HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
สาธิตนวัตกรรม มทร. ธัญบุรี คว้าแชมป์จากแอปฯ แก้ปัญหาขยะพลาสติกบนเกาะ
by HappBKK
13 ก.ค. 2568, 11:01
  69 views

Hack the Island เป็นอีกกิจกรรมที่ทำให้เราได้เห็นศักยภาพเยาวชนไทยในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ โดยทีม Aqua Shield จากโรงเรียนสาธิตนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี คว้ารางวัลชนะเลิศด้วยแนวคิด “Eco-Island” แอปพลิเคชันอัจฉริยะที่ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อินโดรามา เวนเจอร์ส ผู้นำระดับโลกด้านเคมีภัณฑ์ที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ได้จัดโครงการ Hack the Island ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้ปลดปล่อยพลังความคิด ภายใต้โจทย์ "การจัดการปัญหาขยะพลาสติกบนเกาะและในทะเลอย่างยั่งยืน" โดย อินโดรามา ได้เลือกเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำหรับการนำเสนอไอเดีย 

เกาะเต่า ถือเป็นโครงการนำร่องในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกบนเกาะ ซึ่งอินโดรามา ได้ผนึกกำลังกับเครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทยและหน่วยงานพันธมิตร ริเริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วเพื่อสร้างระบบการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง และเก็บขวด PET บนเกาะ กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

กิจกรรม Hack the Island ได้รับความสนใจจากเยาวชนกว่า 130 คน รวม 53 ทีม สมัครเข้าร่วม และได้คัดเลือกรอบสุดท้าย 15 ทีมเข้าสู่ค่ายกิจกรรม Bootcamp เพื่อเรียนรู้เรื่องการรีไซเคิล PET, การคิดเชิงระบบ และภาวะผู้นำ ผ่านเวิร์กชอปเชิงปฏิบัติกับผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จากสายงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทย และ OGGA Idea

ทีม Aqua Shield (เตวิชชา วงศ์เดิม-จีโน่, พลกฤต ธะนะภาชน์-กอล์ฟ และดาลัล ยะฝา-ดาลัล)ได้ไอเดียในการสร้างแอปพลิเคชัน Eco-Island หลังจากค้นคว้าข้อมูลแล้วพบว่า เกาะเต่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นทุกปีและทำให้ปัญหาขยะบนเกาะเต่ายากต่อการจัดการ ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ แรงงาน และระบบจัดการที่ยังไม่ทั่วถึง

แอปพลิเคชัน Eco-Island จะแสดงแผนที่อัจฉริยะที่แสดงตำแหน่งถังรีไซเคิลใกล้ตัว พร้อมระบบสะสม eco-points ที่ให้รางวัลกับผู้ใช้งานเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมรักษ์โลก เช่น พกขวดน้ำส่วนตัว แยกขยะ หรือนำขยะมาแลกรับคูปอง ผู้ใช้งานสามารถนำคะแนนไปแลกส่วนลดจากร้านค้า โรงแรม หรือสถานที่ท่องเที่ยวบนเกาะเต่า การแจ้งเหตุฉุกเฉิน และยังมีฟีเจอร์ส่งเสริมพฤติกรรมระยะยาว เช่น leaderboard, การจัดอันดับผู้ใช้ และกิจกรรม gamification ที่ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องสนุก

 

ทั้งนี้หน่วยงานท้องถิ่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในพื้นที่เกาะเต่า อาทิ ภาครัฐท้องถิ่น ชุมชน โรงเรียน ผู้ประกอบการ สมาคมธุรกิจ รวมถึงนักท่องเที่ยว สามารถนำแอปพลิเคชัน Eco-Island ไปใช้เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกันซึ่งเป็นการสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่ยั่งยืนอย่างครบวงจร

จีโน่ ตัวแทนทีม Aqua Shield บอกว่า “สิ่งที่เราภูมิใจที่สุดไม่ใช่แค่การชนะเลิศ แต่คือโอกาสที่ได้เห็นไอเดียของเรานำไปใช้จริงบนเกาะเต่า เราอยากให้การท่องเที่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันได้ และ Eco-Island จะเป็นก้าวแรกของเราในการเปลี่ยนแปลงนั้น”

ทั้งนี้ ทีม Aqua Shield ยังได้นำเสนอไอเดียผลงานบนเวทีสัมมนาวิชาการเกาะแห่งความยั่งยืน Partway to Koh Tao – So Green  เมื่อวันที่ 22-23 มิถุนายน 2568

สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมกันเอง จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 กับโครงการปะการังเทียมอัจฉริยะจากขยะรีไซเคิลเพื่อฟื้นฟูทะเล และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  คือ ทีม PolyFunder จากโรงเรียน The Newton Sixth Form กับเกมรีไซเคิลที่เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นเหรียญสะสมรางวัลเพื่อนำไปแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆที่เกาะเต่า

Hack the Island ได้สะท้อนให้เห็นว่า เยาวชนไทยมีความสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการขยะหลังการบริโภค และพร้อมจะเป็นผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงผ่านหลากหลายไอเดีย เพื่อขับเคลื่อนสังคมอย่างยั่งยืน

นวีนสุดา กระบวนรัตน์ รองประธานร่วมฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) บอกว่า  “อินโดรามา เชื่อในพลังของเยาวชน ซึ่ง โครงการ Hack the Island ไม่ได้มองแค่ไอเดีย แต่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ลงมือ เราอยากให้เด็กๆ ได้ออกจากห้องเรียนแล้วมาสัมผัสปัญหาจริง ฝึกแก้โจทย์ที่ซับซ้อนในโลกจริง และเติบโตไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน Hack the Island เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อเปลี่ยนขยะให้ กลายเป็นโอกาสในระดับชุมชน และอาจขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในระดับประเทศ" 

 

 

 

ABOUT THE AUTHOR
HappBKK

HappBKK

Live Every Day

ALL POSTS