยุธยาโดยกำเนิด ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยรู้จักประวัติศาสตร์ของอยุธยามากนัก จนกระทั่งมาแต่งเพลงประจำทีมสโสรฟุตบอลอยุธยายูไนเต็ด (Ayutthaya United By Repaze rap is now) ทำให้ต้องศึกษาค้นคว้าเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของอยุธยาในอดีตเพื่อนำมาถ่ายทอดเป็นเนื้อเพลงด้วยท่วงทำนองที่ปลุกใจกองเชียร์รุ่นใหม่ได้อย่างเร้าใจ

น้องเก่งนักฟุตบอลและนักแต่งเพลงร่วมวงเสวนา

ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักวิชาการ ตลอดจนสื่อมวลชน ต่างจัดเวทีเสวนา และจัดทำสารคดีเพื่อย้อนรอยอยุธยา ในวาระครบ 250 ปีหลังจากกรุงแตกครั้งที่สอง พ.ศ. 2310 เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนรู้ในมุมมองต่างๆ พร้อมกับปลุกกระแสให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของกรุงศรีอยุธยา และเกิดการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการค้นคว้าร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรมจากชุมชนชาวสยามที่ไปอยู่อังวะ-อมรปุระ ภายหลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310

มิกกี้ ฮาร์ท นักวิชาการอิสระชาวพม่า ให้มุมมองที่น่าสนใจมากว่า ปัจจุบันยังมีนักวิชาการและมักคุเทศก์ที่มีความเข้าใจผิดว่า ภายหลังเสียกรุง ทหารพม่าได้กวาดต้อนชาวอยุธยาไปเป็นเชลยศึก ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว พม่าถือเป็นทรัพยากรไม่ใช่เชลยศึกหรือทาส เพราะเป็นคนที่มีความรู้และทักษะความชำนาญในด้านต่างๆ

นักวิชาการพม่าผู้นี้สนใจยังศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสยามในประเทศพม่า เพราะเกิดคำถามว่า ชาวสยามมีความลำบากจริงหรือเปล่า และพอมีการตั้งกรุงธนบุรีแล้ว ทำไมชาวสยามทั้งหลายไม่กลับมาประเทศไทยบ้าง ทุกวันนี้ ยังมีการใช้คำที่เป็นภาษาไทยอยู่บ้าง เช่น พลู กล้วย เป็นต้น

ศิลปะโยเดีย (พม่าเรียกชาวอยุธยาที่มาอยู่ในพม่าว่าโยเดีย) เป็นอีกวัฒนธรรมชาวสยามที่ยังคงอยู่ โดยขณะนี้กรมศิลปากรกำลังศึกษาแม่แบบนาฏศิลป์โยเดีย เพลงโยเดีย และจิตรกรรมโยเดีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมา คนสยามในพม่ามีความเป็นอยู่อย่างอิสระ

ไปเที่ยวอยุธยา นอกจากวัดกับวังแล้วมีที่ไหนน่าสนใจ

ป้อมเพชร-บางกะจะ

ถ้าไปเยือนอยุธยาอีกครั้ง แนะนำให้ไปเดินชมป้อมเพชรบนเกาะเมืองด้านทิศใต้ อยู่ฝั่งตรงข้ามวัดพนัญเชิงวรวิหาร ถือเป็นสถานที่สำคัญที่เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้

ในช่วงที่อยุธยาเป็นราชธานีแห่งชนชาติสยาม เกาะเมืองอยุธยาที่เรียกว่า บางกะจะ เป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ความเป็นเมืองท่าของพระนครแห่งนี้เกิดจากทำเลที่ตั้งซึ่งล้อมรอบด้วยแม่น้ำสามสายได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี เชื่อมต่อกับอ่าวไทยด้วยระยะทางที่ไม่ไกล จึงสะดวกต่อการคมนาคมทางน้ำ อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมสินค้าเกษตร สินแร่ และของป่า

ป้อมเพขร

บริเวณนี้ เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ โดยพระเจ้าแผ่นดินในยุคอยุธยา แต่งตั้งชาวจีนในตำแหน่ง โชดึกราชาเศรษฐี กรมท่าซ้าย ดูแลการค้าสำเภาทางทะเลจีน มหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนแขกมลายูในตำแหน่งจุฬาราชมนตรี กรมท่าขวา ดูแลการค้าทางทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย

บริเวณป้อมเพชรเป็นทางน้ำสามสายมาบรรจบกัน

อยุธยาสมัยนั้นเปรียบเสมือนศูนย์การค้าขนาดใหญ่ให้ผู้คนได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่นำเข้ามาจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งโดยเรือสำเภาของราชสำนักสยามเองและโดยเรือสินค้าต่างชาติ ความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาเป็นผลมาจากการเป็นเมืองท่านานาชาติ มั่นคงทางการเมืองเพราะมีอาณาเขตดินแดนอย่างชัดเจนและแสดงถึงบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรมของสยามประเทศที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันท่ามกลางความหลากหลายของสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

พิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา

ด้วยความร่วมมือระหว่างสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย และกรมศิลปากร พิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดาก่อตั้งขึ้นโดยพยายามยึดรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของสถานีการค้าดัตซ์ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่

บริเวณโดยรอบอาคารจะเป็นโบราณสถานหมู่บ้านฮอลันดาที่ยังคงหลงเหลือแต่เพียงฐานรากของอาคารที่เคยเป็นคลังสินค้าเดิมของสถานีการค้าดัตซ์ ซึ่งกรมศิลปากรได้ขุดค้าพบเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น เครื่องกระเบื้องจีน เครื่องปั้นดินเผา กล้องยาสูบของดัตซ์ และเหรียญเงินตราของดัตซ์

ชั้นบน มีการจัดนิทรรศการในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชาวดัตซ์ที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวฮอลันดาจึงริเริ่มตั้งสถานีการค้าในนามบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา หรือ วีโอซี (VOC Limited) ในอยุธยา เมื่อได้ตระะหนักถึงผลประโยชน์ที่พึงได้รับจากความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนแห่งนี้ รวมถึงความเปิดกว้างและความเป็นนานาชาติของสังคมอยุธยา ขณะนั้น มีชาวต่างชาติมากมายหลายกลุ่มที่เข้ามาอาศัย ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน มลายู ชวาเปอร์เซีย หรือโปรตุเกส ทั้งที่เข้ามาในฐานะพ่อค้า นักเดินเรือ นักเผชิญโชค มหารรับจ้าง ผู้ชำนาญการต่างๆ และมิชชั่นนารี โดยแต่ละชนชาติถูกกำหนดให้อยู่รวมกันเป็นชุมชน หรือบ้านในที่ที่จัดสรรไว้โดยราชสำนักสยาม

สินค้าสยามเป็นที่ต้องการของวีโอซี ทั้งไม้ฝางหนังกวาง และหนังปลากระเบนสำหรับตลาดในญี่ปุ่น ข้าวสำหรับชาวฮอลันดาบนเกาะชะวา และแร่ดีบุกที่ทวีความสำคัญพร้อมกับความนิยมปริโภคชาจีนที่เพิ่มขึ้นของชาวยุโรป

ชาวฮอลันดานำเอาวัตถุ เทคโนโลยี และแบบแผนการปฏิบัติที่ไม่เป็นที่คุ้นเคยหลายอย่างเข้ามาในสยาม อาทิ เครื่องแก้ว ขวดแก้วบรรจุยินหรือไวน์ซึ่งเป็นเครื่องดื่มไว้รับรองเพื่อร่วมงาน และแขกผู้มรเกียรติอย่างขุนนางสยาม เครื่องเขียน แว่นสายตา หมวกทรงฝรั่ง กล้องส่องทางไกล กล้องยาสูบเซรามิก การเล่นบิลเลียดและเป่าทรัมเป็ต นอกจากนี้ ช่างไม้ ช่างเคลือบ ช่างทำหมวกขนสัตว์ และช่างทองจากปัตตาเวียก็ถูกส่งมารับใช้กษัตริย์สยามอีกด้วย

ส่วนชั้นล่างเป็นคอฟฟี่ช้อปน่ารักๆ มีกาแฟดัตซ์ และวาฟเฟิลสอดไส้คาราเมลของดัตซ์ (stroopwafel) ไอศครีม และอาหารว่างสไตล์ดัตซ์ รวมถึงสินค้าของที่ระลึกที่เป็นสัญลักษณ์ฮอลแลนด์

บ้านฮอลันดาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 300 เมตรจากวัดพนัญเชิงวรวิหาร เปิดทำการทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 9.00-17.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ อัตราค่าเข้าชมนิทรรศการคนละ 50 บาท ติดต่อได้ที่ 035-235 200

เปิดมิติใหม่ผ่านสารคดี “อยุธยาที่ไม่รู้จัก”

ใครที่สนใจเรื่องราวความรุ่งเรืองในอดีตของอยุธยา และมุมมองใหม่ๆ ที่มิได้เห็นอยุธยาเป็นเพียงจัดหวัดหนึ่งของเมืองโบราณเพื่อการท่องเที่ยว ก็ติดตามชมสารคดีชุด “อยุธยาที่ไม่รู้จัก” ทั้งหมด 5 ตอน โดยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันเสาร์ เวลา 21.10 น.

อยุธยายามค่ำ

วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคมนี้จะเป็นตอนที่สี่ เรื่อง "หลากชนชาติ หลากภาษา อยุธยาธานี" เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า อยุธยาจัดการกับสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีไทย จีน ญี่ปุ่น แขก ฝรั่ง ให้มาอยู่ร่วมกันและยังประโยชน์ให้แก่อยุธยาได้อย่างไร ส่วนตอนสุดท้ายออกอากาศวันเสาร์ที่ 2 กันยายนจะเป็นเรื่อง "อยุธยา รากของความเป็นไทยที่ยังอยู่"

ทีมนักวิชาการในนามคณะอนุกรรมการพิจารณาและเรียบเรียงประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา นำโดย รศ. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้จัดทำสารคดีชุดนี้ขึ้นเพื่อให้คนไทยมีความภาคภูมิใจ ศึกษา เรียนรู้รากเหง้า และนำไปสู่การพัฒนาอยุธยาอย่างยั่งยืนในอนาคต

ABOUT THE AUTHOR
HBKK

HBKK

Live Every Day

ALL POSTS