ตู้ขยะอัจฉริยะย่านนวัตกรรมปุณณวิถี โมเดลใหม่ให้คนอยากคัดแยก ทิ้งขยะ และสร้างกลุ่มธุรกิจหมุนเวียน
แม้จะมีสารพัดโครงการที่ออกมาชวนคนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อทำให้ขยะเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ประโยชน์ แทนการเผาหรือฝังกลบ แต่เอาเข้าจริงก็ยังมีปัญหาเต็มไปหมด จึงเป็นโจทย์ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ร่วมกับ True Lab และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) นำมาทำวิจัยตั้งแต่ปีที่แล้ว จนออกมาเป็น สถานีจัดการขยะอัจฉริยะ (Waste Wise Station) และเลือกย่านนวัตกรรมปุณณวิถีเป็นพื้นที่ต้นแบบทดลอง ก่อนขยายไปตามจุดเป้าหมายทั่วกรุง
สถานีจัดการขยะอัจฉริยะ ตั้งอยู่ชั้น 1 ตึก West ในอาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งเป็นศูนย์กลางย่านนวัตกรรมปุณณวิถี โดยมีตู้สำหรับรับขยะ 5 ประเภท ได้แก่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์, ขยะเศษอาหารหรือย่อยอาหารเป็นปุ๋ย, ขยะเสื้อผ้า, ขยะขวดพลาสติก และขยะน้ำมันเก่า
จัดการขยะแบบไหน ทิ้งแล้วได้อะไรบ้าง
NIA นำร่อง Waste Wise Station ด้วยการดึง 5 สตาร์ทอัพเข้าร่วม ได้แก่ True E-Waste, Oklin, Circular Industry, Refun และ Recycoex เพื่อสร้างระบบนิเวศปิดช่องว่างการกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง
เครื่องรับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจากกลุ่มทรู (TRUE E-Waste) มาพร้อมนวัตกรรมที่สามารถเก็บข้อมูลการทิ้ง e-waste ของแต่ละคนแบบ real-time ไม่ว่าจะเป็น ชนิด/หมวดหมู่ แจ้งน้ำหนักพร้อมคำนวณค่าคาร์บอนเครดิตที่ลดลง และระบบแจ้งเตือนเมื่อตู้เต็ม โดยตู้รองรับขยะได้ 30 กก. ก่อนจะไปทิ้ง อย่าลืมสมัครสมาชิกผ่านไลน์ OA เมื่อทิ้งเสร็จเรียบร้อย เครื่องจะแสดง QR Code ให้รับแต้มสะสมได้
Circular Industry ให้ส่วนลด 100 บาท สำหรับซื้อสินค้าที่ร้าน Circular Siam Square ซอย 2 เมื่อนำเสื้อผ้ามาบริจาค เชื่อว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า ปัจจุบัน มีไม่ถึง 15% ของเสื้อผ้าเก่าทั่วโลก ขยะที่เกิดขึ้นจากเสื้อผ้าแฟชั่นมากถึง 92 ล้านตัน ที่ไปอยู่ในพื้นที่ฝังกลบ
ขวด PET พลาสติกใสที่มีฉลากบาร์โค้ดก็มาหยอดที่ตู้ REFUN ได้ แต่ถ้าอยากสะสมคะแนนเพื่อนำไปแลกของรางวัลต่างๆ ก็ไปสมัครสมาชิกผ่าน www.refun.com หรือผ่านทาง QR Code หน้าตู้
ส่วนน้ำมันพืชใช้แล้ว มาที่ตู้ของรีไซโคเอ็กซ์ (RECYCOEX) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับเก็บขยะออนไลน์แห่งแรกของประเทศไทย โดยรีไซโคเอ็กซ์จะส่งน้ำมันเก่าให้กับบางจาก เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันเครื่องบิน (Sustainable Aviation Fuel)
ขณะที่โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จะมานำขยะอาหารไปย่อยเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งโอ๊คลินเป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องกำจัดขยะอาหารที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการย่อยอาหารได้ถึง 90% ภายใน 24 ชม.
ศักดิ์ดา เหลืองสกุลทอง Head of True Lab บอกว่า นอกจากเพิ่มจุดทิ้งให้กับประชาชนแล้ว โมเดล Waste Wise Station ต้องการทำเรื่องทิ้งขยะให้เป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ต้องทำเป็นประจำทุกวัน และบอกให้ผู้ทิ้งรู้ว่า จะได้ผลกระทบเชิงบวกอย่างไร เช่น ช่วยลดคาร์บอนได้แค่ไหน เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือมากขึ้น
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี KMITL แนะว่า เมื่อเชิญชวนให้คนมาทิ้งขยะ เราก็ต้องมีแรงจูงใจเป็นสิทธิพิเศษต่างๆ ให้เค้ากลับไป ขณะเดียวกัน เมื่อมีการนำขยะไปแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการรีไซเคิล หรืออัพไซคลิ่ง ก็ต้องดูถึงเรื่องตลาดที่จะมารองรับด้วยเช่นกัน
ขยายเครือข่ายพันธมิตร
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA เล่าว่า NIA จะมีบทบาทสำคัญในการเป็น Focal Conductor หรือ ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม ที่จะเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงธุรกิจที่หารายได้จากขยะ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพ ซึ่งจะมีการเชื้อเชิญพันธมิตรเข้ามาร่วมในการผลักดัน Waste Wise Station
ขณะนี้ NIA กำลังคุยกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ อาทิ เซ็นทรัล, สยามพิวรรธน์, แมคโคร, เทสโก้ โลตัส, ซีพี เอ็กซ์ตร้า รวมไปถึงโรงแรมใหญ่ๆ และศูนย์การจัดงานแสดงสินค้า โดยตั้งเป้าจะขยาย Waste Wise Station ให้ได้ 100 จุดภายในปีนี้
ไม่เพียงเป็น Retail Location Waste เท่านั้น True Lab เชื่อว่า โครงการนี้จะขยายผลทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต เช่น แฟรนไชนส์, ธุรกิจหมุนเวียน ซึ่งเราจะเห็นธุรกิจอัพไซคลิ่งมากขึ้น รวมถึงธุรกิจคาร์บอนเครดิต