เสียงจาก "ครูเล็ก" ศิลปินแห่งชาติ: "สร้างคนต้องสร้างแต่รากหญ้า ไม่ใช่กางเกงช้าง" จากเวที Splash
ในงาน Splash ที่ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ที่เพิ่งจบไป ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติ ให้มุมมองเชิงวิพากษ์จากประสบการณ์ตรง ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการสร้างซอฟต์ พาวเวอร์ คือ “คน”
"คน คือ ซอฟต์ พาวเวอร์ ถ้าคุณจะทำซอฟต์ พาวเวอร์ แล้วคุณเป็นฮาร์ดพาวเวอร์ หรือเป็นพาวเวอร์บ้าๆ บอๆ อะไรอย่างนี้ คุณจะทำซอฟต์ พาวเวอร์ได้ยังไง"
เพราะคนที่เป็นซอฟต์ พาวเวอร์หรือคนที่จะสร้างความดีความงามให้ประทับใจคนทั่วโลก ต้องเป็นคนที่ดีและงามก่อน ซึ่งงามในที่นี้ ไม่ใช่การไปฉีดโบท็อกซ์หรือศัลยกรรมที่งามแต่เพียงภายนอก แต่เป็น "งามในจิตใจ" ซึ่งต้องอาศัยการสร้างที่ต้องต่อเนื่อง และจริงใจ
ศิลปะ เป็นเครื่องมือสำคัญในการบ่มเพาะ และสร้างคนที่จะเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ ที่ทรงอิทธิพลได้ เพราะการทำงานศิลปะที่โดดเด่น ต้องเกิดจากความจริงใจ ความต่อเนื่อง จะทำแบบผิวเผิน ช็อตเดียวจบไม่ได้
"ไม่ใช่ว่าเลี้ยง 3 วัน จัดสัมมนาหรืองานใหญ่ขนาดนี้ มันตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ จริงๆ เอาสตางค์ไปสร้างเด็กได้เยอะมากเลย การสร้างคนต้องสร้างต่อเนื่องตั้งแต่เขาเป็นเยาวชน ไม่ใช่สร้างในหนึ่งวันสองวัน คุณต้องสร้างต่อเนื่องตั้งแต่เขาเป็นเยาวชน ไล่ขึ้นไปเรื่อย คนไหนมีแพชชั่น คุณสร้างเลย"

บทเรียนจากต่างประเทศ
ครูเล็ก ยกตัวอย่างการทำงานในต่างประเทศที่เจ้าหน้าที่ระดับสูง รัฐมนตรี "นุ่งกางเกงยีนส์ สวมรองเท้าผ้าใบ ใส่เสื้อยืด แล้วแอบมาข้างหลัง ซื้อขนมมาให้เรากิน มาคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ทำความรู้จักกัน" เป็นการสร้างความสัมพันธ์แบบส่วนตัวที่ "มันได้ใจกัน รู้จักกัน กินข้าวกัน เป็นเพื่อนกัน มันถึงจะได้ใจกัน"
ครูเล็กยกตัวอย่างจากสิงคโปร์และเกาหลีใต้ที่เคยได้พักอาศัยตั้งแต่ยุคที่เพิ่งก่อร่างสร้างซอฟต์ พาวเวอร์ ให้ได้เห็นภาพชัดเจนว่าการสร้างคน ต้องเอาจริง ต่อเนื่อง และเปิดโลกมากๆ
สิงคโปร์ แม้จะมีประชากรน้อย แต่สามารถสร้างคนระดับที่ "คุมโปรดักชั่น" ใหญ่ๆ ได้ โดยอาศัยการจัดการที่ดี เช่น ถ้าคนในประเทศไม่มี ก็ดึงศิลปินจากประเทศอื่นมาทำงานให้ รัฐบาลเองจะทำตัวเป็นเอเจนซี่ที่เฟ้นหาศิลปินเก่งๆ เข้ามา สร้างคนให้เก่ง แล้วจึงค่อยส่งออกไปทำงาน
"ในตอนที่เดี๊ยนอยู่เป็นยุคที่สิงคโปร์เพิ่งจะเริ่มพัฒนาประเทศ รัฐบาลเขายอมลงทุนเอาการแสดงดีๆ อย่างโอเปร่ามาแสดงให้ประชาชนของเขาดู แม้คนจะยังไม่เข้าใจ เขาก็ทพอย่างต่อเนื่องเรื่องศิลปะ"

ส่วนในเกาหลีใต้ การสร้างคนเริ่มจากรากหญ้าและมีความต่อเนื่อง โดยในทุกชุมชนเขาจะหาอาคารเก่าๆ จะมีโรงละครเล็กๆ เปิดโอกาสในการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ มีการส่งเด็กไปเรียนรู้กับคนระดับมาสเตอร์จากประเทศต่างๆ ให้เด็กได้รู้จักเพื่อนศิลปินจากหลากหลายประเทศ เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์สั่งสมมาเรื่อยๆ พร้อมกับสร้างความสัมพันธ์กับตัวจริงในวงการนั้นอย่างแน่นหนา
ศิลปศาสตร์ - รากฐานของทุกอาชีพ
เพราะศิลปศาสตร์อยู่ในพื้นฐานของทุกวิชาชีพ ครูเล็กอธิบายว่าศิลปะสอนให้คนเราพัฒนากาย วาจา และใจ โดยเฉพาะวาทศิลป์ที่จำเป็นสำหรับทุกอาชีพ
"คนจะไปขายของ จะสอนหนังสือ ถ้าคุณไม่มีวาทศิลป์ มันก็ขายลำบาก"
ที่สำคัญคือ ในการสร้างคนที่จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ต้องอาศัยการสอนที่ถูกวิธี ครูเล็กเน้นเรื่องการสอนหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่ต้องให้เด็กทำจนชำนาญก่อนเป็นอย่างแรก จึงจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ออกมาได้
"ต้องเรียนกอไก่ก่อน ลอก คัด เขียนกอไก่ก่อน แล้วหัดผสมคำจนชำนาญ เพราะถ้าเขายังไม่ได้ทำจนเบื่อ เขาจะออกนอกกรอบไม่ได้ เพราะว่าพื้นฐานเขาจะยังไปได้ไม่สุด"

ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาล
หากรัฐบาลจะเอาจริงเรื่องการผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์ ให้เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ครูเล็กถามคำถามง่ายๆ แต่จี๊ดว่า "ท่านไม่รู้จักศิลปะหรือเปล่า ท่านไม่รู้จักศิลปิน แล้วท่านจะสร้างซอฟต์ พาวเวอร์ ยังไง"
ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ เสนอทางออกที่ง่ายมาก คือ ให้รัฐบาลหรือผู้ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายและขับเคลื่อนการสร้างและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ “เข้าใจและรู้จักศิลปิน” จริงๆ ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงสร้างความสัมพันธ์ที่จริงใจ มีความเป็นห่วงเป็นใย และทำต่อเนื่อง เพื่อจะได้กำหนดแนวทางและสามารถสนับสนุนการสร้างคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กลายเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ ของแท้ต่อไป
ความเห็นและคำวิพากษ์จากมุมมองของศิลปินแห่งชาติไม่กี่นาทีบนเวที Splash สะท้อนถึงปัญหาสำคัญในการสร้างซอฟต์ พาวเวอร์ของประเทศ คือ การขาดความต่อเนื่องและความเข้าใจอย่างแท้จริง หากจะให้เกิดผลลัพธ์ที่มีพลังจริงๆ ต้องเริ่มจากรากหญ้า ด้วยความจริงใจ ที่สำคัญ คือ ต้องลงทุนในคนอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่การจัดงานใหญ่ๆ แบบผิวเผินวูบเดียวจบ
"สร้างคนมันต้องสร้างแต่รากหญ้า ไม่ใช่กางเกงช้าง เพราะคนคือ ซอฟต์ พาวเวอร์"
ขอบคุณภาพครูเล็กจากเฟซบุ๊กเพจ SPLASH
#ภัทราวดีมีชูธน #splash #softpower #ซอฟต์ พาวเวอร์