เห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่ ตอบโจทย์ทั้งอาหารแพลนต์เบสและเวชสำอาง
นอกจากชาววีแกนแล้ว เดี๋ยวนี้คนไทยก็หันมานิยมกินเห็ดกันมากขึ้นตามเทรนด์รักสุขภาพ เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการ อีกทั้งมีให้เลือกหลากหลายชนิด แต่ถ้าพูดถึง เห็ดแครง หรือเห็ดตีนตุ๊กแก (Split-gill mushroom) หลายคนอาจไม่รู้จักหรือไม่เคยกิน แต่รู้ไหมว่า เห็ดแครงมีโปรตีนสูงมาก มีวิตามิน และกรดอะมิโน อีกทั้งยังมีสรรพคุณทางยาด้วย จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ รองรับตลาดฟิวเจอร์ฟู้ด และเวชสำอางจากธรรมชาติซึ่งนับวันจะขยายตัวเพิ่มขึ้น
จริงๆ แล้ว เห็ดแครง พบได้ตามธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยงอกตามท่อนไม้ยางพารา ไม้มะม่วง หรือ กิ่งไม้ แต่ปัจจุบัน มีฟาร์มเพาะเห็ดแครงจำหน่ายทั้งแบบสด แบบแห้ง และแปรรูป อย่างไรก็ตาม เห็ดแครงก็ยังเป็นที่นิยมในภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หันมาวิจัยการปรับปรุงสายพันธุ์เห็ดแครงเพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น

ดร.อัมพวา ปินเรือน นักวิจัยทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. บอกว่า ทีมวิจัยได้สำรวจและรวบรวมเห็ดแครงจากป่าชุมชนและสวนเกษตรทั่วทุกภาคของประเทศ 121 สายพันธุ์ แล้วนำสายพันธุ์เหล่านั้นมาใช้เทคนิคแยกสปอร์เดี่ยว (Single Spore Isolation) เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์เด่นให้เป็นพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ จากนั้นจึงนำมาผสมพันธุ์ (Breeding) เพื่อสร้างสายพันธุ์ลูกผสมที่ดีที่สุด
หลังจากใช้เวลาวิจัยหนึ่งปี ไบโอเทคก็ได้เห็ดแครงสายพันธุ์ลูกผสมที่มีลักษณะโดดเด่น คือ ดอกมีขนาดใหญ่ 1-2 นิ้ว (พันธุ์ดั้งเดิมมีดอกขนาด1-3 ซม.) มีขนาดดอกสม่ำเสมอ กอสวยงาม สีขาวนวล กลิ่นอ่อนจนแทบไม่มีกลิ่นเห็ด รสชาติดีไม่ติดขม (เมื่อชิมดอกสด) เนื้อสัมผัสไม่เหนียว และให้ผลผลิตสูงกว่าการเพาะเห็ดแครงทั่วไป
นอกจากนี้ เห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่ยังมีความคงตัวทางพันธุกรรม ไม่กลายพันธุ์ได้ง่าย เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมที่ได้จากการคัดเลือกสปอร์เดี่ยว
ไบโอเทค ได้ร่วมมือกับ ศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก เพื่อนำผลการวิจัยไปสู่การทดลองเพาะในโรงเรือนจริง ซึ่งได้ทดลองไป 2 รอบแล้ว โดยจะต้องเพาะให้ครบ 5 รอบ เพื่อให้แน่ใจว่ามีความเสถียร ไม่กลายพันธุ์ จากนั้นจึงจะไปขอขึ้นทะเบียนเห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่กับกรมวิชาการเกษตร ก่อนจะถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังเกษตรกรผู้เพาะเห็ด รวมถึงส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ชื่นชอบโปรตีนจากพืช
สำหรับสายวีแกน มังสวิรัติ หรือคนที่มีปัญหาระบบย่อยอาหารจากเนื้อสัตว์ ก็คงจะรู้จักหรือเคยลิ้มลองเนื้อโปรตีนจากเห็ดแครง ซึ่ง บริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค จำกัด FoodTech Startup เจ้าของแบรนด์แพลนต์เบส More Meat ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากเห็ดแครงที่เพาะโดยชุมชนของภาคใต้

บุญโชค ไทยทัตกุล เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญและเจ้าของศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้และเพาะเห็ดครบวงจร กล่าวว่า การนำเห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาโดยไบโอเทค มาขยายผลในโรงเรือนจริง ปรากฎว่า ได้ผลลัพธ์การเพาะเห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่น่าพอใจ เพราะให้ผลผลิตสูง ออกดอกเร็ว รสชาติดี ดอกใหญ่
การเพาะเห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่จะใช้เวลาเพียง 21 วัน ก็เก็บผลผลิตได้ จากพันธุ์ทั่วไปที่ต้องใช้เวลา 35-45 วัน และเก็บเกี่ยวได้ถึง 3 รอบ จากเดิม 2 รอบ ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
บุญโชค บอกว่า นอกจากการจำหน่ายเชื้อพันธุ์เห็ดกว่า 30 ชนิด เห็ดสด เห็ดแห้ง และเห็ดแปรรูปแล้วศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เปิดอบรมการเพาะเห็ดให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป รวมถึงร้านอาหารที่ทุกคนจะได้ลิ้มลองสาระพัดเมนูจากเห็ดด้วย
อาหารผิวจากเห็ดแครง
ไม่ใช่แค่อาหารแพลนต์เบสที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เทรนด์ผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสารสกัดธรรมชาติ ไร้สารเคมี ก็กำลังมาแรงสุด ซึ่งเห็ดเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่มีศักยภาพสูง และถูกนำไปวิจัยทดลองจนสามารถนำไปต่อยอดเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ได้ เช่น เห็ดหลินจือ เห็ดนางรม เห็ดหูหนูขาว เห็ดฟาง และเห็ดแครง
ล่าสุด ไบโอเทค ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์เวชสำอางต้นแบบจากสารสกัดเห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่ และพร้อมถ่ายทอดนวัตกรรมให้ผู้ที่สนใจนำไปต่อยอดเป็นเวชสำอางบำรุงผิวชะลอวัย ซึ่งเห็ดแครงมีวิตามิน แร่ธาตุ และมีสารเบต้ากลูแคนที่ช่วยกระตุ้นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการอักเสบ ให้ความชุ่มชื้น ลดริ้วรอย และมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระด้วย
ก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้นำเห็ดบริโภคมากกว่า 10 ชนิด มาทำการวิจัยทดสอบและพบว่า เห็ดแครงมีคุณสมบัติสามารถพัฒนาเป็นครีมบำรุงผิวได้ ซึ่งนอกจากจะมีสรรพคุณทางยาแล้ว ยังมีสารออกฤทธิทางชีวภาพที่เหมาะเป็นสารผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวได้เป็นอย่างดี